คุณค่าของชีวิตและการแสวงหาความสุขตามทัศนะจริยศาสตร์

โดยทั่วไปคนมักจะเรียกสิ่งที่มีคุณค่าภายในอันเป็นจุดหมายสูงสุดในการดำเนิน ชีวิตว่า "ความสุข" ดังนั้น หากจะกล่าวเชิงจริยศาสตร์เพื่อความชัดเจนแล้ว ทัศนะทางจริยศาสตร์เกี่ยวกับการแสวงหา "ความสุข" หมายถึง ทัศนะทาง จริยศาสตร์ว่าด้วยสิ่งที่มีคุณค่าภายในอันเป็นจุดหมายสูงสุดในการดำเนิน ชีวิต และ "ความสุข" มีความสัมพันธ์กับคุณค่าของชีวิต กล่าวคือ ชีวิตที่บรรลุสู่สิ่งที่มีค่าในตนเองคือชีวิตที่มีค่า หรือเป็นชีวิตที่พึงปรารถนา อาจกล่าวโดยย่อว่า สุขนิยมเห็นว่า "ความสุข" คือความสุขทางประสาทสัมผัส อสุขนิยมเห็นว่า "ความสุข" คือการมีปัญญาหรือความสงบ และมนุษย์นิยมเห็นว่า "ความสุข" คือความสมดุลระหว่างการตอบสนองความต้องการทางจิตและกาย
 

พระสุริยัญ ชูช่วย ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาจริยศาสตร์ศึกษา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ความหมายของจริยศาสตร์

คำว่า "จริยศาสตร์" มาจากภาษาอังกฤษว่า "ethics" ความหมายทั่วไป แบ่งได้เป็น ๓ ประการ คือ

(๑) "จริยศาสตร์" หมายถึง แนวทางการดำเนินชีวิต หรือเป็นวิถีทางของการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ตามแนวความหมายนี้ มักจะอ้างถึงศาสนาต่าง ๆ เช่น ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม ฯลฯ ซึ่งแต่ละศาสนาจะมีข้อกำหนดว่า "อะไรคือจุดมุ่งหมายสูงสุด หรือจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์" แนวทางการประพฤติปฏิบัติเพื่อไปให้ถึงจุดมุ่งหมายของชีวิตในภาษาไทยเรียก "จริยศาสตร์" ในความหมายนี้ว่า "จริยธรรม"

(๒) "จริยศาสตร์" หมายถึง ประมวลเกณฑ์ความประพฤติเฉพาะกลุ่มอาชีพหรือบุคคลในสถาบันต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้า ดำรงไว้ซึ่งเกียรติคุณในอาชีพและให้เป็นที่ยอมรับไว้วางใจจากสังคม ในภาษาไทยเรียก "จริยศาสตร์" ในความหมายนี้ว่า "จรรยาบรรณ" (Code of Ethics) เช่น จรรยาบรรณของแพทย์ พยาบาล ครู ตำรวจ และนักกฎหมาย เป็นต้น

(๓) "จริยศาสตร์" ในฐานะที่เป็นสาขาหนึ่งของวิชาปรัชญา จัดอยู่ในสาขาย่อยที่เรียกว่า อรรฆวิทยา (Axiology) ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับคุณค่า (Value) ประเภทของคุณค่า สภาวะการมีอยู่ของ คุณค่าและเกณฑ์ที่เกี่ยวกับคุณค่า จริยศาสตร์เป็นแขนงที่เน้นการศึกษาเกี่ยวกับคุณค่าของการกระทำของมนุษย์ว่า ดี ชั่ว ถูก ผิด ควร ไม่ควร และแสวงหาคำตอบเกี่ยวกับสิ่งที่ดีที่สุดของชีวิตมนุษย์ (Mary Hesse, ๑๙๗๖: ๘๑-๘๒)

"จริยศาสตร์" ในความหมายที่สามคือจุดสนใจของบทนี้ ประเด็นสำคัญที่จริยศาสตร์ศึกษาประกอบด้วย ๓ ประเด็น คือ

(๑) อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ ที่มนุษย์แสวงหา
(๒) อะไรคือเกณฑ์ตัดสินการกระทำของมนุษย์ว่าสิ่งนี้ถูกหรือผิด
(๓) ปัญหาเกี่ยวกับนิยามของคำทางจริยะ เรียกจริยศาสตร์สาขาที่ศึกษาปัญหานี้ว่า อภิจริยศาสตร์ (Metaethics)

ประเด็นทางจริยศาสตร์ที่จะศึกษาในบทนี้เพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับการแสวงหาความสุขและคุณ ค่าของชีวิตคือประเด็นแรก อันเป็นประเด็นเกี่ยวกับสิ่งดีที่ควรเป็นเป้าหมายสูงสุดในชีวิตมนุษย์ หรืออีกนัยหนึ่ง สิ่งที่มีคุณค่าควรแก่การแสวงหา ทั้งนี้การให้คุณค่าแก่สิ่งต่าง ๆ แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ดังต่อไปนี้

(๑) คุณค่าภายใน (Intrinsic Value) สิ่งที่มีคุณค่าภายใน หมายถึง สิ่งที่มีฐานะเป็นเป้าหมายในตัวเอง ไม่ได้เป็นที่ต้องการเพราะว่าสิ่งนั้นจะช่วยนำไปสู่สิ่งอื่นได้

(๒) คุณค่าภายนอก (Extrinsic Value) สิ่งต่าง ๆ ที่มีคุณค่าประเภทนี้เป็นเพราะว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นวิถีที่นำไปสู่สิ่งอื่น ๆ ไม่ได้ เป็นเพราะว่าสิ่งเหล่านี้มีค่าในตัวเอง เช่น เงินไม่มีค่าในตัวเอง หากไม่สามารถใช้เงินซื้อของได้ เงินก็เป็นแค่เศษกระดาษ จะเห็นได้ว่าสิ่งที่มีคุณค่าภายนอกขึ้นกับสิ่งที่มีคุณค่าภายใน (วิทย์ วิศทเวทย์, ๒๕๓๕: ๑๓-๑๔)

สิ่งที่มี คุณค่าภายในคือสิ่งที่ทฤษฏีจริยศาสตร์ต่างๆ พยายามแสวงหาเพื่อนำมากำหนดเป้าหมายสูงสุดของชีวิต ทฤษฎีเหล่านี้แบ่งได้เป็น ๓ กลุ่มใหญ่ ๆ กล่าวคือ

(๑) สุขนิยม
(๒) อสุขนิยม
(๓) มนุษย์นิยม

อนึ่ง ในส่วนนี้มีจุดประสงค์ที่จะศึกษาทัศนะทางจริยศาสตร์เกี่ยวกับการแสวงหาความสุข แต่ทั้งนี้ "ความสุข" ในที่นี้มีนัยตามที่คนทั่วไปใช้ กล่าวคือ โดยทั่วไปคนมักจะเรียกสิ่งที่มีคุณค่าภายในอันเป็นจุดหมายสูงสุดในการดำเนิน ชีวิตว่า "ความสุข" ดังนั้น หากจะกล่าวเชิงจริยศาสตร์เพื่อความชัดเจนแล้ว ทัศนะทางจริยศาสตร์เกี่ยวกับการแสวงหา "ความสุข" หมายถึง ทัศนะทาง จริยศาสตร์ว่าด้วยสิ่งที่มีคุณค่าภายในอันเป็นจุดหมายสูงสุดในการดำเนิน ชีวิต และ "ความสุข" มีความสัมพันธ์กับคุณค่าของชีวิต กล่าวคือ ชีวิตที่บรรลุสู่สิ่งที่มีค่าในตนเองคือชีวิตที่มีค่า หรือเป็นชีวิตที่พึงปรารถนา อาจกล่าวโดยย่อว่า สุขนิยมเห็นว่า "ความสุข" คือความสุขทางประสาทสัมผัส อสุขนิยมเห็นว่า "ความสุข" คือการมีปัญญาหรือความสงบ และมนุษย์นิยมเห็นว่า "ความสุข" คือความสมดุลระหว่างการตอบสนองความต้องการทางจิตและกาย ต่อไปนี้จะเป็นรายละเอียดของแต่ละทฤษฎี 

ทฤษฎีเกี่ยวกับคุณค่าของชีวิตและการแสวงหาความสุข

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าทฤษฎีจริยศาสตร์ต่าง ๆ ที่จะกล่าวถึงเป็นความพยายามที่จะแสวงหาคำตอบเกี่ยวกับสิ่งที่มีคุณค่าภายใน ตัวเอง ซึ่งสิ่งดังกล่าวจะกำหนดเป้าหมายของชีวิตหรือ "ความสุข" ที่มนุษย์ควรจะแสวงหา การดำเนินชีวิตตามเป้าหมายเหล่านี้จะทำให้ชีวิตมีคุณค่า

• สุขนิยม (Hedonism) ลัทธิ นี้ถือว่าความสุขสบาย (pleasure) เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรแสวงหา ไม่มีอะไรอีกนอกจากความสุขสบายของชีวิตที่มนุษย์ต้องการ การกระทำทุกอย่างในชีวิตประจำวันก็เพื่อความสุขสบาย ดังที่ฟรอยด์ (Sigmund Freud, ๑๙๘๖-๑๙๓๙) นักจิตวิทยาคนสำคัญได้กล่าวไว้ว่าพฤติกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์มีจุดหมายที่การแสวงหาความสุขสบาย มนุษย์ต้องการได้รับความสุขสบายและรักษาความสุขสบายนั้นให้ยั่งยืน การแสวงหานี้มีสองด้าน ด้านหนึ่งมนุษย์แสวงหาสภาพที่ปราศจากความเจ็บปวดและความทุกข์ อีกด้านหนึ่งเขาแสวงหาความรู้สึกที่สุขสบาย (วิทย์ วิศทเวทย์, ๒๕๓๕: ๓๑)

แนวคิดของนักปรัชญากลุ่มนี้ มีลักษณะโดยทั่วไป ดังนี้

(๑) ความสุขทางกายคือสิ่งที่ดีที่สุด
(๒) ความสุขจบในตัวเอง ไม่เป็นวิถีนำไปสู่สิ่งอื่นอีก 
(๓) ความสุขคือสิ่งที่มนุษย์แสวงหา (๔) การกระทำที่มีคุณค่าทางจริยธรรม เพื่อเป็นวิถีให้ได้มาซึ่งความสุข

สุขนิยมแบ่งออกเป็นแนวคิดย่อย ๆ ได้ ๒ แบบตามนักคิดคนสำคัญ ได้แก่ อาริสติปปุส และเอพิคคิวรัส

(๑) อาริสติปปุส (Aristippus: ๔๓๕-๓๖๕ B.C.) เป็นนักปรัชญาคนแรกในประวัติปรัชญาที่เป็นผู้ให้กำเนิดลัทธิไซเรเนอิค (Cyrenaicism) เขาเห็นว่าความสุขสบายคือสิ่งเดียวที่ควรแสวงหา สำหรับความสุขสบายเขาหมายถึงความสุขทางกายหรือความสุขทางประสาทสัมผัส ซึ่งเขาเห็นว่าน่าพึงปรารถนากว่าหรือมีค่ากว่าความสุขทางใจ กล่าวคือ ความสุขจากการรับประทานอาหารอร่อย ๆ ดื่มเหล้าที่รสชาติถูกปาก และการแสวงหาความสุขทางเพศ ฯลฯ ย่อมมีค่ากว่าความสุขที่เกิดจากความเข้าใจอะไรต่าง ๆ ด้วยปัญญาหรือจากการชื่นชมความงามทางศิลปะ เขามีทัศนะว่า "สิ่งดีทุกสิ่งต้องตัดสินกันด้วยความสุขและต้องเป็นความสุขที่กำลังได้รับ อยู่ในขณะนั้น ๆ" เขาถือว่าความสุขในปัจจุบันมีค่ามากกว่าความสุขในความทรงจำหรือความสุขที่ คาดหมายเอาไว้ เขาจึงเน้นให้แสวงหาความสุขในปัจจุบันมากกว่าความสุขในอดีตหรืออนาคต เขาเห็นว่าเราพึงแสวงหาความสุขให้มากที่สุดในขณะที่ยังมีโอกาส เพราะเราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะมีโอกาสหาความสุขได้อีกหรือไม่ นอกจากแสวงหาความสุขในปัจจุบันแล้ว อาริสติปปุสยังสอนให้หาความสุขที่เข้มข้นที่สุด

ทัศนะของอา ริสติปปุสนั้น ให้ความสำคัญความสุขทางกายมากกว่าความสุขทางใจ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีคำวิจารณ์ว่า ก็จะทำให้มนุษย์ไม่แตกต่างอะไรจากสัตว์ที่เข้าถึงได้แต่ความสุข ทางประสาทสัมผัส จัดได้ว่าเป็นการแสวงหาความสุขเพียงด้านเดียว จึงมีนักปรัชญากลุ่มเดียวกันนี้ที่หันมาให้ความสำคัญความสุขทางด้านจิตใจ มากกว่าความสุขทางกาย (สุจิตรา รณรื่น, ๒๕๓๒: ๖๙)

(๒) เอพิคคิวรัส (Epicurus: ๓๔๑-๒๗๐ B.C.) เป็นนักปรัชญากรีก ซึ่งได้รับอิทธิพลทางความคิดจากเดโมคริตุส (Democritus) เอพิคคิวรัสเป็นผู้ให้กำเนิดลัทธิเอพิคคิวเรียน (Epicureanism) คำสอนของลัทธินี้มีลักษณะเป็นสสารนิยม (Materialism) ที่เชื่อว่าสสารเท่านั้นที่เป็นจริง วิญญาณของมนุษย์ก็มีลักษณะเป็นสสารจึงมีความแตกดับเช่นเดียวกับสสาร ไม่มีโลกหน้าที่มนุษย์จะได้รับการพิจารณาความดีความชั่ว ขณะยังมีชีวิตอยู่จึงควรแสวงหาความสุขให้แก่ตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะมาก ได้ ความดีความชั่วที่คนเชื่อกันเป็นสิ่งสมมติ สิ่งที่เป็นจริงก็คือความสุขและความทุกข์ที่มนุษย์ได้รู้จักและประสบในชีวิต ประจำวัน จากคำกล่าวที่ว่า "จงกิน ดื่มและหาความสำราญเสียเพราะพรุ่งนี้ก็ตายแล้ว" (Let us, drink, and be merry for tomorrow we die)(Brennan, ๑๙๗๓: ๖๑) ทำให้มีผู้เข้าใจผิดคิดว่าเอพิคคิวรัสสอนให้มนุษย์มัวเมาในความสุข ซึ่งจริง ๆ แล้วเขาไม่ได้สอนเช่นนั้น ทั้งนี้เพราะเขาสอนให้มนุษย์ดำเนินทางสายกลาง ด้วยเห็นว่าถ้ามนุษย์มัวเมาในความสุข ไม่ดำเนินทางสายกลางจะเป็นทุกข์ได้ (สุจิตรา รณรื่น, ๒๕๓๒: ๖๙ -๗๐)

ตามทัศนะของเอพิคคิวรัส ความสุขมี ๒ อย่าง คือ ความสุขทางผัสสะทางกายและความสุขที่เกิดจากความสงบอันเป็นความสุขทางใจ ความสุขทางใจมีความสำคัญมากกว่าความสุขทางกาย เพราะบริสุทธิ์กว่า ในขณะที่ความสุขทางกายมักเจือปนด้วยความทุกข์เสมอจึงไม่บริสุทธิ์การแสวงหา ความสุขเกิดจากแรงปรารถนา ๒ ประเภท คือ

(๑) แรงปรารถนาตามธรรมชาติที่เกิดจากความจำเป็นของชีวิต เป็นความอยากที่เกิดตามธรรมชาติและเป็นสิ่งจำเป็น เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค สิ่งเหล่านี้มนุษย์จะหลีกเลี่ยงไม่ได้จำเป็นต้องแสวงหา ความสุขไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากปราศจากสิ่งเหล่านี้ แต่อาหารแพง ๆ และเครื่องนุ่งห่มสวย ๆ นั้นเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น

(๒) แรงปรารถนาที่ไม่จำเป็นสำหรับชีวิตแบ่งออกเป็นแรงปรารถนาที่เป็นไปตาม ธรรมชาติแต่ไม่จำเป็นสำหรับชีวิต เช่น ความต้องการทางเพศ ความอยากประเภทนี้ ควรดำเนินทางสายกลาง และแรงปรารถนาที่มิได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติและไม่จำเป็นสำหรับมนุษย์ เช่น ของฟุ่มเฟือยต่าง ๆ เกียรติยศชื่อเสียง ความหรูหรา สิ่งเหล่านี้ควรละเว้น

เอพิคคิวรัส คิดว่า "ชีวิตที่ประเสริฐคือชีวิตที่อยู่อย่างเรียบง่ายตามความจำเป็นและสงบ มนุษย์ไม่ควรตกเป็นทาสของสิ่งใด ปลีกตัวออกจากสังคม เพื่อความเป็นอิสระ แต่ไม่ใช่อยู่อย่างโดดเดี่ยวทิ้งสังคม ให้มีทางสายกลาง คือ มีมิตรภาพที่ดีกับผู้อื่น เพื่อจะได้มีชีวิตที่เป็นสุขอยู่นานๆ" (วิทย์ วิศทเวทย์, ๒๕๓๕: ๓๔-๓๕) เขาเห็นว่ามนุษย์ควรใช้ความรอบคอบ การมองการณ์ไกลจากการใช้ปัญญา (wisdom) ในการแสวงหาความสุข

• อสุขนิยม (Non-Hedonism) อสุขนิยมเเบ่งออกเป็น ๒ แนวคิดย่อย ได้แก่ ปัญญานิยม กับวิมุตินิยม ดังนี้

๑) ปัญญานิยม ถือว่า ปัญญาหรือความรู้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดมีคุณค่าในตัวเอง นักปรัชญากลุ่มนี้ ได้แก่ โสคราตีส เพลโต และอริสโตเติล ทัศนะของทั้งสามคนนี้ มีข้อแตกต่างกันในรายละเอียด แต่มีหลักพื้นฐานที่คล้ายคลึงกัน แนวคิดทางปรัชญากลุ่มนี้ ถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ย่อมมีลักษณะเฉพาะของมันที่ทำให้สิ่ง ๆ หนึ่งเป็นตัวของมันเองแยกออกได้จากสิ่งอื่น ลักษณะเฉพาะดังกล่าวมีประจำอยู่ในแต่ละสิ่ง ที่เรียกว่า "สาระ" ของสิ่งนั้น ๆ เช่น สาระของมีดกับค้อน คือ ความคมเป็นสาระของมีด เพราะทำให้มีดเป็นมีดและแยกมีดออกจากค้อน ภารกิจที่เฉพาะเจาะจงของมีด คือ ตัดหรือเฉือน ส่วนค้อนนั้นใช้ทุบ มีดเล่มใดทำภารกิจได้ดี เราถือว่ามีดเล่มนั้นเป็นมีดโดยสมบูรณ์ ความคมจึงเป็นปัจจัยวัดความดีหรือความสมบูรณ์ของมีด (วิทย์ วิศทเวทย์, ๒๕๓๕: ๕๐) ดังนั้น สิ่งที่ประเสริฐของมีดคือความคม การที่เราจะทราบว่า อะไรเป็นสิ่งที่ประเสริฐสำหรับมนุษย์ ต้องพิจารณาว่ามนุษย์ในฐานะที่เป็นมนุษย์ไม่ใช่ภารกิจหรือหน้าที่ แต่เป็นลักษณะเฉพาะของมนุษย์อีกแง่หนึ่งที่เป็นสาระของมนุษย์ในฐานะที่เป็น มนุษย์ที่แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตแบบอื่นในโลก

โสคราตีส (Socrates: ๔๖๙-๓๙๙ B.C.) เห็นว่า ปัญญาคืออำนาจที่นำมนุษย์เข้าถึงสัจธรรมได้ มนุษย์มิใช่มาตรวัดทุกสิ่งทุกอย่าง สิ่งที่ก่อให้เกิดความสุขไม่ต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และสิ่งที่ให้ความทุกข์ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งเลวเสมอไป ร่างกายและความพอใจของร่างกายมิใช่เครื่องวัด ความจริงและความดี กายเป็นสิ่งที่แตกดับ มันจะวัดความเป็นจริงอันเป็นนิรันดรไม่ได้ จิตเป็นอมตะพร้อมกับอำนาจแห่งเหตุผลเท่านั้นที่จะวัดความเป็นจริงได้ มนุษย์มิควรสนใจกิจกรรมทางกาย แต่เป็นกิจกรรมทางจิตมากกว่า คือ การใช้ปัญญาไตร่ตรอง เพื่อว่าตายไป และจิตจะได้เข้าถึงโลกแห่งความเป็นจริง

ส่วนหลักจริยธรรมที่โสคราตีสเน้นย้ำมาก คือ "วิชชาคือธรรม" (Knowledge is Virtue) (วิทย์ วิศทเวทย์, ๒๕๓๕: ๕๔) ไม่มีใครเป็นคนดีได้โดยปราศจากความรู้ ความรู้ในที่นี้ หมายถึง ความรู้ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิต ความดี และความชั่ว ดังนั้นชีวิตที่ประเสริฐตามทัศนะของโสคราตีส คือ ชีวิตที่ใช้ปัญญาแสวงหาสัจธรรมและคุณธรรม และเมื่อเหตุผลนำไปสู่สิ่งนั้นก็จะต้องดำเนินไปตามหลักการอันนั้น โดยไม่มีเงื่อนไขอันใดทั้งสิ้น และมนุษย์ทำอย่างนี้ได้ก็ต่อเมื่อไม่กังวลในเรื่องของร่างกาย

เพลโต (Plato: ๔๒๗-๓๔๗ B.C.) เห็นว่า วิญญาณของมนุษย์มี ๓ ภาค คือ ตัณหา น้ำใจ ปัญญา ภาคตัณหาเป็นภาคที่ต่ำสุดทำให้มนุษย์รู้จักอยาก หิว สืบพันธ์ และอื่น ๆ ซึ่งพืชและสัตว์ก็สามารถมีได้ ภาคน้ำใจเป็นภาคกลางๆ ทำให้มนุษย์รู้จักชื่อเสียง เกียรติยศ และรู้จักชื่นชมกับความกล้าหาญ เป็นต้น และภาคปัญญาเป็นภาคสูงสุดเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์แสวงหา และเข้าถึงความจริงได้

อริสโตเติล (Aristotle ๓๘๔-๓๒๒ B.C.) เห็นว่า การกินอาหาร การเติบโต และการสืบพันธุ์เป็นลักษณะที่สิ่งมีชีวิตทั้ง ๓ มีร่วมกันได้ แต่ลักษณะเฉพาะที่ทำให้สิ่งมีชีวิตต่างกับสิ่งไม่มีชีวิต คือ การมีประสาทสัมผัสรับรู้ การเคลื่อนไหว ความรู้สึกต้องการ ความอยาก ฯลฯ ส่วนลักษณะเฉพาะที่เป็นคุณสมบัติที่แยกมนุษย์ออกจากสัตว์ คือ ปัญญา หมายถึง ความสามารถในการใช้เหตุผล เพื่อแสวงหาความจริง

สำหรับกลุ่มปัญญานิยม ความสุขมิได้มีค่าในตัวเอง ค่าของมันเป็นเพียงวิถีนำมนุษย์ให้เข้าถึงกิจกรรมทางปัญญาได้ มันมีความดีที่เอื้ออำนวยให้สิ่งที่ดีกว่าเกิดขึ้นได้เท่านั้นเอง เพลโต และโสคราตีสให้ความสำคัญแก่ความสุขสบายน้อยมาก เพราะถือว่าเป็นสิ่งทำให้มนุษย์ห่างไกลจากการใช้ปัญญา แต่อริสโตเติลให้ความสำคัญแก่ความสุขมากกว่า เพราะเห็นว่าถ้าปราศจากความสุขเป็นฐานแล้วกิจกรรมทางปัญญาก็จะเป็นไปมิได้

ดังนั้น ทฤษฎีปัญญานิยมนี้ ถือว่า ความรู้มีค่าในตัวเอง ซึ่งต่างจากสุขนิยมที่เชื่อว่า ความรู้เป็นเพียงวิถีที่นำให้มนุษย์ไปสู่ความสุข ความรู้ในทัศนะปัญญานิยม มี ๒ อย่าง คือ (๑) ความรู้ที่เกี่ยวกับความจริงของโลกภายนอก เช่น ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ฯลฯ ที่ช่วยให้มนุษย์มีความสุขสำราญ และช่วยให้มนุษย์เสพความพึงพอใจแก่ร่างกาย (๒) ความรู้เพื่อความรู้ เป็นความรู้ที่บริสุทธิ์ ที่ทำให้คนเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ ความรู้ทั้ง ๒ อย่างนี้ อย่างแรกทำให้มนุษย์มีมากกว่าสัตว์ แต่ความรู้อย่างหลังทำให้มนุษย์แยกออกจากสัตว์ (วิทย์ วิศทเวทย์, ๒๕๓๕: ๕๑-๕๒)

๒) วิมุตินิยม ถือว่า ความสงบของจิตและการหลุดพ้นจากความต้องการเป็นสิ่งที่ดีที่สุด วิมุตินิยมแบ่งออกเป็น ๒ แนวคิดย่อย ๆ ได้แก่ ซินนิค และสโตอิค

ซินนิค (Cynicism) เห็นว่า ค่าอันแท้จริงของชีวิตอยู่ที่การดำรงชีวิตอย่างง่าย ๆ มีสิ่งจำเป็นในชีวิตให้น้อยที่สุด ชีวิตง่ายๆ มีจุดหมายในตัวเอง เป็นสิ่งมีคุณค่าในตัว เช่น สอนว่ามนุษย์ควรอยู่อย่างสุนัข หิวก็หากิน ค่ำที่ไหนก็นอนที่นั่น ฯลฯ ซินนิคปฏิเสธความสุข เห็นว่าความสุขมิใช่สิ่งที่ดีที่สุดของชีวิต ทัศนะซินนิคเป็นลักษณะที่ปฏิเสธความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองหนีจากสิ่ง ที่ตนเองไม่เห็นด้วย และก็มิได้มีอุดมการณ์หรือจุดหมายอันใด แต่เบื่อหน่าย สิ่งต่าง ๆ เท่านั้นเอง

สโตอิค (Stoicism) เชื่อว่า จักรวาลดำรงอยู่และดำเนินไปอย่างมีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนตายตัว ในธรรมชาติทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามทางของมันเอง เป็นเหตุและเป็นผลซึ่งกันและกัน หากมนุษย์ใช้เหตุผลก็จะเข้าใจธรรมชาติ และต้องไม่ใช้อารมณ์ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องดำเนินไป คุณธรรมเกิดจากปัญญา ถ้ามนุษย์เข้าใจว่าอะไรเป็นเหตุให้มนุษย์ทำอย่างนั้น เท่ากับเข้าใจธรรมชาติ และก็วางเฉยเสีย ส่วนความโกรธและความรักเกิดจากความไม่เข้าใจ ซึ่งความไม่เข้าใจนั้นมีอารมณ์อยู่เหนือเหตุผล ความรักและความเมตตามิใช่สิ่งเดียวกัน ความรักมีจุดมุ่งหมายมาที่ตัวเอง แต่ความเมตตามุ่งไปที่ผู้อื่น อิสรภาพเป็นสิ่งที่มนุษย์ปรารถนา อิสรภาพ คือ ความสงบของจิตใจ ความสงบมิได้เกิดจากความสมอยาก แต่เกิดจากการระงับความอยาก และความอยากจะระงับได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์มีเหตุผล สโตอิคสอนว่า มนุษย์ควรเอาชนะใจตัวเอง และมนุษย์เราก็จะมีความสุขที่แท้จริง หากมนุษย์ยังหลงอยู่กับวัตถุภายนอก ก็จะมีความผิดหวัง มนุษย์ควรฝึกฝนคุณธรรม ๓ ประการ คือ ความอดทน ความอดกลั้น และความยุติธรรม เพราะสิ่งทั้ง ๓ ประการนี้ จะทำให้มนุษย์มีเมตตาต่อผู้อื่น รักสงบ แต่มิได้แนะให้มนุษย์ออกไปอยู่ป่า หรือหลีกหนีสังคม แต่ให้รับภาระช่วยเหลือผู้อื่นและสังคมตามความสามารถของตน (วิทย์ วิศทเวทย์, ๒๕๓๕: ๕๖-๖๐)

• มนุษย์นิยม (Humanism) เห็นว่า มนุษย์มีทั้งร่างกายและวิญญาณซึ่งมีความสำคัญเท่า ๆ กัน เพราะถ้าขาดอย่างหนึ่งอย่างใด มนุษย์ก็ไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ ถ้าร่างกายปราศจากวิญญาณก็เหมือนท่อนไม้ท่อนหนึ่ง และจิตวิญญาณก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ถ้าปราศจากร่างกาย ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับร่างกายและจิตใจอย่างเท่าเทียมกัน ความสุขสบายเป็นอาหารทางกายฉันใด ปัญญาความรู้และความสงบของจิตก็เป็นอาหารทางใจฉันนั้น (สุจิตรา รณรื่ณ, ๒๕๓๒:๗๘) มนุษย์นิยมจึงถือว่าทั้งความสุข ปัญญาความรู้ ความสงบของจิต การชื่นชมความงามต่าง ๆ มิตรภาพ เสรีภาพ ฯลฯ ต่างก็มีค่าในตัวเอง มนุษย์นิยมสอนว่า สิ่งที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ทุกด้าน ทั้งทางกายและจิต คือสิ่งที่มีคุณค่าและควรแสวงหา 

สรุป : การแสวงหาความสุขและคุณค่าของชีวิตเมื่อพิจารณาทฤษฎีจริยศาสตร์ต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว สามารถสรุปได้ว่า ความหมายต่าง ๆ ของ "ความสุข" อันเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตของบุคคลที่บรรลุถึงเป็นชีวิตที่มีค่าพึงปรารถนา มีดังต่อไปนี้

๑) ทัศนะของสุขนิยม เห็นว่า ความสุข คือ ความสุขสบาย สุขนิยมมี ๒ แนวคิด คือ

๑.๑ สุขนิยมของอาริสติปปุส คิดว่า ความสุข คือ ความสุขสบายทางกายหรือทางประสาทสัมผัสที่เข้มข้นที่สุด และเป็นความสุขเฉพาะหน้า ดังนั้น ชีวิตของบุคคลจะเป็นชีวิตที่มีค่าก็ต่อเมื่อบุคคลผู้นั้นมีความสุขสบายทาง กายเฉพาะหน้าที่เข้มข้นที่สุด หรือมีความสุขสนุกสนาน

๑.๒ สุขนิยมของเอพิคคิวรัส คิดว่า ความสุข คือ ความสุขสบายทางกายและทางใจ เขามุ่งเน้นให้แสวงหาความสุขสบายระยะยาว หรือความสุขสบายที่จะไม่นำมาซึ่งความทุกข์ภายหลัง ซึ่งต้องอาศัยความรอบคอบและการมองการณ์ไกล ดังนั้น ชีวิตของบุคคลจะเป็นชีวิตที่มีค่า ก็ต่อเมื่อบุคคลมีความสุขสบายระยะยาว

๒) ทัศนะของอสุขนิยม เห็นว่า ความสุข คือ การมีปัญญาความรู้หรือความสงบของจิต อสุขนิยมมี ๒ แนวคิด คือ

๒.๑ ปัญญานิยม คิดว่า ความสุข คือ การมีปัญญาความรู้ ดังนั้น ชีวิตของบุคคลจะเป็นชีวิตที่มีค่าก็ต่อเมื่อบุคคลผู้นั้นมีกิจกรรมทางปัญญา หรือมีความรู้

๒.๒ วิมุตินิยม คิดว่า ความสุข คือ ความสงบของจิต ดังนั้น ชีวิตของบุคคลจะเป็นชีวิตที่มีค่าก็ต่อเมื่อบุคคลผู้นั้นมีจิตใจที่สงบ ปราศจากสุขและทุกข์

๓) ทัศนะของมนุษย์นิยม เห็นว่า ความสุข คือ การตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจอย่างสมดุลย์กัน ดังนั้น ชีวิตของบุคคลจะเป็นชีวิตที่มีค่าก็ต่อเมื่อบุคคลผู้นั้นได้รับการตอบสนอง ความต้องการทางด้านร่างกายและจิตใจอย่างสมดุลย์ ไม่ละเลยด้านใด ด้านหนึ่งไป 
--
ที่มา : สุริยัญ ชูช่วย. (๒๕๔๕). การแสวงหาความสุขและคุณค่าของชีวิต กรณีศึกษาทัศนะกลุ่มคนต่างวัยในกรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต, สาขาวิชาจริยศาสตร์ศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo