จากแนวคิดของนักจริยศาสตร์เหล่านี้เป็นการโดยสรุป เป็นแนวคิดทางจริยศาสตร์ที่มีลักษณะของการโต้แย้งด้วยเหตุผล (Argument) เป็นการนำเสนอแนวคิด ข้อโต้แย้งโดยใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองด้วยเหตุผล วิเคราะห์ข้อเท็จจริงและวิพากษ์ออกความคิดเห็นโดยมิได้มุ่งถึงการปฏิบัติ และนอกจากนี้จริยศาสตร์ยังมีลักษณะสำคัญคือไม่อาจจะหาข้อสรุปที่แน่นอนได้ ขึ้นอยู่กับผู้ศึกษาแต่ละคนจะใช้วิจารณญาณในการศึกษาและมีความพึงพอใจในการปฏิบัติ
สืบเนื่องจากเนื้อหาของจริยศาสตร์เป็นการศึกษาที่ครอบคลุมปัญหาสำคัญ ๓ ประการ ได้แก่
(๑) อะไรคืออุดมคติของชีวิตที่ประเสริฐสุดที่มนุษย์ความแสวงหา
(๒) อะไรคือเกณฑ์ตัดสินจริยธรรมว่าการกระทำอย่างนี้ถูกหรือผิด (Moral Judgment)
(๓) คุณค่าทางจริยธรรม (Ethical Value) ซึ่งหมายถึงคำว่า ดี ชั่ว ถูก ผิด ควร ไม่ควร มีอยู่จริงหรือไม่ สามารถนิยามได้ มนุษย์จะเข้าถึงธรรมชาติเหล่านี้ได้อย่างไร
ซึ่งในประเด็นเกี่ยวกับ "อุดมคติ คือ เรื่องจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิต หรือสิ่งที่มีค่าสูงสุดในชีวิตที่มนุษย์ควรแสวงหา" นั้น มีความแตกต่างกันตามความเข้าใจของนักคิดทางจริยศาสตร์ และยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ บางสำนักมีทรรศนะว่า ความสุข ความพอใจ ปัญญาหรือความรู้ หรือความสมบูรณ์เป็นอุดมคติสูงสุด เป็นสิ่งที่ดีที่สุดและน่าแสวงหา ทรรศนะของนักคิดทางจริยศาสตร์เหล่านี้สรุปได้ดังนี้
๑. สุุขนิยม (Hedonism) นักจริยศาสตร์ในสำนักนี้มีทรรศนะว่า ความสุขเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรแสวงหา เป็นสิ่งเดียวที่มีค่าในตัวเอง ถ้ามีสิ่งอื่นที่ดีหรือมีค่า ความดีหรือค่าอันนั้นไม่ได้มีอยู่ที่ตัวมันเอง แต่ความดีหรือค่าอันนั้นอยู่ที่มันพาเราไปสู่ความสุข ความสุขที่แท้จริงของชีวิตคือผลประโยชน์ต่อตัวเราที่พึงตักตวงในทุกด้าน ชื่อเสียง เกียรติยศ ทรัพย์สมบัติ อำนาจ เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาในขณะที่เรามีชีวิตอยู่ คุณค่าทางจริยธรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์กำหนดให้ ไม่ตายตัว มีลักษณะสัมพันธ์ (Relative) คือเปลี่ยนไปตามกาลเวลา สถานการณ์และสิ่งแวดล้อม มนุษย์เองเป็นผู้ตัดสินการกระทำของตนเอาความพอใจ นักจริยศาสตร์ในสำนักนี้ เช่น
เอพิคคิวรัส (Epicureanism) เป็นสุขนิยมในแง่ที่ว่า ความสุขความสำราญเป็นยอดปรารถนาและเป็นสิ่งประเสริฐสุดในชีวิต แต่ความสุขในทรรศนะของ เอพิคคิวรัส นั้นนับว่าอยู่ในทางสายกลาง คือละเว้นสิ่งที่ไม่จำเป็น ให้เป็นคนมักน้อย อยู่ง่ายกินง่าย ถ้าลุ่มหลงและสำราญกับความสุขมากเกินไป ก็จะกลายเป็นทาสของมันและอาจเกิดความทุกข์ได้ ซึ่งความสุขประเภทนี้จะเกิดได้ด้วยความฉลาดรอบคอบที่จะพิจารณาใตร่ตรองเลือก กระทำ
โซฟิสต์ (The Sophists) มีทรรศนะว่า มนุษย์มีร่างกายและจิตใจ ไม่มีวิญญาณ มีชีวิตสิ้นสุดที่ความตาย มีมีสวรรค์ ไม่มีนรก มีแต่สภาพความจริงที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน สิ่งประเสริฐที่มนุษย์ควรแสวงหาได้แก่ ความสุขสบาย
๒. อสุขนิยม (Non-hedonism) นักจริยศาสตร์สำนักนี้มีทรรศนะตรงกันข้ามกับสุขนิยม คือมีทรรศนะว่าสิ่งที่มีค่าสูงสุดที่มนุษย์ควรแสวงหานั้นไม่ใช่ความสุข แต่เป็นความสงบของจิตใจอันเกิดจากปรีชาญาณ (wisdom) อันประกอบด้วยเหตุผลที่สามารถใตร่ตรองและมองเห็นสัจธรรมด้วยตาแห่งปัญญา ด้วยเหตุนี้ชีวิตที่ประเสริฐจึงควรเป็นชีวิตการใช้ปัญญาอันสอดคล้องกับ คุณธรรม คุณค่าทางจริยธรรมเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง มนุษย์ไม่ได้เป็นผู้กำหนด แต่สามารถเข้าถึงด้วยตาแห่งปัญญา ลัทธินี้แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ
(๑) วิมุตินิยม คือ พวกที่เชื่อว่า ความสงบของจิตและการหลุดพ้นตัณหาเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของชีวิต นักจริยศาสตร์กลุ่มนี้ได้แก่ พวกซินนิค (Synicism) พวกสโตอิค (Stoic) และศาสนาต่าง ๆ เช่น พุทธศาสนา คริสต์ศาสนา รวมทั้งปรัชญาอินเดียโดยทั่วไป (วิทย์ วิศทเวทย์, ๒๕๓๐: ๕๖)
(๒) ปัญญานิยม คือพวกที่ถือว่า ปัญญา หรือ ความรู้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดของมนุษย์ ปัญญาเป็นสิ่งที่มีค่าในตัวของมันเอง สาระของปัญญาคือสามารถในการใช้เหตุผลเพื่อแสวงหาความจริง ปัญญาเป็นลักษณะเฉพาะของมนุษย์ นักปรัชญาในลัทธิได้แก่ โสเครติส เพลโต้ และอริสโตเติล ทั้งสามคนนี้มีความคิดพื้นฐานเหมือนกัน แต่รายละเอียดอาจแตกต่างกันบ้าง
๓. มนุษย์นิยม (Humanism) ทรรศนะ ของนักจริยศาสตร์สำนักนี้มีความเชื่อว่า มนุษย์เป็นสิ่งหนึ่งในธรรมชาติ มีศักดิ์ศรีและมีความสามารถที่จะพัฒนาตัวเองโดยอาศัยเหตุผลและวิทยาศาสตร์ นักจริยศาสตร์กลุ่มนี้ให้ความสำคัญแก่มนุษย์โดยองค์รวม (Holistic) คือมนุษย์ประกอบด้วยร่างกาย จิตใจ และสภาพแวดล้อม การดำเนินชีวิตของมนุษย์จึงไม่ควรเป็นไปเพื่อหลักการอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ควรคำนึงถึงองค์ประกอบรอบด้าน ในเรื่องเกี่ยวกับอุดมคติของชีวิต มนุษย์นิยมมีความเห็นว่า ความสุขทางร่างกายแบบสุขนิยมก็เป็นสิ่งดี ความสงบจิตใจอันเกิดจากการเอาชนะใจตนองและการแสวงหาสัจธรรมก็เป็นสิ่งดี ทรรศนะของมนุษย์นิยมจึงเป็นทรรศนะที่ประนีประนอมระหว่างสุขนิยม อสุขนิยมรวมทั้งอัตถิภาวนิยมด้วย ทั้งนี้เพราะว่า สุขนิยมให้ความสำคัญแก่ความสุขทางกายมากเกินไป และปัญญานิยมและวิมุตินิยมก็ให้ความสำคัญทางจิตวิญญาณมากเกินไป อัตถิภาวนิยมก็มุ่งแต่สนองความอยากความต้องการที่เกิดขึ้น ดังนั้นมนุษย์นิยมจึงอยู่ตรงกลางระหว่างความสุดโต่ง ๒ ข้าง เพราะฉะนั้นชีวิตที่มีความสุขอย่างแท้จริง ควรเป็นชีวิตที่ประกอบด้วยความสำเร็จในด้านของการสร้างตน ควรจะได้มีโอกาสเก็บเกี่ยวความดี ความงาม ความสุขที่มนุษย์ถึงได้อย่างครบถ้วน ขณะเดียวกันก็เป็นชีวิตที่มีคุณภาพและอุดมการณ์ แนวคิดของนักปรัชญาสมัย (Modern Philosophy) ใหม่ก็จัดในแนวคิดดังกล่าวนี้
๔. ประโยชน์นิยม (Utilitarianism) ประโยชน์นิยม เป็นทรรศนะทางจริยศาสตร์ที่ถือเอาประโยชน์สุขเป็นเกณฑ์ตัดสินความผิดถูก ชั่วดี กล่าวคือ การกระทำที่ก่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุดแก่คนจำนวนมากที่สุด ถือเป็นการกระทำที่ดี (ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๔๐: ๑๐๑) และเนื่องจากประโยชน์นิยมเป็นจริยศาสตร์ที่เน้นเป้าหมาย (Ends Ethics) จึงพิจารณาความถูกผิดของการกระทำที่ผลของการกระทำ โดยไม่นำตัวการกระทำมาตัดสิน ไม่ว่าการกระทำนั้นจะประกอบด้วยเจตนาดีหรือไม่ก็ตาม สาระสำคัญของประโยชน์นิยมถือว่า ความสุขเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ ความสุขจึงเป็นตัวตัดสินว่าการกระทำดี ไม่ดี ควร ไม่ควร ถูกหรือผิด ถ้าการกระทำใดที่กระทำแล้วให้ประโยชน์สุขมากกว่าก็ถือว่าการกระทำนั้นก็ดี กว่า และควรกระทำมากกว่า อนึ่ง ประโยชน์สุขในที่นี้มิได้หมายถึงประโยชน์สุขของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่หมายถึงประโยชน์สุขของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตาม "หลักมหสุข" ที่ว่า "ความสุขที่มากที่สุด ของคนจำนวนมากที่สุด" ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงโทษหรือความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นด้วย โดยทุกข์หรือโทษที่เกิดขึ้นต้องไม่มากกว่าประโยชน์ที่ได้รับ และในบางกรณีที่ต้องเลือกกระทำ เนื่องจากทุกทางเลือกนั้นล้วนแต่ก่อให้เกิดความทุกข์ ก็ให้ถือว่าการกระทำที่ก่อให้เกิดความทุกข์น้อยกว่าเป็นการกระทำที่ให้ความ สุขมากกว่าทางเลือกอื่น ๆ ประโยชน์นิยมเป็นแนวคิดที่มีเสน่ห์ดึงดูดนักศึกษา และผู้ที่สนใจเรื่องทางสังคมและการเปลี่ยน แปลงทางสังคม ประโยชน์นิยมยังเป็นปรัชญาที่รองรับรัฐสวัสดิการในยุคปัจจุบัน ผู้ที่สร้างระบบ คือนักปฏิรูปสังคม เจเรมี เบนธัม (Jereme Benthan: ๑๗๔๒-๑๘๓๒) จอห์น สจ๊วต มิล (John Stuart Mill: ๑๘๐๖-๑๘๗๓) (อรรถจินดา ดีผดุง, ๒๕๔๐: ๕๘)
๕. เอ็กซิสเทนเชียลลิสม์ (Existentialism) มีหลักการสำคัญซึ่งเป็นหัวใจของปรัชญาสำนักนี้ ประการแรกคือ มุ่งให้ความสนใจเรื่องสภาพการมีอยู่ของมนุษย์ (Human Existence) กล่าวคือ การมีอยู่ของบุคคลแต่ละคนหรือปัจเจกบุคคล มนุษย์แต่ละคนเป็นผู้เลือกและสร้างตัวเองให้เป็นไปตามที่ตนต้องการ ไม่มีอะไรมามีอำนาจเหนือความเป็นตัวของตัวเองของแต่ละบุคคล ประการที่สอง การปฏิเสธความรู้ทางและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ โดยมองว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ลดความสำคัญเรื่องการมีอยู่ของมนุษย์ ไปมุ่งสนใจแต่วัตถุ ธรรมชาติและสิ่งรอบตัว ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำให้สังคมมนุษย์สลับซับซ้อน มากขึ้น และความสลับซับซ้อนนี้มันดึงให้มนุษย์ ออกจากตัวเอง สูญเสียความเป็นตัวเอง ดังนั้น มนุษย์จึงควรกลับมาหาตัวเอง คือให้ตระหนักถึงเสรีภาพ อันเป็นธาตุแท้ของมนุษย์ แนวคิดของนักจริยศาสตร์กลุ่มนี้เป็นทรรศนะแบบสมัยปัจจุบัน คือทรรศนะว่า มนุษย์มีเสรีภาพที่สมบูรณ์ มีอิสระ เป็นผู้เลือกทำด้วยตัวเอง มนุษย์เป็นผู้สร้างความดี และการสร้างนี้มิได้มีแผนอะไรที่ต้องคล้อยตาม มนุษย์เป็นอิสระ และควรทำในสิ่งที่อยากทำ ไม่มีเกณฑ์ตายตัวใดๆ ที่จะมาตัดสินว่า อย่างไรผิด ถูก ดีหรือไม่ดี (วิทย์ วิศทเวทย์, ๒๕๓๑: ๑๔๖) นักจริยศาสตร์ที่สำคัญมี ฌอง ปอล ซาร์ท (Jean Paul Sartre: ๑๙๐๕-๑๙๘๐) คาร์ล ยัสเปียร์ส (Karl Jaspers: ๑๘๕๓-๑๙๖๙) คีร์เคกอร์ด (Hickekard ๑๘๑๓-๑๘๕๕) เป็นต้น
จากแนวคิด ของนักจริยศาสตร์เหล่านี้เป็นการโดยสรุป เป็นแนวคิดทางจริยศาสตร์ที่มีลักษณะของการโต้แย้งด้วยเหตุผล (Argument) เป็นการนำเสนอแนวคิด ข้อโต้แย้งโดยใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองด้วยเหตุผล วิเคราะห์ข้อเท็จจริงและวิพากษ์ออกความคิดเห็นโดยมิได้มุ่งถึงการปฏิบัติ และนอกจากนี้จริยศาสตร์ยังมีลักษณะสำคัญคือไม่อาจจะหาข้อสรุปที่แน่นอนได้ ขึ้นอยู่กับผู้ศึกษาแต่ละคนจะใช้วิจารณญาณในการศึกษาและมีความพึงพอใจในการ ปฏิบัติ
--
ที่มา : สาคร ศรีดี. (๒๕๔๕). วิเคราะห์หลักพุทธจริยธรรมที่ปรากฏในเพลงพื้นบ้านจังหวัดสุพรรณบุรี: ศึกษาเฉพาะกรณีเพลงอีแซว. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต, สาขาวิชาจริยศาสตร์ศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.