การทำแท้ง มองในแง่ศาสนาบาปแน่ ไม่มีใครเถียง แม้จะไม่เอาศาสนามาอ้าง ในความรู้สึกของคนทั่วไปก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ถ้าเราสามารถห้ามมิให้มันเกิดขึ้นได้ แต่ปัญหาในปัจจุบันนี้เราห้ามสิ่งนี้ไม่ได้ มันเป็นความจริงที่เกิดขึ้นแล้วในสังคมอันฟอนเฟะนี้ มีการลักลอบทำแท้งโดยหมดเถื่อนผู้ไม่มีความรู้เพียงพอ ทำให้คนตายไปทั้ง ๆ ที่ไม่สมควรตายปีละมาก ๆ ถ้ามีกฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งได้ จะช่วยในแง่ที่ว่า การลักลอบทำแท้งเถื่อนจะหมดไป การทำแท้งจะตกอยู่ในเงื้อมือของนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จะได้ช่วยกันวินิจฉัย และกระทำโดยถูกหลักวิชากันต่อไป สังคมก็จะได้มีโอกาสช่วยชีวิตผู้เคราะห์ร้ายที่ยังไม่สมควรตายได้มากขึ้น มองในแง่นี้แล้ว การทำแท้งที่ถูกกฎหมาย และถูกวิธีก็เป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อย่างหนึ่ง เป็นกิจกรรมของความเมตตากรุณาได้เช่นเดียวกัน ใช่ว่าเป็นเรื่องความทารุณโหดร้ายเสมอไปไม่
บทความนี้อ่านพบจากหนังสือ "พุทธศาสนา : ทัศนะและวิจารณ์" ซึ่งเขียนโดยอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก เรื่อง "ความขัดแย้งทางจริยธรรม" หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า "Moral Dilemma" ซึ่งอาจารย์ได้อธิบาย และยกตัวอย่างเรื่องความขัดแย้งทางจริยธรรมไว้อย่างชัดเจน จึงอยากแบ่งปันให้ผู้ที่สนใจได้อ่านกันค่ะ
--
จริยธรรม คือ กฎเกณฑ์ที่ควรประพฤติ หรือธรรมที่ควรประพฤติ โปรดเข้าใจว่า ธรรมที่ไม่ควรประพฤติก็มีในทางศาสนาเขาแบ่งธรรมไว้สองชนิด คือ กุศลธรรม ธรรมฝ่ายดีที่ควรประพฤติตาม อกุศลธรรม ธรรมฝ่ายชั่ว ที่ควรละเว้นหรือไม่ควรประพฤติ
เคยดูหนัง "คิงส์แอนด์ไอ" แหม่มแอนนา ลงเรือจากอังกฤษมาเมืองไทยในรัชกาลพระจอมเล้าฯ ขณะเรือกำลังแล่นเข้าฝั่งเธอจับกล้องส่องทางไกลส่องดู แล้วเธอร้อง ว้าย
บอกหลุยส์ลูกชายว่า คนสยามเปลือยกาย น่าเกลียดจัง
การไม่ใส่เสื้อ มนุษย์ในโลกตะวันตกเห็นว่าเป็นเรื่องไม่ควรประพฤติ แต่คนตะออกโดยเฉพาะคนไทยสมัยก่อนเห็นว่าควรประพฤติ ถึงกับห้ามใส่เสื้อเข้าไปในพระราชฐาน
มาถึงยุคนี้ คนไทยเองกลับเห็นว่า การเปลือยกายต่อสาธารณชนเป็นสิ่งไม่ควรประพฤติอย่างยิ่ง ใครขืนเดินเปลือยกาย (ท่อนบน) เข้าไปในที่ชุมชน รับรองเกิดเรื่องแน่ ดีไม่ดีจะถูกหาว่าเป็นบ้าเป็นบอเอา
เรื่องเล็ก ๆ แค่ใส่เสื้อหรือไม่ใส่เสื้อ มนุษย์ต่างกลุ่ม หรือแม่กลุ่มเดียวกันแต่ต่างยุคสมัย ก็เห็นไม่ตรงกันแล้ว ยิ่งเป็นเรื่องใหญ่ ๆ เช่น เรื่อง "การฆ่า" ก็ยิ่งมีปัญหาขัดแย้งกันมาก เป็นข้อถกเถียงกันมานมนานกาเล และคงจักต้องเถียงกันต่อไป จนกว่ามนุษย์จะสูญพันธุ์นั่นแหละ จึงจะหยุด
เรื่องจริง เกิดขึ้นเรื่องหนึ่ง เมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว สามเณรน้อยอายุ 13 ขวบรูปหนึ่ง ที่จังหวัดนครพนม ตกลงมาจากชานกุฏิลงไปในกะทะน้ำมันเดือดพล่าน เณรน้อยดิ้นทุรนทุรายด้วยความทรมาน พระเณรทั้งวัดและชาวบ้านไม่มีปัญญาช่วยอะไรได้ ได้แต่มุงดูด้วยความสงสารรันทด บ้านนอกไกลหมอไกลโรงพยาบาลจะทำอะไรมากไปกว่านี้ได้ ใคร ๆ ก็รู้อยู่ หยูกยาที่มีอย่างมากก็แต่ยาแดงทาแผลเท่านั้น มดหมอที่มีก็พวกหมอน้ำมนต์น้ำมัน
ความโง่ของ หมอน้ำมนต์คือ เมื่อถูกความร้อน จะให้หายร้อนก็ต้องเอาน้ำเย็นราด จึงพ่นน้ำราดน้ำเข้าไป ความร้อนก็หลบใน คนป่วยก็ยิ่งดิ้นทุรนทุรายมากขึ้น
โยมพ่อของสามเณร เห็นลูกรักทุรนทุรายสุดจะทนอยู่ได้ จึงรีบวิ่งขึ้นไปคว้าปืนลูกซองออกมา หมายจะยิงลูกให้ตายพ้นความทรมาน แต่ก็ถูกยื้อยุดฉุดกระชาก ห้ามปรามจากฝูงชน
ในที่สุดสามเณรน้อยก็ขาดใจตายอย่างทรมาน ท่ามกลางความสงสารของคนรอบข้าง แต่ช่วยอะไรไม่ได้
นี่ก็เป็น ปัญหาทางจริยธรรม ที่ยังถกเถียงกันว่า จะเอาอย่างไร ในกรณีเช่นนี้ ทางออกที่ดีควรจะเป็นเช่นไร ปล่อยให้คนไข้ตายไปต่อหน้าต่อตาอย่างทรมาน หรือ "ช่วยดับ" ความทรมานให้เขาอย่างที่โยมพ่อของเณรน้อยจะทำ แต่ถูกห้ามเสีย
การฆ่าเป็นความโหดร้อยทารุณ แต่ในบางกรณีการไม่ฆ่าก็โหดร้ายเท่ากัน หรือมากกว่า
เรื่องที่ กำลังเกรียวกราวในขณะนี้คือ ความพยายามของบุคคลผู้หวังดีต่อสังคมบางกลุ่มจะผลักดันให้ออกกฎหมายทำ แท้งออกมา แต่ก็ถูกบุคคลผู้หวังดีต่อสังคมอีกกลุ่มหนึ่งต่อต้าน ถึงกับโกนหัวประท้วงที่หน้ารัฐสภา เสร็จแล้วก็พากันไปเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช ขอประทานความเห็นจากพระองค์ พูดง่าย ๆ ก็เพื่อให้พระองค์ยืนยันว่า การทำแท้งผิดแน่ ๆ การประท้วงของตนจะได้มีน้ำหนักยิ่งขึ้น แต่บังเอิญสมเด็จพระสังฆราชทางมีพระภารกิจอย่างอื่น คณะผู้ประท้วงจึงได้พบท่านเจ้าคุณเลขานุการส่วนพระองค์ ได้คาดคั้นเอาคำตอบจากท่านเจ้าคุณเลขานุการฯ ว่า ถ้ากฎหมายทำแท้งออกมาแล้วจะทำให้จิตใจคนเหี้ยมโหดขึ้นหรือไม่ ท่านเจ้าคุณตอบว่า ไม่แน่หรอก เพราะต่างคนต่างเห็นกันคนละมุม
ก่อนหน้านี้เล็กน้อย พลตรีจำลอง ศรีเมือง หรือที่ใคร ๆ เรียกว่าท่านมหาจำลอง ได้โจมตีผู้ที่พยายามเสนอให้ออกกฎหมายนี้ขึ้นมาว่า โหดร้ายทารุณ เลวทรามยิ่งกว่าสัตว์ แม้แต่สัตว์มันยังไม่ฆ่าลูกของมัน ตนเองไม่เห็นด้วย พร้อมท้าให้ไปถามพระสงฆ์ทั่วประเทศ ทุกองค์จะต้องบอกว่าเป็นบาป ไม่ควรทำทั้งนั้น
อย่างน้อยก็ เลขานุการส่วนพระองค์ของสมเด็จพระสงัฆราชรูปหนึ่งละ ที่ได้ให้ความเห็นว่าเรื่องอย่างนี้มันไม่แน่หรอก ต่างคนต่างมีความเห็น
ถึงสมเด็จพระสังฆราชประทานพระมติ พระองค์ก็คงจะตรัสเป็นกลาง ๆ อย่างนี้ ผมเชื่ออย่างนั้น
การทำแท้ง มองในแง่ศาสนาบาปแน่ ไม่มีใครเถียง แม้จะไม่เอาศาสนามาอ้าง ในความรู้สึกของคนทั่วไปก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ถ้าเราสามารถห้ามมิให้มันเกิดขึ้นได้ แต่ปัญหาในปัจจุบันนี้เราห้ามสิ่งนี้ไม่ได้ มันเป็นความจริงที่เกิดขึ้นแล้วในสังคมอันฟอนเฟะนี้ มีการลักลอบทำแท้งโดยหมดเถื่อนผู้ไม่มีความรู้เพียงพอ ทำให้คนตายไปทั้ง ๆ ที่ไม่สมควรตายปีละมาก ๆ ถ้ามีกฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งได้ จะช่วยในแง่ที่ว่า การลักลอบทำแท้งเถื่อนจะหมดไป การทำแท้งจะตกอยู่ในเงื้อมือของนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จะได้ช่วยกันวินิจฉัย และกระทำโดยถูกหลักวิชากันต่อไป สังคมก็จะได้มีโอกาสช่วยชีวิตผู้เคราะห์ร้ายที่ยังไม่สมควรตายได้มากขึ้น มองในแง่นี้แล้ว การทำแท้งที่ถูกกฎหมาย และถูกวิธีก็เป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อย่างหนึ่ง เป็นกิจกรรมของความเมตตากรุณาได้เช่นเดียวกัน ใช่ว่าเป็นเรื่องความทารุณโหดร้ายเสมอไปไม่
ในบางกรณี แม่ตั้งครรภ์ขึ้นมา ถ้าปล่อยให้โตจนคลอดออกมา ทั้งแม่ทั้งลูกจะเสียชีวิต แต่ถ้าทำแท้งจะช่วยชีวิตแม่ไว้ได้ นักธรรมะผู้เคร่งศีลธรรมคงจะบอกว่า ปล่อยให้เขาคลอดตามธรรมชาตินั่นแหละ ไม่ควรทำแท้ง เพราะผิดศีลถ้ามันจะตาย (ทั้ง ๆ ที่ช่วยได้ด้วยการทำแท้ง) ก็ปล่อยให้ตายไปตามกฎแห่งกรรม
ถ้าผมเป็นผม ผมจะช่วยชีวิตแม่ไว้ ใครจะหาว่าเลวยิ่งกว่าสัตว์ ก็ไม่ว่าอะไร แต่ผลขอปฏิปุจฉาว่า การไม่ช่วยชีวิตคนทั้ง ๆ ที่สามารถช่วยได้นั้น ดีกว่าสัตว์หรือ
--
ที่มา : เสฐียรพงษ์ วรรณปก. (ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์). พุทธศาสนา : ทัศนะและวิจารณ์. กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ จำกัด. (หน้า 198 - 201).