สันตินิยม (Pacifism)

มีผู้วิพากษ์แนวคิดสันตินิยมว่าเป็นการมองโลกในแง่ดีเกินไป และหากนำไปปฏิบัติจริงแล้วคงทำไม่ได้ อีกทั้งแนวคิดของสันตินิยมยังขาดการคำนึงถึงความเป็นจริง กล่าวคือ โลกที่ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงซึ่งอยู่ในจินตนาการของนักสันตินิยมนั้น จริง ๆ แล้ว ไม่สามารถทำให้โลกนี้เป็นไปตามที่พวกเขาปรารถนาได้ เพราะบางครั้งในโลกแห่งความเป็นจริงการทำสงครามโดยอาศัยหลักศีลธรรมอย่าง เหมาะสมน่าจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้มากกว่า
 

ดวงเด่น นุเรมรัมย์
ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาจริยศาสตร์ศึกษา
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

นับแต่ผู้นำประเทศสหรัฐอเมริกาพยายามแสดงท่าทีแข็งกร้าว เพื่อต่อต้านผู้นำของประเทศอิรัก ในโทษฐานที่ไม่ให้ความร่วมมือในการเปิดเผยอาวุธร้ายแรงในครองครอง ให้แก่คณะตรวจสอบอาวุธขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งทำให้หลายฝ่ายตระหนักถึงภัยสงครามที่อาจจะเกิดขึ้นในเร็ววัน และเมื่อสงครามระหว่างสหรัฐอเมริการและพันธมิตร กับอิรักเริ่มต้นขึ้น นานาประเทศ ตลอดจนกลุ่มคนต่าง ๆ จากทั่วทุกมุมโลก ได้ออกมาแสดงท่าทีคัดค้านการทำสงคราม ซึ่งกลุ่มคนที่ต่อต้านสงครามดังกล่าวนี้เรียกว่าเป็นกลุ่ม “สันตินิยม” (Pacifism)

เจ็นนี่ ทีคมาน (Jenny Teichman) ให้คำจำกัดความของ "สันตินิยม" ว่า "ลัทธิต่อต้านสงคราม" (anti-war-ism) ดังนั้น ผู้ที่ยึดถือในสันตินิยมต้องปฏิเสธสงคราม เพราะไม่ว่าอย่างไรการทำสงครามก็ขัดกับหลักศีลธรรมเบื้องต้น และสงครามสำหรับนักสันตินิยมเป็นความผิดเสมอ (Stanford Encyclopedia of Philosophy, 2000)

สมพงษ์ ชูมาก (2542: 44) อธิบายว่า "สันตินิยม" เป็นแนวคิดที่ต่อต้านและประณามสงคราม และการใช้ความรุนแรงทางกายภาพต่อมนุษยชาติ ดังนั้น กลุ่มสันตินิยมจะใช้วิธีการไม่รุนแรงในการต่อต้าน (Non-Violent Resistance) เพื่อเป็นหนทางบรรลุจุดมุ่งหมายของตน

กล่าวโดยสรุป สันตินิยมเป็นแนวคิดที่เชื่อว่าสงครามและความรุนแรงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ในทางศีลธรรม และความขัดแย้งทั้งมวลควรได้รับการแก้ไขโดยวิถีทางสันติ

ในศตวรรษที่ 20 นักสันตินิยมที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คือมหาตมะ คานธี (Mohandas K Ghandi: 1869-1948) เพราะแม้ว่าคานธีจะสนับสนุนอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยเชื่อว่าอาจจะช่วยให้อังกฤษเร่งรัดปลดปล่อยอินเดียให้เป็นเอกราช แต่เมื่ออังกฤษไม่ยอมปลดปล่อยอินเดีย คานธีจึงได้ก่อตั้งขบวนการรณรงค์ต่อต้านระบอบการปกครองโดยอังกฤษ ที่เรียกว่า "สัตยาเคราะห์" (Satyagraha) หรือพลังแห่งความจริง (Truth-Force) (สมพงษ์ ชูมาก: 2542, 46) อันเป็นวิธีการต่อต้านแบบสันติ ประกอบด้วย "สัจจะ" (ความจริงใจที่มีต่อธรรมชาติของตนเอง) "อหิงสา" (การไม่ใช้ความรุนแรง) และ "การยอมทนทุกข์ทรมาน" ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้เป็นการต่อต้านโดยอยู่เฉยหรือแข็งสิทธิ ไม่ยอมปฏิบัติและไม่ใช้กำลัง (ดิเรก ชัยนาม, 2509: 499) นอกจากนี้แล้ว คานธีเห็นว่าเมื่อคนมีสัจจะคนก็จะไม่ใช้วิธีการรุนแรงต่อผู้อื่น ทั้งนี้เพราะเมื่อเรายอมรับความจริงเกี่ยวกับตนเองแล้ว ก็ย่อมตระหนักว่าธรรมชาติแท้จริงของมนุษย์นั้นไม่ชอบวิธีการรุนแรง หรือการใช้กำลังทางร่างกายและทางอาวุธต่อผู้อื่น และเมื่อเราปฏิบัติแบบอหิงสาแต่ไม่ได้ผลตามที่ต้องการ เราก็ต้องยอมทนทุกข์ทรมาน หรือในบางกรณีก็ต้องยอมตายเพื่ออุดมการณ์ (พินิจ รัตนกุล, 2515: xvii-xviii) ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้สามารถนำอินเดียไปสู่ความเป็นเอกราชได้ในที่สุด (ค.ศ. 1947)

ในการให้เหตุผลสนับสนุนทรรศนะที่ว่าการทำสงครามทุกรูปแบบไม่มีความชอบธรรมในทุกกรณี นั้น ผู้ที่ยึดถือสันตินิยมมักจะอ้างหลักคำสอนของศาสนาต่าง ๆ ที่ตนนับถือ กล่าวคือ การอ้างหลักคำสอนในบัญญัติสิบประการ (Ten Commandment) ที่ว่า "เจ้าจงอย่าฆ่า" (You shall not Kill.) หรือคำสอนที่ว่า "จงรักศัตรู จงทำความดีแก่คนที่เกลียดชังท่าน จงอวยพรแก่ผู้ที่สาปแช่งท่าน จงภาวนาแก่คนที่เคี่ยวเข็ญท่าน ถ้าใครตบแก้มขวา จงยื่นแก้มซ้ายให้ตบด้วย ใครเอาเสื้อนอกไป จงให้เสื้อในแก่เขาด้วย จงให้ทุกคนตามที่ขอ ใครแย่งอะไรไป ก็จงอย่าเอาคืน" (ลูกา.6:27-30) เป็นต้น หรือการอ้างหลักเบญจศีลข้อหนึ่งที่ให้งดเว้นจากปาณาติบาต (ทีฆนิกาย ปาฏิวรรค. 11/286/196) หมายถึงการให้ละเว้นการฆ่า ตลอดจนไม่ประทุษร้ายต่อชีวิตและร่างกายด้วย นอกจากนี้ ยังมีการนำเรื่องราวของพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตรย์ผู้ปกครองประเทศอินเดีย ที่ทรงเคยใช้แสนยานุภาพ (อำนาจทางทหาร) เพื่อแผ่ขยายอาณาเขต แต่ภายหลังจากทำสงครามกับแคว้นกลิงคราษฎร์แล้ว พระองค์ทรงเล็งเห็นความโหดร้ายของสงคราม จึงทรงกลับพระทัยแล้วประกาศตนเป็นพุทธมามกะ โดยถือเอา "ธรรมวิชัย" คือการเอาชนะโดยประกาศหลักธรรมแทนแสนยานุภาพ ตลอดจนได้ทรงสั่งสอนให้ราษฎรรู้จักผิดชอบชั่วดีตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ทรงเลิกประเพณีการล่าสัตว์ และได้ส่งพระธรรมทูตไปประกาศพระพุทธศาสนาในประเทศต่าง ๆ ถึงดินแดนกรีกและเปอร์เซีย (เจือ สตะเวทิน, 2527: 24-25)

อย่างไรก็ตาม ข้ออ้างของฝ่ายสันตินิยมนอกจากการอ้างกฎเกณฑ์ของศีลธรรมในศาสนา เป็นพื้นฐานในการตัดสินค่าทางจริยธรรมของการทำสงครามแล้ว ข้ออ้างของฝ่ายสันตินิยมยังมีพื้นฐานจากสิ่งอื่น ๆ อีก เช่น การอ้างหลักคำสอนเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต (The Sanctity of Life) ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Human Dignity) และสิทธิในชีวิต (The Right to Life) ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนับเป็นฐานบททางศีลธรรม (Moral Axiom) หรือหลักการอันสูงสุดที่ว่า ชีวิตมนุษย์มีคุณค่าควรแก่การเคารพ รวมถึงสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ของมนุษย์แต่ละคน อันจะไม่ถูกล่วงละเมิดโดยบุคคลอื่น ดังนั้น การทำสงครามซึ่งถือเป็นการคร่าชีวิตมนุษย์ จึงเป็นการไม่เคารพในความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต ไม่เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และละเมิดสิทธิในชีวิตของบุคคลอื่น ๆ การกระทำดังกล่าวจึงถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดศีลธรรม นอกจากนี้ การพิจารณาความถูกผิดของการทำสงครามสามารถนำหลักการทางตรรกวิทยามาใช้ประกอบ การพิจารณาได้ กล่าวคือ ข้ออ้างและการตัดสินค่าทางจริยธรรมของการทำสงครามของฝ่ายสันตินิยมสามารถ อธิบายได้ในรูปนิรนัย (Syllogism) คือ การฆ่ามนุษย์เป็นการกระทำที่ผิด การทำสงครามเป็นการฆ่ามนุษย์ ดังนั้น การทำสงครามเป็นการกระทำที่ผิด (ดำรงค์ วิเชียรสิงห์, 2530: 13-14)

เนื่องจากสันตินิยมเป็นแนวคิดที่ต่อต้านการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ อาจกล่าวได้ว่าสันตินิยมไม่ปรารถนาจะทำสงครามเพียงเพื่อคุ้มครองประชาชน พลเมือง และเพื่อลงโทษผู้รุกรานให้สาสมแต่อย่างใด ดังนั้น มาตรการหนึ่งที่สันตินิยมได้เสนอในกรณีที่ถูกรุกรานจากชาติอื่น คือผู้ถูกรุกรานควรใช้ยุทธวิธีจัดการอย่างสันติวิธี โดยการรวมตัวของนานาประเทศให้ใช้มาตรการร่วมมือกันเลิกติดต่อหรือคบค้าสมาคม กับชาติที่ปฏิบัติการไม่ชอบธรรม ซึ่งวิธีการดังกล่าวน่าจะมีผลให้ผู้รุกรานเลิกล้มปฏิบัติการดังกล่าว วิธีการนี้ย่อมมีผลให้เกิดการสูญเสียทรัพย์สินและชีวิตน้อยลง นอกจากนี้พวกสันตินิยมไม่เชื่อว่าประเทศที่รุกรานจะสามารถยึดครองประเทศอื่น ได้นาน ตราบเท่าที่ต้องถูกลงโทษให้อยู่โดดเดี่ยว หรือขาดความร่วมมือทางด้านต่าง ๆ ตลอดจนถูกต่อต้านจากประเทศอื่น ๆ โดยสันติวิธี (Stanford Encyclopedia of Philosophy, 2000)

แต่กระนั้นก็ตาม มีผู้วิพากษ์แนวคิดสันตินิยมว่าเป็นการมองโลกในแง่ดีเกินไป และหากนำไปปฏิบัติจริงแล้วคงทำไม่ได้ อีกทั้งแนวคิดของสันตินิยมยังขาดการคำนึงถึงความเป็นจริง กล่าวคือ โลกที่ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงซึ่งอยู่ในจินตนาการของนักสันตินิยมนั้น จริง ๆ แล้ว ไม่สามารถทำให้โลกนี้เป็นไปตามที่พวกเขาปรารถนาได้ เพราะบางครั้งในโลกแห่งความเป็นจริงการทำสงครามโดยอาศัยหลักศีลธรรมอย่าง เหมาะสมน่าจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้มากกว่า.
--
บรรณานุกรม

กรมการศาสนา. (2525). พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ 1-45. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา.

คณะกรรมการพระคัมภีร์คาทอลิกแห่งประเทศไทย. (2542). พระคัมภีร์ภาษาไทย ฉบับใหม่. กรุงเทพฯ.

เจือ สตะเวทิน. (2527). วรรณคดีพุทธศาสนา เล่ม 1. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.

ดวงเด่น นุเรมรัมย์. (2545). พุทธจริยศาสตร์กับแนวคิดเรื่องสงครามที่เป็นธรรม: กรณีศึกษาทรรศนะของนักวิชาการในบริบทสังคมไทยร่วมสมัย. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต, สาขาวิชาจริยศาสตร์ศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.

ดำรงค์ วิเชียรสิงห์. (2530). ปัญหาจริยธรรมที่เกี่ยวกับการทำสงคราม. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, แผนกวิชาปรัชญา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ดิเรก ชัยนาม. (2509). ความสัมพันธ์ระว่างประเทศ เล่ม 2. (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย.

พินิจ รัตนกุล, บรรณาธิการ. (2515). ปรัชญา. กรุงเทพฯ.

สมพงษ์ ชูมาก. (2530). กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง. (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Stanford Encyclopedia of Philosophy. (2000). War [Online]. Available: http://plato.stanford.edu/entries/war/ [2000, October 12].

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo