จริยธรรมกับเทคโนโลยี

เทคโนโลยีจึงก่อให้เกิดทางเลือกที่ยากในลักษณะหนีเสือปะจระเข้ (Dilemma) ซึ่งยากต่อการตัดสินใจเลือก และไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มีทฤษฎีที่จะบอกว่าต้องทำเช่นนั้น ต้องทำเช่นนี้ จริยธรรมทางศาสนาก็ไม่เคยพบเทคโนโลยีมากมายเช่นนี้ ฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่อาจจะเป็นทางออกหรือเป็นคำตอบก็คือในประเด็นเกี่ยวกับจริยธรรม ในแต่ละสถานการณ์ จะต้องมาพิจารณาปัจจัยหลายอย่าง ๆ เป็นองค์ประกอบ เพื่อแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหา มิใช่ให้เทคโนโลยีมาทำลายมนุษย์ แต่เทคโนโลยีควรจะรับใช้มนุษย์ เพื่อทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีอยู่ต่อไป 
 

ผศ.ดร.อรรถจินดา ดีผดุง 

การดำรงชีวิตของคนไทยแต่เดิมมามีลักษณะที่เรียบง่าย แต่พอมาถึงการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน มีการใช้รูปแบบเทคโนโลยีรูปแบบต่าง ๆ มากมาย ทำให้การดำเนินชีวิตซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์มาช่วยในการรักษาพยาบาล แน่นอนที่สุดเทคโนโลยีก่อให้เกิดประโยชน์มากมายต่อมนุษย์ แต่การใช้เทคโนโลยีได้ก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบต่าง ๆ ทางวัฒนธรรม ทางคุณค่า ทางสังคม และทางด้านจริยธรรมอย่างชัดเจน

ตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีแล้วเกิดปัญหาเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ไม่สามารถหาคำตอบได้ง่ายนัก กรณีนี้เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ. 1992 หนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวว่า มีหญิงสาววัย 21 ปี ชื่อ แคเรน ควินแลน (Karen Quinlan) ซึ่งป่วยในสภาพโคม่าอยู่ในโรงพยาบาล ชื่อ St. Claire เมืองเดนวิว มลรัฐนิวเจอซี่ แพทย์ได้พยายามใช้เครื่องช่วยหายใจ ทำให้เธอมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ เพราะแพทย์ได่วินิจฉัยว่าสมองตายแล้ว และสิ้นหวัง ปัญหาคือการที่เทคโนโลยีซึ่งทำให้คนมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ใครจะเป็นคนตัดสินใจเอาเครื่องช่วยหายใจออก แพทย์ หรือ พ่อแม่ หรือตัวเธอเอง เธอไม่มีสิทธิ์ประท้วง เพราะเธอไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง เรื่องนี้ต้องขึ้นศาล เพื่อขอคำอนุญาตต่อศาลว่า ขอให้เธอได้มีโอกาสตายไปตามธรรมชาติ เรื่องนี้มีผลกระทบอย่างมาก ซึ่งเราไม่เคยพบมาก่อน ถ้าไม่มีเทคโนโลยี แคเรนคงตายไปแล้ว จึงเกิดแนวคิด (Concept) ใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดเกี่ยวกับการนิยามความตายความตายด้วยสมอง (Brain Death) ขึ้น สภาวะสมองตายเป็นส่วนสำคัญทำให้มีการปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งทำให้เกิดความยุ่งยากซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ

ในอดีตเรา ไม่เคยตระหนักถึงว่า เทคโนโลยีจะมีบทบาทหรือมีอิทธิพลมากมายเพียงใด เพราะฉนั้นเราก็ต้องเริ่มกลับมาประเมินคุณค่าต่าง ๆ เหล่านี้ยังใช้ได้อยู่หรือไม่ เช่นต้องมาทบทวนความเข้าใจเรื่องความตายกันใหม่ สมัยก่อนถ้ายังหายใจอยู่ หัวใจก็ยังเต้นอยู่ ดังนั้นจะต้องเกิดสิ่งหนึ่งที่เราต้องมาพิจารณาก็คือ ต้องพิจารณาทางด้านคุณค่า (Value Standardization) จะต้องมีการตรวจสอบคุณค่าว่าคุณค่าเดิมที่อยู่กับหลังจากที่มีเทคโนโลยีแล้ว นั้น ยังใช้ได้หรือไม่ แค่ไหน เพียงไร

นอกจากนี้ เรื่องการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อให้มีการชะลอความตายแก่คนไข้ หรือจะให้คนไข้มีความทุกข์ทรมานน้อยลงก็ยังมีปัญหา ดังเช่น กรณี Active Euthanasia ยังบทความของเจมส์ เรเชิ่ล (James Rachel) สนับสนุนว่า คนไข้ที่มีความทุกข์ทรมานและไม่มีความหวังแล้วนั้น ควรจะใช้เทคโนโลยี การฉีดยาเพื่อให้เขาตายอย่างสงบ นี่ก็เป็นเรื่องซึ่งเราไม่เคยคิดกันมาก่อน เมื่อไม่มีเทคโนโลยีเราก็ไม่มีการพิจารณาประเด็นเหล่านี้ ควรหรือไม่ที่จะมีการทำ Active Euthanasia ในโรงพยาบาลรามาธิบดี หรือ โรงพยาบาลศิริราช เพราะเป็นการกระทบกระเทือน ต่อความรู้สึกทางจริยธรรมที่มีต่อญาติพี่น้อง

ถ้าสมมติว่า เราเกิดให้มีนโยบายขึ้นมาว่า ต่อไปนี้โรงพยาบาลศิริราช อาจจะมีการเปิดบริการแบบ เอ.ที.เอ็ม. (ATM) คือ เมตตามรณะ จะทำให้มีเทคโนโลยีมีผลต่อการตัดสินว่า ควรทำหรือไม่ เป็นสิ่งที่ชอบธรรมหรือไม่ นี่เป็นเพียงการยกตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีที่เข้ามามีส่วนกระทบทางด้าน การแพทย์ที่พยายามจะยืดชีวิตคนออกไป พยายามให้เป็นซุปเปอร์แมน ซึ่งในความคิดของชาวตะวันตกมีอยู่ตลอดเวลา มีความพยายามที่จะทำให้คนนั้นอยู่ไปตลอด มีการทำมัมมี่เพื่อจะทำให้คนอยู่นาน แต่พุทธศาสนาไม่เป็นเช่นนั้นเลย เราจะเห็นได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็น อนิจจํ ทุกขํ อนตฺตา ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นไม่เที่ยง ตายแล้วแยกออกไปหมด ทำให้เราแตกต่างตะวันตก เราเตรียมพร้อมที่จะตาย เตรียมพร้อมทำให้จิตประภัสสรก่อนตาย การทำให้จิตประภัสสรนั้นคือทำให้จิตสงบ เหมือนกับคอกกั้นวัวกั้นควาย ตัวไหนที่อยู่ใกล้คอกที่สุดก็จะออกไป นั่นคือเหตุผลว่า เหตุใดเราจึงต้องทำจิตให้ดี เพื่อเราจะได้ตายดี ตายสงบ แต่การใช้เทคโนโลยีนั้นมีปัญหาว่า จะทำให้ตายดีได้หรือไม่

นอกจากการ ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ในการช่วยชีวิตผู้ป่วยแล้ว ยังช่วยในการทำนายโรคและอาการของโรคได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น ขณะนี้เทคโนโลยีเริ่มมีส่วนช่วยทำนายความพิการของร่างกาย การตรวจข้อบกพร่องต่าง ๆ ของเด็กที่อยู่ในครรภ์ว่า เด็กมีความพิการทางสมองหรือไม่ แต่ก็มีความยุ่งยากเกิดขึ้น ดังเช่นกรณีหนึ่งซึ่งน่าสนใจมาก เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยี คือ มีสตรีผู้หนึ่ง ชื่อ มารีชา ลอเร็นซ์ เกิดตั้งครรภ์ขึ้นมาเมื่ออายุ 41 ปี ก็รู้สึกกลุ้มใจกลัวลูกจะปัญญาอ่อน ก็ให้แพทย์ประจำครอบครัวส่งไปตรวจ แต่ก็พบว่ามีโครโมโซมแปลก ๆ คือ โดยปกติจะมีโครโมโซม XX หรือ XY ถ้าเป็นหญิงก็เป็น XX ถ้าเป็นชายก็เป็น XY หลังจากตรวจก็พบว่ามีโครโมโซม XYY ซึ่งจากการวินิฉัยก็จะพบว่า คนที่มีโครโมโซม XXY นี้ ส่วนใหญ่เป็นโจร ปัญหา คือ แพทย์ควรจะอย่างไรเมื่อทราบเช่นนี้ ควรจะบอกความจริงกับสตรีผู้นี้หรือไม่ ถ้าไม่บอกความจริงอาจจะเกิดองคุลีมาลที่ 3 แพทย์จะต้องรับผิดชอบหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้น นอกจากนี้ การมีโครโมโซม XYY นี้ก็ยังไม่แน่นอน อาจจะเป็นการทดลองอยู่ จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องบอกความจริงกับคนไข้ แต่หลักจรรยาบรรณของวิชาชีพแพทย์บอกว่าต้องไม่ทำอันตรายต่อคนไข้ แล้วกรณีนี้เป็นอย่างไร ไม่บอกความจริงก็อาจทำให้คนไข้สบายใจ หรือถ้าบอกความจริงแล้วคนไข้เกิดเป็นลม แล้วจะผิดต่อจรรยาบรรณของแพทย์หรือไม่ ดังนั้น เรื่องเทคโนโลยีนี้ทำได้ทำให้เกิดความสับสนอลหม่านในการตัดสินปัญหาเรื่อง จริยธรรมเป็นอย่างมาก

ยังมีอีก เรื่องหนึ่งก็คือ ประเด็นที่เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีในการเพาะมนุษย์ คือ Cloning แล้วเกิดปัญหาขึ้นมา คือปัญหาเด็กหลอดแก้ว (แต่ที่จริงเป็นเด็กจานแก้วมากกว่า เนื่องจากผสมกันในจานแก้ว) เด็กพวกนี้มีปัญหาหนึ่งซึ่งแพทย์เองไม่สามารถตอบได้ ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือ เราพยายามผลิตมนุษย์ให้ได้สายพันธุ์ที่ดี ดังเช่นที่เพลโต้พูดว่า ถ้าคนใดเกิดมาพิการเราก็จับไปโยนทิ้งเสีย ดังนั้นเวลาเวลาที่ทำการผสมแพทย์ก็พยายามคัดเลือกพันธ์ เนื่องจาก sperm กับ ovum ยังเล็กมาก เราจึงใช้จุลหัตถ์เข้าไปแยกส่วนที่เป็นเซลต่าง ๆ เราต้องการแยกสายพันธุ์ที่บกพร่องออกไป เราจะทราบได้อย่างไรว่า ไม่ได้เอาสายพันธ์ที่ดีออกไปด้วย ในประเด็นนี้ถ้าแพทย์ไม่มีจริยธรรมอาจจะสร้างมนุษย์ออกมาเพื่อรับใช้นักการ เมือง อาจจะสร้างมนุษย์สายพันธุ์ใหม่ที่ฉลาดขึ้น อัจฉริยะขึ้นมาได้ ผู้ที่มีลักษณะด้อยอาจถูกคัดออกไม่ให้สืบพันธุ์ต่อไป ซึ่งไม่เหมือนกับการแต่งงานที่ทุกคนมีโอกาสเท่า ๆ กัน บางคนไม่มีโอกาสได้สืบพันธ์ต่อไป

ประการต่อไป ก็คือ เทคโนโลยีเกี่ยวผู้มีบุตรยาก (Infertility) ซึ่งมีปัญหามากมาย โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการเช่ามดลูก จะมีการเช่ามดลูก ซึ่งจะกระทบกระเทือนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ (Human Dignity) อย่างมาก ต่อไปนี้จะมีความคิดว่า ศักดิ์ของความเป็นมนุษย์นี้จะเป็นอย่างไร ผู้หญิงควรจะใช้มดลูกของตนเองเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าหรือไม่ ต่อไปในอนาคตอาจจะมีการโฆษณาแข่งขันกัน ซึ่งจะกระทบกระเทือนทางจริยธรรม และถ้าผู้หญิงเจตนาที่จะตั้งครรภ์ โดยตั้งใจจะให้ลูกของตนเองไปอยู่กับผู้อื่น ก็จะกระทบกระเทือนความเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก ในอนาคตผู้หญิงจะไม่ได้เป็นเพียงแม่ของลูกบางคนเท่านั้น แต่จะเป็นการผลิตเพื่อมวลชน (Mass Production) ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก เพราะแนวคิดเกี่ยวกับคำว่าแม่ การเลี้ยงดูลูก การให้นมลูกจะเปลี่ยนไปทันที จะกลายเป็นแม่ผู้ผลิตลูก ต่อไปจะมีลูกหมี ลูกวัว พอเห็นจะพูดว่า " There is my mother! , walking along field." ไม่ใช่แม่ที่เป็นคน แต่เป็นแม่วัวที่อยู่ในทุ่งนา นอกจากนี้ขบวนการให้เช่ามดลูกก็จะทำให้เกิดปัญหาการขายลูก มีการขายมนุษย์ เช่นเดียวกับการมองมนุษย์เป็นทาส มนุษย์ก็จะไม่แตกต่างจากสัตว์อื่นอีกต่อไป ซึ่งมีผลกระทบทางจริยธรรมในด้านความรู้สึก และอีกประการหนึ่งก็คือว่า ถ้ามีผู้หญิงรับบริการตั้งครรภ์ ผู้หญิงคนนั้นก็จะต้องเสี่ยง ในเมื่อการตั้งครรภ์ทุกครั้งเป็นการเสี่ยง จะเสี่ยงมากหรือน้อยเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่การตั้งครรภ์เพื่อรับเงินนี้เป็นความรู้สึกทางด้านศีลธรรม (Moral Sentiment) ซึ่งยากมากที่เราจะแก้ให้หาย

ดังนั้น เทคโนโลยีจึงก่อให้เกิดทางเลือกที่ยากในลักษณะหนีเสือปะจระเข้ (Dilemma) ซึ่งยากต่อการตัดสินใจเลือก และไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มีทฤษฎีที่จะบอกว่าต้องทำเช่นนั้น ต้องทำเช่นนี้ จริยธรรมทางศาสนาก็ไม่เคยพบเทคโนโลยีมากมายเช่นนี้ ฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่อาจจะเป็นทางออกหรือเป็นคำตอบก็คือในประเด็นเกี่ยวกับจริยธรรม ในแต่ละสถานการณ์ จะต้องมาพิจารณาปัจจัยหลายอย่าง ๆ เป็นองค์ประกอบ เพื่อแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหา มิใช่ให้เทคโนโลยีมาทำลายมนุษย์ แต่เทคโนโลยีควรจะรับใช้มนุษย์ เพื่อทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีอยู่ต่อไป .

***  
ที่มา : วริยา ชินวรรโณ, บรรณาธิการ. (2536). นานาทรรศนะเกี่ยวกับจริยธรรม. ภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.

THAI CADET

 

© 2547-2565. All Right Reserved by THAI CADET   TEL./LINE : 0959429193

Made with Pingendo Free  Pingendo logo