สาระสำคัญของประโยชน์นิยมถือว่าความสุขเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ ความสุขจึงเป็นตัวตัดสินว่าการกระทำดี ไม่ดี ควร ไม่ควร ถูกหรือผิด ดังนั้น ถ้าการกระทำใดที่กระทำแล้ว ให้ประโยชน์สุขมากกว่าก็ถือว่าการกระทำนั้นดีกว่า และควรกระทำมากกว่า อนึ่ง ประโยชน์สุขในที่นี้มิได้หมายถึงประโยชน์สุขของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่หมายถึงประโยชน์สุขของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตาม “หลักมหสุข” (The Greatest Happiness Principle) ที่ว่า “ความสุขที่มากที่สุด ของคนจำนวนมากที่สุด” (Greatest Happiness of the Greatest Number) ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงโทษหรือความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นด้วย โดยทุกข์หรือโทษที่เกิดขึ้นต้องไม่มากกว่าประโยชน์ที่ได้รับ และในบางกรณีที่ต้องเลือกกระทำ เนื่องจากทุกทางเลือกนั้นล้วนแต่ก่อให้เกิดความทุกข์ ก็ให้ถือว่าการกระทำที่ก่อให้เกิดความทุกข์น้อยกว่าเป็นการกระทำที่ให้ความ สุขมากกว่าทางเลือกอื่น ๆ (ดำรงค์ วิเชียรสิงห์, 2530: 30)
ประโยชน์นิยม (Utilitarianism) เป็นทรรศนะทางจริยศาสตร์ที่ถือเอาประโยชน์สุขเป็นเกณฑ์ตัดสินความผิดถูก ชั่วดี กล่าวคือ การกระทำที่ก่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุดแก่คนจำนวนมากที่สุด ถือเป็นการกระทำที่ดี (ราชบัณฑิตยสถาน, 2540: 101) และเนื่องจากประโยชน์นิยมเป็นจริยศาสตร์ที่เน้นเป้าหมาย (Ends Ethics) ดังนั้น จึงพิจารณาความถูกผิดของการกระทำที่ผลของการกระทำโดยไม่นำตัวการกระทำมา ตัดสิน ไม่ว่าการกระทำนั้นจะประกอบด้วยเจตนาดีหรือไม่ก็ตาม
สาระสำคัญ ของประโยชน์นิยมถือว่าความสุขเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ ความสุขจึงเป็นตัวตัดสินว่าการกระทำดี ไม่ดี ควร ไม่ควร ถูกหรือผิด ดังนั้น ถ้าการกระทำใดที่กระทำแล้ว ให้ประโยชน์สุขมากกว่าก็ถือว่าการกระทำนั้นดีกว่า และควรกระทำมากกว่า อนึ่ง ประโยชน์สุขในที่นี้มิได้หมายถึงประโยชน์สุขของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่หมายถึงประโยชน์สุขของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตาม “หลักมหสุข” (The Greatest Happiness Principle) ที่ว่า “ความสุขที่มากที่สุด ของคนจำนวนมากที่สุด” (Greatest Happiness of the Greatest Number) ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงโทษหรือความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นด้วย โดยทุกข์หรือโทษที่เกิดขึ้นต้องไม่มากกว่าประโยชน์ที่ได้รับ และในบางกรณีที่ต้องเลือกกระทำ เนื่องจากทุกทางเลือกนั้นล้วนแต่ก่อให้เกิดความทุกข์ ก็ให้ถือว่าการกระทำที่ก่อให้เกิดความทุกข์น้อยกว่าเป็นการกระทำที่ให้ความ สุขมากกว่าทางเลือกอื่น ๆ (ดำรงค์ วิเชียรสิงห์, 2530: 30)
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาความถูกผิดจากผลของการกระทำโดยพิจารณาจากประโยชน์ที่เกิดตามมาจาก การกระทำเฉพาะในแต่ละครั้งนั้น ทำให้เกิดปัญหาว่าศีลธรรมจะมีลักษณะสัมพัทธ์ หรือสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ตามสถานการณ์ ทั้งนี้เพราะว่าการกระทำอย่างเดียวกันในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน อาจให้ผลที่แตกต่างกัน อันจะทำให้ค่าความดีความชั่วของการกระทำอย่างเดียวกันต่างกัน (มสธ., 2536: 413) ประโยชน์นิยมที่สร้างปัญหาชนิดนี้เรียกว่า “ประโยชน์นิยมเชิงการกระทำ” (Act Utilitarianism) ซึ่งให้ผู้กระทำพิจารณาผลที่ตามมาจากการกระทำเป็นกรณี ๆ ไป ดังนั้น นักประโยชน์นิยมจึงได้พัฒนา “ทฤษฎีประโยชน์นิยมเชิงกฎ” (Rule Utilitarianism) ขึ้นมา ตามทฤษฎีนี้ ผู้กระทำจะไม่ตัดสินความถูกผิดของการกระทำโดยพิจารณาจากผลที่เกิดขึ้นของการ กระทำแต่ละครั้ง แต่จะดูผลที่เกิดขึ้นถ้าสมมติให้การกระทำนั้นเป็นหลักปฏิบัติทั่วไป หรืออีกนัยหนึ่ง ผู้กระทำตามหลักนี้แล้ว ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะนำมาซึ่งมหสุขหรือไม่
เพื่อให้เห็นความแตกต่างระหว่างประโยชน์นิยมเชิงการกระทำ และประโยชน์นิยมเชิงกฎ จะขอยกตัวอย่างต่อไปนี้ สมมติว่าตำรวจคนหนึ่งจับผู้ร้ายมาได้ และแน่ใจว่าถ้านำไปขึ้นศาลตามกระบวนการยุติธรรม ผู้ร้ายก็คงถูกปล่อยตัวดังเช่นที่ผ่านมา เพราะไม่มีใครกล้าเป็นพยานเอาผิด ถ้าตำรวจคนนี้ยึดถือประโยชน์นิยมเชิงการกระทำ ก็จะพิจารณาว่าถ้ายิงผู้ร้ายทิ้งกลางทาง จะก่อให้เกิดประโยชน์สุขมากกว่าที่จะนำตัวคนร้ายไปดำเนินคดีหรือไม่ ถ้าคำตอบคือใช่ การยิงคนร้ายทิ้งก็ถือว่าถูกต้อง แต่ถ้าเห็นว่าจะนำทุกข์มาให้มากกว่า (เช่น แก๊งของคนร้ายอาจจะมาแก้แค้นตำรวจ) ก็จะต้องตัดสินว่าไม่ควรยิงคนร้าย อย่างไรก็ตาม ถ้าตำรวจคนนี้ยึดถือประโยชน์นิยมเชิงกฎ เขาก็จะพิจารณาว่าจะเกิดมหสุขตามมาหรือไม่หากตั้งเป็นกฎให้ใช้ร่วมกันว่า "เมื่อใดที่ตำรวจคนใดจับผู้ร้ายได้ โดยแน่ใจว่าคนร้ายผิดจริง และถ้านำตัวไปดำเนินคดีแล้วผู้ร้ายจะถูกปล่อยให้มาทำความเดือดร้อนแก่ชาว บ้านอีก ตำรวจคนนั้นก็จงยิงทิ้งคนร้าย" ในกรณีนี้มีผู้มองว่าหากให้อำนาจตำรวจในการพิจารณาความผิดเองอาจเกิดความไม่ สงบขึ้นในสังคมได้ ดังนั้น จึงห้ามยิงทิ้งคนร้ายในทุกกรณี ไม่ว่าการยิงทิ้งแต่ละครั้งจะนำมาซึ่งมหสุขหรือไม่ (วิทย์ วิศทเวทย์, 2535: 135)
ในการพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นที่ว่า มีสงครามใดบ้างหรือไม่ที่ถือได้ว่าชอบธรรม ประโยชน์นิยมเชิงการกระทำ และประโยชน์นิยมเชิงกฎจะให้คำตอบดังนี้
ประโยชน์นิยมเชิงการกระทำจะเห็นว่า การทำสงครามครั้งหนึ่ง ๆ จะถูกต้องก็ต่อเมื่อการทำสงครามนั้น ๆ น่าจะนำมาซึ่งมหสุข ดังนั้น ประเด็นเรื่องมหสุขจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญในการพิจารณาการเริ่มทำสงครามแต่ละครั้ง และยังกำหนดลักษณะการทำสงครามแต่ละครั้ง ทั้งนี้ยังรวมถึงการกระทำแต่ละอย่างแต่ละครั้งในการทำสงครามด้วย การเริ่มสงครามแต่ละครั้ง และลักษณะการทำสงครามแต่ละครั้ง รวมถึงการกระทำแต่ละอย่างแต่ละครั้งในการทำสงคราม ต่างก็มีค่าทางจริยธรรมแตกต่างกันไปตามแต่ผลที่จะได้รับ ดังนั้น การรุกรานผู้อื่นก็สามารถเป็นสงครามที่ถูกต้องได้หากนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุด แก่คนที่เกี่ยวข้องจำนวนมากที่สุด การใช้อาวุธเคมีหรืออาวุธชีวภาพซึ่งมีผลการทำลายร้ายแรง หรือการโจมตีโรงพยาบาลก็สามารถทำได้ หากนำมาซึ่งมหสุข หรือแม้แต่การทรมานเชลยศึกก็สามารถทำได้หากไม่มีผลเสียมากไปกว่าผลดี
ประโยชน์นิยมเชิงกฎจะตัดสินว่า การทำสงครามครั้งหนึ่ง ๆ ถูกต้องหรือไม่ด้วยการพิจารณาว่าการทำสงครามนั้น ๆ จะเกิดมหสุขตามมาหรือไม่หากตั้งเป็นกฎให้ใช้ร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสมมติว่ามีการรุกราน ประเทศที่ถูกรุกรานต้องเริ่มพิจารณาด้วยการตั้งให้เป็นกฎว่า เมื่อใดที่ประเทศใดถูกรุกราน ประเทศนั้นควรทำสงครามเพื่อป้องกันตัว จากนั้นต้องพิจารณาว่าหากกฎนี้เป็นที่บังคับใช้จริงทั่วโลกจะนำมาซึ่งมหสุข หรือไม่ สมมุติว่าจะนำมาซึ่งมหสุข ก็จะสรุปว่าสามารถทำสงครามเพื่อป้องกันตัวได้ ในทางตรงกันข้าม สมมุติว่าประเทศหนึ่งคิดจะรุกรานประเทศเพื่อนบ้านเพื่อแย่งชิงทรัพยากร ธรรมชาติ ประเทศนั้นต้องเริ่มการพิจารณาด้วยการสมมุติให้เป็นกฎว่าประเทศใด ๆ ในโลกสามารถรุกรานประเทศอื่นเพื่อแย่งชิงทรัพยากรได้ ผลการพิจารณาอาจจะเป็นว่า หากทุกประเทศทำเช่นนี้ได้แล้วโลกจะประสบกับความทุกข์มากกว่า จึงต้องสรุปว่าการทำสงครามใด ๆ ด้วยเหตุผลนี้ถือว่าไม่ชอบธรรม ซึ่งหลักการดังกล่าวของประโยชน์นิยมเชิงกฎยังครอบคลุมถึงวิธีปฏิบัติต่อนัก โทษ เช่น การทรมานเชลยศึก หรืออาวุธที่ใช้ในการทำสงคราม เช่นอาวุธเชื้อโรค อาวุธเคมี เป็นต้น
สำหรับประโยชน์นิยมเชิงกฎ คำตอบเกี่ยวกับความชอบธรรมของการทำสงครามลักษณะหนึ่ง ๆ เช่น การป้องกันตัว หรือการรุกราน จะคงที่กว่ากรณีที่ใช้ประโยชน์นิยมเชิงการกระทำ ยกตัวอย่างเช่น สำหรับประโยชน์นิยมเชิงกฎ การทำสงครามเพื่อรุกรานจะทำไม่ได้ทุกกรณี ตราบที่พิจารณาแล้วว่าหากเป็นกฎที่คนใช้ปฏิบัติกันทั่วโลกแล้วจะไม่มีมหสุข ในขณะที่การใช้เกณฑ์ของประโยชน์นิยมเชิงการกระทำจะตัดสินว่าบางครั้งการ รุกรานก็ชอบธรรม บางครั้งก็ไม่ชอบธรรม แล้วแต่เงื่อนไขในแต่ละครั้งว่าจะนำมาซึ่งมหสุขหรือไม่
--
บรรณานุกรม
ดวงเด่น นุเรมรัมย์. (2545). พุทธจริยศาสตร์กับแนวคิดเรื่องสงครามที่เป็นธรรม: กรณีศึกษาทรรศนะของนักวิชาการในบริบทสังคมไทยร่วมสมัย. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต, สาขาวิชาจริยศาสตร์ศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.
ดำรงค์ วิเชียรสิงห์. (2530). ปัญหาจริยธรรมที่เกี่ยวกับการทำสงคราม. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, แผนกวิชาปรัชญา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ราชบัณฑิตยสถาน. (2539). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (พิมพ์ครั้งที่ 6). กรุงเทพฯ: บริษัท อักษรเจริญทัศน์ จำกัด.
วิทย์ วิศทเวทย์. (2535). จริยศาสตร์เบื้องต้น มนุษย์กับปัญหาจริยธรรม. (พิมพ์ครั้งที่ 8). กรุงเทพฯ: บริษัท อักษรเจริญทัศน์ จำกัด.
สุโขทัยธรรมาธิราช, มหาวิทยาลัย. (2536). เอกสารการสอนชุดวิชามนุษย์กับอารยธรรม หน่วยที่ 1-7. (พิมพ์ครั้งที่ 24). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.