ปรินิพพาน

“พระพุทธศาสนา” นับว่าเป็นศาสนาหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ทรงปรารถนาให้มวลมนุษย์ก้าวข้ามสังสารวัฏ หรือการเกิด แก่ เจ็บ และตาย แล้วมุ่งเข้าสู่พระนิพพาน แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เจ้าชายสิทธัตถะจะทรงตรัสรู้สัจธรรมอันประเสริฐได้ พระองค์ทรงฝ่าฟันกับอุปสรรคนานาประการ และทรงค้นพบวิธีการดำเนินชีวิตและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างแยบคาย อันเป็นที่มาของหลักธรรมคำสอนต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนา
  

//

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ เป็นระยะเวลา ๔๕ พรรษา พระองค์มีพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ระหว่างพรรษาทรงอาพาธหนัก แต่พระพุทธเจ้าทรงมีพระสติสัมปชัญญะ ทรงอดกลั้น และมิได้ทรงกระวนกระวายต่อพระอาการ ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าได้มีพระดำริว่า การที่ไม่บอกกล่าวแก่ผู้เป็นอุปัฏฐาก ไม่บอกลาภิกษุสงฆ์ แล้วปรินิพพานนั้น เป็นการไม่สมควร ดังนั้น จึงทรงข่มพระอาการอาพาธให้ถอยไปด้วย ซึ่งพระอาการอาพาธของพระพุทธเจ้าก็สงบลง และอธิษฐานให้มีพระชนม์อยู่ต่อไป

เช้าวันหนึ่ง หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากบิณฑบาตที่เมืองเวสาลี ทรงเสด็จพร้อมด้วยพระอานนท์ไปประทับที่ร่มไม้แห่งหนึ่งในปาวาลเจดีย์ พระพุทธเจ้าทรงแสดง “โอภาสนิมิต” ซึ่งโอภาสนิมิตคือการบอกใบ้ให้พระอานนท์กราบทูลขออาราธนาให้พระพุทธเจ้าทรงมีอายุยืนยาวได้อีกระยะหนึ่ง เนื่องจากพระชนมายุของพระพุทธเจ้าจะสิ้นสุดลงในปีดังกล่าวนี้ ดังนั้น พระองค์จึงทรงตรัสกับพระอานนท์ว่า “อิทธิบาทสี่ ถ้าผู้ใดได้บำเพ็ญเต็มเปี่ยมแล้ว สามารถจะต่ออายุให้ยืนยาวไปได้อีกกำหนดระยะเวลาหนึ่ง ตถาคตได้บำเพ็ญเต็มเปี่ยมแล้ว สามารถจะต่ออายุให้ยืนยาวไปได้อีกกำหนดระยะเวลาหนึ่ง”

แต่พระอานนท์ไม่รู้ความหมาย จึงไม่ได้กราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงดำรงอยู่ตลอดกัปเถิด ขอพระสุคตเจ้าจงดำรงอยู่ตลอดกัปเถิด เพื่อเกื้อกูลแก่ชนจำนวนมาก เพื่อความสุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” ทั้งที่พระพุทธเจ้าทรงบอกใบ้ให้ถึง ๓ หน คล้ายกับว่ามีมารมาสิงพระอานนท์เอาไว้ จึงไม่อาราธนาให้พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนม์อยู่ต่อไป

เมื่อพระอานนท์ไม่อาจรู้ความที่พระพุทธเจ้าแสดงเป็นนัยได้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกให้พระอานนท์ไปนั่งอยู่ที่ต้นไม้อีกแห่งหนึ่ง จากนั้นพระยามารได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลให้พระองค์เสด็จปรินิพพาน ซึ่งพระองค์ทรงตรัสรับคำว่า นับจากนี้ไปอีก ๓ เดือน (กลางเดือนหก) พระองค์จะปรินิพพาน เหตุการ์คราวนั้นถือว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขาร ซึ่งวันนั้นเป็นวันเพ็ญเดือน ๓

วันเวลาผ่านไป จนใกล้ถึงกำหนดซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงปลงอายุสังขาร พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวนมากเสด็จพระพุทธดำเนินถึงเมืองปาวานคร ทรงประทับอยู่ที่สวนมะม่วงของนายจุนทกัมมารบุตร ผู้เป็นบุตรของนายช่างทอง ฝ่ายนายจุนทได้ยินข่าวพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงเมืองปาวาแล้ว และบัดนี้ประทับอยู่ที่สวนมะม่วงของตน จึงไปยังที่เฝ้า พระพุทธเจ้าตรัสพระธรรมให้นายจุนทเห็นในทางกรรมและวิบาก ให้ถือเอาในกุศลจริยา ให้กล้าหาญรื่นเริงในธรรมจริยาสัมมาปฏิบัติ จากนั้นนายจุนทได้กราบทูลว่า เช้าวันพรุ่งนี้ขอนิมนต์พระพุทธเจ้า และภิกษุสงฆ์มารับภัตตาหารที่ตนจัดไว้ให้

เช้าวันรุ่งขึ้น พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จเข้าไปยังบ้านของนายจุนท และประทับนั่งบนอาสนะที่ได้จัดถวาย พระพุทธเจ้าตรัสกับนายจุนทว่า ท่านจงถวายสูกรมัททวะที่ท่านตระเตรียมไว้แก่เรา และถวายอาหารภิกษุสงฆ์ทั้งหลายด้วยของเคี้ยวของฉันอย่างที่ได้อื่นเตรียมไว้ ซึ่งนายจุนทก็รับไปปฏิบัติ จากนั้นพระพุทธเจ้ารับสั่งให้นายจุนทนำสูกรมัททวะที่เหลือไปฝัง เพราะทรงพิจารณาเห็นว่าไม่มีผู้ใดที่บริโภคอาหารชนิดนี้แล้วจะย่อยได้ อีกทั้งจะเกิดอันตรายแก่ผู้ที่บริโภคสิ่งนี้ เมื่อพระพุทธเจ้าเสวยสูกรมัททวะแล้ว ได้ทรงทำอนุโมทนาให้นายจุนทจนเกิดความปราโมทย์

ภายหลังจากเสวยอาหารของนายจุนทะแล้วพระพุทธเจ้าทรงอาพาธอย่างหนัก แต่ยังทรงรับสั่งกับพระอานนท์ว่าจะไปกรุงกุสินารา ระหว่างเดินทางพระพุทธเจ้าเสด็จไปพักเหนื่อยยังโคนต้นไม้ แล้วตรัสให้พระอานนนท์ช่วยปูผ้าสังฆาฏิพับเป็น ๔ ชั้น เพื่อใช้เป็นที่ประทับนั่ง จากนั้นจึงตรัสให้พระอานนท์นำน้ำมาให้ดื่ม แต่พระอานนท์กราบทูลว่า เมื่อสักครู่มีเกวียนจำนวนมากข้ามไป ทำให้แม่น้ำซึ่งมีน้ำน้อยและตื้นเขินขุ่น และได้ขอทูลให้พระพุทธเจ้าเสด็จไปยังแม่น้ำกกุธานที ซึ่งมีน้ำใสสะอาดจะได้เสวยและสรงน้ำ แต่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งพระอานนท์ถึงสามครั้ง พระอานนท์จึงได้ถือบาตรไปตักน้ำในแม่น้ำดังกล่าว เมื่อท่านพระอานนท์เข้าไปใกล้ ก็พบว่าน้ำที่ขุ่นเพราะล้อเกวียนข้ามผ่านไปกลับใสสะอาด เป็นที่อัศจรรย์อย่างยิ่ง จากนั้นพระอานนท์จึงนำน้ำนั้นมาถวายพระพุทธเจ้า

ในระหว่างทางทรงแวะพักใต้ร่มไม้แล้วตรัสบอกพระอานนท์ว่า ถ้าจะมีผู้สงสัยหรือติเตียนนายจุนทว่า พระพุทธเจ้าเสวยบิณฑบาตของนายจุนทเป็นปัจฉิมบิณฑบาต แล้วปรินิพพาน จะทำให้นายจุนทเดือดร้อนไปด้วย ฉะนั้นจงเปลื้องข้อสงสัยของนายจุนทว่า บิณฑบาตสองประการ คือ บิณฑบาตอัน นางสุชาดาถวายพระองค์เมื่อเสวยแล้วตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และบิณฑบาตอันนายจุนทถวายพระองค์เสวยแล้วปรินิพพาน มีอานิสงส์มากเสมอกัน เพราะเสมอกันโดยการปรินิพพาน กล่าวคือ พระพุทธเจ้าเสวยบิณฑบาตที่นางสุชาดาถวายแล้วเสด็จปรินิพพานด้วยอุปาทิเสสนิพพานธาตุ และเสวยบิณฑบาตที่นายจุนทถวายแล้วเสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ดังนั้นจึงรวมความว่ามีผลเสมอกันโดยการปรินิพพาน

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จข้ามฝั่งแม่น้ำหิรัญวดี เข้าสู่ป่าสาละวัน ของมัลลกษัตริย์แห่งนครกุสินารา จึงได้รับสั่งให้พระอานนท์ปูลาดอาสนะลง ณ ที่นั้นระหว่างต้นไม้สาละคู่หนึ่ง ให้หันพระเศียรไปทางทิศเหนือ แล้วประทับสีหไสยา (เปรีบเทียบว่านอนเหมือนราชสีห์) โดยตะแคงไปทางด้านขวา แล้วทรงแสดงธรรมแนะนำวิธีปฏิบัติต่าง ๆ แก่พระภิกษุสงฆ์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งพระโอวาทบทหนึ่งที่ทรงแสดงคือ “ธรรมก็ดีวินัยก็ดีอันใดอันเราแสดงแล้ว ได้บัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้นจักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา”

นอกจากนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติกับพระสรีระของพระองค์ภายหลังจากปรินิพพานว่า ให้ปฏิบัติเหมือนที่เขาปฏิบัติในพระสรีระของพระมหากษัตริย์ จากนั้นจึงเชิญลงในรางเหล็กที่เต็มไปด้วยน้ำมัน แล้วครอบด้วยรางเหล็กอื่น ส่วนเชิงตะกอนที่เผาพระศพให้ทำด้วยไม้หอม จากนั้นจึงถวายพระเพลิงพระสรีระของพระองค์ หลังจากนั้นให้สร้างพระสถูปไว้ในทางใหญ่ ๔ แพร่ง เพื่อให้คนทั่วไปได้บูชา เพราะการปฏิบัติเช่นนี้จะเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ชนเหล่านั้นตลอดกาลนาน

ในคืนวันที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพานนั้น มีปริพาชก (นักบวชนอกพระพุทธศาสนา) ผู้หนึ่งชื่อ “สุภัททะ” มาขอเข้าเฝ้า แต่พระอานนท์เห็นพระพุทธองค์ทรงอาพาธหนัก จึงได้ห้ามไว้ แต่สุภัททะก็อ้อนวอนจะขอเข้าเฝ้าให้ได้ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบจึงประทานโอกาสให้สุภัททะเข้าเฝ้าถามปัญหาต่าง ๆ พระองค์ทรงแก้ไขปัญหา และเทศนาธรรมกถาให้ฟังจนเป็นที่เข้าใจ สุภัททะได้ความเลื่อมใสทูลขออุปสมบท โดยพระพุทธเจ้าได้ทรงให้พระอานนท์เป็นพระอุปัชฌาย์ และเมื่อสุภัททะอุปสมบทแล้วได้พยายามเจริญวิปัสสนาจนได้บรรลุพระอรหัตผล จึงนับได้ว่าสุภัททะเป็นพระสาวกองค์สุดท้ายของพระพุทธเจ้า

ต่อจากนั้นพระบรมศาสดาได้ประทานปัจฉิมโอวาทว่า “หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิ โว วะยะธัมมา สังขารา อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ” แปลว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอว่าสังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด” ซึ่งปัจฉิมโอวาทนี้เป็นการสรุปพระโอวาททั้งปวงที่ประทานมาตลอด ๔๕ พรรษา ว่าคือ “ความไม่ประมาท” อย่างเดียวเท่านั้น หลังจากนั้นพระพุทธองค์ก็ ทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน

เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานท่านพระอนุรุทธะได้สั่งให้พระอานนท์ เข้าไปในเมืองกุสินารา เพื่อแจ้งข่าวการปรินิพพานแก่กษัตริย์มัลละ แห่ง เมือง กุสินาราว่า เมื่อยามเช้าพระอานนท์จึงถือบาตรและจีวรเข้าไปยังเมืองดังกล่าว ตามลำพัง เมื่อบรรดากษัตริย์ทรงทราบความก็เสียพระทัยอย่างมาก และได้รับสั่งให้บริวารเตรียมผ้า เครื่องหอม และเครื่องดนตรีไปยังสถานที่ที่ทรงเสด็จปรินิพพาน

เมื่อเหล่ากษัตริย์เสด็จเข้าถึงพระสรีระของพระพุทธเจ้าก็ได้สักการะ เคารพบูชาพระสรีระด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี ตลอดจนของหอม ดอกไม้ จนเวลาหมดไปหนึ่งวัน ดังนั้น เหล่ากษัตริย์มีพระดำริว่าการถวายพระเพลิงพระสรีระของพระพุทธเจ้าในวันนี้หมดเวลาเสียแล้ว พรุ่งนี้พวกเราจะถวายพระเพลิงพระสรีระของพระพุทธเจ้า แต่ในวันที่ ๒ ๓ ๔ ๕ และ ๖ เหล่ากษัตริย์ก็ได้ทำการสักการะจนเวลาล่วงเลยเข้าสู่วันที่ ๗ เหล่ามัลลกษัตริย์ พร้อมทั้งชาวเมืองได้อัญเชิญพระบรมศพมาประดิษฐาน ณ มกุฎพันธนเจดีย์ กรุงกุสินารา

ในวันนั้นพระมหากัสสปะ พร้อมภิกษุสงฆ์คณะใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เดินทางมาจากเมืองปาวา เพื่อไปยังเมืองกุสินารา ได้ทราบข่าวจากอาชีวกะผู้หนึ่งระหว่างทางว่า พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานได้ ๗ วันแล้ว บรรดาภิกษุที่ยังไม่บรรลุธรรมก็พากันร้องไห้คร่ำครวญ ล้มลงกลิ้งเกลือก แล้วรำพันว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานเร็วนัก ส่วนพวกภิกษุที่ปราศจากราคะแล้ว มีสติสัมปชัญญะอดกลั้น และพึงระลึกว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง

ในที่ประชุมสงฆ์แห่งนั้น มีพระภิกษุชรารูปหนึ่งนามว่า “สุภัททะ” ซึ่งเป็นพระที่บวชเมื่อแก่ ได้เที่ยวห้ามปรามมิให้ภิกษุทั้งหลายร้องไห้เศร้าโศก แล้วชี้ให้เห็นว่าเมื่อมีพระชนม์อยู่พระองค์ชอบสั่งสอนสาวกถึงสิ่งควรทำ ไม่ควรทำ บัดนี้พระองค์ได้สิ้นไปแล้ว เราจะทำสิ่งใดก็ได้ตามความพอใจ และไม่ต้องเกรงบัญชาของผู้ใด แต่พระมหากัสสปะกล่าวเตือนภิกษุทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลาย อย่าเศร้าโศกร่ำไรไปเลย เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสอนไว้ก่อนแล้วไม่ใช่หรือว่า ความเป็นต่าง ๆ ความพลัดพรากนั้นเป็นสิ่งที่ต้องมี อนึ่ง การแสดงออกของพระสุภัททะ ทำให้พระมหากัสสปะได้ถือเป็นเหตุสำคัญในการกระทำสังคายนาพระธรรมวินัยเป็นครั้งแรก

ในเวลานั้น สมัยนั้น กษัตริย์มัลละ ๔ องค์ จะติดไฟเชิงตะกอนเพื่อเผาพระสรีระของพระพุทธเจ้า แต่ปรากฏว่าไฟไม่ติด จึงได้ไปเรียนถามพระอนุรุทธะว่า อะไรเป็นสาเหตุ ซึ่งพระอนุรุทธะกล่าวว่า พวกเทวดามีความประสงค์ให้พระมหากัสสปะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ที่เดินทางไกลจากเมืองปาวามาถึงมืองกุสินาราเสียก่อน ดังนั้นเชิงตะกอนของพระพุทธเจ้าจะยังจุดไฟไม่ติด จนกว่าพระมหากัสสปะจะถวายบังคมพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยมือของท่านเอง

ฝ่ายพระมหากัสสปะ พร้อมด้วยพระสาวกได้เดินทางมาถึงมกุฎพันธนเจดีย์ เมื่อไปถึงได้ประนมมือ แล้วเดินเวียนรอบ พระศพ ๓ รอบ จากนั้น จึงก้มลงกราบถวายบังคม จากนั้นไฟ ก็ได้ลุกขึ้นติดพระศพเอง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นไปโดยอานุภาพของเทวดา ซึ่งวันนั้นตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ เมื่อพระสรีระของพระพุทธเจ้าถูกเพลิงไหม้แล้ว ท่อน้ำก็ไหลหลั่งมาจากอากาศ มาจากต้นสาละดับเชิงตะกอนที่เผาพระศพ และพวกกษัตริย์มัลละก็ได้ดับเชิงตะกอนด้วยน้ำหอม จากนั้นจึงได้เก็บพระบรมธาตุ โดยอัญเชิญเข้าสู่สันฐาคารศาลา กรุงกุสินานร เพื่อกระทำการบูชาสมโภชน์อีกเจ็ดวัน โดยจัดให้มีดุริยางค์ดนตรีประโคมตลอดเวลาเจ็ดวัน

ภายหลังจากการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว กษัตริย์และผู้ครองแคว้นต่าง ๆ รวม ๗ แคว้น ได้แก่ (๑.) พระเจ้าอชาตศัตรู เมืองมคธ (๒.) กษัตริย์ลิจฉวี เมืองเวสาลี (๓.) กษัตริย์ศากยะ เมืองกบิลพัสดุ์ (๔.) กษัตริย์ถูลี เมืองอัลกัปปะ (๕.) กษัตริย์โกลิยะ เมืองรามคาม (๖.) มหาพราหมณ์ เมืองเวฏฐทีปกะ และ (๗.) กษัตริย์มัลละ เมืองปาวา ได้ส่งทูตมาขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ตอนแรกพวกเจ้ามัลละ แห่งนครกุสินารา ไม่ยอมแบ่งให้ โดยแจ้งว่าพระบรมศาสดาได้เสด็จมาปรินิพพาน ณ ที่นี้ จนเกือบจะเป็นชนวนให้เกิดสงครามระหว่างพวกเจ้ามัลละกับกษัตริย์และพราหมณ์ทั้ง ๗ แคว้น ที่มาขอส่วนแบ่ง

แต่เหตุการณ์ความขัดแย้งก็ระงับลงได้โดยมีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อ “โทณะ” เข้ามาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างกษัตริย์และพราหมณ์เหล่านั้น โดยให้สติว่าการใช้กำลังกันอันเนื่องมาจากการเสด็จปรินิพพานของพระบรมศาสดา เป็นเรื่องที่ไม่สมควร และขอให้แบ่ง พระบรมธาตุออกเป็นแปดส่วนเท่า ๆ กัน เพื่อแบ่งให้นครต่าง ๆ นำไปสักการะบูชาสืบต่อไป. 

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo