“พระพุทธศาสนา” นับว่าเป็นศาสนาหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ทรงปรารถนาให้มวลมนุษย์ก้าวข้ามสังสารวัฏ หรือการเกิด แก่ เจ็บ และตาย แล้วมุ่งเข้าสู่พระนิพพาน แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เจ้าชายสิทธัตถะจะทรงตรัสรู้สัจธรรมอันประเสริฐได้ พระองค์ทรงฝ่าฟันกับอุปสรรคนานาประการ และทรงค้นพบวิธีการดำเนินชีวิตและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างแยบคาย อันเป็นที่มาของหลักธรรมคำสอนต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนา
ตามตำนานเล่าว่าพระเจ้าโอกกากราช ครองราชสมบัติในพระนครแห่งหนึ่ง ทรงมีพระราชบุตร ๔ พระองค์ พระราชบุตรี ๕ พระองค์ โดยทั้ง ๙ พระองค์นี้ล้วนประสูติจากพระมเหสีที่เป็นราชภคินี (พี่สาว หรือน้องสาว) ของพระองค์เอง ครั้นพระมเหสีนั้นทิวงคต (ตาย) แล้ว พระเจ้าโอกกากราชได้มีพระมเหสีใหม่ ซึ่งพระมเหสีใหม่ได้ให้ประสูติพระราชบุตรหนึ่งพระองค์ ดังนั้น พระเจ้าโอกกากราชทรงพระราชทานพระพรให้พระนางเจ้าเลือกสิ่งที่ต้องประสงค์ พระนางเจ้าจึงทูลขอราชสมบัติให้แก่พระโอรสของพระนาง แต่พระเจ้าโอกกากราชตรัสห้ามว่าไม่ได้ พระนางเจ้าก็ไม่ฟัง และยังกราบทูลอ้อนวอนว่าพระองค์ได้ลั่นพระวาจาแล้ว ถ้าไม่พระราชทานให้ ก็ถือว่าเสียสัตย์
ในที่สุดพระเจ้าโอกกากราชจึงตรัสสั่งพระราชบุตร ๔ พระองค์ ให้พาพระภคินี ๕ พระองค์ ไปสร้างพระนครอยู่ใหม่ ซึ่งพระราชบุตร ๔ พระองค์นั้นก็กราบถวายบังคมลา แล้วพาพระภคินี ๕ พระองค์ ไปสร้างพระนครในดงไม้สักกะ ประเทศหิมพานต์ ซึ่งดงไม้สักกะแห่งนั้นเป็นที่อยู่ของกบิลดาบส จึงตั้งชื่อพระนครที่สร้างใหม่ให้สอดคล้องกับที่อยู่ของดาบสว่า “กรุงกบิลพัสดุ์” แล้วตั้งชื่อราชวงศ์ตามลักษณะของภูมิประเทศ ที่ตั้งเมืองขึ้นในดงไม้สักกะว่า “ศากยะวงศ์”
และเพื่อเป็นการรักษาวรรณะกษัตริย์ของตนเอง ไม่ให้ปะปนกับวรรณะอื่น พระราชบุตร และพระราชบุตรีจึงได้อภิเษกสมรสเป็นคู่กันเอง เว้นแต่พระเชฏฐภคินี (พี่สาว) ที่ไม่ทรงมีคู่ครอง
ต่อมามีชายผู้หนึ่ง ซึ่งป่วยเป็นโรคน่ารังเกียจ จึงถูกเนรเทศมาจากเมืองเดิม และได้มาอาศัยอยู่ในโพลงของต้นโกละ เมื่อได้รับประทานพืชผักผลไม้จึงหายป่วยจากโรคดังกล่าว และได้มาพบกับพระเชฏฐภคินี และต่างก็ทราบว่าเป็นวรรณะกษัตริย์เหมือนกันจึงอภิเษกสมรส และตั้งเมืองขึ้นใหม่ชื่อว่า “กรุงเทวทหะ” และตั้งเป็นราชวงศ์ว่า “โกลิยวงศ์” สืบต่อมา