อดีตชาติของพระพุทธเจ้า

“พระพุทธศาสนา” นับว่าเป็นศาสนาหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ทรงปรารถนาให้มวลมนุษย์ก้าวข้ามสังสารวัฏ หรือการเกิด แก่ เจ็บ และตาย แล้วมุ่งเข้าสู่พระนิพพาน แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เจ้าชายสิทธัตถะจะทรงตรัสรู้สัจธรรมอันประเสริฐได้ พระองค์ทรงฝ่าฟันกับอุปสรรคนานาประการ และทรงค้นพบวิธีการดำเนินชีวิตและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างแยบคาย อันเป็นที่มาของหลักธรรมคำสอนต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนา
  

//

ย้อนกลับไปในอดีตชาติของพระสมณะโคตมะ (เจ้าชายสิทธัตถะ) ก่อนที่จะมาอุบัติเป็นพระพุทธเจ้านั้น ได้ทรงบำเพ็ญบารมีอยู่ในอดีตชาติ เรียกว่า “พระโพธิสัตว์” (แปลว่า ท่านผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า) ซึ่งอดีตชาติของพระพุทธเจ้านั้นมีมากมาย

ในอดีตชาติหนึ่งพระโพธิสัตว์ของเราเกิดเป็น “สุเมธดาบส” และได้พบพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง มีพระนามว่า “พระพุทธทีปังกร” (พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๔) ดังนั้น สุเมธดาบสจึงตั้งความปรารถนาไว้ว่า ขอให้ได้เป็นพระพุทธเจ้าเช่นพระองค์ท่าน

มีอยู่ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าทีปังกรเสด็จผ่านทางที่เป็นเลนตม หลุมบ่อ สุเมธดาบสก็ได้ทอดตัวลงนอน ถวายหลังให้เป็นทางเสด็จ เมื่อพระพุทธเจ้าทีปังกรเสด็จถึง สุเมธดาบสก็ได้รับการตรัสพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าทีปังกรว่า “ดาบสนี้ทำอภินิหารปรารถนา เพื่อเป็นพระพุทธะ ความปรารถนาของดาบสนี้จักสำเร็จในอนาคตเบื้องหน้าโน้น”ซึ่งเมื่อสุเมธดาบสได้รับพุทธพยากรณ์แล้ว ก็ได้ชื่อว่าเป็น “โพธิสัตว์” นับแต่นั้นมา

ในพระคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาได้อธิบายไว้ว่า ความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง จะสำเร็จเพราะผู้ตั้งความปรารถนาประกอบด้วย “ธรรมสโมธาน ๘ ประการ” ได้แก่

๑. เป็นมนุษย์

๒. เป็นบุรุษเพศสมบูรณ์ (สตรี หรือกระเทยเป็นไม่ได้)

๓. มีเหตุสมบูรณ์ คือ มีนิสัยบารมี พร้อมทั้งการปฏิบัติประมวลกัน เป็นเหตุที่จะให้บรรลุพระอรหันต์ในอัตภาพนั้นได้แล้ว แต่เพราะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า จึงยังไม่สำเร็จก่อน

๔. ได้เห็นพระศาสดา คือ ได้เกิดทัน ตลอดจนได้เข้าเฝ้า และได้ทำความดีถวายพระพุทธเจ้า พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง

๕. บรรพชา คือ ถือบวชเป็นนักบวช เช่น ฤษี ดาบส (ต้องเป็นบรรพชิต ไม่ใช่เป็นคฤหัสถ์ )

๖. ถึงพร้อมด้วยคุณ คือ ได้อภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ หมายถึง การได้สมาธิจิตอย่างสูง จนจิตบังเกิด ความรู้ ความเห็น อย่างมีตา มีหู รับรู้เห็นเกินมนุษย์สามัญ ที่เรียกว่า ตาทิพย์ หูทิพย์

๗. ถึงพร้อมด้วยอธิการ คือ การกระทำอันดียิ่ง จนถึงอาจบริจาคชีวิตของตนเพื่อพระพุทธเจ้าได้

๘. มีฉันทะ คือ มีความพอใจในการเป็นพระพุทธเจ้าอย่างแรงกล้า มีอุตสาหะ พยายามยิ่งใหญ่ จนเปรียบเหมือนว่ายอมแบกโลกทั้งโลก เพื่อนำไปสู่แดนเกษมได้ หรือเปรียบเหมือนว่ายอมเหยียบย่ำโลกทั้งโลกที่เต็มไปด้วยขวากหนาม หอกดาบ และถ่านเพลิงไปได้

นับตั้งแต่ได้รับพยากรณ์จากพระทีปังกรพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ก็ได้บำเพ็ญ “พุทธการธรรม ๑๐ ประการ” ซึ่งพุทธการธรรม ๑๐ ประการนี้เรียกว่า “บารมี” แปลว่า “อย่างยิ่ง” (หมายถึงว่า เต็มบริบูรณ์ บำเพ็ญจนเต็มบริบูรณ์ เมื่อใดก็สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าเมื่อนั้น) โดยบำเพ็ญมาตลอดระยะเวลา ๔ อสงไขย แสนกัปป์ จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๒๘ พระนามว่า “พระโคดม หรือโคตมะ” ซึ่งการบำเพ็ญพุทธการธรรม ๑๐ ประการ ได้แก่

๑. บำเพ็ญทาน สละบริจาคสิ่งทั้งปวงจนถึงร่างกาย และชีวิตให้ได้หมดสิ้น เหมือนอย่างเทภาชนะใส่น้ำคว่ำจนหมดน้ำ

๒. บำเพ็ญศีล รักษาศีลยิ่งกว่าชีวิต เหมือนอย่างเนื้อทรายรักษาขนยิ่งกว่าชีวิต

๓. บำเพ็ญเนกขัมม์ ออกจากกาม จากบ้านเรือน เหมือนอย่างมุ่งออกจากพันธนาการ

๔. บำเพ็ญปัญญา เข้าหาศึกษา ไต่ถามบัณฑิต โดยไม่เว้นว่าจะเป็นบุคคลมีชาติชั้นวรรณะต่ำ ปานกลางหรือสูง เหมือนอย่างภิกษุเที่ยวบิณฑบาตรับไปตามลำดับ ไม่เว้นแม้นที่ตระกูลต่ำ

๕. บำเพ็ญวิริยะ มีความเพียร ไม่ย่อหย่อนทุกอิริยาบท เหมือนอย่างสีหราช มีความเพียรมั่นคงในอิริยาบททั้งปวง

๖. บำเพ็ญขันติ อดทนทั้งในคำยกย่อง ทั้งในการดูหมิ่นแคลน เหมือนอย่างแผ่นดิน ใครทิ้งของสะอาด หรือไม่สะอาดก็รองรับได้ทั้งนั้น

๗. บำเพ็ญสัจจะ รักษาความจริง ไม่พูดเท็จทั้งที่รู้ แม้ฟ้าจะผ่า เพราะเหตุไม่พูดเท็จ ก็ไม่ยอมพูดเท็จ เหมือนอย่างดาวโอสธี ดำเนินไปในวิถีของตน เที่ยงตรงทุกฤดู

๘. บำเพ็ญอธิฐาน ตั้งใจมุ่งมั่นไม่หวั่นไหว คือเด็ดเดียวแน่นอนในสิ่งที่อธิษฐานใจไว้ เหมือนอย่างภูเขาหิน ไม่หวั่นไหวในเมื่อถูกลมกระทบทุกทิศ

๙. บำเพ็ญเมตตา แผ่มิตรภาพไมตรีจิต ไม่คิดโกรธอาฆาต มีจิตสม่ำเสมอเป็น อันเดียวทั้งในผู้ให้คุณ ทั้งในผู้ไม่ให้คุณหรือให้โทษ เหมือนน้ำแผ่ความเย็นไปให้อย่างเดียวกันแก่คนทั้งชั่วทั้งดี

๑๐. บำเพ็ญอุเบกขา วางจิตมัธยัสถ์เป็นกลาง ทั้งในคราวสุขในคราวทุกข์ เหมือนอย่างแผ่นดิน เมื่อใครทิ้งของสะอาดหรือไม่สะอาดลงไปก็มัธยัสถ์เป็นกลาง

บารมีที่บำเพ็ญมาโดยลำดับ แบ่งเป็น ๓ ขั้น ขั้นสามัญเรียก ‘บารมี' ขั้นกลางเรียกว่า ‘อุปบารมี' และขั้นสูงสุดเรียกว่า ‘ปรมัตถบารมี' ซึ่งในภพชาติสุดท้ายได้ทรงบังเกิดเป็น “พระเวสสันดร” และได้ทรงสร้างทานบารมีอย่างยอดเยี่ยม ดังนั้น เมื่อสิ้นจากชาตินั้น ก็ได้ไปอุบัติในสวรรค์ชั้นดุสิต (สวรรค์กามาวจรชั้นที่สี่) เป็นเทพบุตรมีนามว่า “สันดุสิตเทวราช”

เมื่อใกล้เวลาที่สันดุสิตเทวราชจะจุติมาเกิดบนโลกมนุษย์ ได้เกิดความโกลาหลขึ้นในหมู่เทวดาทั้งปวง (ซึ่งการเกิดโกลาหลนี้มีสาเหตุหลัก ๆ อยู่ ๓ สมัย คือ สมัยเมื่อโลกจะวินาศ สมัยเมื่อพระเจ้าจักรพรรดิจะเกิด และสมัยเมื่อพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้น) ดังนั้น เทวดาต่าง ๆ จึงพร้อมใจมาประชุมกันที่สวรรค์ชั้นดุสิต และทูลอาราธนา “สันดุสิตเทวราช” ว่า “ในกาลบัดนี้ สมควรที่พระองค์จะจุติไปบังเกิดในมนุษย์โลก เพื่อขนสัตว์ในมนุษย์โลก กับเทวโลกข้ามให้พ้นจากห้วงแห่งความเวียนว่ายตายเกิด อันไม่มีต้นไม่มีปลาย ไม่รู้จบสิ้น ให้รู้ความจริงบรรลุถึงทางปฏิบัติซึ่งจะเข้าสู่พระนิพพาน”

ซึ่งก่อนที่สันดุสิตเทวราชจะมาจุตินั้น ได้ทรงพิจารณาดู “ปัญจมหา-วิโลกนะ” คือ กาล ทวีป ประเทศ ตระกูล และพระมารดา กล่าวคือ ทรงพิจารณาถึง

๑. กาลกำหนดแห่งอายุมนุษย์ ถ้าอายุมนุษย์มากเกินแสนปีขึ้นไป หรือต่ำกว่าร้อยปีลงมา ก็ไม่ใช่กาลที่จะลงมาจุติ เพราะเมื่ออายุยืนมากเกินไปก็อาจเห็นไตรลักษณ์ ถ้าอายุสั้นเกินไปก็จะมีกิเลสหนาไม่อาจเห็นธรรมได้

๒. ทวีป ทรงพิจารณาเห็นว่าชมพูทวีปเป็นทวีปที่เหมาะที่จะลงมาจุติ

๓. ประเทศ ทรงพิจารณาเห็นว่า ‘มัชฌิมประเทศ' คือพื้นที่ส่วนกลางของชมพูทวีป เป็นสถานที่เหมาะที่จะลงมาจุติ

๔ . ตระกูล ทรงพิจารณาเห็นว่าพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งศากยะวงศ์ สมควรเป็นพระบิดาได้ เพราะอยู่ในวรรณะกษัตริย์

๕. พระมารดา ทรงพิจารณาเห็นว่า พระนางสิริมหามายามีศีล และบารมีธรรม สมควรเป็นพระมารดาได้ และนับจากเวลาที่พระโอรสประสูติเพียงเจ็ดวัน สัตว์อื่นไม่อาจอาศัยคัพโภทร (ครรภ์, ท้อง) บังเกิดได้อีก เพราะพระมารดาได้ทิวงคต

ครั้นพระโพธิสัตว์ทรงเห็นว่าสถานะทั้งห้านั้นครบบริบูรณ์แล้ว จึงทรงรับปฏิญญาณ แล้วเสด็จไปยังนันทวันอุทยานในดุสิตเทวโลก และจุติลงสู่ปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางสิริมหามายา พระอรรคมเหสีพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ในวันอาสาฬหปูรณมี เพ็ญเดือน ๘

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo