ประสูติกาล

“พระพุทธศาสนา” นับว่าเป็นศาสนาหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ทรงปรารถนาให้มวลมนุษย์ก้าวข้ามสังสารวัฏ หรือการเกิด แก่ เจ็บ และตาย แล้วมุ่งเข้าสู่พระนิพพาน แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เจ้าชายสิทธัตถะจะทรงตรัสรู้สัจธรรมอันประเสริฐได้ พระองค์ทรงฝ่าฟันกับอุปสรรคนานาประการ และทรงค้นพบวิธีการดำเนินชีวิตและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างแยบคาย อันเป็นที่มาของหลักธรรมคำสอนต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนา
  

//

พระพุทธเจ้าเป็นพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ กษัตริย์แห่งศากยวงศ์ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ และพระนางสิริมหามายา พระธิดาของพระเจ้าอัญชนะกษัตริย์ กษัตริย์แห่งโกลิยวงศ์ แห่งกรุงเทวทหะ ซึ่งทั้งสองพระองค์นี้ต่างสืบเชื่อสายมาจากพระเจ้าโอกกากราชด้วยกันสิ้น

ในวันที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางสิริมหามายา จากสวรรค์ชั้นดุสิต พระนางทรงพระสุบินว่า มีท้าวมหาพรหม ๔ องค์ มายกแท่นบรรทมของพระนางไปวางไว้ใต้ต้นรังขนาดใหญ่ ณ ป่าหิมพานต์ จากนั้น เหล่าเทพธิดานำพระนาง ไปสรงสนาน (อาบน้ำ) ในสระอโนดาด เพื่อชำระล้างมลทิน แล้วมีช้างเผือก เชือกหนึ่งชูดอกบัวขาวลงมาจากภูเขาเงินภูเขาทอง ร้องเสียงดังกึกก้องเข้ามา ยังปราสาท ทำปทักษิณ (เวียน) ขวา ๓ รอบ แล้วเข้าสู่พระครรภ์เบื้องขวา ของพระนาง จากนั้นพระนางก็ทรงตั้งครรภ์ (คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเล่าว่า เมื่อทรงอยู่ในพระครรภ์ของพระมารดาพระพุทธเจ้าทรงประทับนั่งขัดสมาธิ ไม่คุดคู้เหมือนทารกอื่น)

เมื่อพระนางสิริมหามายาทรงพระครรภ์แก่ พระนางได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้าสุทโทนะ (พระสวามี) ให้แปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ ซึ่งเป็นพระนครเกิดของพระนาง เพื่อให้ประสูติในตระกูลของ พระมารดา ซึ่งเป็นไปตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น แต่ในขณะเสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน (ตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และ กรุงเทวหทะ) พระนางก็ได้ให้ประสูติพระโอรสใต้ต้นสาละนั้น ซึ่งตรงกับ วันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี

ในขณะที่ให้ประสูติ พระมารดาเสด็จประทับยืน ไม่นั่งเหมือนสตรีอื่น เมื่อทรงประสูติแล้วพระกายของ พระโอรสบริสุทธิ์ไม่เปรอะเปื้อน ด้วยคราบใด ๆ จากนั้นจึงมีเทวดามาคอยรับพระกาย ของพระโอรส และมีธารน้ำร้อนน้ำเย็นตกลงมาจากอากาศสนาน (อาบ) พระองค์ และเมื่อประสูติแล้ว ทรงดำเนินด้วยพระบาท ๗ ก้าว พร้อมกับเปล่งพระวาจาว่า “เราเป็นยอดของโลก เราเป็นใหญ่แห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก ความเกิดของเรานี้เป็นครั้งที่สุด บัดนี้ความเกิดอีกมิได้มี”

เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบข่าวการประสูติของพระราชโอรส จึงตรัสให้เชิญเสด็จกลับพระราชนิเวศน์

เมื่อพระโอรสประสูติได้ ๓ วัน อสิตดาบส (บางแห่งเรียกว่า กาฬเทวินดาบส) พระดาบสผู้อาศัยอยู่ข้างเขาหิมพานต์ ซึ่งเป็นที่คุ้นเคยและนับถือของ ราชสกุล ได้ทราบข่าวการประสูติของพระราชโอรสขอจึงเข้าไปเยี่ยม เมื่อไปถึง พระเจ้าสุทโธทนะตรัสเชิญให้นั่ง ณ อาสนะที่จัดไว้ให้ แล้วทรงอภิวาทและพูดจาปราศรัยกับพระดาบสตามสมควร จากนั้นจึงทรงอุ้มพระราชโอรสออกมา เพื่อจะให้นมัสการพระดาบส เมื่อพระดาบสเห็นพระโอรสนั้นมีลักษณะต้องด้วย ตำหรับมหาบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการ จึงเกิดความเคารพนับถือในพระราชโอรสนั้นมาก และลุกขึ้นกราบลงที่พระบาททั้งสองของพระโอรส แล้วกล่าวคำทำนายลักษณะของพระโอรสตามมหาบุรุษ-ลักษณะพยากรณศาสตร์ จากนั้นจึงถวายพระพรลากลับอาศรม

เมื่อพระโอรสประสูติได้ ๕ วันพระเจ้าสุทโธทนะโปรดให้มีการประชุม พระญาติทั้งฝ่ายพระบิดา และฝ่ายพระมารดา รวมทั้งขุนนางอำมาตย์ พร้อมกับเชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คน โดยเลือกสรรมาเพียง ๘ คน ซึ่งล้วนเป็นผู้รอบรู้ไตรเวทอย่างเชี่ยวชาญ เพื่อมาทำนายพระลักษณะและขนานพระนามพระโอรส ว่า ‘สิทธัตถกุมาร' เมื่อพระโอรสประสูติได้ ๕ วันพระเจ้าสุทโธทนะโปรดให้มีการประชุมพระญาติทั้งฝ่ายพระบิดา และฝ่ายพระมารดา รวมทั้งขุนนางอำมาตย์ พร้อมกับเชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คน โดย

สำหรับพราหมณ์ทั้ง ๘ คน ได้แก่ (๑) รามพราหมณ์ (๒) ลักษณพราหมณ์ (๓) ยัญญพราหมณ์ (๔) ธุชพราหมณ์ (๕) โภชพราหมณ์ (๖) สุทัตตพราหมณ์ (๗) สุยามพราหมณ์ และ (๘) โกณทัญญพราหมณ์ โดยพราหมณ์ลำดับที่ ๑-๗ ได้ถวายพยากรณ์ร่วมกันเป็น ๒ ความเห็นว่า พระกุมารนี้ ถ้าอยู่ครองราชสมบัติ จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงมีพระบรมเดชานุภาพมาก แต่ถ้าเสด็จออก ทรงผนวช จะได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลก โดยยกนิ้วมือ ๒ นิ้วยืนยันคำพยากรณ์ แต่โกณทัญญ พราหมณ์ ผู้เป็นพราหมณ์หนุ่ม อายุน้อยเพียงคนเดียว ได้พยากรณ์เป็นมติเดียว โดยยกนิ้วมือหนึ่งนิ้วยืนยันว่า พระราชกุมารพระองค์นี้ จะไม่อยู่ในราชสมบัติ จะเสด็จออกทรงผนวช และตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลกแน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลง

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ ๗ วัน พระมารดาก็ได้สิ้นพระชนม์ พระเจ้าสุทโธทนะจึงได้มอบหมายให้พระนางปชาบดีโคตมี ผู้เป็นน้า ให้การเลี้ยงดูเจ้าชายสิทธัตถะต่อมา

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงเจริญวัยที่สมควรแก่การศึกษาศิลปวิทยาการ พระเจ้าสุทโธทนะทรงมอบพระราชโอรสไว้ในสำนักครูวิศวามิตร ซึ่งครูวิศวามิตร ได้สอนวิชาสำคัญ ๒ หมวดใหญ่ คือ พระเวท และศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ พระเวท ได้แก่ คัมภีร์ทางศาสนาพราหมณ์ ส่วนศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ เป็นวิชาสำหรับวรรณะกษัตริย์ ซึ่งเจ้าชายสิทธัตถะทรงเรียนรู้ได้ว่องไว จนสิ้นความรู้ ของอาจารย์แล้ว และได้แสดงให้ปรากฏในหมู่พระญาติ โดยพระปรีชาของ พระองค์นั้นไม่มีราชกุมารอื่นจะเทียบถึง

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะมีพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา ทรงอภิเษกสมรสกับ เจ้าหญิงยโสธรา หรือพิมพา ผู้เป็นพระธิดาของพระเจ้ากรุงเทวทหะ ซึ่งเป็น พระญาติฝ่ายพระมารดา

พระเจ้าสุโธทนะ และพระญาติทรงปรารถนาที่จะให้เจ้าชายสิทธัตถะ อยู่ครองราชสมบัติ มากกว่าที่จะให้เสด็จออกบรรพชาดังที่โกณทัญญะพราหมณ์ ได้ทำนายไว้ จึงผูกมัดพระโอรสให้เพลิดเพลินในกามสุข โดยพระเจ้าสุทโธทนะตรัสสั่งให้สร้างปราสาท ๓ หลัง เพื่อเป็นที่อยู่ของเจ้าชายสิทธัตถะใน ๓ ฤดู คือ ฤดูหนาว ฤดูร้อน ฤดูฝน และบำเรอด้วยดนตรีที่มีแต่นักดนตรีผู้หญิง เพื่อให้เจ้าชายสิทธัตถะได้เสวยสุขสมบัติทั้งกลางวันกลางคืน

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะมีพระชนมายุ ๒๙ พรรษา ได้เสด็จประพาส พระราชอุทยานนอกเมืองด้วยรถม้าพระที่นั่ง พร้อมด้วยสารถีคนขับ ถึง ๔ คราว ซึ่งในแต่ละคราวที่เสด็จนั้น เทวทูตได้เนรมิตให้พระองค์เห็น คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช ตามลำดับ ในครั้งแรกทรงเห็นคนแก่ ในครั้งที่ ๒ ทรงเห็นคนเจ็บ และในครั้งที่ ๓ ทรงเห็น คนตาย ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงสังเวชพระทัย ในสิ่งซึ่งพระองค์ไม่เคยประสบมาก่อนในชีวิต และในคราวเสด็จประพาสพระราชอุทยานครั้งที่ ๔ ทรงเห็นนักบวชนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ผู้ซึ่งมีอากัปกิริยาสำรวม และเมื่อทรงเห็นนักบวชก็ทรงพอพระทัยในการบรรพชา ทรงรำพึงในพระทัยว่า "สาธุ ปัพพชา" แปลว่า “บวชดีนักแล”

ในวันเดียวกันนั้น เมื่อพระองค์เสด็จกลับสู่พระตำหนัก ทรงทราบว่า พระนางยโสธราให้ประสูติพระโอรสแล้ว เมื่อเจ้าชายได้ทรงทราบถึงการประสูติ ของพระโอรส ทรงเกิดความรู้สึกอย่างหนึ่งซึ่งไม่เคยเกิดกับพระองค์มาก่อนเลย คือ ความรักลูกยิ่งนัก

ความรักลูกที่เกิดขึ้นนั้น สร้างความหนักหน่วง และผูกมัดพระทัยยิ่งกว่าสิ่งใดในโลก จนทรงอุทานออกมาว่า “พันธนัง ชาตัง ราหุลัง ชาตัง” แปลว่า “ห่วงเกิดขึ้นเสียแล้ว” เหตุที่เจ้าชายสิทธัตถะเปล่งอุทานขึ้นว่า “ห่วงเกิดขึ้นเสียแล้ว” นั้น เพราะพระองค์กำลังตัดสินพระทัยเสด็จออกบวช หรือกำลังจะตัดห่วงหาอาลัยในฆราวาส แต่ก็มีห่วงใหม่ขึ้นมาผูกมัดอีกเสีย

อนึ่ง คำที่แปลว่า “ห่วง” ในคำอุทานของเจ้าชายสิทธัตถะ คือ “ราหุลัง” หรือ “ราหุล” ซึ่งต่อมาคำนี้ได้เป็นพระนามของพระกุมารว่า “ราหุล”

แต่ด้วยเจ้าชายสิทธัตถะทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้งสี่ แล้วทรงตัดสินพระทัยแล้วว่าจะเสด็จออกบรรพชา แม้ว่าภายหลังจะทรงบังเกิดบ่วงขึ้นในพระทัย แต่พระปณิธานก็ที่จะเสด็จออกบวชก็ไม่เปลี่ยนแปลง

คืนนั้นเจ้าชายสิทธัตถะจึงเสด็จออกจากแท่นบรรทม แล้วเสด็จไปยัง พระทวารปราสาทตรัสเรียกนายฉันนะมหาดเล็กคนสนิท ทรงรับสั่งให้นายฉันนะ ไปเตรียมม้า นายฉันนะก็รับบัญชารีบลงไปที่โรงม้า ส่วนเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จไปยัง พระบรรทมของนางยโสธราผู้เป็นชายา เมื่อเสด็จไปถึง ทรงเผยบานพระทวารออก ทรงเห็นพระชายากำลังหลับสนิท พระนางทอดพระกรไว้เหนือเศียรพระโอรส เจ้าชายทรงเกิดความเสน่หา ในพระชายาและพระโอรส ที่พึ่งได้ทอดพระเนตรเห็น เป็นครั้งแรก แต่พระองค์ทรงตัดพระทัยและข่มพระทัยว่าอย่าเลย เมื่อได้สำเร็จเป็น พระพุทธเจ้า จะกลับมาทัศนาการพระพักตร์ของ พระโอรสในภายหลัง จากนั้นจึงเสด็จออกจากปราสาทไปยังที่ที่นายฉันนะ ได้เตรียมม้าไว้คอย

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo