“พระพุทธศาสนา” นับว่าเป็นศาสนาหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ทรงปรารถนาให้มวลมนุษย์ก้าวข้ามสังสารวัฏ หรือการเกิด แก่ เจ็บ และตาย แล้วมุ่งเข้าสู่พระนิพพาน แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เจ้าชายสิทธัตถะจะทรงตรัสรู้สัจธรรมอันประเสริฐได้ พระองค์ทรงฝ่าฟันกับอุปสรรคนานาประการ และทรงค้นพบวิธีการดำเนินชีวิตและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างแยบคาย อันเป็นที่มาของหลักธรรมคำสอนต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนา
เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกจากเมืองในเวลากลางคืน ทรงม้าชื่อ “ม้ากัณฐกะ” และมีนายฉันนะตามเสด็จ เมื่อเจ้าชายเสด็จทรงม้าพระที่นั่งผ่านประตูเมือง พระยามารวัสวดีได้ปรากฏกายขึ้นตรงพระพักตร์ เพื่อห้ามมิให้เจ้าชายออกบวช แต่เจ้าชายก็มิได้ฟัง จึงเสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์เพื่อหาหนทางดับทุกข์
เจ้าชายสิทธัตถะพร้อมด้วยนายฉันนะ ได้ทรงม้าพระที่นั่งไปตลอดคืน จนถึงรุ่งสางที่ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ซึ่งเป็นเขตแดนคั่นเมืองทั้ง ๓ คือ กบิลพัสดุ์ สาวัตถี และไพศาลี ทรงพาม้าและมหาดเล็กข้ามแม่น้ำ แล้วเสด็จลงจากหลังม้าไปประทับนั่งบนหาดทรายอันขาวดุจแผ่นเงิน พระหัตถ์ขวาจับพระขรรค์แสงดาบ พระหัตถ์ซ้ายจับพระจุฬา (ยอดปลายพระเกศา) กับพระโมฬี (มุ่นพระเกศา หรือผมที่มุ่นเป็นมวย) แล้วทรงตัดด้วยพระขรรค์แสงดาบ เหลือพระเกศาไว้ยาวประมาณ ๒ นิ้ว เป็นวงกลมเวียนไปทางขวา เสร็จแล้วทรงเปลื้องพระภูษาเครื่องทรงออก แล้วทรงครองผ้า (นุ่งห่มผ้า) เช่นนักบวช ที่ฆฏิการพรหม นำมาถวายพร้อมกับเครื่องบริขารอย่างอื่น จากนั้นทรงอธิฐานเพศเป็นนักบวชที่ชายหาดริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ซึ่งการออกบวชครั้งนี้เรียกว่า “การเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์” แปลว่า “การเสด็จออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่”
จากนั้นทรงมอบพระภูษาทรง และม้าพระที่นั่งให้นายฉันนะกลับไปกราบทูลแจ้งแก่พระราชบิดาให้ทรงทราบ นายฉันนะมีความอาลัยยิ่งนัก ถึงกับร้องไห้กลิ้งเกลือแทบพระบาทไม่ยอมกลับ แต่ขัดรับสั่งไม่ได้ เจ้าชายสิทธัตถะ (พระมหาบุรุษ) ทรงลูบหลังม้าที่กำลังจะกลับสู่เมือง ม้าน้ำตาไหลอาบหน้า แล้วแลบลิ้นออกเลียพื้นฝ่าพระบาทของพระองค์ ผู้ทรงเคยเป็นเจ้าของ ทั้งม้ากัณฐกะและนายฉันนะต่างน้ำตาอาบหน้า ข้ามน้ำกลับมาเมือง แต่พอลับพระเนตรของพระมหาบุรุษ ม้ากัณฐกะก็หัวใจแตกออกเป็น ๗ พรรษา หรือหัวใจวายตาย ส่วนนายฉันนะก็ร้องไห้กลับเมืองกบิลพัสดุ์ตามลำพัง