“พระพุทธศาสนา” นับว่าเป็นศาสนาหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ทรงปรารถนาให้มวลมนุษย์ก้าวข้ามสังสารวัฏ หรือการเกิด แก่ เจ็บ และตาย แล้วมุ่งเข้าสู่พระนิพพาน แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เจ้าชายสิทธัตถะจะทรงตรัสรู้สัจธรรมอันประเสริฐได้ พระองค์ทรงฝ่าฟันกับอุปสรรคนานาประการ และทรงค้นพบวิธีการดำเนินชีวิตและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างแยบคาย อันเป็นที่มาของหลักธรรมคำสอนต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนา
ในสัปดาห์ที่หนึ่ง ของการตรัสรู้ เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้ว ก็ยังคงเสด็จประทับอยู่ ณ ภายใต้ร่มไม้ของพระมหาโพธิต้นเดิม ทรงเสวยวิมุตติสุข (คือ สุขที่เกิดจากความพ้นจากกิเลสาสวะ) เป็นเวลา ๗ วัน
ในสัปดาห์ที่สอง เสด็จประทับทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ ในระยะห่างที่พอสมควรแก่การทอดพระเนตร จากนั้นพระองค์ก็ได้ประทับยืน แล้วพิจารณาต้นพระศรีมหาโพธิอันเป็นที่ตรัสรู้ โดยมิได้กระพริบพระเนตรตลอดหนึ่งสัปดาห์ เสมือนหนึ่งจะทรงทบทวนความทรงจำต่อเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วโดยลำดับ อีกทั้งต้นไม้ต้นนี้เป็นที่ให้กำเนิดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง พระผู้ที่จะนำสัจธรรมอันบริสุทธิ์ สำหรับชำระกิเลสนานาประการของสัตว์โลก ซึ่งสถานที่ที่ทรงประทับยืนเพื่อคารวะพระธรรมแห่งนี้จึงเรียกว่า “อนิมิสเจดีย์”
ในสัปดาห์ที่สาม เสด็จออกจากอนิมิสเจดีย์ แล้วมาหยุดอยู่ตรงกลาง ระหว่างต้นพระศรีมหาโพธิ กับอนิมิสเจดีย์ และทรงนิรมิตที่จงกรมขึ้น แล้วทรงเดินจงกรม ณ ที่แห่งนั้นเป็นเวลาเจ็ดวัน สถานที่นั้นเรียกว่า “รัตนจงกรมเจดีย์”
ในสัปดาห์ที่สี่ เทวดาได้นิรมิตเรือนแก้วขึ้นทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ เสด็จนั่งขัดสมาธิบัลลังก์ ทรงพิจารณาพระอภิธรรมเป็นเวลาเจ็ดวัน สถานที่นี้เรียกว่า “รัตนฆรเจดีย์”
ในสัปดาห์ที่ห้า ได้เสด็จไปประทับที่ต้นอชปาลนิโครธ (ต้นไทร) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของต้นพระศรีมหาโพธิ ในขณะที่พระพุทธองค์ได้ทรงเสวยวิมุติสุข อยู่ภายใต้ร่มไม้อชปาลนิโครธนั้น ปรากฏว่ามีธิดามาร ๓ ตน คีอ นางตัณหา นางราคา และนางอรดี ได้อาสาพระยามารเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ แล้วแปลงกายเป็นหญิงนานาชนิด หวังให้พระองค์พอพระทัย แต่พระองค์มิได้ใฝ่พระทัย กลับทรงขับไล่ให้ออกไป อันแสดงถึงความไม่ยอมกลับมาเป็นผู้แพ้อีก
ในสัปดาห์ที่หก ได้เสวยวิมุติสุขอยู่ใต้ต้นมุจลินท์ (ต้นจิก) ปรากฏว่ามีฝนเจือลมหนาวตกพรำอยู่เจ็ดวัน ดังนั้นพญานาคชื่อ “มุจลินท์” เข้ามาขดเป็นวงเจ็ดรอบ แล้วแผ่ปกพระพุทธเจ้า เพื่อป้องกันลมและฝนมิให้ถูกพระกาย ครั้นฝนหายแล้ว ก็คลายตัวที่ขดออกออกแล้วจำแลงเป็นมาณพ เข้ามายืนเฝ้าอยู่เฉพาะพระพักตร์ พระพุทธเจ้าได้ทรงเปล่งอุทานว่า “ความสงัดเป็นสุขของบุคคลผู้สันโดษ มีธรรมปรากฏแล้ว เห็นอยู่ ความไม่พยาบาท คือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย เป็นสุขในโลก ความปราศจากกำหนัด คือความล่วงกามทั้งหลายเสียได้ เป็นสุขในโลก การกำจัดอัสมิมานะ เสียได้นั่นแล เป็นสุขอย่างยิ่ง”
ในสัปดาห์ที่เจ็ด พระพุทธเสด็จออกจากร่มไม้ราชายตนะ แล้วกลับไปประทับ ณ ร่มไม้อชปาลนิโครธ (ต้นไทร) อีกครั้ง ทรงพิจารณาถึงธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้วว่าเป็นธรรมอันลึกซึ้ง ยากที่บุคคลผู้ยินดีในกามคุณจะตรัสรู้ตามได้ จึงทรงท้อพระหฤทัยที่จะตรัสสั่งสอน แต่ด้วยพระกรุณาต่อหมู่สัตว์ จึงทรงพิจารณาด้วยพระปัญญาว่า บุคคลผู้มีกิเลสน้อยเบาบางก็มี ผู้มีกิเลสหนาก็มี ผู้จะพึงสอนให้รู้ได้โดยง่ายก็มี ผู้จะพึงสอนให้รู้ได้โดยยากก็มี เป็นผู้สามารถจะรู้ได้ก็มี เป็นผู้ไม่สามารถจะรู้ได้ก็มี เทียบได้กับบัว ๔ เหล่า
จำพวกที่หนึ่ง พวกที่มีสติปัญญาฉลาดเฉลียว เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถรู้ และเข้าใจในเวลาอันรวดเร็ว เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที (อุคฆฏิตัญญู)
จำพวกที่สอง พวกที่มีสติปัญญาปานกลาง เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตาม และได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มเติม จะสามารถรู้และเข้าใจได้ในเวลาอันไม่ช้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำซึ่งจะบานในวันถัดไป (วิปัจจิตัญญู)
จำพวกที่สาม พวกที่มีสติปัญญาน้อย แต่เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตาม และได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ มีสติมั่นประกอบด้วยศรัทธา ปสาทะ ในที่สุดก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในวันหนึ่งข้างหน้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะค่อย ๆ โผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง (เนยยะ)
จำพวกที่สี่ พวกที่ไร้สติปัญญา และยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ แม้ได้ฟังธรรม ก็ไม่อาจเข้าใจความหมายหรือรู้ตามได้ ทั้งยังขาดศรัทธาปสาทะ ไร้ซึ่งความเพียร เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม ยังแต่จะตกเป็นอาหารของเต่าปลา ไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นพ้นน้ำเพื่อเบ่งบาน (ปทปรมะ)
เมื่อทรงพิจารณาสัตว์โลกโดยพิจารณาเปรียบด้วยดอกบัวทั้ง ๔ เหล่าแล้ว จึงได้ทรงอธิษฐานพระหฤทัยที่จะแสดงธรรมสั่งสอนมหาชน และตั้งพุทธปณิธานว่าจะทรงดำรงพระชนม์อยู่จนกว่าจะได้ประกาศพระศาสนาให้เป็นที่แพร่หลาย และให้เกิดประโยชน์แก่ศาสนิกชนทุกเหล่า
ครั้นพระพุทธเจ้าทรงตัดสินพระทัยจะสอนธรรมให้แก่สัตว์ทั้งปวง ทรงพระดำริหาผู้ที่สมควรรับเทศนาครั้งแรก โดยทรงพระปรารภถึงผู้เป็นอาจารย์ คือ อาฬารดาบส และอุททกดาบส ซึ่งท่านทั้งสองเป็นผู้ฉลาด และมีกิเลสเบาบาง สามารถจะรู้ธรรมนี้ได้ทันที แต่ว่าท่านทั้งสองได้เสียชีวิตไปแล้ว ภายหลังทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ที่มีอุปการะแก่พระองค์มาก ได้เป็นผู้อุปัฏฐากพระองค์เมื่อครั้งทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา ดังนั้น จึงทรงดำริว่าจะแสดงธรรมแก่ปัญจวัคคีย์ก่อน จึงเสด็จออกจากต้นอชปาลนิโครธ ในเช้าวันขึ้น ๑๔ ค่ำ แห่งเดือนอาสาฬหะ (คือเดือน ๘) ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี ทรงพระดำเนินไปถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี อันเป็นที่อยู่ของปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕
ฝ่ายปัญจวัคคีย์ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแต่ไกล จึงนัดหมายกันว่า พระสมณะโคดมมีความมักมาก คลายเพียรในการบำเพ็ญทุกรกิริยา ดังนั้น พวกเราจะไม่ไหว้ ไม่ลุกขึ้นต้อนรับ ไม่รับบาตรจีวรของท่าน จะตั้งไว้แต่อาสนะ เพราะถ้าท่านปรารถนาก็จะนั่งเอง ครั้งพระองค์เสด็จเข้าไปถึงแล้ว ปัจญวัคคียทั้ง ๕ พูดกับพระองค์ด้วยวาจาที่ไม่เคารพ คือพูดออกพระนามว่า “โคตมะ” และเรียกพระองค์ว่า “อาวุโส” พระองค์ได้ตรัสห้ามมิให้เรียกเช่นนั้น และทรงตรัสบอกว่า “เราได้ตรัสรู้อมฤตธรรมโดยชอบเองแล้ว ท่านทั้งหลายคอยฟังเถิด เราจักสั่งสอน ท่านทั้งหลายปฏิบัติตามเราสั่งสอนอยู่ ไม่ช้าสักเท่าไร ก็จะได้บรรลุอมฤตธรรมนั้น” แต่ปัญจวัคคีย์ได้กล่าวค้านลำเลิกเหตุในอดีตว่า “อาวุโสโคดม แม้แต่ด้วยความประพฤติทุกกรกิริยาอย่างนั้น ท่านยังไม่บรรลุธรรมพิเศษได้ บัดนี้ ท่านมาปฏิบัติเพื่อความเป็นคนมักมากเสียแล้ว เหตุไฉนท่านจะบรรลุธรรมพิเศษได้เล่า?” พระองค์ทรงตักเตือน แต่เหล่าปัญจวัคคีย์ยังคงพูดคัดค้านโต้ตอบถึง ๒-๓ ครั้ง
ในที่สุด พระองค์จึงตรัสเตือนให้ระลึกถึงความหลังว่า “ท่านทั้งหลาย จำได้อยู่หรือ วาจาเช่นนี้ เราได้เคยพูดแล้วในปางก่อนแต่กาลนี้?” ปัญจวัคคีย์นึกขึ้นได้ว่า พระวาจาเช่นนี้ไม่เคยตรัสมาก่อน จึงได้ฟังพระองค์ทรงแสดงธรรม
เช้าวันรุ่งขึ้น (ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘) พระพุทธองค์ได้ตรัส ปฐมเทศนา เรียกว่า “ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร” เพื่อประกาศการตรัสรู้ของพระองค์ หรือประกาศสัจธรรมอันประเสริฐแก่ปัญจวัคคีย์ โดยทรงแสดงถึงที่สุดสองอย่างที่นักบวชไม่พึงเสพ คือ กามสุขัลลิกานุโยค (ความพัวพันหนักในกามสุข) และอัตตกิลมถานุโยค (การประกอบกรรมเป็นการทรมานตนให้เหนื่อยเปล่า) ว่า ทั้งสองหนทางนี้ไม่ใช่ทางของพระอริยะ แต่ทรงชี้ทางมัชฌิมาปฏิปทา คือ ทางสายกลาง ที่เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ และ เพื่อนิพพานซึ่งมีอยู่ ๘ ประการ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
๒. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ
๓. สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ
๔. สัมมากัมมันตะ การงานชอบ
๕. สัมมาวาจา การเจรจาชอบ
๖. สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ
๗. สัมมาสติ การระลึกชอบ
๘. สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ
แล้วทรงแสดงอริยสัจ ๔ ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทรงชี้ว่า
ทุกข์ คือ ความทุกข์ หรือสภาพที่ทนได้ยาก หรือสภาวะที่บีบคั้น กล่าวคือ ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ ความเกิดเป็นทุกข์ (การยึดมั่นถือมั่นใน ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์)
สมุทัย คือ เหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือสาเหตุให้เกิดทุกข์ ซึ่งสาเหตุแห่งความทุกข์ ได้แก่ กามตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากในกาม คือ สิ่งที่น่ารักใคร่ ปรารถนาพอใจ ภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากในภพ คือ ความเป็นนั่นเป็นนี่ และวิภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากในวิภพ คือ ความไม่เป็นนั่นเป็นนี่
นิโรธ คือ ความดับทุกข์ หรือการดับตัณหาเสียได้หมด ซึ่งหนทางปฎิบัติเพื่อความดับทุกข์เรียกกันสั้น ๆ ว่า “มรรค” หรือ “มรรคอันมีองค์แปดประการ”
มรรค คือ ทางแห่งความประพฤติปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์ นั่นคือ ทางสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทา หรือมรรคมีองค์ ๘
เมื่อพระพุทธองค์ตรัสพระธรรมเทศนาอยู่ท่านโกญทัญญะก็ได้ธรรมจักษุ หรือดวงตาเห็นธรรมว่า “ยังกิญจิ สมุทยธัมมัง สัพพัญตัง นิโรธธัมมัง” แปลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา” ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงทราบว่าท่านโกณทัญญะดวงตาเห็นธรรมแล้วจึงเปล่งอุทานว่า "อัญญาสิ วตโภ โกณทัญโญ" แปลว่า "โอ! โกณทัญญะได้รู้แล้วหนอ" (เพราะพระองค์ทรงอุทานคำนี้ภายหลังท่านโกณฑัญญะจึงได้นามใหม่ว่า “อัญญาโกณฑัญญะ”)
เมื่อท่านโกณฑัญญะได้เห็นธรรมแล้วก็สิ้นความสงสัย จึงทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ท่านโกณฑัญญะเป็นภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ด้วยพระวาจาว่า “ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” เมื่อสิ้นพระวาจานี้ก็ถือว่าการอุปสมบทของท่านโกณทัญญะเป็นอันเสร็จสมบูรณ์ (เนื่องจากในช่วงต้นของการประกาศพระศาสนา พระพุทธเจ้ายังไม่ได้ทรงอนุญาตวิธีอุปสมบทอย่างอื่น แต่จะทรงอนุญาตแก่ผู้ใดด้วยพระวาจาดังเช่นกล่าวข้างต้น ก็ถือว่าผู้นั้นเป็นภิกษุในพระธรรมวินัย หรือเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ซึ่งวิธีอุปสมบทอย่างนี้เรียกว่า ‘เอหิภิขุอุปสัมปทา' ส่วนผู้ที่ได้รับอนุญาตเป็นภิกษุด้วยพระวาจาเช่นนี้ เรียกว่า ‘เอหิภิกขุ') เหตุการณ์ในครั้งนั้น นับว่าพระศาสดาทรงพระอนุญาตให้พระโกณฑัญญะเป็นภิกษุ และนับว่าเป็นการเกิดขึ้นของภิกษุรูปแรกใน พระพุทธศาสนาด้วย
ต่อมาพระองค์ได้เทศนาสั่งสอน จนปัญจวัคคีย์ทั้ง ๔ ดวงตาเห็นธรรมเช่นเดียวกับพระอัญญาโกณฑัญญะ ดังนั้น ท่านทั้งหลายจึงได้ทูลขอให้พระพุทธเจ้าทางอุปสมบทให้ ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงประทานอุปสมบทให้แก่ท่านเหล่านั้นตามลำดับ ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖ พระองค์