วันมาฆบูชา

โอวาทปาติโมกข์ ถือเป็นหลักคำสอนอันเป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา โดยเป็นการสรุปคำสอนในพระพุทธศาสนาทั้งปวงให้สั้นและเข้าใจได้ง่าย เรียกว่าเป็น “หัวใจพระพุทธศาสนา” หรือ “พุทธโอวาท ๓” อันเป็นหลักแห่งพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นหลักในการประกาศพระพุทธศาสนาสำหรับพระสาวกสืบไป
  

//

“มาฆะ” เป็นชื่อเรียกของเดือน ๓ ส่วนคำว่า “มาฆบูชา” ย่อมาจากคำว่า “มาฆปุรณมีบูชา” แปลว่า “การบูชาพระในวันเพ็ญ เดือน ๓” ดังนั้น วันมาฆบูชาจึงตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ (หรือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ในปีอธิกมาส)

หลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้มาเป็นเวลา ๙ เดือนแล้ว เมื่อถึงวันเพ็ญกลางเดือน ๓ พระองค์ได้เสด็จไปประทับ ณ เวฬุวนาราม เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ครั้งนั้นได้มีพระอรหันต์ จำนวน ๑,๒๕๐ รูป ซึ่งแบ่งเป็นพระอรหันต์ที่อยู่ในคณะของพระอุรุเวลกัสสปเถระ พระนทีกัสสปเถระ และพระคยากัสสปเถระรวม ๑,๐๐๐ รูป กับพระอรหันต์ที่อยู่ในคณะของพระสารีบุตรเถระ และพระโมคคัลลานะเถระ ๒๕๐ รูป รวมทั้งสองคณะเป็น ๑,๒๕๐ รูป ได้พร้อมกันไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

การมาชุมนุมของพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าในครั้งนี้นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่แปลกกว่าทุกคราวในสมัยพุทธกาล จึงเรียกเหตุการณ์ในคราวนั้นว่า “จาตุรงคสันนิบาต” ซึ่งประกอบด้วยองค์ ๔ คือ

(๑) พระอรหันตสาวก จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาชุมนุมพร้อมกัน ณ เวฬุมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ

(๒) พระอรหันตสาวกเหล่านั้นล้วนเป็นเอหิภิกขุ คือ พระภิกษุที่พระพุทธเจ้าทรงอุปสมบทให้ด้วยพระองค์เอง

(๓) พระอรหันตสาวกเหล่านั้นมาชุมนุมโดยมิได้นัดหมายกันมาก่อนล่วงหน้า

(๔) วันนั้นเป็นวันมาฆบุรณมีบูชา คือ ตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๓)

การมาชุมชุมของพระอรหันต์สาวกในครั้งนั้น พระพุทธเจ้าทรงเห็นเป็นนิมิตอันดี จึงได้เสด็จท่ามกลางพระสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูปเหล่านั้น และได้ทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์”

โอวาทปาติโมกข์ ถือเป็นหลักคำสอนอันเป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา โดยเป็นการสรุปคำสอนในพระพุทธศาสนาทั้งปวงให้สั้นและเข้าใจได้ง่าย เรียกว่าเป็น “หัวใจพระพุทธศาสนา” หรือ “พุทธโอวาท ๓” อันเป็นหลักแห่งพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นหลักในการประกาศพระพุทธศาสนาสำหรับพระสาวกสืบไป อีกทั้งคำสอนเหล่านั้นได้ สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน และพุทธศาสนิกชนก็ได้ถือเอาโอวาทปาฏิโมกข์นี้เป็นแม่แบบในการประพฤติปฏิบัติ ซึ่งโอวาทปาฏิโมกข์นี้มีสาระสำคัญคือ

๑. การไม่ทำความชั่วทั้งปวง : สพฺพปาปสสฺ อกรณ
๒. การบำเพ็ญความดีให้เพียบพร้อม : กุสลสฺสูปสมฺปทา
๓. การทำจิตของตนให้ผ่องใส : สจิตฺต ปริโยทปนํ

ในครั้งนั้นพระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ โดยตรัสเป็นพระคาถา รวม ๓ พระคาถาครึ่งดังต่อไปนี้

“ขันติคือความทนทานเป็นตบะอย่างยิ่ง
พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า พระนิพพานเป็นธรรมอย่างยิ่ง
ผู้ทำร้ายผู้อื่น ผู้เบียดเบียนผู้อื่น
ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ไม่ชื่อว่าเป็น สมณะเลย
การไม่ทำบาปทั้งสิ้น
การยังกุศลให้ถึงพร้อม
การทำจิตของตนให้ผ่องใส
นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
การไม่กล่าวร้าย ๑
การไม่ทำร้าย ๑
ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ๑
ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร ๑
ที่นอนที่นั่งอันสงัด ๑
การประกอบความเพียรในอธิจิต ๑
หกอย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.”

ธรรมเนียมปฏิบัติในวันมาฆบูชา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายเกี่ยวกับธรรมเนียมพิธีการมาฆบูชาไว้ว่า เดิมทีเดียวในประเทศไทยไม่เคยจัดพิธีวันมาฆบูชามาก่อน จนกระทั่งในสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ได้ทรงถือตามแบบของโบราณบัณฑิตที่ได้นิยมกันว่า ‘วันมาฆะบูรณมี' เป็นวันที่พระจันทร์เสวยฤกษ์มาฆะเต็มบริบูรณ์ เป็นวันที่พระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า ๑,๒๕๐ รูป ได้ประชุมกัน พร้อมด้วยองค์ ๔ ประการ เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต” พระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุมสงฆ์เป็นการประชุมใหญ่ และเป็นการอัศจรรย์ในพระพุทธศาสนา นักปราชญ์จึงถือเอาเหตุนั้นประกอบการสักการบูชาพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์สาวก ๑,๒๕๐ รูปนั้น ให้เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส

การประกอบพิธีมาฆะบูชา ได้เริ่มในพระบรมมหาราชวังก่อน ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้จัดให้มีพิธีการพระราชกุศลในเวลาเช้า พระสงฆ์ วัดบวรนิเวศวิหาร และวัดราชประดิษฐ์ ๓๐ รูป ฉันในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เวลาค่ำ เสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการแล้ว พระสงฆ์สวดทำวัตรเย็น เสร็จแล้วสวดมนต์ต่อไป มีสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ด้วย สวดมนต์จบทรงจุดเทียนรายตามราวรอบพระอุโบสถ ๑,๒๕๐ เล่ม มีการประโคมอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงมีการเทศนาโอวาทปาติโมกข์ ๑ กัณฑ์ เป็นทั้งเทศนาภาษาบาลีและภาษาไทย เครื่องกัณฑ์ มีจีวรเนื้อดี ๑ ผืน เงิน ๓ ตำลึง และขนมต่าง ๆ เทศนาจบพระสงฆ์ ซึ่งสวดมนต์ ๓๐ รูป สวดรับ

การประกอบพระราชกุศลเกี่ยวกับวันมาฆบูชาในสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จออกประกอบพิธีด้วยพระองค์เองทุกปีมิได้ขาด สมัยต่อมามีการเว้นบ้างเช่น รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จออกเองบ้าง หรือบางครั้งก็มิได้เสด็จออกเอง เพราะมักเป็นช่วงเวลาที่พอดีกับการเสด็จประพาสหัวเมือง แต่หากวันดังกล่าวตรงกับช่วงที่เสด็จไปประพาสบางปะอิน หรือพระพุทธบาท พระพุทธฉาย พระปฐมเจดีย์ พระแท่นดงรัง ก็จะทรงประกอบพิธีมาฆบูชาในสถานที่นั้น ๆ ขึ้นอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากในพระบรมมหาราชวัง

เดิมทีมีการประกอบพิธีในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาได้ขยายออกไป ให้พุทธบริษัทได้ปฏิบัติตามอย่างเป็นระบบสืบมาจนปัจจุบันมีการบูชา ด้วยการเวียนเทียน และบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ ส่วนกำหนดวันประกอบพิธีมาฆบูชานั้น ปกติตรงกับวันเพ็ญเดือน ๓ หากปีใดเป็นอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหนจะเลื่อนไปตรงกับวันเพ็ญเดือน ๔

เมื่อวัน มาฆบูชาเวียนมาบรรจบในแต่ละรอบปี พุทธบริษัทจะร่วมกันประกอบศาสนพิธี ซึ่งการปฏิบัตินั้น จะดำเนินไปเช่นเดียวกันวันวิสาขบูชา แต่ในวันนี้พระสงฆ์จะแสดงพระธรรมเทศนาในเรื่องโอวาทปาฏิโมกข์

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo