วันอาสาฬหบูชานี้ถือเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา หรือเทศน์กัณฑ์แรก ที่มีชื่อว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” (คำว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” แปลว่า สูตรของการหมุนวงล้อแห่งพระธรรมให้เป็นไป) โดยเป็นการแสดงพระธรรมเทศาสนาครั้งแรก เพื่อโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้แก่ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ โดยทรงแสดงเทศนานี้ที่ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ในปีแรกที่ทรงตรัสรู้
“อาสาฬห” เป็นชื่อเรียกของเดือน ๘ ส่วนคำว่า “อาสาฬหบูชา” ย่อมาจาก “อาสาฬหปุรณมีบูชา” แปลว่า “การบูชาพระในวันเพ็ญ เดือน ๘” ดังนั้น วันอาสาฬหบูชาจึงตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ (หรือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘หลัง ในปีอธิกมาส)
วันอาสาฬหบูชานี้ถือเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา หรือเทศน์กัณฑ์แรก ที่มีชื่อว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” (คำว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” แปลว่า สูตรของการหมุนวงล้อแห่งพระธรรมให้เป็นไป) โดยเป็นการแสดงพระธรรมเทศาสนาครั้งแรก เพื่อโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้แก่ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ โดยทรงแสดงเทศนานี้ที่ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ในปีแรกที่ทรงตรัสรู้
ความเป็นมาของวันเพ็ญเดือน ๘ โดยย่อมีดังต่อไปนี้ นับแต่วันที่สมเด็จพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ ในวันเพ็ญเดือน ๖ ทรงคำนึงว่าธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นี้ ลึกซึ้งมาก ยากที่สัตว์อื่นจะรู้ตาม จึงท้อพระทัยที่สอนสัตว์ แต่ด้วยพระกรุณาคุณ ทรงเล็งเห็นว่าโลกนี้ผู้ที่พอจะรู้ตามได้ก็คงมีอยู่บ้าง เมื่อเล็งเห็นเหตุนี้ จึงตกลงพระทัยจะสอนธรรมให้แก่สัตว์ทั้งปวง
พระพุทธเจ้าทรงนึกถึงผู้ที่ควรโปรดก่อนคือ อาฬารดาบส กับอุทกดาบส ผู้เป็นอาจารย์ แต่ท่านเหล่านี้ก็สิ้นชีวิตไปแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ปัญจวัคคีย์ จีงทรงตัดสินพระทัยว่าควรโปรดปัญจวัคคีย์ก่อน จึงเสด็จออกเดินไปจากควงไม้ไทรที่ประทับอยู่ มุ่งพระพักตร์เสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี
การที่เสด็จจากตำบลพระศรีมหาโพธิ์ จนกระทั่งถึงกรุงพาราณสี แสดงให้เห็นพระวิริยอุตสาหะอันแรงกล้า และการตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะประทานปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์เป็นพวกแรกอย่างแท้จริง เพราะระยะทางระหว่างตำบลพระศรีมหาโพธิ์ถึงพาราณสีนั้นไกลมา ซึ่งการเสด็จดำเนินด้วยพระบาทเปล่าอาจใช้เวลาหลายวัน แต่ปรากฏว่าพอตอนเย็นวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน อาสาฬหะ นั้น พระพุทธองค์ก็เสด็จถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี อันเป็นที่อยู่ของปัจจวัคคีย์
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จถึงราวป่า พวกปัญจจวัคคีย์ก็มองเห็น แล้วนัดหมายกันว่าจะไม่ไหว้ไม่ลุกรับและไม่รับบาตรจีวร จะตั้งไว้ให้เพียงอาสนะเท่านั้น เพราะเข้าใจว่าพระองค์กลายเป็นคนมีความมักมาก และหมดความเพียรเสียแล้ว พอพระองค์เสด็จถึงปัญจจวัคคีย์เหล่านั้นต่างก็พูดกับพระองค์ โดยไม่มีความเคารพ พระองค์ตรัสห้ามและทรงบอกว่าพระองค์ตรัสรู้แล้ว จะแสดงธรรมสั่งสอนให้ฟัง ปัญจจวัคคีย์ก็พากันคัดค้าน ลำเลิกด้วยถ้อยคำต่าง ๆ ในที่สุดพระองค์จึงทรงเตือนให้รำลึกว่า พระองค์เคยกล่าวเช่นนี้มาในหนหลังบ้างหรือ? ปัญจจวัคคีย์ทั้ง๕ ระลึกได้ ต่างก็สงบตั้งใจฟังธรรมทันที
ค่ำวันนั้น พระองค์ประทับแรมอยู่กับปัญจจวัคคีย์ทั้ง ๕ วันรุ่งขี้น ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ พระองค์ทรงเริ่มแสดงธัมมะจักกัปปวัตตนสูตร นับเป็นเทศนากัณฑ์แรกโปรดปัญจวัคคีย์นั้น โดยใจความคือทรงยกที่สุด ๒ ฝ่าย ได้แก่ การประกอบตนให้ลำบากด้วยการทรมานกาย และการไม่ประกอบตนให้เพลิดเพลินในกามสุข ซึ่งทั้ง ๒ นี้นับว่าเป็นของเลวทรามไม่ควรเสพ เฉพาะทางสายกลางเท่านั้นที่เป็นข้อปฏิบัติอันสมควร แล้วทรงแสดงทางสายกลางคือ
อริยมรรค ๘ ประการ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ คือ เห็นชอบ
๒. สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ
๓. สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ
๔. สัมมากัมมัตนะ คือ ทำการงานชอบ
๕. สัมมอาชีวะ คือ เลี้ยงชีพชอบ
๖. สัมมาวายามะ คือ เพียรชอบ
๗. สัมมาสติ คือ ระลึกชอบ
๘. สัมมาสมาธิ คือ ตั้งใจชอบ
หลังจากนั้นจึงทรงสรุปด้วย อริยสัจ ๔ อันได้แก่
๑. ทุกข์ คือ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ
๒. สมุทัย คือ เหตุให้เกิดทุกข์
๓. นิโรธ คือ ความดับทุกข์
๔. มรรค คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นว่า เมื่อรู้ถึงสิ่งเหล่านี้แล้วย่อมได้ชื่อว่า ตรัสรู้โดยชอบถึงความหลุดพ้นและสุดชาติสุดภพเป็นแน่แท้ ขณะที่พระองค์ทรงแสดงธรรมนี้อยู่ท่านโกณฑัญญะได้ส่องญาณไปตามจนเกิด “ธรรมจักษุ” หรือดวงตาเห็นธรรม คือ ปัญญา รู้เห็นความจริงโดยเห็นแจ้งชัดว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งใดสิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา”เมื่อนั้น พระพุทธเจ้าทรงทราบจึงเปล่งพระอุทานว่า “อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ” แปลว่า “โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” เพราะพระองค์ทรงอุทานคำนี้ภายหลังท่านโกณฑัญญะจึงได้นามใหม่ว่า “อัญญาโกณฑัญญะ” จากนั้น โกณฑัญญะก็ทูลขออุปสมบท ซึ่งพระพุทธเจ้าประทานอนุญาต โดยทำการอุปสมบทให้แบบเอหิภิขุอุปสัมปทาน นับเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระศาสนาที่บวชตามพระพุทธองค์ จึงทำให้พระรัตนตรัยครบองค์ ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ จากนั้นอีกห้าวัน ทรงแสดง อนัตตลักขณสูตรแก่นักบวชทั้งห้ารูปทำให้ท่านเหล่านั้นได้บรรลุอรหัตผลเป็นพระอรหันต์ในเวลาต่อมา
กล่าวโดยสรุป วันอาสาฬหบูชาเป็นวันที่มีเหตุการณ์สำคัญ ๆ เกิดขึ้น ดังนี้
(๑) เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือทรงแสดงพระธรรมเป็นครั้งแรก ซึ่งพระธรรมที่ทรงแสดงในครั้งนั้นมีชื่อว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ซึ่งมีใจความสำคัญ คือ หลักธรรมเรื่องอริยสัจ ๔
(๒) เป็นวันที่มีพระอริยสงฆ์สาวกบังเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก เนื่องจากท่านโกณฑัญญะได้ฟังพระธรรมเทศนากัณฑ์นั้นแล้วเกิดดวงตาเห็นธรรม จึงกราบทูลขอบวช ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงอุปสมบทให้ ดังนั้น พระโกณฑัญญะจึงนับเป็นพระสงฆ์รูปแรกในพระพุทธศาสนา
(๓) เป็นวันแรกที่บังเกิดพระสังฆรัตนตรัย ทำให้พระรัตนตรัยครบองค์ ๓ อันได้แก่ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ
ธรรมเนียมปฏิบัติในวันอาสาฬหบูชา
ประเทศไทยได้เริ่มกำหนดให้พิธีวันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๑ โดยพระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษาได้เสนอคณะสังฆมนตรี ให้เพิ่มวันศาสนพิธีเพื่อทำพุทธบูชาขึ้นอีกวันหนึ่ง คือ “วันธรรมจักร” หรือ “วันอาสาฬหบูชา” เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตนสูตร
จากนั้นคณะสังฆมนตรีได้ลงมติรับหลักการให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาและให้ถือเป็นหลักปฏิบัติในเวลาต่อมา โดยออกเป็นประกาศคณะสงฆ์ เรื่อง กำหนดวันสำคัญทางศาสนา เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๐๑ และในวันเดียวกันนั้นได้มีประกาศสำนักสังฆนายก กำหนดระเบียบปฏิบัติ ในพิธีอาสาฬหบูชาขึ้นไว้ โดยให้วัดทุกวัดถือปฏิบัติทั่วกัน กล่าวคือ
๑) เมื่อถึงวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘ (หนังสัปดาห์ก่อนวันอาสาฬหบูชา) ให้เจ้าอาวาสแจ้งแก่ภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกาในวัด ให้ทราบล่วงหน้าว่าวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ที่จะมาถึงข้างหน้านี้ เป็นวันทำพิธีอาสาฬหบูชาถวายแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นเดียวกับพิธีวิสาขบูชา
๒) เมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ให้ภิกษุ สามเณร ตลอดจนศิษย์วัด คนวัด ช่วยกันปัดกวาด ปูลาดเสนาสนะ จัดตั้งเครื่องสักการะ เช่นเดียวกับทำงานวิสาขบูชา
๓) ให้ประดับธงธรรมจักรรอบพระอุโบสถเป็นพิเศษเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประกาศวันธรรมจักรให้ปรากฏแก่มหาชน และเป็นการเตืนให้ระลึกถึงสัจธรรมอันประเสริฐที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร
๔) วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เป็นวันจัดพิธีอาสาฬหบูชา จะกำหนดให้เวลาเช้าและบ่ายมีธรรมสวนะตามปกติ เวลาค่ำให้ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา มาประชุมพร้อมกันที่หน้าพระอุโบสถ หรือพระเจดีย์ จากนั้นจึงจุดธูปเทียนแล้วถือรวมกับดอกไม้ ยืนประนมมือสำรวมจิต โดยพระสงฆ์ผู้เป็นประธานจะนำกล่าวคำบูชา จบแล้วทำประทักษิณ (เวียนเทียน)
๕) เมื่อเวียนเทียนครบ ๓ รอบแล้ว แล้วให้ภิกษุสามเณรเข้าไปในพระอุโบสถ เพื่อบูชาพระรัตนตรัย ทำวัตรค่ำ แล้วสวดธรรมจักรกัปปวัตนสูตร จบแล้วให้อุบาสก อุบาสิกาทำวัตรค่ำ
๖) ต่อจากนั้น ให้พระสังฆเถระแสดงพระธรรมเทศนาธรรมจักรกัปปวัตนสูตร แล้วให้พระภิกษุสามเณรสวดธรรมจักรกัปปวัตนสูตรทำนองสรภัญญะ เพื่อเจริญศรัทธาปสาทะของพุทธศาสนิกชน
๗) เมื่อสวดจบแล้วให้เป็นโอกาสของพุทธศาสนิกชนเจริญภาวนามัย สวดมนต์ สนทนาธรรม บำเพ็ญสมถะและวิปัสสนา เป็นต้น ตามสมควรแก่อัธยาศัย
อนึ่ง เวลาที่ใช้ในการประกอบพิธีอาสาฬหบูชาไม่ควรเกินเวลา ๒๔.๐๐ น. เพื่อให้พระภิกษุ และสามเณรได้มีเวลาพักผ่อน เนื่องจากในวันรุ่งขึ้น คือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ หรือวันเข้าปุริมพรรษา และเป็นวันประชุมอธิษฐานพรรษาของพระสงฆ์อีกด้วย