การเข้าพรรษา คือ การที่พระภิกษุตั้งใจว่าจะอยู่ประจำ ณ วัดใดวันหนึ่ง ตลอดเวลา ๓ เดือนในฤดูฝน โดยไม่ไปค้างคืนที่แห่งอื่นในระหว่างนั้น ซึ่งพิธีเข้าพรรษานี้ถือเป็นศาสนพิธีสำหรับพระภิกษุโดยตรง โดยมีพระวินัยบัญญัติไว้ให้พระภิกษุปฏิบัติทุกรูป และละเว้นไม่ได้ ไม่ว่าในกรณีใด ๆ
การเข้าพรรษา คือ การที่พระภิกษุตั้งใจว่าจะอยู่ประจำ ณ วัดใดวันหนึ่ง ตลอดเวลา ๓ เดือนในฤดูฝน โดยไม่ไปค้างคืนที่แห่งอื่นในระหว่างนั้น ซึ่งพิธีเข้าพรรษานี้ถือเป็นศาสนพิธีสำหรับพระภิกษุโดยตรง โดยมีพระวินัยบัญญัติไว้ให้พระภิกษุปฏิบัติทุกรูป และละเว้นไม่ได้ ไม่ว่าในกรณีใด ๆ
พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้พระภิกษุจำพรรษาในฤดูฝนตลอดระยะเวลา ๓ เดือน โดยวันเข้าพรรษานี้มี ๒ ช่วง คือ
๑) ปุริมิกา หรือวันเข้าพรรษาต้น ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ หรือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘หลัง ในปีอธิกมาส (วันถัดจากวันอาสาฬหบูชา) และ ออกพรรษาในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑
๒) ปัจฉิมิกา หรือวันเข้าพรรษาหลัง ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ ซึ่งบัญญัติไว้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นไม่สามารถเข้าพรรษาต้น ก็ให้เลื่อนไป เข้าพรรษา ในแรม ๑ ค่ำเดือน ๙ ก็ได้ และไปออกพรรษาในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
ในพระไตรปิฎก ได้กล่าวถึงการบัญญัติพระวินัยเรื่องการเข้าพรรษาไว้ กล่าวคือ สมัยเมื่อผ่านปฐมโพธิกาลไปแล้ว มีคนเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุมากขึ้น ซึ่งเวลานั้นพระพุทธเจ้ายังมิได้ทรงบัญญัติให้พระภิกษุจำพรรษา ดังนั้น พระภิกษุจึงเที่ยวจาริกตลอดฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน ทำให้คนทั้งหลายติเตียนที่พระภิกษุได้เที่ยวจาริกไปตลอดฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน อีกทั้งเหยียบย่ำต้นหญ้า พืชผล และเบียดเบียนสัตว์เล็ก ๆ จำนวนมากจนตาย นอกจากนี้ คนทั้งหลายได้บอกให้ดูอย่างพวกนอกศาสนาที่ยังหยุดพักในช่วงฤดูฝน เมื่อพระภิกษุได้ยินคนพวกนั้นติเตียน จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้จำพรรษา”
นอกจากนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไม่ให้พระภิกษุจาริกไปพักแรมที่ใดระหว่างช่วงเข้าพรรษา หากพระภิกษุรูปใดฝ่าฝืนถือว่าอาบัติ แต่อย่างไรก็ตามพระพุทธเจ้าได้ทรงอนุโลมให้เดินทางได้ในระหว่างพรรษา เรียกว่า “สัตตาหกรณียะ” (คือ มีกิจจำเป็นซึ่งพระวินัยได้อนุญาตให้ไปค้างแรมที่อื่นได้) แต่ต้องกลับมาภายใน ๗ วัน ซึ่งกรณีที่พระพุทธเจ้าทรงอนุโลมได้แก่
๑) เมื่อทายก ทายิกา ปราถนาจะบำเพ็ญกุศลแล้วมานิมนต์ ก็ให้ไปเพื่อรักษาศรัทธาได้
๒) ถ้าสงฆ์ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งเกิดอธิกรณ์ขึ้น ก็ให้ไปเพื่อระงับอธิกรณ์ได้
๓) ถ้าบิดา มารดา ญาติ พี่น้อง พระอุปัชฌาย์เป็นไข้ เมื่อทราบก็ให้ไปได้
๔) พระวิหารในที่แห่งอื่นเกิดชำรุดเสียหาย ให้ไปหาสิ่งของเพื่อมาปฏิสังขรพระวิหารนั้นได้
๕) เมื่อถูกสัตว์ร้ายรบกวน ถูกโจรปล้น พระวิหารถูกไฟไหม้ หรือถูกน้ำท่วม ก็ให้ไปจากที่นั้นได้
๖) เมื่อชาวบ้านถูกโจรปล้น อพยพหนีไป ก็ให้ไปกับพวกชาวบ้านได้ โดยให้ไปกับชาวบ้านที่มีความเลื่อมใสศรัทธาสามารถที่จะให้ความอุปถัมภ์ได้
๗) เมื่อที่ใดเกิดความขาดแคลน อาหารหรือยารักษาโรค ขาดผู้อุปถัมภ์บำรุง ได้รับความลำบากก็อนุญาตให้ไปจากที่นั้นได้
๘) ถ้าหากมีผู้เอาทรัพย์มาล่อ ก็อนุญาตให้ไปจากที่นั้นได้
๙) หากภิกษุสงฆ์หรือภิกษุณีสงฆ์แตกกัน หรือมีผู้พยายามจะให้แตกกัน ถ้าการไปจากที่นั้นสามารถระงับการแตกกันได้ ก็อนุญาตให้ไปได้
ธรรมเนียมปฏิบัติในวันเข้าพรรษา
พุทธศาสนิกชนชาวไทยได้เริ่มบำเพ็ญกุศลเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษานี้ ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ดังข้อความในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ว่า “พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ชาวเจ้า ทั้งท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขันทั้งสิ้นทั้งหลายทั้งหญิงทั้งชายฝูงท่วยมีศรัทธาในพุทธศาสน์ มักทรงศีล เมื่อพรรษาทุกคน”
นอกจากการรักษาศีลแล้ว พุทธศาสนิกชนไทยในสมัยสุโขทัยยังได้บำเพ็ญกุศลอื่น ๆ ดังรายละเอียดปรากฎอยู่ในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์นาง สรุปใจความได้ว่า “เมื่อถึงเดือน ๘ ก็มีพระราชพิธีอาษาฒมาส พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปจะได้เข้าจำพรรษาในพระอารามต่าง ๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้จัดแจงเสนาสนะถวาย พร้อมทั้งบริขารอันควรแก่สมณะบริโภค เช่น เตียง ตั่ง เสื่อสาด ผ้าจำนำพรรษา อาหารหวานคาว ยารักษาโรค และธูปเทียนจำนำพรรษา เพื่อบูชาพระรัตนตรัย ในพระอารามหลวงทั่วราชอาณาจักร แม้ชาวเมืองสุโขทัย ก็บำเพ็ญกุศลเช่นนี้ในวัดประจำตระกูลของตน”
๏ ธรรมเนียมสงฆ์
ธรรมเนียมปฏิบัติในวันเข้าพรรษาส่วนใหญ่จะเป็นพิธีทางสงฆ์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งธรรมเนียมปฏิบัติของพระภิกษุนั้นจะเริ่มตั้งแต่ก่อนจะถึงวันเข้าพรรษา โดยพระภิกษุจะทำการซ่อมแซมเสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรมให้อยู่ในสภาพที่ดี เหมาะแก่การใช้เป็นที่ใช้อยู่อาศัย ตลอดจนปัดกวาด เช็ดถูให้สะอาด สำหรับสาเหตุที่ต้องดูแลเสนาสนะให้มั่นคงและสะอาด ก็เพื่อจะได้ใช้บำเพ็ญสมณกิจในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาได้เต็มที่ ไม่ต้องกลัวฝนจะรั่วรดอุโบสถ์ในขณะที่ไหว้พระสวดมนต์
เมื่อวันเข้าพรรษาเวียนมาบรรจบ พระภิกษุสามเณรทั้งหมดภายในวัดจะเตรียมดอกไม้ ธูป เทียนใส่พาน หรือภาชนะที่สมควร เพื่อใช้สักการะปูชนียวัตถุต่าง ๆ ในวัด และใช้ทำสามีจิกรรม (การทำความเคารพกันตามธรรมเนียมของพระเณรในระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อย) กันตามธรรมเนียม โดยจะเตรียมให้พร้อมก่อนกำหนดเวลา และการประกอบพิธีดังกล่าวต้องประชุมพร้อมกันในอุโบสถ ควรกำหนดในตอนเย็นก่อนค่ำ เพื่อความสะดวกแก่สถานที่
ในช่วงเข้าพรรษาเมื่อถึงเวลาที่พระภิกษุ และสามเณรต้องลงอุโบสถ โดยจัดให้นั่งตามลำดังอาวุโสแก่อ่อน ไม่ใช่นั่งตามศักดิ์ และเรียกแถวจากขวามือไปซ้ายมือ หันหน้าเข้าหาพระพุทธรูปที่เป็นองค์ประธาน ซึ่งการลงอุโบสถนั้น มีสิ่งที่พระภิกษุและสามเณรจะพึงปฏิบัติ คือ
ก) ทำวัตรเย็น
ข) การแสดงพระธรรมเทศนา เรื่องสัสสูปนายิกากถา หรืออ่านประกาศเรื่องวัสสูปนายิกา โดยแสดงเป็นเทศนาตามหนังสือเทศน์ที่มี หรืออ่านเป็นประกาศเพื่อให้พระภิกษุ สามเณรที่ประชุมกันนั้น ได้ทราบเรื่องวัสสูปนายิกาเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ให้ถือตามธรรมเนียมนิยมของวัดนั้น ๆ ถ้าจะใช้แบบอ่านประกาศ คำประกาศนั้นควรมีสาระสำคัญดังนี้
๑) บอกให้รู้เรื่องเข้าพรรษา
๒) แสดงเรื่องที่มาในบาลีวัสสูปนายิกขันธกะวินัย โดยใจความ
๓) บอกเขตของวัดนั้นๆ ที่จะต้องรักษาพรรษาหรือเรียกกันว่ารักษาอรุณ
๔) บอกเรื่องการถือเสนาสนะ และประกาศให้รู้ว่าจะให้ถืออย่างไร หรือเมื่อถือเสนาสนะแล้วจะต้องปฏิบัติอย่างไร
๕) หากมีกติกาอื่นใดในเรื่องจำพรรษาร่วมกันนี้ ก็ให้บอกได้ในประกาศนี้ ซึ่งการอ่านนี้ประกาศนี้ จะอ่านบนธรรมมาส์นเทศน์ หรือบนเตียงสวดปาติโมกข์ หรือนั่งประกาศข้างหน้าสงฆ์ก็ได้
ค) ทำสามีกิจกรรม คือ ขอขมาโทษต่อกัน
ง) เจริญพระพุทธมนต์
จ) สักการะบูชาปูชนียวัตถุสถานภายในวัด
นอกจากนี้ ยังมีธรรมเนียม “การอธิษฐานพรรษา” ที่ปฏิบัติสืบกันมา โดยที่พระภิกษุผู้จะเข้าพรรษาจะต้องจั้งจิตอธิฐานว่าจะขออยู่ในสถานที่ใดสถานที่หนึ่งสถานที่เดียวจนครบกำหนด ๓ เดือน
สำหรับวิธีปฏิบัติคือ เมื่อเสร็จพิธีที่ควรปฏิบัติในเบื้องต้นดังกล่าวแล้ว ให้ภิกษุสามเณรทั้งหมดคุกเข่าขึ้นพร้อมกันหันหน้าไปทางพระพุทธรูปองค์ประธาน แล้วกราบพระ ๓ ครั้ง จากนั้นพระเถระผู้เป็นประธาน หรือเจ้าอาวาสนำประณมมือว่า “นโม” พร้อมกัน ๓ จบ ต่อนั้นนำเปล่งคำอธิษฐานพรรษาเป็นภาษาบาลีว่า “อิมัสะมิง อาวาเส อิมัง เตมาสัง วัสสัง อุเปมิ ” แปลว่า “ข้าพเจ้าขออยู่จำพรรษาในวัดนี้ ตลอด ๓ เดือน” โดยกล่าวพร้อมกัน ๓ จบ เสร็จแล้วจึงกราบพระอีกครั้ง ๓ ครั้ง แล้วจึงนั่งราบพับเพียบตามเดิม
๏ ธรรมเนียมราษฎร์
พิธีการปฏิบัติในวันเข้าพรรษาของพุทธศาสนิกชนนั้น สามารถกระทำได้ตั้งแต่ก่อนวันเข้าพรรษา โดยการไปช่วยเหลือพระภิกษุสงฆ์ทำความสะอาดเสนาสนะ กุฏิวิหาร หากมีสิ่งใดชำรุดก็จะช่วยกันซ่อมแซม เพื่อให้พระภิกษุได้บำเพ็ญศาสนกิจได้อย่างเต็มที่ในช่วงเข้าพรรษา และเมื่อถึงวันเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนจะนิยมทำบุญตักบาตรกัน ๓ วัน คือวันขึ้น ๑๔-๑๕ ค่ำ และวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ และขนมที่นิยมทำกันในวันเข้าพรรษาได้แก่ ขนมเทียน
ก่อนวันเข้าพรรษามักมีธรรมเนียมสำหรับอุบาสก อุบาสิกา โดยจะนำเครื่องสักการะมาถวายภิกษุสามเณรที่ตนเคารพนับถือ เครื่องสักการะนั้นนิยม มีดอกไม้ ธูป เทียน ผ้าอาบน้ำฝน และเครื่องสุขภัณฑ์ เช่น สบู่ แปลงสีฟัน ยาสีฟัน กระดาษชำระ เป็นต้น จัดเป็นสักการะถวายเฉพาะรูป นอกจากนี้ พุทธศาสนิกชนบางส่วนยังปวารณาต่อพระสงฆ์ เพื่อรับเป็นโยมอุปัฏฐาก จัดหาเครื่องสักการะ หรือจัดหาสิ่งที่ขาดเหลือมาถวายให้แก่พระภิกษุ หรือสามเณร ที่ตนเองนับถือ หรือบางรายก็รับอาสาจัดหาให้กับพระทั้งวัด ในช่วงระยะเวลา ๓ เดือน
นอกจากนี้ ยังมีสิ่งสักการะบูชาที่พุทธศาสนิกชนนิยมกระทำกัน ซึ่งเป็นวิถีปฏิบัติและเป็นงานบุญที่สนุกสนานอีกด้วย นั่นคือ “การแห่เทียนเข้าพรรษา” มีผู้สันนิษฐานว่าประเพณีนี้คงเกิดขึ้นจากความจำเป็นที่ว่า สมัยก่อน ยังไม่มีไฟฟ้าใช้กันดังปัจจุบัน และเมื่อพระสงฆ์จำพรรษารวมกันมาก ๆ ก็จำต้องปฏิบัติกิจวัตร เช่น การทำวัตรสวดมนต์เช้ามืดและตอนพลบค่ำ การศึกษาพระปริยัติธรรม ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ล้วนต้องการแสงสว่าง โดยเฉพาะ แสงสว่างจากเทียนที่พระสงฆ์จุดบูชาพระรัตนตรัย และเพื่อต้องการใช้ แสงสว่างโดยตรง ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนิกชนจึงนิยมหล่อเทียนต้นใหญ่ กะว่าจะจุดได้ตลอดเวลา ๓ เดือน ไปถวายพระภิกษุในวัดใกล้ ๆ บ้านเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ซึ่งเทียนดังกล่าวเรียกว่า “เทียนจำนำพรรษา”
ประเพณีการหล่อเทียนพรรษา มักจัดเป็นงาน ใหญ่โตก่อนวันเข้าพรรษาประมาณ ๗ จากนั้นจึงมี “การแห่เทียนจำนำพรรษา” หรือ “เทียนเข้าพรรษา” โดยจัดเป็นงานเอิกเกริก มีฆ้องกลองประโคมอย่างสนุกสนาน และเทียนนั้นมีการหล่อหรือแกะเป็นลวดลายและประดับตกแต่งกันอย่างงดงาม บางแห่งจะมีการบอกบุญเพื่อร่วมหล่อเทียนแท่งใหญ่ แล้วจัดขบวนแห่ไปตั้งในวัด หรืออุโบสถ เพื่อให้พระภิกษุ สามเณรที่จำพรรษาใช้จุดบูชาพระรัตนตรัยตลอด ๓ เดือน
หลักฐานเกี่ยวกับประเพณีแห่เทียนพรรษาของประเทศไทยที่สามารถอ้างอิงถึงธรรมเนียมปฏิบัติ และงานรื่นเริงต่าง ๆ ดังกล่าว คือ หนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ได้กล่าวไว้ ใจความว่า “เมื่อถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ทั้งทหารบกและทหารเรือก็จัดขบวนแห่เทียนจำนำพรรษา ทั้งใส่คานหาบไปและลงเรือ ประดิษฐานอยู่ในบุษบกทองคำ ประดับธงทิว ตีกลอง เป่าแตรสังข์ แห่ไป ครั้นถึงพระอารามแล้วก็ยกต้นเทียนนั้นเข้าไปถวายในพระอุโบสถ หอพระธรรมและพระวิหาร จุดตามให้สว่างไสวในที่นั้นๆ ตลอด ๓ เดือน ดังนี้ทุกพระอาราม”
เทศกาลเข้าพรรษานี้ ถือกันว่าเป็นเทศกาลพิเศษสำหรับพุทธศาสนิกชนทุกคน ดังนั้น พุทธศาสนิกชนจึงควรตั้งมั่นในการบุญกุศลมากกว่าธรรมดา บางคนตั้งใจรักษาอุโบสถตลอด ๓ เดือน บางคนตั้งใจฟังเทศน์ทุกวันพระตลอดพรรษา นอกจากนี้ ยังมีผู้ตั้งใจทำความดีต่าง ๆ อาทิ งดเว้นการกระทำบาปกรรมในเทศกาลเข้าพรรษา บางคนคนอาศัยสาเหตุแห่งเทศกาลเข้าพรรษาตั้งสัตย์ปฏิญาณเลิกละอบายมุขและความชั่วต่าง ๆ ตลอดไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการทำความดีในฐานะพุทธศาสนิกชน