วันออกพรรษามีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันปวารณา หรือ วันมหาปวารณา” โดยในวันนี้พระภิกษุสงฆ์จะทำพิธีปวารณา หรือ “ปวารณากรรม” ซึ่งพระภิกษุทั้งหลายทั้งพระผู้ใหญ่และพระผู้น้อย ต่างเปิดโอกาสอนุญาตแก่กัน และกัน ให้ว่ากล่าวตักเตือนได้ เนื่องจากในระหว่างจำพรรษานั้นพระภิกษุบางรูปอาจมีข้อบกพร่องที่จำเป็นต้องแก้ไข ซึ่งการเปิดโอกาสให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนได้ เป็นวิธีที่จะทำให้รู้ถึงข้อบกพร่องของตนเอง เพื่อนำข้อบกพร่องดังกล่าว ไปปรับปรุงในทางที่ดีขึ้น และที่สำคัญคือ การว่ากล่าวตักเตือนจะเป็นการกระทำที่เปิดเผย และไม่ถือเป็นเรื่องที่จะมาโกรธเคืองกันภายหลังได้
วันออกพรรษา คือ วันสุดท้ายในการจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์ หรือวันที่สิ้นสุดระยะการจำพรรษาของพระภิกษุตามวินัยบัญญัติ โดยพระวินัย บัญญัติให้พระภิกษุต้องอยู่ประจำที่ หรืออยู่ในวัดแห่งเดียวตลอดระยะเวลา ๓ เดือน ในช่วงฤดูฝน ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (หรือขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ในกรณีเข้าพรรษาหลัง) ของทุกปี
วันออกพรรษามีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันปวารณา หรือ วันมหาปวารณา” โดยในวันนี้พระภิกษุสงฆ์จะทำพิธีปวารณา หรือ “ปวารณากรรม” ซึ่งพระภิกษุทั้งหลายทั้งพระผู้ใหญ่และพระผู้น้อย ต่างเปิดโอกาสอนุญาตแก่กัน และกัน ให้ว่ากล่าวตักเตือนได้ เนื่องจากในระหว่างจำพรรษานั้นพระภิกษุบางรูปอาจมีข้อบกพร่องที่จำเป็นต้องแก้ไข ซึ่งการเปิดโอกาสให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนได้ เป็นวิธีที่จะทำให้รู้ถึงข้อบกพร่องของตนเอง เพื่อนำข้อบกพร่องดังกล่าว ไปปรับปรุงในทางที่ดีขึ้น และที่สำคัญคือ การว่ากล่าวตักเตือนจะเป็นการกระทำที่เปิดเผย และไม่ถือเป็นเรื่องที่จะมาโกรธเคืองกันภายหลังได้
การทำปวารณานี้มีปรากฏเป็นหลักฐานในพระไตรปิฎก กล่าวคือ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถีมีพระภิกษุกลุ่มหนึ่งแยกย้ายกันจำพรรษาอยู่ตามอารามรอบ ๆ นคร พระภิกษุเหล่านั้น เกรงจะเกิดการขัดแย้งทะเลาะวิวาทกันจนอยู่ไม่เป็นสุขตลอดพรรษา จึงได้ตั้งกติกาว่าจะไม่พูดจากัน (มูควัตร) จนกระทั่งถึงวันออกพรรษา พระภิกษุ เหล่านั้นก็พากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระเชตวันมหาวิหาร กราบทูลเรื่องทั้งหมด ให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้าจึงทรงตำหนิว่าอยู่กันเหมือนฝูงปศุสัตว์ แล้วทรงมี พระบรมพุทธานุญาตให้พระภิกษุกระทำการปวารณาต่อกันว่า พระองค์ ทรงตรัสว่า “ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาแล้ว ปวารณากัน ในสามลักษณะ คือด้วยการเห็นก็ดี ด้วยการได้ยินก็ดี ด้วยการสงสัยก็ดี ”
การทำปวารณากรรมนี้ จะกระทำในวันสุดท้ายที่ครบ ๓ เดือนนับแต่วันเข้าพรรษา ในวันนี้ พระสงฆ์ไม่ต้อง ทำอุปโบสถกรรม (สวดพระปาติโมกข์) อย่างวันเพ็ญหรือวันสิ้นเดือนอื่น ๆ แต่มีพระวินัยบัญญัติให้ทำปวารณากรรมแทนสวดพระปาติโมกข์ นอกจากนี้ ปีหนึ่ง ๆ ในวัดหนึ่งจะมีปวารณากรรมได้เพียงครั้งเดียว ฉะนั้นปวารณากรรมจึงนับเป็นสังฆกรรมพิเศษ เป็นหน้าที่บังคับให้ภิกษุทุกรูปต้องทำ
เมื่อพระภิกษุทำปวารณากรรมแล้ว ถือว่าพ้นข้อผูกพันที่ต้องอยู่ประจำ สามารถไปไหนมาไหนได้ทั่วไป ฉะนั้นจึงนิยมเรียกปวารณากรรมนี้อย่างเข้าใจง่าย ๆ ว่า “ออกพรรษา”
ปวารณากรรม หรือการออกพรรษา มี คำกล่าวปวารณาเป็นภาษาลี ความว่า “สังฆัมภันเต ปะวาเรมิ ทิฎเฐนะ วา สุเตนะ วาปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัส์มันโต อะนุกัทปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปฎิกะริสสามิ” แปลว่า “ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นหรือได้ฟังก็ตาม ขอท่านทั้งหลายโปรดอนุเคราะห์ ว่ากล่าวตักเตือนกระผมด้วย เมื่อกระผม มองเห็นแล้ว จักประพฤติตัวเสียเลยใหม่ให้ดี”
การกล่าวปวารณา เท่ากับเป็นการช่วยระมัดระวังข้อประพฤติปฏิบัติ ที่ไม่ดีของพระรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นการป้องกันปัญหาจากจุดเล็ก ๆ น้อยๆ ก่อนจะลุกลาม ก่อความเสื่อมเสียไปถึงพระหมู่มาก และลุกลามไปถึงพระพุทธศาสนาอันเป็น จุดศูนย์กลางได้ ซึ่งเป็นกุศโลบายในการโดยใช้วิธีป้องกันไว้ก่อน ดีกว่าการแก้ไข ในภายหลัง ดังจะเห็นได้ว่า วันออกพรรษาหรือวันมหาปวารณาที่พระภิกษุ ทั้งหลายกระทำเช่นนี้ เป็นเครื่องชี้ให้เห็นวิธีการคอยสังวร คือ ตามระวัง ไม่ประมาท ไม่ยอมให้ความเลวร้ายเกิดขึ้นได้ เหมือนล้อมรั้วไว้ก่อนที่วัวจะหาย
ธรรมเนียมปฏิบัติในวันออกพรรษา
แม้ศาสนพิธีที่ปฏิบัติกันในวันออกพรรษาจะเป็นพิธีของสงฆ์ เสียส่วนใหญ่ แต่ในส่วนของฆราวาสนั้นก็สามารถนำเอาพิธีปวารณาดังกล่าวมาปรับใช้ได้ กล่าวคือ การรู้จักเปิดโอกาสให้ผู้อื่นพูดถึงข้อบกพร่องของตนเอง รวมถึงยอมรับในสิ่งที่ผู้อื่นแนะนำ และนำมาปรับปรุงพฤติกรรมของตนเอง ให้ดีขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ย่อมจะมีผลดีต่อกลุ่มคนในสังคมที่อยู่รวมกัน ไม่ว่าครอบครัว และสังคมต่าง ๆ
สำหรับธรรมเนียมปฏิบัติของฆราวาสที่เกี่ยวเนื่องกันในวันออกพรรษานี้ก็ได้แก่การบำเพ็ญบุญกุศลต่าง ๆ เช่น การทำบุญตักบาตร รักษาศีล ฟังธรรม ณ วัดที่อยู่ใกล้เคียง
การทำบุญซึ่งเป็นประเพณีนิยมที่กระทำกันมานานแล้วในวันออกพรรษา คือ “ตักบาตรเทโว” หรือเรียกชื่อเต็มคำว่า “ตักบาตรเทโวโรหนะ” แปลว่า การหยั่งลงจากเทวโลก หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ตักบาตรดาวดึงส์” ซึ่งการตักบาตรเทโวนี้ จะกระทำในวันขึ้น ๑๕ เดือน ๑๑ หรือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ก็ได้ สุดแท้แต่จะเห็นพร้อมกัน แต่โดยส่วนใหญ่มักจะจัดงานกัน ในวันรุ่งขึ้น หรือหลังวันออกพรรษาหนึ่งวัน (วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑)
คนในสมัยโบราณเชื่อว่าการทำบุญตักบาตรเทโวในวันออกพรรษานี้ ถือว่าเป็นวันคล้ายกับ วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก หรือวันเทโวโรหนะ คือ วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก หลังจากเสด็จขึ้นไปจำพรรษาอยู่ใน สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และตรัสพระอภิธรรมเทศนา (พระธรรมขั้นสูง) โปรดพระพุทธ มารดาในเทวโลกนั้นตลอด ๓ เดือน เมื่อครบกำหนดออกพรรษาแล้ว จึงเสด็จกลับ มายังมนุษยโลก โดยมีขบวนเทพดา อันมี ท้าวสักกเทวราชเป็นประธาน ตามส่งเสด็จ ทางบันไดสวรรค์ลงที่ประตูเมืองสังกัสสนคร ที่ตั้งอยู่เหนือกรุงสาวัตถี และสถานที่นั้นประชาชนถือว่าเป็นศุภนิมิตรสร้างพระเจดีย์ขึ้นเป็น “พุทธบูชานุสาวรีย์” เรียกว่า “อจลเจดีย์”
วันที่เสด็จลงจากเทวโลกนั้นเรียกกันว่า “วันเทโวโรหณะ” ตรงกับวัน มหาปวารณาเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งวันนี้ถือกันว่าเป็นวันบุญวันกุศล ที่สำคัญวันหนึ่งของพุทธบริษัท โบราณเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ วันพระเจ้าเปิดโลก ” รุ่งขึ้นจากวันนั้นจะเป็นวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ จึงมีการทำบุญตักบาตร เทโวโรหณะกันเป็นการใหญ่ เพื่อเฉลิมฉลองการเสด็จลงจากเทวโลกของพระพุทธเจ้า
อนึ่ง เหตุที่เรียกว่า “วันพระเจ้าเปิดโลก” เนื่องจากในการเสด็จลงจากเทวโลกคราวนั้น มนุษย์และเทวดา กับบรรดาสัตว์นรกทั่วไปต่างมองเห็นกายของกันและกันปรากฏชัด วันนั้นการลงทัณฑ์ในนรกระงับชั่วคราวจึงเป็นวันสงบเยือกเย็นของโลกทั้ง ๓ ฉะนั้นจึงเรียกว่า “วันพระเจ้าเปิดโลก” และในการเสด็จลงจากเทวโลกในวันนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมโปรดเทวดาและมนุษย์ โดยตลอดเวลานั้นทรงตรัสถามปัญหาในตามความสามารถของแต่ละบุคคล ทำให้สัตว์ทั้งหลายได้รับมรรคผลนิพพาน
เช้าวันรุ่งขึ้น พุทธบริษัทจึงพร้อมใจกันใส่บาตรแด่พระพุทธองค์ พร้อมทั้งพระสงฆ์ทั้งหมดที่อยู่ใน ณ นั้น ซึ่งพุทธบริษัทที่มาร่วมในพิธีดังกล่าว ก็ไม่ได้นัดหมายกันก่อนล่วงหน้า แต่ปรากฏว่าการใส่บาตรวันนั้นแออัดมาก ผู้คนเข้าไม่ถึงพระที่มารับบิณฑบาต ประชาชนจึงนำเอาข้าวสาลีของตนห่อ หรือทำเป็นปั้น ๆ แล้วโยนเข้าไปถวายพระ ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งที่นิยมทำข้าวต้มลูกโยน ตลอดจนเป็นส่วนสำคัญของการตักบาตรเทโวโรหณะ และเป็นประเพณีสืบต่อมา เพื่อรักษาจารีตที่ปรากฏขึ้นในวันนั้น พุทธบริษัทในภายหลังจึงนิยมสืบ ๆ กันมา จนเป็นประเพณีว่าถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี ควรทำบุญตักบาตร ให้เหมือนครั้งดั้งเดิม ซึ่งเรียกกันว่า “ตักบาตรเทโวโรหณะ” จนทุกวันนี้
สำหรับพิธีตักบาตรเทโวโรหณะที่นิยมกันทั่วไปในปัจจุบันนี้ นิยมจัดทำ ขึ้นในวัด และถือเป็นหน้าที่ของทางวัดนั้น ๆ และทายก ทายิการ่วมกันจัด โดยมีวิธีการปฏิบัติดังต่อไปนี้
๑. ก่อนถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นกำหนดวันทำบุญตักบาตรทางวัดจะจัดให้มีงานทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ โดยสิ่งที่ต้องเตรียม คือ
ก) รถทรงพระพุทธรูป หรือคานหามพระพุทธรูป เพื่อชักหรือหามนำหน้า พระสงฆ์ในการรับบาตร มีที่ตั้งพระพุทธรูปทรงกลางประทับรถ หรือคานหาม ด้วยราชวัติ ฉัตร ธงโดยรอบพอสมควร มีที่ตั้งบาตรสำหรับรับบิณฑบาต ตรงหน้าพระพุทธรูป ส่วนตัวรถ หรือคานหามก็ประดับประดาให้งดงาม ได้ตามกำลัง และศรัทธา สามารถใช้อุบาสกเป็นผู้เชิญพระพุทธรูปก็ได้ และมีผู้ถือบาตรตามสำหรับบิณฑบาต
ข) พระพุทธรูปยืน ๑ องค์ จะเป็นขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ได้ ถ้าได้พระปางอุ้มบาตร ถือว่าเหมาะกับเหตุการณ์ที่สุด แต่ถ้าไม่มีพระปางอุ้มบาตร สามารถใช้ พระปางห้ามญาติ ปางห้ามสมุทร ปางรำพึง ปางถวายเนตร หรือปางลีลา ปางใดปางหนึ่งก็ได้ เพียงแต่ขอแต่ให้เป็นพระพุทธรูปยืนเท่านั้น ทั้งนี้ ไว้สำหรับเชิญขึ้นประดิษฐานบนรถทรง หรือคานหาม แล้วชักหรือหามนำขบวนรับบาตรเทโวโรหณะ โดยพระพุทธรูปนี้เป็นองค์แทนสมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ค) เตรียมสถานที่ให้ทายก ทายิกาตั้งเครื่องใส่บาตร โดยจะจัดลานวัด หรือบริเวณรอบ ๆ โรงอุโบสถ เป็นที่กลางแจ้งแห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ จัดให้ตั้ง เป็นแถวเป็นแนวเรียงรายติดต่อกันไปเป็นลำดับ ๆ ถ้าทายก ทายิกาไม่มากนัก ก็จัดแถวเดียวให้นั่งใส่อยู่ด้านเดียวกันทั้งหมด แต่ถ้ามากก็ให้จัดเป็น ๒ แถว โดยนั่งหันหน้าเข้าหากัน เว้นช่องกลางระหว่างแถวทั้ง ๒ ไว้สำหรับ พระเดินรับบิณฑบาตพอสมควรก็ได้
ฆ) แจ้งกำหนดการต่าง ๆ ให้ทายก ทายิกาทราบล่วงหน้าก่อนว่าจะกำหนด ให้ทำบุญตักบาตรพร้อมกันเวลาใด ซึ่งวัดบางแห่งจัดให้มีพระธรรมเทศนา อนุโมทนาทาน หลังจากพระรับบาตรและฉันเสร็จแล้ว ๑ กัณฑ์ด้วย และ วัดบางแห่งทายก ทายิกามีศรัทธาแรงกล้าก็จะขอให้ทางวัดจัดให้มีเทศน์ปุจฉาวิสัชนาในตอนบ่ายอีก ๑ กัณฑ์ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญคือ ต่อ จากทำบุญตักบาตรนี้แล้วจะมีพิธีอะไรต่อไป ก็ต้องแจ้งกำหนดให้ทราบทั่วกัน ก่อนวันงาน
๒. สำหรับทายกทายิกาผู้ศรัทธาจะทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ เมื่อทราบกำหนดจากทางวัดแล้ว จะต้องตระเตรียมและดำเนินการดังนี้ ก) เตรียมภัตตาหารสำหรับใส่บาตรตามศรัทธา ของใส่บาตรนอกจาก ข้าว เครื่องคาวหวานจัดเป็นห่อสำหรับใส่บาตรพระรูปหนึ่ง ๆ ตามธรรมเนียม แล้ว ยังมีสิ่งหนึ่งซึ่งถือเป็นประเพณีจะขาดเสียมิได้ในงานทำบุญตักบาตรเทโว โรหณะ นั่นคือ ข้าวต้มลูกโยน เพราะถือกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของงานนี้โดยเฉพาะ จึงจำเป็นต้องเตรียมของสิ่งนี้ไว้ใส่บาตรด้วย
ข) เมื่อถึงกำหนดวันตักบาตรเทโวโรหณะ ก็นำเครื่องใส่บาตรทั้งหมดไปตั้งวาง ยังสถานที่ที่ทางวัดจัดเตรียมให้ รอจนขบวนพระมาถึงตรงหน้าตน จึงใส่บาตร โดยให้ใส่ตั้งแต่พระพุทธรูปในรถ หรือคานหามที่นำหน้าพระสงฆ์ ไปเป็นลำดับ จนหมดพระสงฆ์ที่รับบิณฑบาตร หรือหมดของที่เตรียมมา
ค) เมื่อใส่บาตรแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธี แต่ถ้าทางวัดจัดให้มีเทศน์ด้วย และพุทธบริษัท ผู้ศรัทธาจะแสวงบุญจากการฟังธรรมต่อ ก็ให้รออยู่ที่วัดจนถึงเวลาเทศน์ หรือจะกลับบ้านก่อน แล้วมาฟังเทศน์เมื่อถึงเวลาเทศน์ก็ได้ตามแต่อัธยาศัย
การร่วมพิธีทำบุญ ตักบาตรเทโวนี้พุทธศาสนิกชน จะได้พร้อมใจกันกระทำบุญกุศลต่าง ๆ ตามคติประเพณีที่เคยประพฤติปฏิบัติสืบ ๆ กันมาแต่โบราณกาล ซึ่งนอกจากจะได้บุญกุศล จากการทำบุญแล้ว ยังก่อให้เกิด ความสามัคคีภายในชุมชน เพราะคนทั้งหลายเหล่านั้นย่อมจะมาร่วมแรงร่วมใจกันจัดการ เตรียมงาน และดำเนินพิธีตักบาตรเทโวโรหณะให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี.