ทรรศนะหนึ่งเกี่ยวกับ ... ปรัชญา - มนุษย์ - โลก

ปรัชญาไม่อาจพิสูจน์ให้เห็นถึงความมีประโยชน์ของตัวเอง ปรัชญาเป็นเรื่องของมนุษย์ที่อยู่เหนือคำถามเกี่ยวกับความเป็นประโยชน์ หรือความเป็นโทษในโลกนี้.
 

โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ : ปรัชญา 
ชุมนุมบทความทางวิชาการ ถวายพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ในโอกาสที่พระชนม์ครบ 80 พรรษา บริบูรณ์

ปรัชญาคืออะไร มีค่าแค่ไหน เป็นปัญหาอยู่ บางคนหวังที่จะได้รับความรู้พิเศษพิศดาร บางคนพิจารณาเห็นเป็นเรื่องของความคิดที่ไร้สาระ บางคิดคิดว่าเป็นผลความพยายามที่มีคุณค่าของคนที่ฉลาดผิดธรรมดา หรือมิฉะนั้นก็ดูแคลนว่าเป็นการพินิจที่เพื้อฝันและไร้ความจำเป็น บางคนเห็นปรัชญาเป็นเรื่องที่พัวพันกับมนุษย์ทุกคน ด้วยเหตุนี้ โดยหลักการแล้ว จึงควรเป็นสิ่งง่ายและเข้าใจได้ บางคนก็เห็นว่าเป็นเรื่องยากยิ่งและไร้ความหวังที่จะได้ประโยชน์จากการไปเกี่ยวข้องด้วย

สำหรับผู้ที่ยึดมั่นเคยชินกับวิทยาศาสตร์ยิ่งซ้ำร้าย เพราะปรัชญามิได้ยังผลอันใดซึ่งถือใช้เป็นกฎเกณฑ์ทั่วไปได้ มิใช่สิ่งที่เมื่อรู้แล้วก็ได้เป็นสมบัติ ขณะที่วิทยาศาสตร์ให้ความรู้ที่แน่นอนและใช้ได้ทั่วไป ปรัชญาไม่เคยได้รับความสำเร็จเช่นนั้น ทั้งที่พยายามมาเป็นพัน ๆ ปี ในปรัชญานั้น ไม่มีความรู้อันใดที่เป็นบั้นสุดท้ายและเป็นที่ยอมรับโดยเอกฉันท์

ผิดกับวิทยาศาสตร์ ความคิดทางปรัชญามิได้มีลักษณะหนึ่งซึ่งแสดงถึงกระบวนการความก้าวหน้า จริงอยู่ เรามาไกลกว่าฮิปโปคราติส แพทย์ชาวกรีกผู้นั้นมาก แต่เรามิอาจกล่าวได้ว่า เรามาไกลกว่าเปลโต เพียงในด้านความรู้วิทยาศาสตร์ทางวัตถุเท่านั้นที่เรามาไกลกว่า ในด้านปรัชญาเราอาจล้าหลังกว่าปลาโตเสียอีก

ความสำเร็จในทางปรัชญา ผิดแปลกไปจากความสำเร็จในทางวิทยาศาสตร์ตรงที่ว่า จำต้องสละความหวังที่จะให้เป็นที่ยอมรับเป็นเอกฉันท์ของบุคคลทั่วไป ทั้งนี้ เนื่องมาจากธรรมชาติของปรัชญาเอง "ความจริง" หรือ "ความแน่นอน" ทางปรัชญามิใช่ "ความจริง" ในทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งคล้องจองเหมือนกันหมดสำหรับทุกคนที่มีสติปัญญา ความเข้าใจ แต่เป็นการ "ตระหนัก" ส่วนตัวของแต่ละบุคคลที่หยั่งลึกและกระทบกระเทือน "แก่น" ของความเป็นมนุษย์ในฐานะที่เป็นมนุษย์ (มิใช่ในฐานะเป็นเพียงสัตว์โลก) เป็นความรู้ที่เกี่ยวกับความจริง ซึ่งเมื่อฉายแสงไปที่ใดก็กระจ่างสว่างลึกซึ้งกว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์ใด ๆ

ในเรื่องที่เกี่ยวกับปรัชญานั้น เกือบทุกคนอยู่ในฐานะที่จะมีส่วนร่วมให้ความคิดเห็นได้ เป็นที่ทราบดีว่าในวิทยาศาสตร์นั้น ปัจจัยที่จะนำไปสู่ความเข้าใจคือการศึกษา เรียน อบรม และมีกรรมวิธีต่าง ๆ แต่ในทางปรัชญา อาจกล่าวได้ทีเดียวว่า ทุกคนมาสามารถ "ร่วมพูด" ด้วย ได้โดยไม่ต้องศึกษาพิเศษเป็นการเฉพาะเจาะจง ความเป็นมนุษย์เอง โชคชะตาของตัวเอง ประสบการณ์ของตัวเอง เป็นปัจจัยที่พอเพียง

ความจะต้องเป็นที่ยอมรับทั่ว ๆ ไปว่า พื้นฐานของปรัชญาเป็นเรื่องสำหรับบุคคลธรรมดาสามัญจะเข้าใจ ส่วนวิถีทางซึ่งค่อนข้างจะคดเคี้ยวยุ่งยากของปรัชญา ซึ่งศาสตราจารย์และ "ผู้เชี่ยวชาญ" ทางปรัชญาเลือกเดินนั้น จะมีความหมายก็ต่อเมื่อเป็นหนทางซึ่งผลที่สุดจะมารวมกับทางเดินของ "ความเป็นมนุษย์"

ความคิดทางปรัชญาทั้งหลายจะต้องเกี่ยวกับพื้นฐานและการดำรงอยู่ของ "ชีวิต" แต่ละคนจะต้องดำเนินการคิดด้วยตนเอง คนอื่นจะคิดแทนให้ไม่ได้

คำถามของเด็กเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด ที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ผู้ใดก็ตาม อาจมีความคิดเห็นทางปรัชญาได้ บ่อยครั้งทีเดียวเราได้ยินจากปากเด็กซึ่งเมื่อพิจารณาในสาระแล้วตรงเป้าหมาย อันลึกซื้งของปรัชญา

"พ่อครับ คนเรามาจากไหน ตายแล้วไปไหน"

เด็กคนนี้คิดถึงปัญหาเบื้องต้นของชีวิต ถึงการดำรงอยู่ และการจากไปซึ่งพัวพันกับปัญหาอันยิ่งใหญ่ทางศาสนา

"ลูกพยายามคิดว่าลูกเป็นคนอื่น แต่ก็พบว่าเป็นตัวเองอยู่ร่ำไป"

เด็กคนนี้ คำนึงถึงต้นเหตุของความแน่นอนทั้งหลาย ถึงความตระหนักในการเป็นและดำรงอยู่ ถึงความตระหนักในตัวเอง เขาแปลกใจในปริศนาของความเป็น "ตัวของฉัน"

เด็กอีกคน หนึ่งก้าวบันไดขึ้นบ้าน ทันใดก็คิดขึ้นมาได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนเดิม ผ่านพ้นไป เหมือนกับไม่เคยเกิดขึ้น

"แต่จะต้องมีอะไรบางอย่างที่มั่นคงแน่นอน อย่างที่ลูกกำลังก้าวขึ้นบันไดนี้ ลูกอยากยึดถือรักษาไว้"

ความสนเท่ห์ ความตระหนกและหวั่นไหวที่มองเห็นถึงการผันแปร ไม่แน่นอนทั้งหลายแหล่ในโลก และพยายามหาทางออกอย่างเด็ก

ใครก็ตามที่สนใจ จะรวบรวมเรื่องเล่า และคำพูดถึงปรัชญาของเด็กได้มากมาย ข้อโต้แย้งที่ว่า เด็กอาจได้ยินมาก่อนจากบิดามารดา หรือผู้อื่นนั้น มิอาจถือเป็นข้อโต้แย้งได้จริงจังสำหรับผู้ที่มีความใคร่ครวญ และความสัตย์ต่อตัวเอง

ข้อโต้แย้งที่ว่า อันที่จริงเด็กยังคิดอย่างปราชญืไม่ได้ ที่พูดออกมานั้นเป็นเพียงบังเอิญเท่านั้น ข้อโต้แย้งนี้ มองข้ามข้อเท็จจริงประการหนึ่ง กล่าวคือ บ่อยครั้งที่เด็กมีความเป็นอัจฉริยะ ซึ่งได้สูญเสียไปเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ราวกับว่า ในปีที่ผ่านพ้นไปซึ่งเป็นปีแห่งการจองจำอยู่กับความเคยชินต่อระเบียบ และความคิดเห็นของสังคม ความคลุมเครือ และการยอมรับเอาโดยไม่ไต่ถามเข้ามาแทนที่ ในขณะที่ต้องสูญเสียความสามารถที่จะมองโลกและชีวิตด้วยสายตาบริสุทธิ์ของเด็ก เด็กยังอยู่ในภาวะชีวิตที่กำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว จึงรู้สึกเห็น และถามในสิ่งซึ่งไม่ช้าตนเองก็จะคลายความสนใจ หรือตนเองเดินก้าวผ่านไป ปล่อยให้สิ่งซึ่งเผยแก่ตนเพียงชั่วครู่หนึ่งให้หลุดไป ดังนั้น จึงมักแปลกใจที่ผู้ใหญ่มาซักไซ้ไล่เลียงตนเองในภายหลังถึงสิ่งที่ตนได้เคยพูดหรือได้ถามไว้

ความคิดทางปรัชญาแสดงออกกับเด็กฉันใด ก็อาจจะแสดงออกกับผู้เป็นโรคจิตฉันนั้น คล้ายกับสิ่งที่ปิดคลุมม่านตาถูกกระชากออก เผยให้เห็ยความจริงที่ลึกซึ้ง แต่เป็นการเผยที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง และแสดงออกตามประสบการณ์ทางจิตใจขณะนั้น โดยภาษาที่ใช้พูดขาดความสัมพันธ์กับโลกที่เป็นจริง และไม่ถึงระดับที่จะทำให้สิ่งที่ตนต้องการเผยนั้นตรงตามเป้าหมายเป็นที่เข้า ใจของผู้ฟัง แม้แต่ผู้ที่มีสติสมบูรณ์บางครั้งก็มีประสบการณ์ที่อธิบายได้ยาก แต่ที่มีความหมายลึกซึ้งโดยเฉพาะขณะที่กำลังตื่นจากหลับ แต่พอตื่นเต็มที่ ประสบการณ์นั้นก็หายไปโดยสิ้นเชิง เหลือแต่ความรู้สึก และนี่เป็นความหมายที่แท้จริงของประโยคที่ว่า "เด็กและคนบ้าพูดความจริง

จะอย่างไรก็ตาม ระบบความคิดทางปรัชญาที่มีคุณค่าสูงส่ง มิได้อยู่ที่นี่ (เด็กและคนบ้า) แต่อยู่ที่บุคคลเพียงจำนวนน้อยในระยะร้อยปีที่ได้พิสูจน์ให้เห็น และเป็นที่ยอมรับว่าเป็น "นักคิด" เป็น "ปราชญ์" ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งมีความอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ไม่ยอมให้ความคิดของคนส่วนมาก และหลักปฏิบัติความนิยมของสังคมใดสังคมหนึ่ง ในยุคใดยุคหนึ่ง เข้ามามีอิทธิพล โอนอ่อน หรือเคลือบคลุมความแข็งแกร่งและความบริสุทธิ์ในความคิดของตน

เนื่องจากปรัชญาเข้าถึงมนุษย์เป็นส่วนรวมได้ดังกล่าว ปรัชญาจึงเป็นของกลางที่อาจหยิบยกมาใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย เช่นในแบบของสุภาษิตที่เป็นมรดกตกทอดมา ในคารมคมคายทางปรัชญาจึงเป็นที่นิยมกันแพร่หลาย และถ้อยคำสั่งสอนของผู้เป็นศาสดาทั้งหลาย

ปรัชญารวมอยู่กับชีวิตประจำวัน แยกไม่ออก ปัญหามีเพียงว่า ปรัชญาอยู่ในจิตสำนึกหรือไม่ ปรัชญานั้นดีหรือเลว กระจ่างชัด หรือสับสนยุ่งเหยิง ใครที่ไมายอมรับปรัชญาคนรั้รก็มีปรัชญาอยู่ในตัว โดยที่ตนไม่ได้ตระหนัก

ด้วยเหตุฉะนี้ คำถามต่อไปก็คืออะไรเล่าคือปรัชญา

คำภาษากรีก "ฟิโลโซฟอส" (Philosophos) ได้รับการส้รางขึ้นมาให้มีความหมายตรงข้ามกับ "โซฟอส" (Sophos) คำแรกหมายถึงผู้ที่รักความรู้ ซึ่งต่างกับคำที่สอง ซึ่งหมายถึงผู้รู้ หรือผู้ที่เป็นเจ้าของความรู้ ความหมายและความแตกต่างของทั้งสองยังดำรงอยู่จนทุกวันนี้

มิใช่การเป็นเจ้าของหรือการได้มาซึ่งความจริง แต่การแสวงหาความจริงต่างหากที่เป็นสารัตถะของปรัชญา ถึงแม้ว่าในบางกรณีปรัชญาอาจจะแปรสภาพเป็นสิทธิที่ยึดมั่นในตัวเองมากเกินไป กล่าวคือ เป็นความรู้ที่ถือว่าสมบูรณ์ขั้นสุดท้าย ไม่มีการเปลี่ยนแปลง จึงยึดถือในถ้อยคำและภาษามากก็ตามที ปรัชญาหมายถึง "กำลังอยู่บนทาง" คำถามในปรัชญามีความสำคัญกว่าคำตอบ และทุก ๆ คำตอบจะนำไปสู่คำถามใหม่ต่อไปอีก

ไม่มีคำนิยามใดของปรัชญาที่บริสุทธิ์ ซึ่งอวดอ้างได้ว่าถูกต้องแท้จริง และคำนิยามที่เพี้ยนไปนั้นผิด

ในยุคก่อน ๆ นั้น คิดว่า ปรัชญาคือความรู้เกี่ยวกับเรื่องของพระเจ้าและมนุษย์ ความรู้เกี่ยวกับการดำรงอยู่ "การกำลังเป็น" ต่อมาคือการเรียนรู้ที่จะตาย ความคิดพยายามให้ได้มาซึ่งความสุขขั้นสุดท้ายนั้น คือการใกล้ชิดหรือละม้ายกับความเป็นพระเจ้า และในที่สุด คือยอดความรู้ของความรู้ทั้งหลาย ยอดศิลปะของศิลปะทั้งหลาย เป็น "ศาสตร" ที่กว้างขวาง ไม่เฉพาะเจาะจงในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น

ในปัจจุบันปรัชญาอาจมีนิยามในลักษณะเช่นนี้ 

การมองดูความเป็นจริงที่ต้นตอ

การเข้าใจความเป็นจริงถ้วยวิถีทางอันพิจารณาใคร่ครวญเกี่ยวกับชีวิตตัวฉันเอง

การแจ้งติดต่อ (Communication) จากมนุษย์ถึงมนุษย์ด้วยความจริง

การรักษา "เหตุผล" ให้ตื่นตัวอยู่เสมอ และให้พ้นจากสิ่งแปลกปลอม

ปรัชญาคือการรวมจิต คือสมาธิที่ทำให้มนุษย์เป็นตัวเองโดยที่มีส่วร่วมในความเป็นจริง

งานของปรัชญาไม่มีที่สิ้นสุด และซ้ำตัวเองเสมือนมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติเป็นปัจจุบันกาลอยู่ตลอดเวลา และปรากฏเป็นผลงานของนักปรัชญาที่ยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นในรูปใดก็ตาม ต่างแสดงออกถึงจิตและความคิดที่ตื่นตัวตราบเท่าที่มนุษย์ยังคงเป็นมนุษย์

เพิ่งจะออกมาในยุคปัจจุบันที่ปรัชญาได้รับการโจมตีอย่างรุนแรง และไม่เป็นที่ยอมรับอย่างสิ้นเชิง เพราะเห็นว่าฟุ่มเฟือย อันตราย และไร้ความจำเป็น

วิถีความคิดของคริสต์ศาสนาประณามปรัชญาที่เป็นตัวของตัวเอง เพราะคิดเห็นห่างจากพระเจ้า ทำให้จิตเสื่อมด้วยสิ่งไร้สาระ

วิถีความคิดทางการเมืองที่ถืออำนาจเป็นใหญ่ กล่าวหาว่านักปรัชญาเพียงแต่มองโลกผิดแปลกต่าง ๆ กัน แต่จุดสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามที่อำนาจทางการเมืองนั้นประสงค์

สำหรับความคิดทั้งสองวิถีนี้ ปรัชญานับว่าอันตราย เพราะทำลายความเป็นระเบียบ ส่งเสริมความคิดที่อิสระ ซึ่งย่อมรวมถึงการปฏิเสธและการลุกขึ้นยืนหยัด ปรัชญาหลอกลวง นำมนุษย์ออกจากหน้าที่ที่แท้จริง

ชีวิตในชาติหน้าซึ่งสว่างไสวด้วยการเผยองค์พระผู้เป็นเจ้า หรือชีวิตในชาตินี้ที่ได้ปราศจากพระเจ้า แต่ทว่าเรียกร้องทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจทั้งสองนี้ ปรัชญาต้องการทำลาย

นอกจากนั้น การคัดค้านปรัชญายังมาจากสามัญสำนึกของปุถุชนธรรมดาที่เรียกร้อง "ความเป็นประโยชน์" เป็นพื้นฐานวัด ปรัชญาต้องประสบความล้มเหลวที่จะพิสูจน์ว่ามีประโยชน์ เพราะประโยชน์จริงจังเป็นเรื่องเป็นราวที่ยึดถือได้มั่นคงแน่นอนนั้น ปรัชญาไม่อาจหยิบยื่นให้ได้ ทาเลส (Thales) นักปรัชญากรีกสมัยเริ่มต้น ได้รับการหัวเราะเยาะที่ตกลงไปในบ่อน้ำขณะที่กำลังพิจารณาดวงดาวในท้องฟ้า เหตุไฉนจึงมองหาสิ่งที่ไกลแสนไกลในโลกกอื่น ในเมื่อยังแสนจะเคอะเขินในเรื่องที่อยู่ใกล้เคียงในโลกนี้

ปรัชญาไม่อาจพิสูจน์ให้เห็นถึงความมีประโยชน์ของตัวเอง ปรัชญาเป็นเรื่องของมนุษย์ที่อยู่เหนือคำถามเกี่ยวกับความเป็นประโยชน์ หรือความเป็นโทษในโลกนี้.
--
ที่มา : โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ : ปรัชญา (ชุมนุมบทความทางวิชาการ ถวายพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ในโอกาสที่พระชนม์ครบ 80 พรรษา บริบูรณ์

THAI CADET

 

© 2547-2566. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo