กิจกรรมของปรัชญา

คำว่า "ปรัชญา" แปลมาจากภาษาอังกฤษว่า "Philosophy" ซึ่งมาจากศัพท์ภาษากรีก philein (รัก) และ sophia (ความรู้) หากเราศึกษาปรัชญากรีกในศตวรรษที่ 5-6 B.C. จะเห็นว่า "ความรัีกความรู้" (philosophy) หมายถึงการแสวงหา "ความรู้" และความพยายามที่จะดำเนินชีวิตที่ดี ความรู้ที่นักปรัชญา (ผู้รักความรู้) แสวงหา คือ ความรู้เกี่ยวกับโลกภายนอกและความรู้เกี่ยวกับความดี เนื่องจากความรู้เกี่ยวกับโลกภายนอกเป็นส่วนหนึ่งของวิชาวิทยาศาสตร์
 

พินิจ รัตนกุล, บรรณาธิการ. (2515). ปรัชญา . กรุงเทพฯ.

คำว่า "ปรัชญา" แปลมาจากภาษาอังกฤษว่า "Philosophy" ซึ่งมาจากศัพท์ภาษากรีก philein (รัก) และ sophia (ความรู้) หากเราศึกษาปรัชญากรีกในศตวรรษที่ 5-6 B.C. จะเห็นว่า "ความรัีกความรู้" (philosophy) หมายถึงการแสวงหา "ความรู้" และความพยายามที่จะดำเนินชีวิตที่ดี ความรู้ที่นักปรัชญา (ผู้รักความรู้) แสวงหา คือ ความรู้เกี่ยวกับโลกภายนอกและความรู้เกี่ยวกับความดี เนื่องจากความรู้เกี่ยวกับโลกภายนอกเป็นส่วนหนึ่งของวิชาวิทยาศาสตร์ ดังนั้น นักปรัชญากรีกรุ่นแรกซึ่งพยายามอธิบายธรรมชาติจึงเป็นนักวิทยาศาสตร์ นอกจากนักปรัชญากรีกจะชอบแสวงหาความรู้เกี่ยวกับโลกและชีวิตที่ดีแล้ว ยังเป็นความชอบคิดพิจารณาดูสิ่งที่ตัวเองกำลังกระทำอยู่ และตรวจสอบดูพื้นฐานของความรู้ด้วยจิตใจวิพากษ์วิจารณ์ ยกตัวอย่างเช่น โสเครติส (469-399 B.C.) ไม่สนใจแต่เพียงการค้นหาว่าชีวิตที่สูงส่งควรเป็นชีิวิตแบบไหน แต่ยังสนใจตรวจสอบดูเหตุผลที่ทำให้เราเชื่อว่าชีวิตประเภทหนึ่งดีกว่าอีก ประเภทหนึ่ง ในทำนองเดียวกัน เพลโต (427-347) ไม่เพียงแต่เขียนเกี่ยวกับรัฐในอุดมคติ (Republic) ที่มีความยุติธรรมจริง ๆ เท่านั้น แต่ยังพยายามค้นหาความหมายของ "ความยุติธรรม" และวิธีการที่จะกำหนดความยุติธรรมในสังคม อริสโตเติล (384-322 B.C.) นอกจากเขียนหนังสือเกี่ยวกับฟิสิกส์ ชีววิทยา และจิตวิทยาแล้ว ยังตรวจสอบพิจารณาดูวิธีการต่าง ๆ ในการแสวงหาความรู้เกี่ยวกับโลกภายนอกด้วย ดังจะเห็นได้จากนังสือตรรกวิทยา และทฤษฎีความรู้ของเขา

ก่อนสมัยกาลิเลโอ (1564-1642) นักปรัชญาธรรมชาติที่ค้นหาเกี่ยวกับความเป็นไปของธรรมชาติ ตกลงกันไม่ได้ ในเรื่องเนื้อหาและวิธีการทางฟิสิกส์ กาลิเลโอเป็นคนแรกที่แยกฟิสิกส์ออกจากปรัชญามาเป็นวิทยาศาสตร์ โดยกำหนดเนื้อหาและวิธีการของฟิสิกส์ กล่าวคือ กำหนดว่าเนื้อหาของฟิสิกส์คือสิ่งที่สังเกตเห็น และที่นำมาแทนด้วยสูตรทางคณิตศาสตร์ได้ วิธีการของฟิสิกส์คือการสังเกตและการวัด ตั้งแต่นั้นมานักปรัชญาและนักฟิสิกส์ต่างก็แบ่งหน้าที่กัน ในกรณีของวิชาวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ ก็เช่นเดียวกับวิชาฟิสิกส์ คือแยกออกมาจากปรัชญาเป็นวิชาต่างหาก

ถ้าหากนักปรัชญาไม่ทำสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์กำลังกระทำอยู่เวลานี้ นักปรัชญามีหน้าที่อะไร? ในปัจจุบันมีกิจกรรม 2 ประเภท ที่เราถือกันว่าเป็นงานของนักปรัชญา คือ

1. การพยายามตอบปัญหาต่าง ๆ ที่ยังหาคำตอบที่แน่นอนไม่ได้ เช่น

(i) ปัญหาทางเมตาฟิสิกส์ เป็นปัญหาเกี่ยวกับสิ่งที่เราหยั่งทราบไม่ได้ด้วยอายตนะที่มีอยู่ เช่น จักรวาลที่เราอยู่มี "ความมุ่งหมาย" ซ่อนเร้นอยู่ ขบวนการเปลี่ยนแปลงในจักรวาลเป็นไปเพื่อบรรลุ "ความมุ่งหมาย" นั้น หรือ จักรวาลมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกล เปลี่ยนแปลงไปโดยไม่มีเป้าหมายอะไร? อะไรคือสัจจธรรม (ultimate reality) ของจักรวาล? วัตถุต่าง ๆ ที่เรามองเห็นเป็นสิ่งที่จิตเราสร้างขึ้น หรือว่ามีตัวตนอยู่จริง? จิตและร่างกายมีความสัมพันธ์กันแบบไหน? ปรัชญาที่พยายามตอบปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ร่างกายเรียกว่า เมตาฟิสิกส์ (1.) เมตาฟิสิกส์ : Metaphysics ไม่ควรแปลว่า "อภิปรัชญา" เพราะอภิปรัชญา หมายถึง วิชาที่เหนือปรัชญา แต่ในวงวิชาการตะวันตก เมตาฟิสิกส์เป็นปรัชญาสาขาหนึ่ง)

(ii) ปัญหาทางศาสนา เช่น พระเจ้ามีจริงหรือไม่? หากมีจริงเรามีทางพิสูจน์ได้อย่างไร และอะไรคือธรรมชาติของพระเจ้า? ปรัชญาที่พูดเกี่ยวกับปัญหาเช่นนี้ คือ ปรัชญาศาสนา (philosophy of religion)

(iii) ปัญหาเกี่ยวกับจริยธรรม เช่น ความดีคืออะไร? ทำไมเราควรจะทำความดีด้วย? เรามีมาตรฐานอะไรที่ใช้ตัดสินว่าการกระทำอย่างฟนึ่ง "ดี" หรือ "ถูก"? อะไรคือหน้าที่สำคัญที่สุดของมนุษย์? มนุษย์มีเสรีภาพและความรับผิดในการกระทำหรือไม่? ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้มีอยู่ในปรัชญาสาขาจริยศาสตร์ (Ethics)

(iv) ปัญหาเกี่ยวกับศิลปะ เช่น ศิลปะคืออะไร? ความงามคืออะไร? เรามีมาตรฐานในการตัดสินงานศิลปะอย่างไร? ประสบการณ์ทางศิลปะมีลักษณะอย่างไร? ปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้เรียกว่าปรัชญาศิลปะ (philosophy of art) หรือสุนทรียศาสตร์ (aesthetics)

(v) ปัญหาเกี่ยวกับระบบการปกครอง เช่น เรามีมาตรฐานใช้ตัดสินกฎหมายของบ้านเมืองหรือไม่? มนุษย์แต่ละคนมีสิทธิโดยธรรมชาติหรือไม่ หากมี ได้สิทธินั้นมาจากไหน? ความยุติธรรมคืออะไร? การปกครองระบอบประชาธิปไตยดีกว่าการปกครองระบบอื่น ๆ จริงหรือ? ปรัชญาที่พูดเกี่ยวกับปัญหาเช่นนี้คือปรัชญาการเมือง (Political Philosophy)

(vi) ปัญหาเกี่ยวกับความรู้ เช่น ความรู้คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร? ปัญหาเหล่านี้เป็นหัวข้อของปรัชญาสาขาทฤษฎีความรู้ (epistemology)

(vii) ปัญหาเกี่ยวกับการตีความหมายของประวัติศาสตร์ เช่น การเกิด และการเสื่อมของอารยธรรมทั้งหลายมี "แบบ" (pattern) หรือไม่? (2.) ตัวอย่างของ "แบบ" เช่น ในสมุดวาดเขียนสำหรับเด็ก มักมีจุดไว้มากมายให้เด็กลากเส้นโยงจุดต่าง ๆ เหล่านั้น ผลที่เกิดขึ้นก็คือ "รูป" เช่น รูปเสือ หรือรูปคน เป็นต้น จุดต่าง ๆ เหล่านั้นอยู่ห่างจากกันใน "แบบ" ที่กำหนดไว้ [เช่น "แบบ" ที่ทำให้เกิดรูปเสือ เมื่อเด็กลากเส้นเชื่อมโยงจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่ง ในไม่ช้าก็จะเห็น "แบบ" นั้นทีละน้อย เราอาจเปรียบเทียบประวัติศาสตร์ได้กับ "แบบ" ที่มีซ่อนเร้นอยู่ในจุดต่าง ๆ ในสมุดวาดเขียนของเด็ก จุดต่าง ๆ เทียบได้กับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น การลากเส้นโยงจุดต่าง ๆ ก็คือ การหาความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์ต่าง ๆ การมองเห็นรูปที่เกิดจากการลากเส้นโยงจุดต่าง ๆ เข้าด้วยกันเท่ากับการมองเห็น "ประวัติศาสตร์" ที่ประกอบด้วยเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต ปัญหาที่นักปรัชญาถามก็คือ เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตมี "แบบ" หรือไม่?) หากมี "แบบ" ประเภทไหน และเราสามารถจะใช้ความรู้เกี่ยวกับ "แบบ" นั้น ทำนายเหตุการณ์ในอนาคตได้หรือไม่? เราจะวัดความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ได้อย่างไร? ปรัชญาสาขาที่พยายามตอบปัญหาเหล่านี้ คือ ปรัชญาประวัติศาสตร์ (Philosophy of History)

2 กิจกรรมอีกอย่างหนึ่งของปรัชญา คือ การตรวจสอบวิเคราห์และเปรียบเทียบพื้นฐาน หรือเหตุผลของข้อความต่าง ๆ ในวิชาการสาขาต่าง ๆ เพื่อหาความเข้าใจและตีค่าพื้นฐานของข้อความนั้น ยกตัวอย่างเช่น การศึกษาหาความกระจ่างเกี่ยวกับพื้นฐานของวิชาวิทยาศาสตร์ กฎหมาย คณิตศาสตร์ สังคมศาสตร์ และภาษาศาสตร์ เรียกว่า ปรัชญาวิทยาศาสตร์ (ซึ่งแยกออกเป็นปรัชญาฟิสิกส์ ปรัชญาชีววิทยา) นิติปรัชญา ปรัชญาคณิตศาสตร์ ปรัชญาสังคมศาสตร์ และปรัชญภาษา เราอาจสรุปได้ว่าหน้าที่ประการที่สองของนักปรัชญาไม่ใช่พยายามตอบปัญหา แต่เป็นการตรวจสอบดูพื้นฐานของวิชาการต่าง ๆ หรือความเชื่อของเรา (รวมทั้งความเชื่อทางสามัญสำนึก ประเพณี และศาสนา)
--
ที่มา : พินิจ รัตนกุล, บรรณาธิการ. (2515). ปรัชญา . กรุงเทพฯ.

THAI CADET

 

© 2547-2566. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo