ทำไมเราควรศึกษาวิชาปรัชญา

เหตุผลทั้ง สองประการที่กล่าวมา ไม่ใช่เหตุผลสำคัญที่สุดว่าทำไมเราควรศึกษาวิชาปรัชญา เหตุผลที่สำคัญที่สุดคือ ปรัชญาเป็นอาหารธรรมชาติของคนที่มีความหิวในการแสวงหาความรู้ ผู้ที่ใช้ความคิดในการดำเนินชีวิตจะมีความหิวนี้อยูี่ไม่มากก็น้อย เช่นอย่างน้อยที่สุดเราก็อยากรู้ว่าเราคือใคร อยู่ในโลกนี้ในฐานะเช่นใด? ชีวิตที่ดีคือชีวิตแบบไหน? คนหลายคนเข้าหาศาสนาเพื่อหาคำตอบของคำถามนี้ แต่ก็มีคนจำนวนมากที่เราเรียกว่า "นักปรัชญา" หรือ "ผู้รักความรู้" พยายามหาคำตอบด้วยวิธีการของเหตุผลและใช้ปรัชญาเป็นผู้นำชีวิต
 

พินิจ รัตนกุล, บรรณาธิการ. (2515). ปรัชญา . กรุงเทพฯ.

ตั้งแต่กรีกสมัยโบราณ ปรัชญาตะวันตกเป็นวิชาที่ศึกษากันแพร่หลายในมหาวิทยาลัยในยุโรปและอเมริกา แม้ปัจจุบันวิชาการต่าง ๆ จะแยกออกจากวิชาปรัชญาแล้วก็ตาม แต่เราก็ยังเรียกผู้ที่จบการศึกษาวิชาสาขาต่าง ๆ ในขั้นสูงสุดว่า Doctor of Philosophy หรือ Ph.D. (Philosophiae Doctor) ปัญหาที่เราอดจะถามไม่ได้ คือ ทำไมเราควรศึกษาวิชาปรัชญาด้วย? มีเหตุผลหลายประการ เหตุผลประการหนึ่งก็คือ วิชานี้มีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมาก ที่เน้นข้อนี้ก่อน เพราะคนส่วนมากมักคิดว่าวิชาปรัชญาไม่มีประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เลย ก่อนที่จะชี้ให้เห็นว่าวิชานี้มีประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างไร เราควรเข้าใจก่อนว่าอะไรที่ทำให้วิชาแต่ละวิชามีประโยชน์ในการดำเนินชีวิต ประจำวัน? คงไม่ใช่สิ่งที่เราเรียกว่าข้อเท็จจริง (facts) ซึ่งเราเรียนรู้จากวิชาต่าง ๆ ลองถามพวกบัณฑิตแต่ละปีซิว่า ได้ใช้ข้อเท็จจริงที่เล่าเรียนมาในชีวิตประจำวันบ่อยหรือเปล่า? ผู้ที่ประกอบอาชีพตามทางที่เล่าเรียนมาโดยตรงก็จะตอบว่า ได้ใช้สิ่งนั้นในอาชีพของตน แต่ก็จะมีบัณฑิตจำนวนไม่น้อยที่รับว่าลืมความรู้ที่เคยเล่าเรียนมาหมดแล้ว ดังนั้น จึงไม่สามารถนำความรู้นั้นมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้

อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่าวิชาต่าง ๆ (นอกจากวิชาชีพ) ที่เล่าเรียนมาไม่มีประโยชน์เลย ในหนังสือ The Aims of Education อัลเฟรด ไว้ท์เฮด (Alfred N. Whitehead) อธิบายว่า การศึกษาคือสิ่งที่ยังคงเหลืออยู่ เมื่อเราลืมสิ่งที่เล่าเรียนมาแล้ว สิ่งที่คงเหลืออยู่ในตัวเรา (หากเราศึกษาวิชาปรัชญา) ก็คือนิสัยในการคิด การพูด และการกระทำ ปรัชญาไม่ได้ให้สิ่งที่เรียกว่าข้อเท็จจริงแก่ผู้ศึกษา เช่นวิชาวิทยาศาสตร์ เพราะว่านักปรัชญาสนใจคนละสิ่งกับวิทยาศาสตร์ สิ่งที่นักปรัชญาสนใจไม่ใชสิ่งที่จะหาคำตอบได้ง่าย หรือคำตอบตายตัวแน่นอน นักปรัชญาแต่ละคนมีความเห็นแตกต่างกัน ปรัชญาเป็นเรื่องของการใ้ช้ความคิด หากคนคิดเหมือนกันหมดก็ไม่มีความคิดขึ้น ผู้ศึกษาปรัชญาไม่จำเป็นที่จะต้องเห็นด้วยกับความคิดของนักปรัชญาที่ศึกษา แต่ต้องการปลูกฝังให้เกิดนิสัยต่าง ๆ เช่น นิสัยในการการแสวงหาความรู้ และนิสัยของการวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง (ซึ่งจะทำให้นักศึกษาไม่เป็นเหยื่อของขนบธรรมเนีบม ประเพณี ศาสนา และความเชื่อต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสังคม) และมีความเชื่อที่มี เหตุผลของตนเอง ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นเหตุผลที่เกิดขึ้นในตัวผู้ศึกษาเท่านั้น แต่รวมถึงเหตุผลที่ผู้อื่น (เช่นนักปรัชญาที่ศึกษา) เสนอมา และเขายอมรับหลังจากที่ได้คิดทบทวนพิจารณาแล้วอย่างรอบคอบ ดังนั้น ผู้ที่ศึกษาปรัชญาจึงไม่จำเป็นจะต้องมีโลกทัศน์ (4. โลกทัศน์ : World-view หมายถึง ความเชื่อต่าง ๆ ที่แต่ละคนมีอยู่) ที่แตกต่างจากคนอื่น เขาอาจมีโลกทัศน์ที่คนทั่ว ๆ ไปมีอยู่ก็ได้ หากเขาเห็นด้วยกับทัศนะนั้นหลังจากที่ตรวจสอบพิจารณาดูพื้นฐานของโลกทัศน์ นั้นแล้ว และรับมาเป็นของตน

เราไม่ได้ ปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่มีจิตใจวิพากษ์วิจารณ์ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยศึกษาวิชาปรัชญา แต่เราก็ต้องยอมรับด้วยว่ามีคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่ยังไม่มีโอกาสได้สร้าง นิสัยวิพากษ์วิจารณ์ให้เกิดขึ้นในตัวเอง วิชาปรัชญาช่วยให้บุคคลเหล่านี้ (ซึ่งเติบโตมาในสังคมที่ประกอบด้วยวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และความเชื่อต่าง ๆ ที่มีอยู่ก่อนการเกิด และการเจริญเติบโตของเขา) เริ่มสร้างนิสัยของการวิพากษ์วิจารณ์ (โดยกระตุ้นให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความจริง หรือคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น) และให้รู้จักตีค่าสิ่งที่ศึกษาเล่าเรียนมา

คนมักจะพูด ว่า วิชาปรัชญา่ทำให้ผู้ศึกษาหมดความเชื่อในขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ไม่มีศรัทธาในสิ่งใดแม้แต่ศาสนา มีแต่ความสงสัย (skepticism) หากเราเป็นคนช่างสังเกต จะเห็นว่ามีคนหลายคนที่หมดศรัทธาในความเชื่อเก่า ๆ ของตนโดยไม่ได้ศึกษาปรัชญาเลย เป็นการนอกประเด็น หากจะค้นหาสาเหตุที่ทำให้บุคคลเหล่านี้หมดความเชื่อในสิ่งที่เคยเชื่อถือมา ก่อน ในที่นี้ต้องการจะชี้ให้เห็นแต่เพียงว่า สิ่งที่บุคคลเหล่านี้แสวงหาคือ ความจริงที่ไม่ขัดกับประสบการณ์ของตน หากมีโอกาสได้ศึกอ่าน ได้ศึกษาปรัชญาและพิจารณาดูความสงสัยและปัญหาต่าง ๆ ที่มีอยู่ในตัวเขาด้วยวิธีการทางปรัชญา ก็มีทางที่เขาจะมีความเชื่อ และค่านิยมที่เหตุผลของเขาเองสนับสนุน ดังนั้น เราเห็นได้ว่าปรัชญาไม่ใช่เป็นวิชาที่มุ่งหมายสร้างคนให้หมดศรัทธาในทุกสิ่ง ทุกอย่าง แต่ช่วยให้ผู้ศึกษามีความเป็นเอกลักษณ์ของคนในทางปัญญา จิตใจวิพากษ์วิจารณ์ที่ปรัชญาสร้างให้เกิดเป็นนิสัยในตัวเรานั้น มีจุดหมายในทางสร้างสรรค์ต้องการให้ได้คำตอบที่ถูกต้องและที่เป็นจริง เพราะว่าปัญญาของเราไม่พอใจแต่เพื่อการวิพากษ์วิจารณ์ความเชื่อต่าง ๆ เท่านั้น แต่ต้องการมีความเชื่อที่ถูกต้องด้วย

นอกจากนั้น ปรัชญายังมีความมุ่งหมายที่จะฝึกฝนผู้ศึกษาให้มีวินัยในความคิด คือ ให้คิดอย่างมีประเด็นและมีเหตุผล เหตุผลเป็นสิ่งที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้น วิชาอื่น เช่น คณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ ก็มีความมุ่งหมายเช่นนี้ แต่ปรัชญาต่างกับวิชาเหล่านี้ในข้อที่ปรัชญาช่วยให้เรามีความคิดกระจ่าง และเป็นประเด็นใน สิ่งที่มีอยู่ในตัวเรา และที่เรามักมีอคติอยู่แล้ว เมื่อ เราเรียนเกี่ยวกับเส้น หรือจุด หรือตัวเลข เรามักมีความกระจ่างในสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นอยู่แล้ว หรือหากไม่มีความกระจ่างในความคิดทางคณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ เราก็อาจหาความกระจ่างได้ด้วยการดูคำจำกัดความ หรือคำอธิบายต่าง ๆ ที่นักคณิตศาสตร์ หรือนักวิทยาศาสตร์ให้ไว้ แต่เมื่อเราศึกษาความคิดทางปรัชญา เช่น เสรีภาพ ความถูกหรือความยุติธรรม เราต้องเข้าใจความคิดเหล่านี้อย่างชัดเจนด้วย ความพยายามของเราเอง เรา มักไม่มีอคติต่อทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ แต่น้อยคนที่จะไม่มีอคติเกี่ยวกับความคิดเรื่องความดีหรือเสรีภาพ การที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะหัวข้อเหล่านี้เกี่ยวกับชีวิตประจำวันมากกว่าทฤษฎี ทางคณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์

เราจะมีวินัย ในความคิด และมีความกระจ่างในความคิดต่าง ๆ ที่กล่าวมาได้ ก็ต่อเมื่อเราควบคุมอารมณ์ความรู้สึกไว้ได้ จิตของคนมีการศึกษาต่างจากผู้ที่ไม่มีการศึกษา คือจิตที่ได้รับการอบรม จากการศึกษาจะมีความคิด มีเหตุผล มีอารมณ์ความรู้สึกน้อยที่สุด ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ ตามอารมณ์ หรือปราศจากเหตุผล หรือตามที่ได้ยินได้ฟังมาโดยปราศจากการใช้เหตุผลวิเคราะห์ความเชื่อนั้น การศึกษาวิชาปรัชญาช่วยให้เรามีจิตใจวิพากษ์วิจารณ์ มีความสามารถคิดแบบมีประเด็นและมีเหตุผล จะมีอะไรอีกหรือที่มีประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน และที่การศึกษาจะให้แก่เราที่ดีกว่าคุณสมบัติทั้งสองนี้?

ประการที่สอง เรามีความต้องการวิชาปรัชญา หากเราต้องการจะอยู่ในโลกปัจจุบันแบบคนฉลาด ในปัจจุบันนอกจากจะมีวิทยาการใหม่จำนวนมากมายแล้ว วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และหนังสือต่าง ๆ ยังนำความคิดใหม่ ๆ มาสู่ตัวเรา จนบางครั้งเราคิดว่าเราควรรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง เช่น เราควรรู้เรื่องเกียวกับปากีสถานและอินเดีย เกี่ยวกับสภาพสังคมในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น เราจะทำอย่างไรเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้? ประมาณหนึ่งในเก้าของสิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตอยู่ใน ปัจจุบันแบบคนฉลาด แต่แม้ว่าเราจะเลือกส่วนที่สิบ เราก็จะต้องสามารถอธิบายความหมายของส่วนนั้นได้อย่างถูกต้อง วิชาปรัชญาช่วยให้เรา รู้จักคิด สามารถละทิ้งสิ่งที่ไม่สำคัญ และตีความหมายสิ่งที่สำคัญได้ เราจะเห็นได้ว่านักปรัชญายุคปัจจุบัน เช่น ไวท์เฮด และจอห์น ดิวอี้ (John Dewey) ไม่ได้คงแก่เรียนมากกว่าคนในสมัยเดียวกัน แต่เรารู้สึกว่าทั้งสองคนนี้มีจิตใจสมัยใหม่มาก มีความรู้กว้างขวาง อยู่ในโลกแบบคนฉลาด ทั้งนี้ก็เพราะทั้งไว้ท์เฮด และดิวอี้มีจิตใจเป็นนักปรัชญา คือ รู้จัก เลือก และ คิด

เหตุผลทั้ง สองประการที่กล่าวมา ไม่ใช่เหตุผลสำคัญที่สุดว่าทำไมเราควรศึกษาวิชาปรัชญา เหตุผลที่สำคัญที่สุดคือ ปรัชญาเป็นอาหารธรรมชาติของคนที่มีความหิวในการแสวงหาความรู้ ผู้ที่ใช้ความคิดในการดำเนินชีวิตจะมีความหิวนี้อยูี่ไม่มากก็น้อย เช่นอย่างน้อยที่สุดเราก็อยากรู้ว่าเราคือใคร อยู่ในโลกนี้ในฐานะเช่นใด? ชีวิตที่ดีคือชีวิตแบบไหน? คนหลายคนเข้าหาศาสนาเพื่อหาคำตอบของคำถามนี้ แต่ก็มีคนจำนวนมากที่เราเรียกว่า "นักปรัชญา" หรือ "ผู้รักความรู้" พยายามหาคำตอบด้วยวิธีการของเหตุผลและใช้ปรัชญาเป็นผู้นำชีวิต.
--
ที่มา : พินิจ รัตนกุล, บรรณาธิการ. (2515). ปรัชญา. กรุงเทพฯ.

THAI CADET

 

© 2547-2566. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo