ความเป็นอิสระของคนที่คิดอย่างปราชญ์

การคิดอย่างปราชญ์ หมายถึงการฝึกฝนต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพทางใจหรืออิสรภาพภายใน แต่มิใช่การเป็นเจ้าของอิสรภาพนั้น เพราะเมื่อใดที่ไ่ด้อิสรภาพทางใจมาเป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์ เมื่อนั้นก็หยุดความเป็นปราชญ์ และกลายเป็นผู้สำเร็จ
 

โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ : ปรัชญา 
ชุมนุมบทความทางวิชาการ ถวายพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ในโอกาสที่พระชนม์ครบ 80 พรรษา บริบูรณ์

การคิดเช่นปราชญ์ หมายถึง การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นอิสระทางใจ ภายใต้เงื่อนไข ภาวการณ์ต่าง ๆ แต่อะไรเล่าคือความเป็นอิสระทางใจ

ได้มีการวาดภาพนักปราชญ์มาตั้งแต่สมัยโบราณว่าเป็นมนุษย์ซึ่งมีความอิสระ

ประการแรก เพราะนักปราชญ์ไม่ต้องการสิ่งไร หลุดพ้นจากโลกแห่งวัตถุและจากการบังคับบัญชาของอารมณ์และความอยาก มีชีวิตอยู่เช่นนักพรต

ประการที่สอง เพราะนักปราชญ์ไม่มีความกลัว เพราะได้มองเห็นภาพไม่จริงที่น่าเกลียดน่ากลัว ซึ่งศาสนาต่าง ๆ วาดไว้ได้ทะลุประโปร่ง

ประการที่สาม เพราะนักปราชญ์มิได้มีส่วนร่วมในกิจการของรัฐ และไม่ได้เล่นการเมือง ดำรงชีวิตซ่อนเร้นอยู่ในความเงียบ ไม่มีกฎเกณฑ์ ถือตนว่าเป็นพลเมืองคนหนึ่งของโลก มิใช่ของรัฐใดรัฐหนึ่งโดยเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม ปราชญ์เหล่านี้มีความเชื่อมั่น และคิดว่าตนได้มาแล้วซึ่งความเป็นอิสระที่สมบูรณ์ที่สุด ที่เต็มที่ที่สุด และเป็นจุดที่อยู่้นอกและเหนือสิ่งทั้งหลายที่ยังเกี่ยวข้องอยู่กับโลก เป็นจุดที่ปราศจากการกระทบกระเทือนและความไหวหวั่น

นักปราชญ์ดังที่วาดภาพมาเช่นนี้ ในด้านหนึ่งนั้นก่อให้เกิดความเคารพนับถือ แต่อีกด้านหนึ่งก่อให้เกิดความสงสัยแคลงใจจนถึงไม่ไว้ใจ ในด้านหนึ่งนั้นแสดงให้เห็นถึงความอิสระอย่างผิดปกติในความไม่มีสมบัติ พัสถาน ไม่มีครอบครัว ไม่มีอาชีพ แสดงออกถึงความสุข ซึ่งไม่ขึ้นอยู่หรือไม่ได้รับการกระเทือนจากสิ่งหรือเหตุการณ์ภายนอก ความสุขที่เกิดขึ้นในจิตสำนึกของผู้ที่ท่องเที่ยวไป และมีความเพิกเฉยไม่ขึ้นและลงด้วยการแปรผันของโชคชะตา อีกด้านหนึ่งอาจเป็นภาพของผู้ที่มีความคิดรู้สึกมุ่งแต่ตัวเองอย่างรุนแรง มีพลังใจที่มีประสิทธิผล จึงอาจก่อให้เกิดความทะนง โอ่ และหยิ่ง ความเย็นเยือกในด้านความเป็นคน และความน่าเกลียดที่ไม่ค่อยจะเป็นมิตรต่อปราชญ๋ด้วยกันเอง

ความเป็นอิสระจึงมีความหมายไปได้สองแง่อยุ่เสมอ เราพยามเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นอิสระ เพื่อให้ได้มาซึ่งจุดอาร์คิเมดิสนอกโลก แต่ปัญหามีอยู่ว่า จุดอาร์คิเมดิสนอกโลกเป็นจุดที่ทำให้มนุษย์อิสระเสรีเต็มที่เปรียบประหนึ่ง เป็นพระเจ้าเอง หรือว่าเป็นจุดภายนอกที่มนุษย์เสรีพอที่จะเผชิญหน้ากับพระเจ้า และตระหนักในขณะนั้นถึงความไม่อิสระเสรีอย่างสมบูรณ์ของตน ว่าอย่างน้อยก็็ยังต้องยึดมั่นในพระเจ้า

ความเป็นอิสระที่ไม่มีข้อผูกพันและที่ไม่มีความรับผิดชอบอาจจะปรากฏในรูปของ ควาไม่แยแส ความไม่ใช่ธุระของตนต่อโลกและเพื่อนมนุษย์

ความเพิกเฉยต่อความตาย วันหนึ่งความตายจะต้องมาถึง ทำไมจะต้องตื่นเต้น ? ความรักนั้นเป็นไปได้ แต่ก็ขึ้นอยู่่กับเวลา ขึ้นอยู่กับความแน่นอน และจะต้องผ่านพ้นเปลี่ยนแปลงไป ชีวิตดำรงอยู่อย่างไม่มีอารมณ์ ไม่มีประสงค์ที่จะเป็นหรือทำอะไรเป็นพิเศษ ทำไปเท่าที่ได้รับการร้องเรียนหรือเท่าที่ควรจะทำ ชีวิตที่ไม่มีขอบฟ้า ไม่มีความไกล ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต ไม่มีอะไรหวังอีกต่อไป ดำรงอยู่เพียงที่นี่และขณะนี้

ความเป็นอิสระที่ทำให้หลงผิดและปรากฏในลักษณะต่าง ๆ ทำำให้ความเป็นอิสระเองเป็นสิ่งที่น่าสงสัยแคลงใจ เหตุฉะนี้ เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งความเป็นอิสระที่แท้จริงจึงไม่เพียงแต่จะต้องมองเห็น และเข้าใจถึงความหมายสองด้านของมันเท่านั้น แต่ยังต้องตระหนักในขอบเขตของความอิสระด้วย เพราะอิสระที่สมบูรณ์สูงสุดนั้นหามีไม่ แม้แต่ความคิดก็มิได้เกิดขึ้นในสูญญากาศ ต้องมีต้นเหตุหรือความคิดต่อเนื่อง ชีวิตตัวเราซึ่งเป็นผู้คิดก็ต้องพึ่งพาถือกำเนิดมาจากชีวิตอื่น ไม่มีอิสรภาพหรือเสรีภาพที่อยู่โดดเดี่ยว ที่ไหนมีเสรีภาพที่นั่นย่อมีการต่อสู้กับความไม่มีเสรีภาพ

ด้วยเหตุฉะนี้ เราจะมีอิสรภาพที่แท้จริงได็ก็ต่อเมื่อเราพัวพันอยู่ในโลก ในขณะเดี่ยวกัน อิสรภาพมิอาจเกิดขึ้นได้เมื่อฉันละทิ้งโลกนี้ไป เป็นอิสระอยู่ในโลกหมายถึงการมีท่ท่าที่เหมาะสมต่อโลก อยู่กับโลก และขณะเดียวกันก็ไม่อยู่กับโลก อยู่ในโลก และขณะเดียวกันก็อยู่นอกโลก ปราชญ์อินเดียเคยกล่าวไว้ในภควัทตีว่า "จงทำงาน แต่อย่าไขว่คว้าหาผลของงาน" เล่าสือ ปราชญ์จีนก็กล่าวทำนองเดียวกันว่า "จงทำด้วยการไม่ทำ"

ประโยคที่กินความหมายลึกซึ้งกว้่างขวางทางปรัชญาดังกล่าวจะมีความหมายอย่าง ไร แค่ไหน และเพียงไรนั้น แถลงกันไม่มีที่สิ้นสุด เป็นการเพียงพอสำหรับเราที่ทราบว่ามีปราชญ์บางคนที่แสดงออกถึงความอิสระภาย ใน อิสระทางจิตใจ ความอิสระจากโลก มิอาจแยกตัวหรือหลุดพ้นจากการพัวพันอยู่ในโลกหรืออยู่กับโลก

ขอบเขตจำกัดประการที่สองของอิสรภาพก็คือ โดยลำพังตัวมันเองแล้วอิสรภาพคือความว่างเปล่า เพราะอิสรภาพนั้นหมายถึงการหลุดพ้นจากความกลัว ถึงการเพิกเฉยไม่ไยดีต่อทุกข์สุข ถึงความไม่หวั่นไหว ไม่ถูกกระทบกระเทือนด้วยความรู้สึกและความใคร่ความอยาก แต่อะไรเล่าที่มีอิสระ สิ่งที่จะมีอิสระในที่นี้ก็คือจุดของความเป็นตัวฉัน คือมนุษย์ นิตเชย์ (Nietzsche) เคยมีความคิดรุนแรง มนุษย์จะมีอิสรภาพต่อเมื่อไม่มีพระผู้เป็นเจ้า หรือถ้าจะใช้ภาษาของนิตเชย์ เมื่อพระผู้เป็นเจ้าถึงแก่อนิจกรรม เพราะตราบใดที่ยังมีพระผู้เป็นเจ้า มนุษย์จะไม่เติบโต เพราะต้องคอยอ้างอิงพึ่งพาพระผู้เป็นเจ้าอยู่เนืองนิจ

ขอบเขตจำกัดประการที่สามของอิสรภาพ คือ ลักษณะธรรมชาติพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ในฐานะเป็นคน เราจำต้องมีความผิดพลาด เมื่อเราตื่นขึ้นในจิตสำนึกครั้งแรก เราก็ตระหนักเสียแล้วว่าเราได้หลงผิด เมื่อเรามีความหลง ความลืม ความคลุมเครือ ความกระจ่างชัดในจิตใจ ความผิดพลาด เช่นนี้ เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะสามารถตะเกียกตะกายให้ได้มาซึ่งอิสรภาพอันสมบูรณ์ เมื่อเราทำโดยไม่ "่รู้" การกระทำของเราก็ไม่อาจ "ดี" ไปได้อย่างแท้จริง แต่เราคิดและเข้าใจว่าการกระทำนั้น "ดี" "ถูกต้อง" และมีความรู้สึกภาคภูมิ มีความมั่นคง แต่คานท์ (Kant) ได้แสดงให้เห็นว่า ในการกระทำที่ "ดี" ทั้งหลายแหล่นั้น ก็ยังมีเหตุผลักดันอยู่เบื้องหลังที่แอบแฝงซ่อนเร้น และอาจไม่อยู่ในจิตสำนึก ซึ่งคำนึงถึง "ตัวเอง" (self-interest, I'amour propre) อยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การกระทำนั้นไม่บริสุทธิ์ ไม่เสรี และไม่อิสระโดยสิ้นเชิง ธรรมชาติเช่นนี้เรามนุษย์ไม่อาจขจัดเสียได้

เราไม่มีความเชื่อมั่นในปราชญ๋ที่ไม่ยอมให้มีการโต้แย้ง เราไม่ต้องการความเพิกเฉย ไม่ใยดี ความไม่หวั่นไหว ความไม่ขึ้นและไม่ลง เพราะลักษณะของความเป็นมนุษย์จะต้องประสบ เรียนรู้ และตระหนักด้วยตัวเองว่าอะไรเป็นอะไร ในกิเลสและความกลัวด้วยน้ำตาแห่งความเศร้าและความทุกข์ และด้วยนำตาแห่งความยินดีปรีดา ฉะนั้น ด้วยการกระตุ้นของความผูกพันอยู่กับความเคลื่อนไหวของอารมณ์ และมิใช่ด้วยการขจัดอารมณ์เราจึงจะเข้าถึงตัวเราเอง และรู้จักตัวเราเอง เราจึงจะรับทุกข์โดยไม่ตีโพยตีพาย ถึงแม้จะหมดศรัทธาก็ไม่ยอมให้มาบั่นทอนตัวเอง ถึงแม้จะไหวหวั่นกระทบกระเทือน ก็ไม่ยอมให้มาทำลายชีวิตโดยสิ้นเชิง ในขณะเดียวกันอิสรภาพทางใจจะเพิ่มพูนแข็งแกร่งขึ้นในตัวเรา

การคิดอย่างปราชญ์ หมายถึงการฝึกฝนต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพทางใจหรืออิสรภาพภายใน แต่มิใช่การเป็นเจ้าของอิสรภาพนั้น เพราะเมื่อใดที่ไ่ด้อิสรภาพทางใจมาเป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์ เมื่อนั้นก็หยุดความเป็นปราชญ์ และกลายเป็นผู้สำเร็จ

และนี่เป็นความแตกต่างระหว่าง ปรัชญากับศาสนา ระหว่างปราชญ์กับผู้สำเร็จ.

โกศล สินธวานนท์
--
ที่มา : โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ : ปรัชญา (ชุมนุมบทความทางวิชาการ ถวายพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ในโอกาสที่พระชนม์ครบ 80 พรรษา บริบูรณ์

THAI CADET

 

© 2547-2566. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo