จริยศาสตร์คืออะไร ? : ความหมายและขอบเขตเนื้อหาของจริยศาสตร์

จริยศาสตร์เป็นการศึกษาคุณค่าแห่งชีวิตมนุษย์ โดยมีความมุ่งหวังให้มนุษย์ค้นหาคุณค่าที่แท้จริงแห่งชีวิตและสรรพสิ่ง โดยใช้สติปัญญา และเหตุผลในการแสวงหาสิ่งที่ดีมีคุณค่าที่สุดในชีวิต เพื่อความเจริญก้าวหน้าแห่งตน แต่เพราะชีวิตมนุษย์มิได้ราบเรียบเสมอไป บางครั้งเกิด "ความขัดแย้งทางคุณค่า (Conflict of Value) การกระทำของมนุษย์" กล่าวคือ เป็นความรู้สึกสองทางที่ขัดแย้งกัน จนมนุษย์ไม่สามารถตัดสินใจได้ ในท้ายที่สุดการกระทำต่าง ๆ ในสังคมจึงต้องอาศัยจริยศาสตร์มาเป็นมาตรการตัดสินคุณค่าการกระทำ.
 

ดวงเด่น นุเรมรัมย์
ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาจริยศาสตร์ศึกษา
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

จริยศาสตร์ (ethics)ตรงกับภาษาละตินว่า ethos, ethikos ซึ่งในสมัยกรีกโบราณจะใช้คำเหล่านี้ในหลายความหมาย อาทิ อุปนิสัย ประเพณี อารมณ์ หรือกิริยาท่าทาง (character, custom, disposition, manner) โดยความหมายนัยนี้ จริยศาสตร์จึงเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยความประพฤติ หรือการกระทำของมนุษย์ (ethics: science of moral; rules of conduct)

ตามพจนานุกรมศัพท์ปรัชญา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2540 ให้ความหมายคำว่า “จริยศาสตร์: ปรัชญาสาขาหนึ่งว่าด้วยการแสวงหาความดีสูงสุดของชีวิตมนุษย์ แสวงหากฎเกณฑ์ในการตัดสินความประพฤติของมนุษย์ว่าอย่างไหนถูก ไม่ถูก ดีไม่ดี ควรไม่ควร และพิจารณาปัญหาเรื่องสภาพของค่าทางศีลธรรม”

ตามทรรศนะของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้นิยามว่า “จริยศาสตร์ คือ การศึกษาตามวิธีการอันมีแบบแผนเพื่อที่จะเข้าถึงปัญหาอันสูงสุด ซึ่งเกี่ยวกับความประพฤติปฏิบัติของมนุษย์”

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาตามขอบเขตของการศึกษาแล้ว อาจกล่าวได้ว่า จริยศาสตร์เป็นสาขาหนึ่งของปรัชญา ที่ศึกษาเกี่ยวกับ “คุณค่า” การกระทำของมนุษย์ (value in human conduct) โดยมีเหตุผลเป็นพื้นฐานในการโต้แย้ง อีกนัยหนึ่ง “จริยศาสตร์ คือวิชาที่ใช้วิธีการทางปรัชญา (การใช้เหตุผล) ศึกษาเกี่ยวกับจริยธรรม”

การศึกษาเรื่องคุณค่าทางจริยศาสตร์อันเกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรม หรือการกระทำของมนุษย์นั้น สามารถพิจารณาตามขอบเขตของจริยศาสตร์ที่พยายามศึกษาหาคำตอบใน 3 ประเด็นนี้ คือ

1. คุณค่าการกระทำของมนุษย์(The analysis of conduct such as ought, should, duty, moral rules, right, wrong, obligation, responsibility, ect…) เป็นการศึกษาความหมายของค่าทางจริยธรรม อันได้แก่ ดี ชั่ว ถูก ผิด ควร ไม่ควร และศึกษาบ่อเกิดของค่าทางจริยธรรมที่เรียกว่าอภิจริยศาสตร์ (Metaethics) ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้นี้พูดถึงธรรมชาติของค่าทางจริยธรรม คือ

- การศึกษาว่าคุณค่ามาจากไหน และมีความสำคัญอย่างไร,

- คุณค่าการกระทำ, ความประพฤติ, พฤติกรรมของมนุษย์ที่ดีชั่ว ถูกผิด ควรไม่ควรเป็นแบบใด,

- ดีชั่ว ถูกผิดคืออะไร สามารถนิยามได้หรือไม่ ถ้านิยามได้จะนิยามว่าอย่างไร,

- ความดี ความชั่วมีอยู่จริงหรือเป็นเพียงกฎเกณฑ์ที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสังคม,

- และถ้าหากความดีชั่ว ถูกผิดมีอยู่จริงแล้วมีลักษณะเป็นอย่างไร

2. เกณฑ์ตัดสินคุณค่าการกระทำของมนุษย์(The inquiry into the nature of morality or moral acts.) เป็นการศึกษาหลักหรือมาตรการที่ใช้ตัดสินพฤติกรรม หรือการกระทำอย่างหนึ่งว่าดีชั่ว ถูกผิด อีกนัยหนึ่งคือ เป็นการศึกษาว่า เมื่อคน ๆ หนึ่งกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จะใช้หลักหรือมาตรการอะไรมาตัดสินว่าการกระทำนั้นถูกหรือผิด และมีเหตุผลอย่างไรที่ใช้หลัก หรือมาตรการนั้นมาตัดสิน อีกทั้ง มนุษย์นำสิ่งใดมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินความถูก ความผิด หากมิได้เอาความรู้สึกส่วนตัว กฎหมาย จารีต ประเพณี หรือความเชื่อมาตัดสิน แล้วมีเหตุผลอะไรมาเป็นมาตรฐานรองรับในการตัดสินในเรื่องนั้น ๆ ว่าดีชั่ว ถูกผิด และมีเกณฑ์ตัดสินคุณค่าที่แน่นอนตายตัวหรือไม่

3. อุดมคติหรือเป้าหมายสูงสุดของชีวิต(The search for the morally good life.) คือการศึกษาว่า ชีวิตมนุษย์เกิดมาเพื่ออะไร, ชีวิตที่ดีหรือชีวิตที่ประเสริฐที่มนุษย์ควรแสวงหาควรเป็นชีวิตแบบใด, มนุษย์ควรใช้ชีวิตอย่างไรจึงคุ้มค่าของการเกิดมาเป็นมนุษย์, อะไรคือความดีสูงสุดซึ่งมนุษย์ควรประพฤติปฏิบัติ หรืออุดมคติอันสูงสุดของมนุษย์ควรเป็นเช่นไร และมนุษย์ควรจะประพฤติปฏิบัติตนอย่างไรจึงจะบรรลุถึงอุดมการณ์นั้นได้

วิธีการศึกษาจริยศาสตร์ (How to study / Approach Ethics) แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. การศึกษากฎเกณฑ์ความประพฤติที่ปรากฏในสังคม (Non - Normative Approaches)

1.1 จริยศาสตร์เชิงพรรณา (Descriptive Ethics) การศึกษาจริยศาสตร์เกี่ยวกับความคิด ความเชื่อทางศีลธรรม พฤติกรรมทางศีลธรรม เกณฑ์ตัดสินทางศีลธรรมที่ปรากฏเป็นข้อเท็จจริง (fact) ในสังคม เช่น ศึกษาความเชื่อทางศาสนา และพฤติกรรมทางศีลธรรมของชาวเขา เป็นต้น

1.2 อภิจริยศาสตร์ (Metaethics) การศึกษาความหมายของศัพท์จริยะ (Ethical Terms) อันได้แก่ ดีชั่ว ถูกผิด ควร ไม่ควร ซึ่งเป็นการศึกษาจริยศาสตร์ในแนวทางของปรัชญาโดยตรง

2. การศึกษาทฤษฎีความคิดทางจริยศาสตร์โดยตรง (Normative Approaches)

2.1 กฎเกณฑ์โดยทั่วไปทางจริยศาสตร์ (General Normative Ethics) การศึกษาทฤษฎีแนวความคิดของนักจริยศาสตร์ที่แสวงหาคำตอบ เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ ความประพฤติ การกระทำของมนุษย์ อันจะนำมนุษย์ไปสู่จุดมุ่งหมายของชีวิตที่แท้จริง

2.2 จริยศาสตร์ประยุกต์ (Applied Ethics) เป็นการนำแนวคิดทฤษฎีจริยศาสตร์ไปประยุกต์ใช้กับการศึกษา หรือวิชาชีพอื่น ๆ หรือตอบปัญหาในวิชาอื่นที่เกี่ยวข้องกับความประพฤติของมนุษย์ เช่น จริยศาสตร์สิ่งแวดล้อม, จริยศาสตร์ธุรกิจ, จริยศาสตร์ทางการแพทย์, จริยศาสตร์พยาบาล เป็นต้น 

ความแตกต่างระหว่างศาสนาและจริยศาสตร์

"ศาสนา" เป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้อง และคล้ายคลึงกับจริยศาสตร์ กล่าวคือ ศาสนาทุกศาสนาย่อมกล่าวถึงจุดมุ่งหมายของชีวิตมนุษย์เฉกเช่นเดียวกับ "จริยศาสตร์"

แต่อย่างไร ก็ตามยังมีความแตกต่างกันอยู่ตรงที่ ศาสนาทุกศาสนาจะมีคำตอบเป็นสากลและชัดเจนว่าจุดมุ่งหมายของชีวิตมนุษย์คือ อะไร ยกตัวอย่างเช่น ศาสนาคริสต์ กล่าวถึง พระเจ้า คือจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิตคริสตศาสนิกชน ซึ่งลักษณะคำสอนของศาสนาคริสต์มีลักษณะเป็นคำสั่งของพระเจ้า และเป็นกฎหมายนิรันดรที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ที่กล่าวถึงการกระทำอันเป็นข้อห้ามและการกระทำที่คริสต์เตียนพึงปฏิบัติ พิจารณาได้จากบัญญัติสิบประการ (Ten Commandment)

อาจกล่าวได้ว่า "ศาสนา" เป็นเรื่องของการสอนให้คนกระทำความดี และห้ามปรามมิให้คนประพฤติชั่ว ในขณะที่ "จริยศาสตร์" ไม่ใช่การสอนที่ตายตัวว่าอะไรดีชั่ว ถูกผิด แต่เป็นเพียงการเสนอความคิดเห็น วิเคราะห์หลักความประพฤติ ให้หลักการโต้แย้งและแสดงเผตุผลอย่างกว้าง ๆ ในเรื่องการกระทำของมนุษย์ในเชิงของปรัชญา

"ศาสนา" ตั้งอยู่บนรากฐานของความเชื่อ และความศรัทธาเป็นองค์ประกอบ อีกทั้งมีคำสอนจากศาสดาที่แน่นอนตายตัว ซึ่งศาสนิกชนต้องมีความเชื่อและปฏิบัติตามได้ แต่ "จริยศาสตร์" ซึ่งเป็นเรื่องของการโต้แย้งและแสดงเหตุผล (Argument/Reasoning) ดังนั้น คำตอบที่ได้นั้นจึงไม่ตายตัวหรือเป็นมาตรฐานแน่นอน หากแต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ 

การประยุกต์ใช้จริยศาสตร์

ด้วยเหตุที่จริยศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับคุณค่าการกระทำของมนุษย์ ดังนั้น จริยศาสตร์สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ดังต่อไปนี้

1. เนื่องจากจริยศาสตร์ให้ความรู้ในเรื่องคุณค่าแห่งชีวิตมนุษย์ ว่าควรยึดถือในสิ่งซึ่งเป็นความต้องการที่แท้จริงของชีวิต อันเป็นสิ่งที่ประเสริฐสุดและควรค่าแก่การแสวงหาของชีวิต ดังนั้น จริยศาสตร์จึงเข้ามามีบทบาทในการกำหนดเป้าหมายในการดำเนินชีวิต เพื่อมนุษย์จะได้ใช้เป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติตน เพราะจริยศาสตร์จะช่วยให้มนุษย์มีความเข้าใจในตนเอง ผู้อื่น และสังคม อีกทั้งมนุษย์จะได้มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตต่อไป อันจะส่งผลให้บรรลุถึงสิ่งที่ตนได้ยึดถือไว้

2. การนำจริยศาสตร์มาเป็นแนวทางในการตัดสินว่าสิ่งใดดีชั่ว ถูกผิด ควร ไม่ควร เพื่อมนุษย์จะได้มียุติธรรมในการพิจารณาหรือตัดสินในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ อย่างถูกต้อง

3. การนำจริยศาสตร์มาใช้ในการพัฒนา และยกระดับจิตใจของตนเอง เพื่อให้มนุษย์ได้ใช้สติปัญญาในการตรึกตรอง พินิจพิจารณาสิ่งต่าง ๆ อย่างรอบด้าน อันจะส่งผลให้เกิดการประพฤติปฏิบัติตนโดยยึดถือเหตุผลเป็นหลักในการดำเนิน ชีวิต

4. การนำจริยศาสตร์มาใช้กับคนในสังคม จะช่วยให้สังคมมีระเบียบ เพราะหากสมาชิกของสังคมปราศจากความขัดแย้งต่อหลักการที่สังคมถือปฏิบัติร่วม กัน และสมาชิกต่างก็เห็นพ้องต้องกันในหลักการดำเนินชีวิตที่ดีแล้ว ย่อมทำให้เกิดความเป็นระเบียบในสังคม อีกทั้งจริยศาสตร์ช่วยให้สังคมมีความสงบสุข เพราะเมื่อทุกคนในสังคมยึดถือหลักการดำเนินชีวิตร่วมกันอย่างมีระเบียบแล้ว สังคมย่อมพบพาความสงบสุขด้วย

5. การนำจริยศาสตร์มาใช้ในการแก้ไขปัญหาของสังคม เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม บางปัญหาเป็นเรื่องของ "คุณค่า" ที่แต่ละปัจเจกบุคคลตีความ และยึดถือแตกต่างกันออกไป ดังนั้น จริยศาสตร์จึงเข้ามามีบทบาทในการโต้แย้งและการให้เหตุผล เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน อันจะนำไปสู่การกำหนดเป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาสังคมได้อย่างถูก ต้อง และตรงกับสาเหตุแห่งปัญหานั้น ๆ

6. การนำจริยศาสตร์มาใช้ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในด้านจิตใจ เพื่อให้พลเมืองของประเทศเป็นผู้มีจิตใจดีงาม มีความกล้าหาญทางจริยธรรม มีการตัดสินใจในหนทางที่ถูกต้อง อันเป็นหลักสำคัญที่จะทำให้พลเมืองมีความเข้มแข็งทางจิตใจ เพื่อเป็นพื้นฐานของการพัฒนาสังคมในด้านอื่น ๆ ต่อไป

เนื่องจากจริยศาสตร์เป็นการศึกษาคุณค่าแห่งชีวิตมนุษย์ โดยมีความมุ่งหวังให้มนุษย์ค้นหาคุณค่าที่แท้จริงแห่งชีวิตและสรรพสิ่ง โดยใช้สติปัญญา และเหตุผลในการแสงหาสิ่งที่ดีมีคุณค่าที่สุดในชีวิตเพื่อความเจริญก้าวหน้า แห่งตน แต่เพราะชีวิตมนุษย์มิได้ราบเรียบเสมอไป บางครั้งเกิด "ความขัดแย้งทางคุณค่า (Conflict of Value) การกระทำของมนุษย์" กล่าวคือเป็นความรู้สึกสองทางที่ขัดแย้งกัน จนมนุษย์ไม่สามารถตัดสินใจได้ ในท้ายที่สุดการกระทำต่าง ๆ ในสังคมจึงต้องอาศัยจริยศาสตร์มาเป็นมาตรการตัดสินคุณค่าการกระทำ. 

ตัวอย่างประเด็นทางจริยธรรมที่นำจริยศาสตร์มาใช้ประกอบในการพิจารณา

ตัวอย่างการนำจริยศาสตร์มาใช้ประกอบการตัดสินใจในปัญหา "การลงโทษประหารชีวิต" (Capital Punishment) ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่โต้แย้งกันมาเป็นเวลายาวนานว่าสมควรจะให้มีการลงโทษ ประหารชีวิตหรือไม่

สืบเนื่องมาจากข้อถกเถียงที่ว่าเมื่อผู้กระทำความผิดได้รับการลงโทษประหาร ชีวิตนั้นเป็นสิ่งที่โหดร้ายเกินไปหรือไม่ ในทรรศนะของผู้ที่ คัดค้านการ ลงโทษประหารชีวิตนั้นมิได้ปฏิเสธความเป็นจริงที่ว่า ผู้กระทำความผิดสมควรได้รับการลงโทษ แต่การลงโทษประหารชีวิตนั้น นับเป็นวิธีการที่โหดร้ายทารุณเกินไป โดยเฉพาะในประเทศไทยที่เป็นสังคมพุทธศาสนาด้วยแล้ว ซึ่งมีหลักคำสอนให้มนุษย์มีความเมตตากรุณา รู้จักให้อภัย ดังเช่นในหลักพรหมวิหาร 4 อันประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ดังนั้น จึงจำเป็นหรือไม่ที่ต้องลงโทษผู้กระทำความผิดถึงขั้นประหารชีวิต เพราะอย่างไรก็ตามการลงโทษประหารชีวิตนั้นก็ไม่ใช่วิธีการเดียวที่จะสามารถ ยับยั้งการกระทำผิด หากแต่เป็นวิธีการที่ปฏิเสธการปรับปรุงแก้ไขความประพฤติของผู้กระทำความผิด

นอกจากนี้แล้ว ควรคำนึงว่าการลงโทษประหารชีวิตจะให้ผลตอบสนองอย่างไรบ้างทั้งต่อผู้กระทำ ความผิด, ญาติพี่น้องและสังคม ดังนั้น เห็นสมควรหรือไม่ที่จะให้ผู้กระทำความผิดได้มีชีวิตอยู่ต่อไป และใช้มาตรการลงโทษด้วยวิธีการอื่นที่สามารถชดเชยความผิดได้ อย่างเช่น การลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งเป็นวิธีการที่ให้ความคุ้มครองแก่สังคมได้เช่นกัน อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิดได้ปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมที่ เขาได้กระทำพลาดไปเพื่อกลับตัวเป็นคนดีของสังคม และข้อควรคำนึงอีกประการหนึ่งที่น่าสนใจนั่นคือ ก่อนที่จะมีการตัดสินถึงขั้นประหารชีวิตนั้น การตัดสินหรือพิจารณาคดีมีความยุติธรรมเพียงใด หรือมีความคลาดเคลื่อนจากพยาน, หลักฐานหรือโดยเหตุอื่นใดหรือไม่ เพราะหากมีการลงโทษประหารชีวิตไปแล้วก็ไม่มีหนทางแก้ไขชีวิตให้กลับคืนมาได้ อีก

อีกมุมมองหนึ่งของผู้ที่สนับสนุนการลงโทษประหารชีวิตนั้นได้ให้ทรรศนะว่า ผู้กระทำความผิดที่ได้รับการตัดสินลงโทษประหารชีวิตส่วนใหญ่นั้นจะเป็นผู้ ต้องหาคดีอุจฉกรรจ์ อันได้แก่ ฆ่าบุพการี, ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ล่วงหน้า, ฆ่าข่มขืน, หรือก่อคดีสะเทือนขวัญ เป็นต้น ฉะนั้น บทลงโทษประหารชีวิตจึงมีเหมาะสมและความรุนแรงพอที่อาชญากรควรจะได้รับ เพราะชีวิตคนไม่อาจมีสิ่งใดกลับมาทดแทนได้ และในเมื่ออาชญากรไม่เห็นคุณค่าของชีวิตผู้อื่น อาชญากรก็ไม่สมควรที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป ดังนั้น ชีวิตของผู้บริสุทธิ์ควรจะได้รับการทดแทนด้วยชีวิตของอาชญากร

นอกจากนี้ การลงโทษประหารชีวิตเป็นหนทางเดียวที่จะขจัดอาชญากรผู้ที่เป็นภัยอันตรายออกไปจากสังคมได้อย่างถาวร แต่ถ้าใช้เพียงวิธีการกักขังในชั่วระยะเวลาหนึ่ง สักวันเขาก็ต้องพ้นโทษออกมาและกลับคืนสู่สังคม และมีแนวโน้มว่าเขาอาจจะก่อปัญหาอาชญากรรมซ้ำอีก เพราะเคยมีประสบการณ์ในการก่ออาชญากรรมที่รุนแรงมาก่อนหน้านี้แล้ว อีกทั้งการตัดสินลงโทษจำคุกตลอดชีวิตนั้นก็เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณในการ พัฒนาประเทศ แทนที่รัฐบาลจะนำเงินภาษีของประชาชนผู้สุจริตมาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กลับต้องมารับผิดชอบในการเลี้ยงดูอาชญากรที่เคยสร้างปัญหาและความหวาดกลัวให้กับสังคม และแม้ว่าโทษตัดสินประหารชีวิตจะเป็นโทษที่รุนแรงก็ตาม แต่โทษประหารชีวิตต้องมีอยู่ต่อไป เพราะโทษประหารชีวิตเป็นการคงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของตัวบทกฎหมาย อีกทั้งการคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิตนั้นเพื่อเป็นการข่มขวัญผู้ที่คาดว่าจะกระทำความผิดให้เกิดความหวาดกลัวในบทลงโทษที่รุนแรง เพื่อเป็นเยี่ยงอย่างมิให้คนไม่กล้าที่จะกระทำความผิด

จากกรณีศึกษาดังกล่าวนี้จะเห็นได้ว่า จริยศาสตร์นั้นได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการแสดงเหตุผล และให้ทางเลือกเพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจว่า เมื่อมีผู้กระทำความผิดในคดีอุฉกรรจ์แล้ว เห็นสมควรต้องมีการตัดสินลงโทษประหารชีวิตหรือไม่ เพราะเหตุใด

ณ ที่นี้อาจสรุปได้ว่า ไม่ว่าประเด็นทางจริยธรรมใด ๆ ที่ปรากฏขึ้นในสังคม จะสังเกตเห็นว่าการโต้แย้งและให้เหตุผล อันเป็นภาระหน้าที่ของจริยศาสตร์จะต้องเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องสัมพันธ์อยู่เสมอ แต่สิ่งที่นับว่าสำคัญประการหนึ่งสำหรับการใช้เหตุผลในเชิงจริยศาสตร์นั้นก็ คือจริยศาสตร์มิใช่การตัดสินลงไปว่าทรรศนะของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถูกหรือผิด หากแต่หน้าที่ของจริยศาสตร์เป็นแต่เพียงการโต้แย้งและให้เหตุผล

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo