สตรีไทยคนแรกกับรางวัลสันติภาพ ดร.อัมเบดการ์

ในพิธีมอบรางวัลสันติภาพนานาชาติ ดร.อัมเบดการ์ ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็น "มหาอุบาสิกา วิสาขา" แห่งยุคปัจจุบัน ดังข้อความตอนหนึ่งที่ว่า "สาวัตถีคือวิสาขา วิสาขาคือบงกช และบงกชคืออุบาสิกาที่ยิ่งใหญ่แห่งป่าสาวัตถี" และดังที่ศาสตราจารย์ ดร.เอส. เค. ซาร์การ์ (Prof. Dr. S. K. Sarkar) ประธานคณะกรรมการรางวัลฯได้กล่าวไว้ "การรับรางวัลของมหาอุบาสิกา ได้เพิ่มคุณค่าให้แก่รางวัลนี้"
 

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
อาจารย์ประจำภาควิชามนุษยศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พุทธศักราช 2548 ที่ผ่านมา มีพิธีมอบ "รางวัลสันติภาพนานาชาติ ดร.อัมเบดการ์" ประจำปี พ.ศ.2548 (Dr.Ambedkar International Peace Award 2005) ขึ้น ณ หอประชุมเมืองวิทยาศาสตร์ (Science City) กรุงโคลคาตา (Kolkata) ประเทศอินเดีย โดยรางวัลนี้จะมอบเป็นประจำทุก 5 ปีต่อ 1 ครั้ง ให้แก่บุคคลผู้กระทำคุณงามความดีและอุทิศตนอย่างต่อเนื่องในการสร้างสันติภาพแก่โลก

เป็นที่น่ายินดีว่าผู้ที่ได้รับรางวัลในปีนี้เป็นสุภาพสตรีจากประเทศไทย ได้แก่ มหาอุบาสิกา ดร.บงกช สิทธิพล (ตามการประกาศอย่างเป็นทางการในพิธี) โดยท่านเป็นสตรีไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัลนี้ ท่ามกลางพระภิกษุจากประเทศอินเดีย บังกลาเทศ และไทย จำนวน 1,240 รูป และมหาชนชาวอินเดียกว่า 3,000 คน (รวมทั้งชาวต่างประเทศจำนวนหนึ่งจากมาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน อังกฤษ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และไทย) ที่มาเป็นสักขีพยานในพิธีอย่างล้นหลาม จนล้นออกมานอกหอประชุม

รางวัลสันติภาพนานาชาติ ดร.อัมเบดการ์ ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ ดร.บี อาร์. อัมเบดการ์ (Dr. B. R. Ambedkar) (พ.ศ.2434-2499 หรือ ค.ศ.1891-1956) นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนนอกวรรณะในอินเดีย) นักต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดีย และบุคคลแรกในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่นำพระพุทธศาสนากลับคืนสู่ประเทศอินเดีย โดยท่านเห็นว่า ถ้าอินเดียจะปฏิรูปสังคม (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกเลิกระบบวรรณะ) การนำพระพุทธศาสนากลับคืนสู่อินเดียเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่ง ผลจากการต่อสู้และอุทิศตัวของท่าน ทำให้ปัจจุบันมีชาวพุทธเกิดขึ้นในอินเดียแล้วกว่า 50 ล้านคน (หรือกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ของประชากรอินเดียทั้งหมด) และพระพุทธศาสนาก็กำลังเติบโตในประเทศอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนวรรณะต่ำหรือคนนอกวรรณะ

ดร.อัมเบดการ์เกิดในตระกูลนอกวรรณะ (จัณฑาล) ได้รับการดูถูกดูแคลน เหยียดหยาม และกดขี่ ตลอดชั่วชีวิตของท่าน แต่ด้วยความอดทนและมานะอุตสาหะ ท่านได้พากเพียรพยายามเรียนหนังสืออย่างดีที่สุด และด้วยความช่วยเหลือของครูวรรณะพราหมณ์คนหนึ่ง ท่านจึงได้ใช้นามสกุล "อัมเบดการ์" เพื่ออำพรางความเป็นคนนอกวรรณะของท่าน ต่อมาท่านได้ทุนการศึกษาจากมหาราชาแห่งแคว้นบาโรดา ให้ไปศึกษาต่อยังประเทศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกทั้งด้านเศรษฐศาสตร์และนิติศาสตร์ หลังจากนั้นท่านได้กลับประเทศอินเดียเพื่อว่าความให้แก่คนวรรณะต่ำและคนนอกวรรณะที่ถูกกดขี่ จนกระทั่งท่านกลายเป็นผู้นำของคนทั้งในและนอกวรรณะเหล่านั้น

ท่ามกลางบรรยากาศของการต่อสู้เพื่อเอกราชอินเดียจากอังกฤษนั้น กลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสำคัญมีอยู่ 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ มหาตมะ คานธี ซึ่งเรียกร้องเอกราชด้วยหลัก "อหิงสา" (สันติวิธี) แต่ต้องการคงระบบวรรณะไว้ โดยเห็นว่าวรรณะเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมอินเดีย กลุ่มที่สองคือ สันนิบาตมุสลิม ซึ่งต้องการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษและแบ่งแยกดินแดนเพื่อตั้งรัฐอิสลาม และกลุ่มที่สามคือ ดร.อัมเบดการ์ ซึ่งต้องการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษพร้อมๆ ไปกับการยกเลิกระบบวรรณะ และไม่ต้องการให้อินเดียแบ่งแยกออกเป็นหลายประเทศ

ความคิดเห็นที่แตกต่างอีกประการหนึ่งระหว่าง มหาตมะ คานธี และ ดร.อัมเบดการ์ ก็คือ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง มหาตมะ คานธี ต้องการให้อินเดียไปเข้ากับฝ่ายอักษะ (เยอรมนี) โดยให้เหตุผลว่า อินเดียเคยอยู่ข้างอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่เมื่อสิ้นสุดสงครามอังกฤษกลับไม่ได้ให้เอกราชแก่อินเดีย แต่ ดร.อัมเบดการ์ต้องการให้อินเดียอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร (อังกฤษ) ต่อไป เพราะเห็นว่าสงครามครั้งนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายเผด็จการฟาสซิสต์ (เยอรมนี) และฝ่ายเสรีประชาธิปไตย (อังกฤษ) หากปล่อยให้เผด็จการฟาสซิสต์เป็นฝ่ายชนะ อินเดียจะยิ่งถูกปกครองด้วยอำนาจเผด็จการยิ่งขึ้น

ด้วยความคิดเห็นที่แตกต่างนี้ ทำให้ มหาตมะ คานธี ไปร่วมมือกับสันนิบาตมุสลิม เพื่อต่อต้าน ดร.อัมเบดการ์ ในปี พ.ศ.2475 (ค.ศ.1932) นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้อนุญาตให้มีผู้แทนจากชนกลุ่มน้อยต่างๆ ในอินเดีย รวมทั้งคริสเตียน มุสลิม ซิกข์ ชาวยุโรป และคนนอกวรรณะ มหาตมะ คานธี ได้อดอาหารประท้วงมิให้คนนอกวรรณะแยกตัวออกไปมีผู้แทนของตน ทำให้ ดร.อัมเบดการ์ต้องประนีประนอมเพื่อเห็นแก่ชีวิตของมหาตมะ คานธี เมื่ออังกฤษได้คืนเอกราชแก่อินเดียแล้ว สันนิบาตมุสลิมซึ่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการแบ่งแยกดินแดน (โดยมหาตมะ คานธี เองก็มิได้คัดค้านมาตั้งแต่ต้น) ก็ได้ประกาศแยกดินแดนไปตั้งเป็นประเทศใหม่ที่ชื่อว่า ปากีสถาน ท่ามกลางการโยกย้ายถิ่นอย่างสับสนโกลาหลของประชาชน มหาตมะ คานธี เองก็เสียใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น อีก 5 เดือนต่อมาท่านก็ถูกลอบสังหารโดยชาวฮินดูที่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการที่ประเทศถูกแบ่งแยกออกไป

รัฐบาลชุดแรกของอินเดียซึ่งมีเยาวหราล เนรูห์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เชิญ ดร.อัมเบดการ์เป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมคนแรก ดร.อัมเบดการ์ได้แสดงบทบาทความเป็นผู้นำโดยการร่างรัฐธรรมนูญของอินเดียที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญคือคนทั้งในและนอกวรรณะ รวมทั้งสตรีมีสิทธิเสรีภาพเสมอกัน ทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนี้ ดร.อัมเบดการ์ยังได้เป็นผู้ออกแบบธงชาติอินเดีย ซึ่งมี "ธรรมจักร" อยู่ตรงกลาง และตราสัญลักษณ์ของรัฐบาลอินเดียที่เป็น "สิงห์สี่หน้า" บนเสาหินแห่งพระเจ้าอโศกมหาราช ผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาออกสู่ดินแดนต่างๆ ในทวีปเอเชีย

มหาอุบาสิกา ดร.บงกช สิทธิพล ได้รับรางวัล "สตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนาแห่งโลก" เนื่องในโอกาสวันสตรีสากลแห่งสหประชาชาติ ประจำปี พ.ศ.2547 รางวัล "รัตนบงกชมหามาตาเมธธรรมาจารย์" จากมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก (World Buddhist University) และดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (Doctor of Tripitaka) จากสภาคณะสงฆ์แห่งอินเดีย ในปีเดียวกัน และล่าสุดท่านได้รับรางวัล "สันติภาพนานาชาติ ดร.อัมเบดการ์" ประจำปี พ.ศ.2548 ในฐานะผู้สร้างสันติภาพแก่โลก โดยการสืบสานเจตนารมณ์ของ ดร.อัมเบดการ์ในการนำพระพุทธศาสนากลับคืนสู่อินเดีย ณ เมืองสาวัตถี ดินแดนที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ยาวนานที่สุดในพุทธประวัติ

ท่านและสานุศิษย์ได้บุกเบิกมาเป็นเวลากว่า 10 ปี เพื่อพลิกแผ่นดินพุทธภูมิอันรกร้างแห้งแล้ง ให้กลายเป็นดินแดนอันร่มรื่นด้วยต้นไทรขนาดใหญ่ถึง 9,999 ต้น บนผืนดินกว่า 150 เอเคอร์ รอบๆ ซากปรักหักพังของวัดพระเชตวันมหาวิหาร ท่านได้สร้างพระพุทธรูปปางประทานพรชื่อว่า "พระพุทธมหามงคลชัย มหาเมตตาธรรม ประทานพร เพื่อสันติภาพโลก" ขนาดหน้าตักกว้าง 9.99 เมตร สูง 15 เมตร ความสูงจากฐานถึงยอดพระมหาเกศ 33 เมตร มีอาคารขนาดใหญ่สถาปัตยกรรมแบบไทยอันวิจิตรถึง 5 หลัง ภายในอาคารและพื้นปูด้วยหินอ่อนอย่างดี เพื่อเป็นสถานที่บำเพ็ญสมาธิภาวนา ปัจจุบันชาวพุทธจากทุกสารทิศหลั่งไหลมาจาริกแสวงบุญอย่างไม่ขาดสาย ณ "แดนมหามงคลชัย" เมืองสาวัตถี จนถึงปัจจุบันนับได้กว่า 10 ล้านคน จากดินแดนกว่า 100 ประเทศแล้ว

ด้วยการสนับสนุนจากสานุศิษย์นานาฃาติ มหาอุบาสิกา ดร.บงกช สิทธิพล ได้ถวาย "มหาสังฆทาน" เพื่อบำรุงพระพุทธศาสนาทั้งในประเทศไทย พม่า ลาว กัมพูชา ศรีลังกา และอินเดีย โดยถวายไตรจีวรแด่ภิกษุ ภิกษุณี สามเณร และสามเณรี (รวมทั้งบาตรและของใช้ที่จำเป็นแด่พระที่มีอาวุโส) อย่างทั่วถึง เช่น ในปี พ.ศ.2546 ที่ศรีลังกา 3,000 ไตร ในปี พ.ศ.2548 ที่พม่า 30,000 ไตร ลาว 5,000 ไตร กัมพูชา 5,000 ไตร และอินเดีย 3,000 ไตร เป็นต้น สำหรับประเทศไทยนั้น ท่านได้ถวายมาแล้วนับครั้งและนับจำนวนไม่ถ้วน โดยล่าสุดท่านได้ถวายปัจจัยเพื่อทำความสะอาดแก่วัดและสำนักสงฆ์ทุกแห่งทั่วประเทศ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน เป็นจำนวน 100,000 วัด เพื่อ "สืบทอดต่อยอดพระพุทธศาสนา" และเพื่อ "กู้หน้า" ภาพลักษณ์ของวัดพุทธศาสนาให้ดูร่มรื่น สะอาดตา สะอาดใจ นอกเหนือจากการมอบ "มหาทาน" เพื่อเป็นทุนการศึกษาแก่เด็กที่ขาดแคลน และเพื่อเป็นเครื่องยังชีพแก่คนยากจน ทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านดังกล่าว อีกนับจำนวนหลายหมื่นคน

ในพิธีมอบรางวัลสันติภาพนานาชาติ ดร.อัมเบดการ์ ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็น "มหาอุบาสิกา วิสาขา" แห่งยุคปัจจุบัน ดังข้อความตอนหนึ่งที่ว่า "สาวัตถีคือวิสาขา วิสาขาคือบงกช และบงกชคืออุบาสิกาที่ยิ่งใหญ่แห่งป่าสาวัตถี" และดังที่ศาสตราจารย์ ดร.เอส. เค. ซาร์การ์ (Prof. Dr. S. K. Sarkar) ประธานคณะกรรมการรางวัลฯได้กล่าวไว้ "การรับรางวัลของมหาอุบาสิกา ได้เพิ่มคุณค่าให้แก่รางวัลนี้"
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 28 ฉบับที่ 10165. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6. 

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo