เชงเม้ง : การบูชาบรรพบุรุษของชาวจีน

ในเรื่องที่เกี่ยวกับดนตรี ซุนจื้อเขียนไว้ในบทที่ว่าด้วย “เรื่องราวเกี่ยวกับดนตรี” (Treatise on Music) ว่า “มนุษย์ไม่สามารถจะอยู่ได้โดยปราศจากความรื่นเริง และเมื่อมีความรื่นเริงก็จำเป็นจะต้องมีรูปแบบการแสดงออกของความรื่นเริงด้วย เมื่อรูปแบบของการแสดงออกไม่เป็นไปตามหลักการที่ถูกต้องแล้วก็จะเกิดความสับสนวุ่นวาย กวีในครั้งแรกเริ่มไม่ชอบความวุ่นวายนี้จึงได้จัดตั้งศิลปะแห่งดนตรีขึ้นเป็นเครื่องนำทาง ทำให้ดนตรีเป็นเรื่องของความรื่นเริงและไม่ตกต่ำ ทำให้ความไพเราะมีหลากหลายและไม่จำเจ ทำให้บทเพลงต่างๆที่ปรากฏออกมาทุกรสทุกแบบได้ปลุกเร้าจิตใจของมนุษย์ให้ใฝ่ในทางที่ดี และป้องกันอารมณ์ชั่วร้ายมิให้เกิดขึ้น” ดนตรีในทัศนะของปรัชญาขงจื้อจึงเป็นเครื่องจรรโลงจิตใจของมนุษย์ให้สูงส่งยิ่งขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งของการให้การศึกษาทางด้านจริยธรรมแก่ประชาชน 
     

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
อาจารย์ประจำภาควิชามนุษยศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เทศกาล “เชงเม้ง” เป็นเทศกาลประจำปีในการบูชาบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วของชาวจีน ซึ่ง จะอยู่ในช่วงประมาณต้นเดือน เมษายน ของทุกปี การบูชาบรรพบุรุษ (Ancestor Worship) และการไว้ทุกข์ (Mourning) ถือเป็นพิธีกรรมที่สำคัญที่สุดพิธีกรรมหนึ่งของชาวจีน และปฏิบัติกันแพร่หลายสืบมาหลายพันปีจวบจนทุกวันนี้ แม้ว่าการไว้ทุกข์และการบูชาบรรพบุรุษจะเป็นความเชื่อดั้งเดิมของชาวจีน แต่ก็ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากปรัชญาขงจื้อ เพราะขงจื้อถือว่าเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามในการปลูกฝังความกตัญญูกตเวทีแก่ชนรุ่นหลัง เป็นโอกาสที่พี่น้องลูกหลานจะมาพบปะกัน และประเพณีก็เป็นเครื่องร้อยรัดผู้คนในสังคมเข้าไว้ด้วยกัน ขงจื้อจึงมองเทศกาล “เชงเม้ง” ในแง่ของจริยธรรมทางสังคม มากกว่าในแง่อภิปรัชญาเรื่องชีวิตหลังความตาย

ตามทฤษฎีพิธีกรรมของปรัชญาขงจื้อ จิตใจของคนเรามีคุณลักษณะ 2 ประการคือ “สติปัญญา” (Intellect) และ “อารมณ์” (Emotion) เมื่อคนที่เรารักตายลง เรารู้ด้วยสติปัญญาว่าผู้ตายได้ตายไปแล้ว และก็ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะเชื่อว่าวิญญาณจะอยู่เป็นอมตะ ถ้าหากเราทำตามสติปัญญาแต่เพียงอย่างเดียวเราก็ไม่จำเป็นต้องทำพิธีไว้ทุกข์ แต่จิตใจของเราก็มีคุณลักษณะของอารมณ์อยู่ด้วย ซึ่งทำให้เราเกิดความหวังว่าคนที่เรารักเมื่อตายไปแล้วอาจจะกลับมีชีวิตได้อีก หรือว่าวิญญาณอาจจะยังคงอยู่ต่อไปในโลกอื่น ดังนั้นเมื่อเราถือเอาตามความนึกฝัน เราก็กลายเป็นคนเชื่อถือในไสยศาสตร์และปฏิเสธการคิดด้วยสติปัญญา เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรารู้และสิ่งที่เราหวังจึงไม่เหมือนกัน ความรู้เป็นสิ่งสำคัญ แต่เราไม่สามารถจะอยู่ได้ด้วยความรู้เพียงอย่างเดียว เราต้องการความพึงพอใจทางด้านอารมณ์ด้วย

ศาสนา (Religion) และบทกวี (Poetry) เป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความนึกฝันของมนุษย์ ซึ่งผสมผสานจินตนาการเข้ากับความเป็นจริง ความแตกต่างของสิ่งทั้งสองก็คือ ศาสนาถือสิ่งที่ตนเองพูดว่าเป็นจริง ในขณะที่กวีนิพนธ์มิได้ถือสิ่งที่ตนเองพูดว่าเป็นเรื่องจริง สิ่งที่กวีนิพนธ์เสนอไม่ใช่เป็นเรื่องจริงและกวีเองก็รู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องจริง ถ้าจะถือว่าเป็นเรื่องหลอกลวงก็เป็นการหลอกลวงที่รู้ตัว กวีนิพนธ์จึงไม่ใช่วิทยาศาสตร์แต่ก็ไม่ขัดแย้งกับหลักวิทยาศาสตร์ เราได้รับความพึงพอใจทางด้านอารมณ์จากบทกวีโดยไม่ได้ขัดขวางความเติบโตของสติปัญญาแต่อย่างใด

ตามทัศนะของปรัชญาขงจื้อ เมื่อเราประกอบพิธีไว้ทุกข์หรือพิธีบูชาเราหลอกตัวเองโดยที่เราเองก็รู้ตัว ใน “หนังสือแห่งพิธีกรรม” ขงจื้อกล่าวว่า “ในการเกี่ยวข้องกับคนตาย ถ้าเราปฏิบัติต่อผู้ตายเหมือนกับว่าเขาได้ตายไปจริงๆ นั่นก็เท่ากับว่าเราขาดความรักความผูกพันไปซึ่งเป็นการไม่สมควร ถ้าเราปฏิบัติต่อผู้ตายเหมือนกับว่าเขายังมีชีวิตอยู่จริงๆ นั่นก็เท่ากับว่าเราขาดสติปัญญาซึ่งก็เป็นการไม่สมควรอีกเช่นกัน” หมายความว่าเราไม่สามารถจะปฏิบัติต่อคนตายตามที่เรารู้และตามที่เราหวังอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่เราควรจะปฏิบัติต่อคนตายตามที่เรารู้และตามที่เราหวังด้วยทั้งสองอย่าง

ในหนังสือชื่อ “ซุนจื้อ” บทที่ว่าด้วย “เรื่องราวเกี่ยวกับพิธีกรรม” (Treatise on Rites) ซุนจื้อ สานุศิษย์คนสำคัญของขงจื้อ กล่าวว่า “พิธีกรรมเป็นเรื่องของการปฏิบัติต่อชีวิตและความตายเป็นจุดสุดท้าย ถ้าเราปฏิบัติต่อจุดเริ่มต้นและจุดสุดท้ายดีแล้ว วิถีทางของความเป็นมนุษย์ก็จะสมบูรณ์ ถ้าเราปฏิบัติบิดามารดาด้วยดีในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่ แต่มิได้ปฏิบัติต่อท่านเมื่อท่านถึงแก่กรรมลง นั่นก็เท่ากับว่าเราให้ความเคารพต่อพ่อแม่ในขณะที่ท่านรู้เท่านั้น และได้ละเลยท่านเมื่อท่านไม่รู้ ความตายของคนๆหนึ่ง หมายความว่าเขาจากไปชั่วนิรันดร นับเป็นโอกาสสุดท้ายที่ลูกจะได้รับใช้พ่อแม่ ดังนั้นหน้าที่ของพิธีไว้ทุกข์ก็คือการทำความหมายของชีวิตและความตายให้ชัดเจน เป็นการอำลาผู้ตายด้วยความเศร้าและความเคารพ และเป็นการทำจุดสุดท้ายของมนุษย์ให้สมบูรณ”

ในบทเดียวกัน ซุนจื้อกล่าวว่า “พิธีบูชาเป็นการแสดงออกถึงความรู้สึกรักใคร่ผูกพันของมนุษย์ เป็นการแสดงถึงความสูงส่งของจิตใจ ความซื่อสัตย์ ความรัก และความเคารพ และนับเป็นความประพฤติอันเหมาะสมและการขัดเกลาจิตใจโดยสมบูรณ์ สุภาพบุรุษมองพิธีกรรมในฐานะเป็นกิจกรรมอันเหมาะสมของมนุษย์ ในขณะที่บุคคลธรรมดาเห็นพิธีกรรมเป็นเรื่องเกี่ยวกับผีเทวดา” ด้วยการตีความในลักษณะนี้ ความหมายของพิธีบูชาได้กลายเป็นเรื่องอารมณ์แบบกวีมากกว่าที่จะเป็นเรื่องความเชื่อทางศาสนา

ในเรื่องที่เกี่ยวกับดนตรี ซุนจื้อเขียนไว้ในบทที่ว่าด้วย “เรื่องราวเกี่ยวกับดนตรี” (Treatise on Music) ว่า “มนุษย์ไม่สามารถจะอยู่ได้โดยปราศจากความรื่นเริง และเมื่อมีความรื่นเริงก็จำเป็นจะต้องมีรูปแบบการแสดงออกของความรื่นเริงด้วย เมื่อรูปแบบของการแสดงออกไม่เป็นไปตามหลักการที่ถูกต้องแล้วก็จะเกิดความสับสนวุ่นวาย กวีในครั้งแรกเริ่มไม่ชอบความวุ่นวายนี้จึงได้จัดตั้งศิลปะแห่งดนตรีขึ้นเป็นเครื่องนำทาง ทำให้ดนตรีเป็นเรื่องของความรื่นเริงและไม่ตกต่ำ ทำให้ความไพเราะมีหลากหลายและไม่จำเจ ทำให้บทเพลงต่างๆที่ปรากฏออกมาทุกรสทุกแบบได้ปลุกเร้าจิตใจของมนุษย์ให้ใฝ่ในทางที่ดี และป้องกันอารมณ์ชั่วร้ายมิให้เกิดขึ้น” ดนตรีในทัศนะของปรัชญาขงจื้อจึงเป็นเครื่องจรรโลงจิตใจของมนุษย์ให้สูงส่งยิ่งขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งของการให้การศึกษาทางด้านจริยธรรมแก่ประชาชน 

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo