ศาสนาคริสต์กับสังคมการเมือง

ศตวรรษที่ 16 บรูไนเป็นฐานในการเผยแพร่อิสลามไปสู่หมู่เกาะตอนใต้ของฟิลิปปินส์ ผู้นำซูลู และราชสำนักในเกาะมินดาเนา ได้เข้ารีตนับถืออิสลาม อิทธิพลของอิสลามได้ค่อยๆ เคลื่อนไปทางเหนือจนถึงเกาะลูซอน (Luzon) รวมทั้งอาณาบริเวณมะนิลา (Manila) สเปนซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาณานิคมอาจเป็นผู้ปกป้องมิให้หมู่เกาะแห่งนี้กลายเป็นดินแดนอิสลาม ปัจจุบันประชากรกว่า 80 ล้านคนของฟิลิปปินส์นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก มีเพียงหมู่เกาะมินดาเนา (Mindanao) ทางภาคใต้และหมู่เกาะซูลู (Sulu) เท่านั้นที่นับถืออิสลาม นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1940 เป็นต้นมา รัฐบาลฟิลิปปปินส์และมุสลิมภาคใต้ได้ปะทะกันด้วยกำลังทหาร ให้ความขัดแย้งยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน 
   

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
อาจารย์ประจำภาควิชามนุษยศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

แผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (หรือ "อุษาคเนย์") เป็นดินแดนที่นับถือพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์มาเป็นเวลากว่า 2,000 ปี มีเพียงประเทศที่เป็นแหลมและหมู่เกาะในอุษาคเนย์เท่านั้นที่ศาสนาประเภท "เอกเทวนิยม" (Monotheism) จากตะวันออกกลางและตะวันตกอันห่างไกลได้แผ่อิทธิพลมาถึง ศาสนาอิสลามที่พ่อค้าอาหรับได้เดินทางมาทางเรือและนำมาเผยแผ่นั้นครอบคลุมหมู่เกาะอินโดนีเซีย บรูไน และแหลมมลายู ส่วนศาสนาคริสต์ที่ชาวตะวันตกนำมาเผยแผ่ในยุคอาณานิคมนั้น ครอบคลุมหมู่เกาะฟิลิปปินส์ และติมอร์ตะวันออก ศาสนาคริสต์ในฟิลิปปินส์

สเปนเข้ามายังฟิลิปปินส์ด้วยแรงจูงใจ 2 ประการ ประการแรก คือ ความตั้งใจในการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ ประการที่สอง คือ โอกาสในการเปิดเมืองท่าการค้าสู่เอเชียหมู่เกาะแห่งนี้ได้รบการขนานนามตามชื่อของมกุฎราชกุมารฟิลิป (Felip) และรู้จักกันต่อมาในนามของ "ฟิลิปปินส์" ชุมชนเชื้อสายสเปน และเชื้อสายจีนได้กลายเป็นพลังทางการเมืองและเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดในฟิลิปปินส์ กุญแจสำคัญที่สเปนใช้ในการควบคุมฟิลิปปินส์ก็คือ ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างรัฐกับศาสนา สเปนต้องการเปลี่ยนประชาชนฟิลิปปินส์ให้มานับถือพระเจ้าของตน โดยรับได้ส่งบาทหลวงในนิกายหลักของสเปนคือ เจซูอิท (Jesuit) โดมินิกัน (Dominican) และโคลัมเบียน (Columbian) ไปเพื่อเปลี่ยนศาสนาคนในชนบท และขณะเดียวกันก็จัดตั้งรัฐอาณานิคมพร้อมกันไป

เมื่อ โจเซ่ ไรซอล (Jose Rizl) ชาวฟิลิปปินส์เลือดผสมจีนผู้มั่งคั่งได้เรียกร้องความเป็นอิสระในการปกครอง คำว่า "ฟิลิปปิโน" (Filipino) ก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของลัทธิชาตินิยม ไรซอลถูกจับด้วยข้อหากบฏและถูกประหารชีวิตในที่สาธารณะ ลัทธิชาตินิยมของฟิลิปปินส์จึงได้วีรบุรุษทางอุดมการณ์ (martyre) ในขณะนั้น

ขณะที่กำลังเผชิญหน้ากับการกบฏอย่างเปิดเผยในฟิลิปปินส์อยู่นั้น สเปนก็ต้องต่อสู้กับกลุ่มกบฏใหญ่ในคิวบา ทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดต้องถูกถ่ายเทไปยังอเมริกากลาง การแทรกแซงของสหรัฐอเมริกาในคิวบาทำให้เกิดสงครามระหว่างสเปนกับอเมริกาขึ้น กองเรือแปซิฟิกของสหรัฐได้แล่นเข้าสู่อาวมะนิลา ทำลายกองทัพเรือสเปน และเข้ายึดครองมะนิลา นักชาตินิยมฟิลิปปินส์อาศัยจังหวะที่สเปนอ่อนแอ ประกาศอิสรภาพในวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ.1898 ระหว่างปี ค.ศ.1899-1901 สหรัฐอเมริกาได้ทำสงครามเพื่อยึดครองฟิลิปปินส์สงครามสิ้นสุดลงเมื่อสหรัฐอเมริกาสัญญาที่จะคงความมั่งคั่งและอำนาจของชนชั้นผู้นำฟิลิปปินส์ (ilustrado elite) ไว้

ภายหลังการโค่นล้มระบอบเผด็จการมาร์กอส ในกลางทศวรรษที่ 1980 รัฐบาลของ นางคอรี่ อาควิโน (Cory Aquino) ได้ดำเนินนโยบายทางการเมืองที่ไม่เอาผิดกับกบฏที่กลับใจ พร้อมไปกับปฏิบัติการทางทหารที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ขบวนการคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของ "กองทัพประชาชนใหม่" (New People's Army หรือ NPA) สิ้นสุดลง นโยบายดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้กับขบวนการ "แนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร" (MILF หรือ Moro Islamic Liberation Front) อย่างได้ผล แม้ว่าจะเกิดขบวนการแบ่งแยกดินแดนของชาวมุสลิมกลุ่มใหม่ที่ชื่อว่า "อาบู ไซยัฟ" (Abu Sayyaf) ขึ้นที่เกาะมินดาเนา ทางตอนใต้ของประเทศก็ตาม

ศาสนากับสังคมการเมืองใน ติมอร์ตะวันออก

โอกาสในการสร้างผลกำไรจากป่าไม้จันทร์อันอุดมสมบูรณ์ ทำให้ชาวโปรตุเกสสร้างเมืองท่าสำหรับค้าขายขี้นบนเกาะติมอร์ในปี ค.ศ.1642 การขยายดินแดนของชาวดัตช์ในศตวรรษต่อมา ทำให้เกิดความขัดแย้ง และนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาระหว่างมหาอำนาจยุโรปทั้งสองในเวลาต่อมา โดยซีกตะวันออกของติมอร์ตกเป็นของโปรตุเกส ขณะที่ซีกตะวันตกเป็นของฮอลันดา

เกาะติมอร์เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และประชาชนชาวติมอร์ประสบกับการยึดครองที่โหดร้ายในสงคราม โดยประชาชนร้อยละ 10 (ประมาณ 50,000 คน) ต้องเสียชีวิตลง โปรตุเกสซึ่งยึดครองติมอร์ตั้งแต่ปี ค.ศ.1945 ได้ถอนตัวออกไปอย่างกะทันหันในปี ค.ศ.1975 สืบเนื่องจากนโยบายการคืนเอกราชแก่อาณานิคม ทำให้ติมอร์ตะวันออกขาดความพร้อมต่อการได้รับเอกราชในทันที

ปีถัดมา ค.ศ.1976 อินโดนีเซีย ประกาศผนวกดินแดนติมอร์ตะวันออกเป็นจังหวัดที่ 27 ของประเทศ การยึดครองต้องเผชิยกับการต่อต้านอย่างดุเดือดจากกองกำลังอาวุธซึ่งเรียกกันว่า "เฟรทิลินW (Fretilin) ระหว่างการปกครองของอินโดนีเซียนั้น ประมาณกันว่า กว่าหนึ่งในสี่ของประชากร (ประมาณ 200,000 คน) ได้เสียชีวิตลงเนื่องจากความอดอยากและโรคภัยไข้เจ็บ

ระหว่างการฆ่าหมู่ที่เดลิ (Deli massacre) ในปี ค.ศ.1991 ทหารอินโดนีเซีย ยิงผู้ประท้วงที่ปราศจากอาวุธเสียชีวิตหลายร้อยคน โจเซ่ รามอส ฮอร์ตา (Jose Ramos Horta) ผู้นำกลุ่มเฟรทิลินที่ต่อต้านอินโดนีเซียและถูกเนรเทศไปยังต่างประเทศ กับบิชอปคาร์ลอส เบโล (Bishop Carlos Belo) ผู้นำศาสนาของติมอร์ไตวันออกซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกันในปี ค.ศ.1996

ประธานาธิบดีฮาบิบี (B.J. Habibie) แห่งอินโดนีเซีย ประกาศให้มีการลงประชามติภายใต้การดูแลของสหประชาชาติในวันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ.1999 เมื่อประชาชนร้อยละ 78 ต้องการเป็นอิสระจากอินโดนีเซีย คลื่นแห่งความรุนแรงก็ได้เกิดขึ้น โดยนักรบติมอร์ตะวันออกที่สนับสนุนจาการ์ตาภายใต้การหนุนหลังของกองทัพอินโดนีเซีย ได้สังหารประชาชนไปกว่า 2,000 คน กองกำลังรักษาสันติภาพนานาชาติจากสหประชาชาติ ได้เข้าไปฟื้นฟูความสงบในปลายปี ค.ศ.1999

วันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ.2002 ติมอร์ตะวันออกก็ได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์ ซานานา กุสมา (Xanana Gusmo) อดีตผู้บัญชาการกองกำลังเฟรทิลินซึ่งถุกจับจองจำในอินโดนีเซียในปี ค.ค.1992 ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นเป็นประธานาธิบดีคนแรก ส่วน โจเซ่ รามอส ฮอร์ตา (Jose Ramos Horta) ได้เป็นประธานาธิบดีคนปัจจุบัน

บทสรุป

เนื่องจากมิได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนา ฟิลิปปินส์ ในอดีตจึงขาดแนวคิดที่ซับซ้อนเกี่ยวกับรัฐและจักรวาลวิทยาที่จะเชื่อมโยงอาณาจักรและศาสนจักรเข้าด้วยกัน ในยุคอาณานิคมบาทหลวงโรมันคาทอลิกจากสเปน ได้ใช้อำนาจทั้งทางโลกและทางศาสนาเข้าควบคุมผืนดินเป็นจำนวนมาก ประชาชนตอนเหนือและตอนกลางของหมู่เกาะฟิลิปปินส์ซึ่งนับถือศาสนาปฐมบรรพ์ จึงค่อยๆ ถูกเปลี่ยนเป็นคาทอลิก แม้ว่าจะเป็นคาทอลิกที่ผสมผสานกับความเชื่อ สัญลักษณ์ และพิธีกรรมท้องถิ่นแบบวิญญาณนิยมก็ตาม

ศตวรรษที่ 16 บรูไนเป็นฐานในการเผยแพร่อิสลามไปสู่หมู่เกาะตอนใต้ของฟิลิปปินส์ ผู้นำซูลู และราชสำนักในเกาะมินดาเนา ได้เข้ารีตนับถืออิสลาม อิทธิพลของอิสลามได้ค่อยๆ เคลื่อนไปทางเหนือจนถึงเกาะลูซอน (Luzon) รวมทั้งอาณาบริเวณมะนิลา (Manila) สเปนซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาณานิคมอาจเป็นผู้ปกป้องมิให้หมู่เกาะแห่งนี้กลายเป็นดินแดนอิสลาม ปัจจุบันประชากรกว่า 80 ล้านคนของฟิลิปปินส์นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก มีเพียงหมู่เกาะมินดาเนา (Mindanao) ทางภาคใต้และหมู่เกาะซูลู (Sulu) เท่านั้นที่นับถืออิสลาม นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1940 เป็นต้นมา รัฐบาลฟิลิปปปินส์และมุสลิมภาคใต้ได้ปะทะกันด้วยกำลังทหาร ให้ความขัดแย้งยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนติมอร์ตะวันออกเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในภูมิเภาค ด้วยรายได้เฉลี่ยต่อคนเพียงปีละ 300 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น และกว่าร้อยละ 40 ของประชากรจำนวน 800,000 คน มีชีวิตอยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจน โดยมีรายได้น้อยกว่า 1 ดอลลมาร์สหรัฐต่อวัน การว่างงานในเขตเมืองมีสูงถึงร้อยละ 80 ขณะที่ภาคชนบทมีเพียงชาวนาที่เพาะปลูกพอประทังชีพเท่านั้น อัตราการไม่รู้หนังสือมีถึงร้อยละ 50 และสาธารณูปโภคส่วนใหญ่ถูกทำลายเมื่อกองทหารอินโดนีเซียถอนทัพกลับไป ความหวังสูงสุดสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของติมอร์ตะวันออก จึงขึ้นอยู่กับสิทธิเหนือแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในทะเลติมอร์ปัจจุบัน

"...ภายหลังการโค่นล้มระบอบเผด็จการมาร์กอส ในกลางทศวรรรษที่ 1980 รัฐบาลของ นางคอรี่ อาควิโน ได้ดำเนินนโยบายทางการเมืองที่ไม่เอาผิดกับกบฏที่กลับใจ พร้อมไปกับปฏิบัติการทางทหารที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ขบวนการคอมมิวนิสต์ภายใต้กานำของกองทัพประชาชนใหม่ สิ้นสุดลง..."
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2553 ปีที่ ** ฉบับที่ ** คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6.

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo