คุณค่าของชีวิตและการแสวงหาความสุขตามคำสอนของศาสนา

การแสวงหาความสุขและคุณค่าของชีวิตตามคำสอนศาสนา สามารถสรุปได้ความหมายของ "ความสุข" ที่ต่างกัน ดังนี้ ศาสนาพุทธ "ความสุข" คือ การดำเนินชีวิตอย่างมีสติรู้เท่าทันความคิดของตนที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ศาสนาคริสต์ "ความสุข" คือ การดำเนินชีวิตที่มีความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ที่ก่อให้เกิดสันติภาพ ศาสนาอิสลาม "ความสุข" คือ การดำเนินชีวิตด้วยการทำความดีที่มีหลักศรัทธาและ หลักการปฏิบัติต่อพระเป็นเจ้าที่ก่อให้เกิดสันติสุข 
 

เขียนโดย พระสุริยัญ ชูช่วย
ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาจริยศาสตร์ศึกษา
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คุณค่าของชีวิต

เป้าหมายของการดำเนินชีวิตในทางพระพุทธศาสนาคือ การดำเนินชีวิตอย่างมีสติที่ก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ตนเองและผู้อื่น โดยไม่สร้างความเดือนร้อนให้แก่ตนเองและสังคม ในการดำเนินชีวิตของมนุษย์นั้นควรเป็นไปอย่างมีจุดมุ่งหมาย เพื่อชีวิตที่ดีมีคุณค่า คำสอนทางพระพุทธศาสนาสอนไว้ว่า สิ่งที่เป็นจุดหมายของการดำเนินชีวิตก็เป็นเรื่องของประโยชน์ที่เกี่ยว เนื่องกับความสุข เรียกว่า อรรถะ มี ๓ ประการ ดังนี้

๑. ทิฏฐธัมมิกัตถะ หมายถึง ประโยชน์ที่พึงเกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งเป็นประโยชน์เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวันที่บุคคลธรรมดาสามัญทั่ว ๆ ไปต้องการ ได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ และการมีคู่ครองและครอบครัวที่เป็นสุข ซึ่งประกอบด้วยหลักธรรมอันเป็นวิถีนำไปสู่จุดมุ่งหมาย หรือ เรียกอีกอย่างว่า "หัวใจของเศรษฐี" มี ๔ ประการ

๑) อุฏฐานสัมปทา คือ เลี้ยงชีพด้วยความขยัน ประกอบการงานด้านกสิกรรม พาณิชยกรรม รับราชการ ฯลฯ เป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้าน ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องสอดส่องพิจารณาให้รอบคอบ

๒) อารักขสัมปทา คือ รู้จักรักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้ด้วยความขยันและความชอบธรรม มิให้สูญหาย ชำรุดรู้จักซ่อมแซม ใช้จ่ายแต่พอสมควร

๓) กัลยาณมิตตา คือ คบคนดีเป็นมิตร เป็นที่ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา เป็นมิตรแท้มีความจริงใจ ไม่ชักชวนไปในทางที่เสียหาย ฯลฯ

๔) สมชีวิตา คือ การดำเนินชีวิตให้เหมาะสมกับอัตภาพหรือฐานะของตน รู้ทางที่เจริญ และทางที่เสื่อมเสียของโภคทรัพย์ ใช้จ่ายที่เหมาะสม ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ให้ฝืดเคือง รายรับต้องได้มากกว่ารายจ่าย (องฺ.อฏฺฐก. ๒๓/๕๔/๓๒๑)

๒. สัมปรายิกัตถะ หมายถึง ประโยชน์เบื้องหน้าเป็นหลักประกันชีวิตในอนาคต และภพหน้า ซึ่งเป็นประโยชน์ที่สูงกว่าประโยชน์ในปัจจุบันเป็นคุณค่าของชีวิตและยังเป็น ประโยชน์ที่พึงได้ในโลกนี้เช่นเดียวกัน เป็นความเจริญเติบโตงอกงามแห่งชีวิต ซึ่งประกอบด้วยหลักธรรม มี ๔ ประการ

๑) สัทธาสัมปทา คือ เชื่อในพระปัญญาการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และเชื่อในพระธรรม คำสั่งสอนของพระองค์ที่ให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติทั้งในชาตินี้และชาติหน้า เชื่อในการทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

๒) ศีลสัมปทา คือ ถึงพร้อมด้วยการรักษาศีลด้วยความบริสุทธิ์ใจ มีความประพฤติดีงาม ประกอบอาชีพสุจริต มีระเบียบวินัยในการดำเนินชีวิต น่าเลื่อมใส

๓) จาคสัมปทา คือ ประกอบด้วยการเสียสละ มีความรักความเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปันให้แก่บุคคลอื่นโดยทั่วหน้า

๔) ปัญญาสัมปทา คือ ถึงพร้อมด้วยปัญญา การใช้ปัญญาในการพิจารณาไตร่ตรองโดยแยบคาย เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ตนเองและผู้อื่น และกำจัดให้สิ้นความทุกข์โดยสิ้นเชิง (องฺ อฏฺฐก. ๒๓/๕๔/๓๒๔)

๓. ปรมัตถะ หมายถึง ประโยชน์สูงสุด อันหมายถึงนิพพาน คือ ดับกิเลสและทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง รู้แจ้งสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง รู้เท่าทันคติธรรมของสังขารธรรมทั้งหลาย ไม่ตกเป็นทาสของโลกและชีวิต ไม่ถูกบีบคั้นด้วยอำนาจความยึดถือ สามารถทำจิตใจให้เป็นอิสระ ผ่องใส สงบ มีความสุขใจ รู้แจ้งสภาวะของสิ่งทั้งปวง หลุดพ้นจากความทุกข์ ดับอวิชชา ตัณหา และอุปาทาน ประโยชน์สูงสุดนี้ผู้ประกอบด้วยหลักอริยมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นแนวทางแห่งการปฏิบัติย่อมสามารถเข้าถึงความสุขอันสูงสุดนี้ได้ กล่าวคือ เป็นความสุขระดับโลกุตตระ

ความสุข

ความสุข ในทางพระพุทธศาสนาแบ่งออกเป็น ๒ ระดับ ได้แก่ โลกียสุข คือ ความสุขแบบชาวโลก และ โลกุตตระสุข คือ ความสุขเหนือชาวโลก

๑) โลกียสุข คือ ความสุขแบบชาวโลก ที่มีความอยาก ความปรารถนา ที่จะให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการ เป็นความสุขที่พระพุทธศาสนาสอนแก่ผู้ที่มีชีวิตอยู่เป็นคฤหัสถ์หรือผู้ที่ ครองเรือนมีอยู่ ๔ ประการ ดังนี้

(๑) อัตถิสุข สุขเกิดจากความมีทรัพย์ คือความภูมิใจ เอิบอิ่มใจ ว่าตนมีโชคทรัพย์ที่ได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรงความขยันหมั่นเพียรของตนและโดยชอบ ธรรม

(๒) โภคสุข สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจ ว่าตนได้ใช้ทรัพย์ที่ได้มาโดยชอบธรรมนั้น เลี้ยงชีพ บำรุงบิดามารดา สามีภรรยา บุตร มิตร และบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์

(๓) อนณสุข สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจว่า ตนเป็นอิสระไม่มีหนี้สินติดค้างใคร

(๔) อนวัชชสุข สุขเกิดจากความประพฤติไม่มีโทษ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจว่า ตนมีความประพฤติสุจริต ไม่บกพร่องเสียหาย ใคร ๆ ติเตียนไม่ได้ทั้งทางกาย วาจา และใจ (องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๖๒/๙๑)

ความสุขระดับนี้ ถึงแม้ว่าจัดเป็นโลกียสุขแต่ก็ถือว่าเป็นความสุขที่ควรแสวงหาตามโลกียวิสัย ของมนุษย์ปุถุชนคนทั่วไป เพราะเป็นความสุขที่ชอบธรรมไม่มีการเบียดเบียนกัน การแสวงหาความสุขแบบนี้ทำให้ชีวิตมีคุณค่า มีสุขภาพจิตดี และมีผลเป็นสุขตามแบบชาวโลก

๒) โลกุตตระสุข คือ ความสุขที่อยู่เหนือวิถีชาวโลก หมายถึง ความสุขอันเป็นเรื่องภายในจิตใจที่เกิดจากการปฏิบัติด้วยสติปัญญา ความสุขระดับนี้จะเข้าถึงได้ด้วยหลักอริยมรรค อันเป็นแนวทางแห่งการปฏิบัติของบุคคล เพื่อให้เกิดความดีสูงสุด หลักอริยมรรค มี ๘ ประการ ดังนี้

๑. สัมมาทิฐิ (ความเห็นชอบ) หมายถึง ทัศนคติ ความเข้าใจ ความรู้ ที่เกิดจากปัญญาต่อสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง มีความรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ คือ

(๑) รู้จักทุกข์

(๒) รู้จักเหตุแห่งทุกข์

(๓) รู้จักเรื่องการดับสิ้นไปแห่งทุกข์

(๔) รู้จักทางที่ปฏิบัติแห่งการดับสิ้นไปแห่งทุกข์

ในพระไตรปิฎกอธิบายถึงสัมมาทิฏฐิ ดังนี้ "ภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฏฐิคืออะไร ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในทุกขสมุทัย ความรู้ในทุกขนิโรธ ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ" (ที.ม. ๑๐/๒๙๙/๓๔๘)

๒. สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ) หมายถึง การนึกคิดที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม มี ๓ ประการ คือ

(๑) ดำริออกจากกาม (เนกขัมมสังกัปป์) หมายถึง ความโลภ ความโกรธ และความรักใคร่ในวัตถุกามที่ทำให้ขัดข้องหมองใจ

(๒) ดำริในอันที่จะไม่พยาบาท (อพยาบาทสังกัปป์) หมายถึง ไม่คิดปองร้าย เคียดแค้นผู้อื่น แต่กลับมีความคิดที่เมตตา หมายถึง ความปรารถนาดี ต้องการให้เขามีความสุข

(๓) ดำริในการที่จะไม่เบียดเบียน (อวิหิงสาสังกัปป์) หมายถึง ไม่คิดทำร้ายผู้อื่น แต่กลับคิดช่วยเหลือเขาให้พ้นจากความทุกข์ (พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตฺโต), ๒๕๔๒ : ๗๕๑)

ในพระ ไตรปิฎกอธิบายถึงสัมมาสัมกัปปะ ดังนี้ "ภิกษุทั้งหลาย สัมมาสังกัปปะเป็นไฉน เนกขัมมสังกัปป์ อพยาบาทสังกัปป์ อวิหิงสาสังกัปป์ นี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ" (องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๒๕/๒๒)

๓. สัมมาวาจา (มีวาจาชอบ) หมายถึง การพูด การเจรจา ด้วยถ้อยคำที่ถูกต้อง อ่อนหวาน มีความไพเราะ มี ๔ ประการ คือ

(๑) เว้นจากการพูดเท็จ คือ ไม่พูดโกหก ไม่หลอกลวงหรือกล่าวให้คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง แต่ควรพูดสิ่งที่เป็นจริงไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด ๆ

(๒) เว้นจากการพูดส่อเสียด คือ ไม่พูดยุยง หรือเสียดแทงผู้อื่นให้เจ็บช้ำน้ำใจ แต่ควรพูดถ้อยคำที่สมานสามัคคี

(๓) เว้นจากการพูดคำหยาบ คือ ไม่พูดจาด้วยถ้อยคำที่รุนแรงลามก เช่น คำด่า คำประชดหรือกระแทกแดกดัน แต่ควรพูดด้วยถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน น่าเชื่อถือ น่าฟัง มีเหตุผล

(๔) เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ ไม่พูดไร้สาระ พูดเล่น พูดในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ควรพูดด้วยถ้อยคำที่สมเหตุสมผล มีประโยชน์ทางจิตใจ และทางการประพฤติปฏิบัติ

ในพระไตรปิฎกอธิบายถึงสัมมาวาจา ดังนี้ "ภิกษุทั้งหลาย การเว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ นี้เรียกว่าสัมมาวาจา" (ที.ม.๑๐/๒๙๙/๓๔๘)

๔. สัมมากัมมันตะ (การทำการงานชอบ) หมายถึง การกระทำที่ถูกต้องมี ๓ ประการ คือ

(๑) เว้นจากปาณาติบาต คือ การเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตหรือเบียดเบียนโดยเจตนาต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด
(๒) เว้นจากอทินนาทาน คือ การเว้นจากการถือเอาทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของตน โดยอาการขโมย หรือการใช้อำนาจของตนโดยมิชอบ
(๓) เว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร คือ การเว้นจากการประพฤติในกามกับบุคคลที่มีเจ้าของหวงแหน เช่น บุตรหญิงชาย ภรรยาและสามีผู้อื่น

ในพระไตรปิฎกอธิบายถึงสัมมากัมมันตะ ดังนี้ " ภิกษุทั้งหลาย สัมมากัมมันตะเป็นไฉน ภิกษุทั้งหลาย การเว้นจากปาณาติบาต เว้นจากอทินนาทาน เว้นจากกาเมสุมิจฉาจารนี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ" (ที.ม. ๑๐/๒๙๙๓๔๘)

๕. สัมมาอาชีวะ (การเลี้ยงชีพชอบ) หมายถึง การเลี้ยงชีพในทางที่ถูกต้องโดยชอบธรรม อาชีพที่สุจริต งดเว้นจากอาชีพที่ผิดกฎหมายและศีลธรรม (มิจฉาอาชีวะ) ๕ อย่าง ดังนี้

(๑) ค้าขายเครื่องประหารทำลายกัน เช่น ปืน ระเบิด อาวุธสงคราม เป็นต้น
(๒) ค้าขายมนุษย์
(๓) ค้าขายสัตว์สำหรับฆ่าเพื่อเป็นอาหาร
(๔) ค้าขายน้ำเมา หรือสิ่งเสพย์ติดทุกชนิด
(๕) ค้าขายยาพิษ

ในพระไตรปิฎกอธิบายสัมมาอาชีวะ ดังนี้ "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาอาชีวะเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ละการเลี้ยงชีพที่ผิดเสีย สำเร็จอยู่ ด้วยการเลี้ยงชีพที่ชอบ นี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ" (ที.ม. ๑๐/๒๙๙/๓๔๘)

"สาวกพึง หลีกเลี่ยงการค้าประเภทต่อไปนี้ คือ ค้าขายเครื่องประหาร ค้าขายมนุษย์ ค้าขายสัตว์สำหรับฆ่าเพื่อเป็นอาหาร ค้าขายน้ำเมา และค้าขายยาพิษ" (องฺ.ทสก.๒๔/๙๑-๙๔/๑๘๘-๒๐๖)

๖. สัมมาวายามะ (ความพยายามชอบ) หมายถึง ความเพียรพยายามที่ถูกต้องในสิ่งที่ดี มี ๔ อย่าง คือ

(๑) เพียรระวังไม่ให้เกิดบาปและอกุศลขึ้นในสันดานหรือนิสัยของตน
(๒) เพียรละบาปที่เกิดขึ้นในสันดานของตนให้หมดสิ้นไป
(๓) เพียรสร้างบุญกุศลให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง
(๔) เพียรรักษาบุญกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้มีอยู่มั่นคง อย่าให้สูญสิ้นไป (ที.ม.๑๐/๒๙๙/๓๔๘)

ในพระไตรปิฎกอธิบายถึงสัมมาวายามะ ดังนี้

ภิกษุทั้งหลาย สัมมาอาชีวะเป็นไฉน นี้เรียกว่า สัมมาวายามะ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
สร้างฉันทะ พยายาม ระดมความเพียร คอยเร้าจิตไว้ มุ่งมั่น เพื่อ(ป้องกัน) อกุศลธรรมอันเป็นบาปที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น
สร้างฉันทะ พยายาม ระดมความเพียร คอยเร้าจิตไว้ มุ่งมั่น เพื่อละอกุศลธรรมอันเป็นบาปที่เกิดขึ้นแล้ว
สร้างฉันทะ พยายาม ระดมความเพียร คอยเร้าจิตไว้ มุ่งมั่น เพื่อ(สร้าง) กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น
สร้างฉันทะ พยายาม ระดมความเพียร คอยเร้าจิตไว้ มุ่งมั่น เพื่อความดำรงอยู่ ไม่เลือนหาย เพื่อภิญโญภาพ เพื่อความไพบูลย์ เจริญเต็มเปี่ยมแห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว (ที.ม.๑๐/๒๙๙/๓๔๘)

๗. สัมมาสติ (ความระลึกชอบ) หมายถึง ความระลึกหรือการตั้งสติในทางที่ถูกต้อง คือมีสติรอบคอบระลึกได้ ก่อนที่จะทำ ก่อนพูด ก่อนคิด และระลึกถึงความดีงาม สิ่งที่เป็นบุญกุศล สิ่งที่ทำให้จิตใจผ่องใส และปฏิบัติให้เกิดศีล สมาธิ ปัญญา ในพระไตรปิฎกอธิบายถึงสัมมาสติ ดังนี้ สัมมาสติ เป็นไฉน สติ คือ การคอยระลึกถึงอยู่เนือง ๆ การหวนระลึก (ก็ดี) สติ คือ ภาวะที่ระลึกได้ ภาวะที่ทรงจำไว้ ภาวะที่ไม่เลื่อนหาย ภาวะที่ไม่ลือ (ก็ดี) สติ คือ สติที่เป็นอินทรีย์ สติที่เป็นพละ สัมมาสติ สติสัมโพชฌงค์ ที่เป็นองค์มรรค นับเนื่องในองค์มรรค นี้เรียกว่า สัมมาสติ (อภิ.วิ. ๓๕/๑๘๒/๑๔๐)

๘. สัมมาสมาธิ (จิตตั้งมั่นชอบ) หมายถึง ความตั้งใจ ความตั้งมั่นในอารมณ์ให้เป็นหนึ่ง ไม่หวั่นไหว ไม่ฟุ้งซ่าน ทำจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ให้เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ ในพระไตรปิฎกอธิบาย ดังนี้ "สัมมาสมาธิ เป็นไฉน ความตั้งอยู่แห่งจิต ความตั้งแน่วแห่งจิต ความมั่นลงไปแห่งจิต ความไม่ส่ายไป ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ภาวะที่ไม่ซัดส่าย ความสงบ (สมถะ) สมาธิอินทรีย์ สมาธิพละ สัมมาสมาธิ สมาธิสัมโพชฌงค์ ที่เป็นองค์แห่งมรรค นับเนื่องในมรรค อันใด นี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ" (อภิ.วิ.๒๕/๑๘๓/๑๔๐)

หลักอริยมรรค ๘ นี้ เป็นหลักการปฏิบัติที่วางให้เป็นแนวทางนำไปสู่ความสุข อันเป็นความสุขสูงสุดในทางพระพุทธศาสนาที่ถือว่าเป็นความสุขที่หลุดพ้นจาก สังสารวัฏ คือ ไม่มีการเวียนว่าย ตายเกิดอีกต่อไป และจัดเป็นความสุขระดับโลกุตตระที่มีความละเอียดอ่อน มีความประณีต หมายถึง "นิพพาน" ลักษณะสำคัญของนิพพานที่สืบเนื่องมาจากความหมายว่า "ดับ" ซึ่งนับว่ามีจุดเด่นน่าสนใจ มีอยู่ ๓ อย่าง คือ

๑. ดับอวิชชา หมายถึง การเกิดญาณทัศนะอันสูงสุด หยั่งรู้สัจธรรม

๒. ดับกิเลส หมายถึง กำจัดความชั่วร้าย และของเสียต่าง ๆ ภายในจิตใจ หมดเหตุที่จะเกิดปัญหาความเดือดร้อนวุ่นวายต่างๆ แก่ชีวิตและสังขาร

๓. ดับทุกข์ หมายถึง ความหมดทุกข์ บรรลุสุขอันสูงสุด ความดับระดับที่สามนี้ คือ ความสุข หรือความดับทุกข์สิ้นทุกข์

ความสุขมี ความสำคัญมากในทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะในการปฏิบัติธรรมถือว่า พุทธจริยธรรมไม่แยกต่างหากจากความสุข ในการดำเนินชีวิตประจำวัน การทำความดีต่าง ๆ ทั่วไป ก็เรียกว่า "บุญ" มีพุทธพจน์ตรัสว่า "บุญเป็นชื่อของความสุข" (ขุ.อิติ.๒๕/๒๐๐/๒๔๐:องฺ สตฺตก ๒๓/๕๙/๙๐) ส่วนในการบำเพ็ญเพียรทางจิตหรือเจริญภาวนา ความสุขก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เกิดสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิบรรลุฌานแล้ว ความสุขก็เป็นองค์ประกอบของฌานและสูงขึ้นไปที่สุดของฌานจนไปสู่ความสุขที่ ประณีตนั้น คือ"นิพพาน" และนิพพานก็เป็นความสุข (พระธรรมปิฎก, ๒๕๓๙: ๕๒๙) 

ศาสนาคริสต์

ศาสนาคริสต์ เป็นศาสนาเทวนิยม ที่มีถิ่นกำเนิดแถวประเทศปาเลสไตน์ เป็นศาสนาที่สืบต่อมาจากศาสนายูดายของชนชาติยิว มีพระเยซูเป็นศาสดา ที่จะนำมนุษย์ไปสู่ความรอด ให้พ้นจากความทุกข์และเข้าถึงอาณาจักรของพระเจ้า การดำเนินชีวิตของชาวคริสต์นั้น มีความศรัทธาในพระเจ้าเพียงองค์เดียว คือ พระยาเวห์หรือพระยะโฮวาห์ ที่มีลักษณะเป็นตรีเอกภาพเป็นองค์เดียวกัน คือ พระบิดา พระบุตร และพระจิต และเชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างโลกและสรรพสิ่ง รวมทั้งเป็นบ่อเกิดแห่งคุณธรรมต่าง ๆ ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาแห่งความรักที่สอนให้มนุษย์รักพระเจ้า และรักเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน (ฟื้น ดอกบัว, ๒๕๓๙: ๑๙๕) ดังในพระคัมภีร์ไบเบิ้ลสอนว่า "ให้มนุษย์รักพระเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจของท่าน ด้วยสุดความคิด และด้วยสิ้นสุดกำลังของท่าน และจงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง" (มาระโก. ๑๒:๓๐-๓๑)

คุณค่าของชีวิต

จุดมุ่งหมาย ของการดำเนินชีวิตในคำสอนของศาสนาคริสต์ คือ การดำเนินชีวิตที่มีความรักความเมตตาปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข โดยมีจุดมุ่งหมายสูงสุดอยู่ที่การกลับคืนสู่ความสัมพันธ์ กับพระเจ้า และมีชีวิตนิรันดรในอาณาจักรของพระเจ้า แต่การที่จะไปสู่จุดหมายนั้น มนุษย์จะต้องมีศรัทธาและปฏิบัติตามหลักคำสอนที่พระเจ้าทรงประกาศผ่านพระเยซู ให้มนุษย์สร้างความดี ละเว้นบาปหรือความชั่ว มนุษย์ก็จะรอดพ้นจากบาปและกลับไปมีชีวิตร่วมกับพระเจ้าดังเดิม

ตามหลักคำสอนของศาสนาคริสต์นั้น พระเจ้าทรงเป็นจุดหมายสูงสุดของความศรัทธา และทรงเป็นความสุขที่นิรันดร การเคารพเชื่อฟัง และจงรักภักดีต่อพระเจ้า ก็จะทำให้ได้รับความรักความเมตตาจากพระเจ้าและมนุษย์ต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ชีวิตมนุษย์พระเจ้าเป็นผู้สร้าง ชีวิตเป็นของพระเจ้า (ปฐมกาล. ๑:๒๗) พระองค์ทรงรักมนุษย์ แม้ว่ามนุษย์จะทำความชั่วมีบาปติดตัว พระองค์ก็ยังทรงไถ่บาปและให้อภัยแก่มนุษย์ผู้กระทำความผิด ซึ่งมาจากความรักความเมตตา และเป็นความรับผิดชอบของพระองค์

ชาวคริสต์ เชื่อว่า การสร้างความดีตอบแทนแก่พระเจ้า และเป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์นั้น เป็นสิ่งที่มนุษย์ควรตระหนักว่าเป็นหน้าที่ เพราะความดีนั้นเกี่ยวข้องกับความสุขที่มนุษย์ในสังคมปรารถนา มีคุณค่าต่อการดำเนินชีวิต เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติภาพ ดังนั้น การสร้างความดีของชาวคริสต์ เพื่อปฏิบัติตามคำสอนเรื่องการรักเพื่อนมนุษย์ จึงเป็นไปในรูปแบบของการสร้างสาธารณประโยชน์ที่ก่อให้เกิดความสุขแก่สังคม ส่วนรวม เช่น จัดตั้งโรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และด้านสังคมสงเคราะห์ ฯลฯ

อย่างไรก็ตามการบำเพ็ญประโยชน์เหล่านี้ มาจากหลักคำสอนที่สำคัญอันเป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิตของชาวคริสต์ คือ "รักพระเจ้าสุดจิตสุดใจ และจงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง" (มัทธิว. ๒๒:๓๗-๓๙) ซึ่งเป็นคำสอนที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าและมนุษย์ กับมนุษย์ด้วยกัน ที่แสดงออกถึงอานุภาพแห่งความรักความเมตตาในศาสนาคริสต์ อันเป็นความรักที่ไม่มีขอบเขตที่จำกัด ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม ฯลฯ ซึ่งเป็นการปลูกฝังและสร้างความรักให้เกิดขึ้น อันเป็นพื้นฐานของจิตใจ เพื่อให้เกิดสันติภาพแก่ตนเอง และเผื่อแผ่แก่ผู้อื่นโดยทั่วถึงกัน ความรักในศาสนาคริสต์มาจากพื้นฐานของบัญญัติ ๑๐ ประการ (Ten Commandments) ในพระคัมภีร์เก่า ที่ทรงบัญญัติผ่านโมเสส ดังนี้

อย่ามีพระเจ้าอื่นใดนอกจากเรา
อย่าออกพระนามพระเจ้าอย่างไม่สมควร
จงระลึกถึงวันสะบาโตถือเป็นวันบริสุทธิ์
จงให้เกียรติแก่บิดามารดาของเจ้าเพื่ออายุเจ้าจะได้ยืนนาน
อย่าฆ่าคน
อย่างล่วงประเวณีผัวเมียเขา
อย่าลักทรัพย์
อย่าเป็นพยานเท็จ
อย่าโลภสิ่งครัวเรือนของเพื่อนบ้าน
อย่าโลภภรรยาของเพื่อนบ้าน หรือทาสทาสีของเขา
(อพยพ. ๒๐:๓-๑๗)

ข้อบัญญัติทั้ง ๑๐ ประการนี้ นับได้ว่าเป็นหลักการปฏิบัติในการดำเนินชีวิตสำหรับมนุษย์ ทำให้มนุษย์เกิดความจงรักภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า และเป็นหลักศีลธรรมที่ทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสันติภาพ เพื่อเป้าหมายอยู่ ๒ ประการ

(๑) เป้าหมายตามหน้าที่และบทบาทของมนุษย์แต่ละคนในสังคม หมายถึง การดำเนินชีวิตของมนุษย์แต่ละคน ไม่ว่าจะมีสถานภาพทางสังคมเช่นใด เช่น เป็นตำรวจ ทหาร พยาบาล แพทย์ ครู ฯลฯ ก็ทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ก็ถือว่าเป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า

(๒) เป้าหมายเพื่อความสุขที่นิรันดร ซึ่งเป็นเป้าหมายที่มนุษย์ขณะยังมีชีวิตอยู่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดี ที่สุดอุทิศตนและการกระทำของตนเพื่อพระเจ้า การกระทำเพื่อพระเจ้าเป็นการกระทำที่สูงส่งกว่าการกระทำใด ๆ ทั้งปวง ซึ่งมีแนวทางดังนี้

๒.๑ มีความศรัทธาต่อพระองค์และปรารถนาที่จะใช้ชีวิตนิรันดร
๒.๒ ทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า คือ ยอมรับว่าชีวิตและความดำเนินไปของชีวิตเราเป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์
๒.๓ มีระเบียบวินัย ส่งเสริมการเรียนรู้ของตนเองและทางด้านศาสนา ขอคำแนะนำจากผู้ที่รู้ดีกว่าตน
๒.๔ กระทำกิจกรรมเพื่อสงเคราะห์บุคคลอื่น เพื่อสาธารณประโยชน์ และเพื่อเป็นเกียรติแก่พระเจ้า
๒.๕ สวดมนต์ภาวนาและปฏิบัติกิจศาสนาตามข้อบัญญัติ (ชนุตรา อิทธิธรรมวินิจ, ๒๕๓๗: ๑๓๘)

แนวทางดังกล่าวนี้ หากมองในแง่ความหมายจริยธรรม อันเป็นแนวทางการปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาคริสต์ ย่อมแสดงให้เห็นว่า ชีวิตของมนุษย์มีคุณค่าในการดำเนินชีวิต เพราะการปฏิบัติตามพระบัญญัติและมีความศรัทธาต่อพระเจ้า ก็จะมีความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า (อาณาจักรของพระเจ้า) ด้วยอำนาจแห่งความรักความเมตตาที่แสดงออกต่อมวลมนุษย์ที่มีผลทางด้านจิตใจ สร้างความมั่นใจ และกำลังใจ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากองค์ประกอบของจริยธรรม ชาวคริสต์ คือ

๑) พันธสัญญา (Covenant) หมายถึง เป็นข้อผูกพันหรือสัญญาระหว่างพระเจ้า (ผู้สร้าง) กับผู้ถูกสร้าง (มนุษย์) พระเจ้าประทานบัญญัติให้เป็นแนวปฏิบัติ เพื่อที่จะให้มนุษย์กลับสู่อาณาจักรของพระเจ้า และมนุษย์ผู้ถูกสร้าง จะต้องเชื่อฟัง มีความซื่อสัตย์ อ่อนน้อม ฯลฯ ต่อพระเจ้า (ปฐมกาล. ๙:๒-๑๗)

๒) อาณาจักรของพระเจ้า (Kingdom of God) หมายถึง สถานการณ์หรือสภาวะที่เกิดขึ้นแล้วขณะนี้ และยังไม่เกิดขึ้นสมบูรณ์จนกว่าจะถึงวันสิ้นโลก (Now and not yet paradox) ที่ผู้เคารพเชื่อมั่นและศรัทธาในพระเจ้าสามารถเข้าถึงได้ ทางรอดอันนำไปสู่อาณาจักรของพระเจ้าอันเกิดจากอำนาจของพระคุณหรือพระหรรษทาน ของพระเจ้า (grace) และข้อปฏิบัติตามหลักการของพระเจ้า ที่มีอยู่ทั้งในโลกนี้และโลกหน้าด้วยพระคุณและการที่มนุษย์เชื่อฟังและ ปฏิบัติตามบัญญัติต่าง ๆ มนุษย์เข้าสู่อาณาจักรของพระเจ้า อันเป็นผลมาจากการดำเนินชีวิตด้วยหลักการ ๒ ประการ คือ รักพระเจ้าสุดจิตสุดใจ และรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตัวเอง กล่าวคือ มนุษย์จะเข้าถึงได้ก็ต่อเมื่อรู้จักเสียสละสมบัติภายนอก เพราะอาณาจักรพระเจ้าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางวิญญาณ และผู้ที่ไม่สามารถสละสมบัติภายนอกได้ย่อมไม่สามารถเข้าถึงอาณาจักรพระเจ้าได้

๓) การรู้สำนึกผิดและมีการเปลี่ยนแปลง (Repentance) หมายถึง สำนึกผิดและมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและด้านจิตใจตัวเอง ยอมรับกฎเกณฑ์พระเจ้า จนทำให้มีการพัฒนา จริยธรรมของตัวเองจนกระทั่งมีชีวิตที่ดีขึ้น

๔) ความเป็นสาวก (Discipleship) หมายถึง บุคคลที่ทำตามประสงค์ของพระเจ้า (ลูกา. ๘:๒๑) และศรัทธาที่จะทำงานเพื่อพระเจ้า (ลูกา. ๙:๕๗-๖๒)

๕) ข้อกำหนดหรือกฎเกณฑ์ (Law) หมายถึง ข้อบังคับที่เกี่ยวกับการปกครองชาวอิสราเอลในพระคัมภีร์เก่า ต่อมาพระเยซูได้เพิ่มเติมกฎเกณฑ์เหล่านี้ อันเป็นอำนาจที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภายในที่เป็นคุณภาพของจิตใจ

๖) ความรัก (Love หรือ Agape) หมายถึง ความรักที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่งในทางศาสนาคริสต์ กล่าวถึงความรักว่า "จงรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตัวเอง" (มัทธิว. ๒๒:๓๙) และมีความปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นเป็นสุข ความรักซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่ากว่าทรัพย์สินเงินทองและสมบัติอันใด ๆ ในโลกนี้ อันเป็นบรรทัดฐานและพื้นฐานสำคัญของศาสนา

๗) การให้พร (Beatitudes) หมายถึง ความสุขที่เป็นเรื่องของจิตวิญญาณ ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน เช่น คำสอนที่มาจากการแสดงเทศนาบนภูเขา ที่เป็นการให้ความหวังแก่มนุษย์ทุกชนชั้น และยังเป็นการวางรากฐานของจริยธรรมในการดำเนินชีวิตของชาวคริสต์อีกด้วย (มัทธิว. ๕:๓-๑๒; ลูกา. ๖:๒๐-๒๓)

การดำเนินชีวิตของชาวคริสต์ในโลกนี้ ชาวคริสต์เชื่อว่า โลกนี้เป็นทางผ่านหรือมีชีวิตอยู่ชั่วคราว โลกหน้าหรืออาณาจักรของพระเจ้าและการมีชีวิตที่นิรันดร ยังเป็นความหวังและความปรารถนาของชาวคริสต์ทุกคน การมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ การได้ทำหน้าที่ตามพระประสงค์ของพระเจ้าถือว่าเป็นความดีที่ทำให้ชีวิตในโลก ปัจจุบันมีความสุขและชีวิตมีคุณค่า เช่น การมีความรักต่อเพื่อนมนุษย์ เสียสละ ทำหน้าที่ในสังคมให้ดีที่สุด ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่พระองค์ประสงค์ให้เกิดสันติภาพและความสุขขึ้นแก่มวลมนุษย์

ความสุข

ความสุขตามคำสอนศาสนาคริสต์ คือ ความสุขทางจิตวิญญาณที่มีความเชื่อว่า หากมนุษย์ทำความดีพระเจ้าก็ทรงรักและเมตตาที่แสดงออกถึงความต้องการทางด้าน จิตใจ ความจงรักภักดีต่อพระเจ้า และมีความรู้สึกว่าตนมีบาป เอาตัวไม่รอด ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จำเป็นต้องอาศัยการช่วยเหลือจากพระเจ้า ความทุกข์ทรมานและความเจ็บปวดต่าง ๆ เป็นเครื่องหมายอย่างหนึ่งของการทดสอบศรัทธาที่จะนำทางไปสู่ความรอด เพราะความรอดนั้นจะได้มาด้วยความยากลำบากและการทดสอบ ซึ่งมิใช่มนุษย์ทุกคนจะไปถึงได้ นอกจากนี้ความทุกข์ทรมานและความเจ็บปวดทั้งหลาย ยังเป็นเครื่องเตือนสติว่า มนุษย์เราอ่อนแอและไม่ได้มีพละกำลังที่วิเศษแต่ประการใด อาจมีการเจ็บไข้ได้ป่วยและมีความทุกข์เกิดขึ้นได้เสมอ จึงมิควรหลงลืมตัวขาดความเชื่อและไว้วางใจในพระเจ้า การสวดมนต์อ้อนวอนเป็นสิ่งที่บรรดาศาสนิกควรมีต่อพระเจ้า พระเจ้าก็จะช่วยเหลือแก่ผู้ที่มาสวดมนต์อ้อนวอนต่อพระองค์ด้วยความเคารพและ ศรัทธา หากผู้ที่ต้องการความสุขก็จะได้รับความสุข และก็มีความมั่นใจว่าตนเองจะได้รับการช่วยเหลือ ดังพระดำรัสที่เทศนาบนภูเขาว่า

บุคคลผู้ใด รู้สึกบกพร่องทางฝ่ายวิญญาณ ผู้นั้นเป็นสุข เพราะแผ่นดินสวรรค์เป็นของเขา บุคคลผู้ใดโศกเศร้า ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าเขาจะได้รับการทรงปลอบประโลม บุคคลผู้ใดมีใจอ่อนโยน ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าเขาจะได้รับแผ่นดินโลกเป็นมรดก บุคคลผู้ใด หิวกระหายความชอบธรรม ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าพระเจ้าจะทรงให้อิ่มบริบูรณ์ บุคคลผู้ใดมีใจกรุณา ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าเขาจะได้รับพระกรุณาตอบ บุคคลผู้ใดมีใจบริสุทธิ์ ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าเขาจะได้เห็นพระเจ้า บุคคลผู้ใดสร้างสันติ ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าพระเจ้าจะทรงเรียกเขาว่าเป็นบุตร บุคคลผู้ใด ต้องถูกข่มเหงเพราะความชอบธรรม ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าเป็นดินสวรรค์เป็นของเขา เมื่อเขาจะติเตียนข่มเหง และนินทาว่าร้ายท่านทั้งหลายเป็นความเท็จเพราะเรา ท่านก็เป็นสุข จงชื่นชมยินดี เพราะว่าบำเหน็จของท่านมีบริบูรณ์ในสวรรค์ เพราะเขาได้ข่มเหงผู้เผยพระวจนะทั้งหลายที่อยู่ก่อนท่านเหมือนกัน (มัทธิว. ๕:๓-๑๒)

พระดำรัสทั้งหมดนี้เป็นการแสดงธรรมครั้งสำคัญบนภูเขาที่มีผู้เข้าฟังมากที่สุด และเป็นที่มาของจริยธรรมในศาสนาคริสต์ นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่เขียนเกี่ยวกับความสุขหรือการให้พรไว้อีกว่า ท่านทั้งหลายที่เป็นผู้ยากจนก็ เป็นสุข เพราะว่าแผ่นดินของพระเจ้าเป็นของท่าน ท่านทั้งหลายที่อดอยากเวลานี้ก็จะเป็นสุข เพราะว่าท่านจะได้อิ่มหนำ ท่านทั้งหลายที่ร้องให้เวลานี้ก็เป็นสุข เพราะท่านจะได้หัวเราะ ท่านทั้งหลายจะเป็น เมื่อคนทั้งหลายเกลียดชังท่าน และจะไล่ท่านออกจากพวกเขา และจะประณามท่าน เมื่อคนทั้งหลายเกลียดชังท่าน และจะเหยียดหยามท่านว่าเป็นคนชั่วช้า เพราะท่านเห็นแก่บุตรมนุษย์ ในวันนั้นท่านทั้งหลายจงชื่นชมและโลดเต้นด้วยความยินดีเพราะ ดูเถิดบำเหน็จของท่านมีบริบูรณ์ในสวรรค์ เพราะว่าบรรพบุรุษของเขา ได้กระทำอย่างนั้นแก่พวกผู้เผยพระวจนะเหมือนกัน (ลูกา. ๖:๒๐-๒๓)

จากพระดำรัส ของพระเยซูคริสต์ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ หากพิจารณาให้ลึกซึ้งแล้ว ก็จะพบว่า การดำเนินชีวิตของมนุษย์ต้องรู้จักสภาวะที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของตัวเองเสีย ก่อน หากผู้ใดสามารถที่จะรู้จักควบคุมอารมณ์ที่เกิดขึ้น และรู้จักกับอารมณ์ต่าง ๆ เช่น โศกเศร้า การถูกข่มเหง ฯลฯ ก็จะทำให้บุคคลนั้น กลายเป็นคนเข้มแข็งภายในจิตใจ จะไม่ถูกอารมณ์เหล่านี้มากระทบได้ คำสอนดังกล่าวนี้ ล้วนแต่เป็นเรื่องของภายในจิตใจ หากมนุษย์ไม่สำรวมระวังบังคับจิตใจก็จะตกเป็นทาสของวัตถุภายนอก ทำให้ไม่มีความสุข เพราะความอ่อนแอทางจิตใจ ดังนั้น ความสุขในศาสนาคริสต์ล้วนแต่เป็นเรื่องของจิตใจ ที่มีความรักความเมตตาเป็นพื้นฐานที่สำคัญ ก็จะทำให้มนุษย์รู้จักการให้อภัย รู้จักเสียสละ แบ่งปัน มีการเอื้อเฟื้อต่อกัน ฯลฯ โลกก็จะมีสันติภาพและชีวิตก็จะมีความสุขหรือมีคุณค่าตามคำสอนของศาสนาคริสต์ 

ศาสนาอิสลาม

ศาสนาอิสลามเริ่มต้นการประกาศโดยศาสดามุฮัมมัด เมื่อคริสต์ศักราช ๖๑๐ ในคาบสมุทรอารเบีย ศาสนาอิสลามประกาศคำสอนซึ่งรวมศูนย์ความสำคัญอยู่ที่ความเชื่อในพระเป็นเจ้า พระองค์เดียว คือ อัลลอฮฺ คัมภีร์หลักของศาสนาอิสลามหรือพระดำรัสของพระเป็นเจ้า คือ อัล-กุรอาน และอัล-หะดีษ ซึ่งรวบรวมคำสอน และแบบอย่างความประพฤติของศาสดามุฮัมมัด อิสลาม หมายถึง การยอมตาม การเชื่อฟัง นอบน้อม หรือการมอบตนต่ออัลลอฮฺ และหมายถึง การมีหรือการสร้างสันติ ผู้นับถือศาสนาอิสลาม เรียกว่า มุสลิม หมายถึง ผู้ยอมตาม ผู้เชื่อฟัง ผู้นอบน้อมต่ออัลลอฮฺ และหมายถึงผู้มีหรือผู้สร้างสันติ คุณค่าของชีวิต

จุดมุ่งหมายของการดำเนินชีวิตในคำสอนของศาสนาอิสลาม คือ การดำเนินชีวิตด้วยการทำความดีที่มีหลักศรัทธาต่ออัลลอฮฺ และการทำความดีนั้นก็จะทำให้มนุษย์ดำเนินไปสู่จุดหมายสูงสุด คือ การมีความสุขหรือความพ้นทุกข์ หรือพ้นจากความหวาดกลัวทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ความสุขในโลกนี้ไม่จีรังและไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้น ความสุขในโลกหน้าจึงเป็นเป้าหมายสูงสุดของมนุษย์ การบรรลุเป้าหมายสูงสุดในโลกหน้าคือการได้ดำรงชีวิตในสวรรค์ที่ใกล้ชิดกับ พระเป็นเจ้า(อัลลอฮฺ) วิธีการที่จะไปสู่สวรรค์นั้น มนุษย์ต้องแสดงตนเป็นบ่าว มอบตน หรือยอมจำนนต่ออัลลอฮฺ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า อิสลาม เป็นทั้งเป้าหมาย (ความสุขหรือสันติ) และเป็นทั้งวิธีการดำเนินชีวิตไปสู่เป้าหมายนั้น นั่นคือการดำเนินชีวิตตามบัญญัติของพระเป็นเจ้าในฐานะที่เป็นวิธีการ อิสลามมีคำสอนที่เป็นระเบียบแบบแผน ทำให้มนุษย์มีความยึดมั่นอยู่ในศีลธรรม ความดีงาม เมตตาต่อเพื่อนมนุษย์และเพียบพร้อมด้วยขันติธรรม อยู่รวมกันเป็นภราดรภาพ คุณธรรมเหล่านี้มีรากฐานมาจากการรู้จักพระผู้ทรงสร้างจักรวาล (อัลลอฮฺ) และความจริงทั้งหลายที่พระองค์ประทานเป็นความรู้แก่มนุษย์ผ่านศาสดาหรือศาสน ฑูต (เราะซูล)

อิสลามนั้น ไม่แยกวัตถุกับจิตใจออกจากกัน มนุษย์ไม่ได้อยู่เพื่อการปฏิเสธชีวิต แต่มีชีวิตอยู่เพื่อทำชีวิตให้สมบูรณ์ตามธรรมชาติที่อัลลอฮฺทรงสร้าง หลักการดำเนินชีวิตของศาสนา อิสลามครอบคลุมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ได้แก่ หลักศรัทธา และหลักการปฏิบัติที่ครอบคลุมชีวิตและโลกในทุกมิติสอดคล้องกับธรรมชาติของ มนุษย์ และจักรวาลที่มนุษย์ทั้งชายหญิงต้องยึดมั่น โดยเท่าเทียมกัน

หลักศรัทธา ๖ ประการ

หลักศรัทธาเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต ที่ต้องปลูกฝังให้มีอยู่ในจิตใจของมุสลิมทุกคน เมื่อมีศรัทธาที่มั่นคงแล้ว ก็สามารถควบคุมพฤติกรรมให้แสดงออกในทางที่ถูกต้อง ตามคำสอนของอัลลอฮฺ หลักศรัทธาประกอบด้วยความเชื่อต่อไปนี้

๑) ศรัทธาในเอกภาพของอัลลอฮฺ คือ มุสลิมทุกคนต้องเชื่อว่าอัลลอฮฺมีจริง พระองค์ทรงสร้างโลกและสรรพสิ่ง ทรงรู้ ทรงเห็น ทรงได้ยินทุกสิ่งทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ทรงมีความเมตตากรุณาและมีความยุติธรรม ฯลฯ สัจธรรมสูงสุดนี้มีเพียงหนึ่งเท่านั้น สิ่งอื่นใดไม่อยู่ในฐานะเป็น พระเป็นเจ้า การยึดถือสิ่งอื่นเป็นพระเจ้าถือว่าเป็นความหลงผิดที่ร้ายแรงที่สุด ในอัล-กุรอาน กล่าวว่า "จงกล่าวเถิด พระองค์คือ อัลลอฮฺผู้ทรงเอกะ อัลลอฮฺเป็นที่พึ่งของสิ่งทั้งมวล พระองค์ไม่ประสูติ และทรงไม่ถูกประสูติ และไม่มีผู้ใดเสมอเหมือนพระองค์" (อัล-กุรอาน. ๑๑๒:๑-๔)

๒) ศรัทธาในบรรดามลาอิกะฮ์ ภาษา อังกฤษเรียกว่า "angel" ในภาษาไทยมีผู้ใช้คำว่า "เทวฑูต" มลาอิกะฮ์เป็นสิ่งสร้างที่ไม่มีเพศ ไม่กิน ไม่ดื่ม แต่สามารถเนรมิตเป็นรูปร่างต่าง ๆ มีหน้าที่ทำตามพระบัญชาของพระเป็นเจ้าเท่านั้น เช่น ทำการปลิดวิญญาณมนุษย์ เป็นสื่อนำโองการจากพระเป็นเจ้ามาสู่ศาสดา ช่วยเหลือคนดี ดูแลนรกสวรรค์

๓) ศรัทธาในบรรดาคัมภีร์ คือ เชื่อว่า พระเป็นเจ้าได้ประทานคัมภีร์แก่บุคคลที่ทรงแต่งตั้งเป็นศาสนฑูตประกาศศาสนา ของพระองค์ต่อมนุษยชาติทั้งมวล ในที่และเวลาต่าง ๆ ในประวัติ-ศาสตร์จนถึงศาสนาสุดท้ายก่อนวันสิ้นโลก คือ ศาสดามุฮัมมัด ซึ่งได้รับคัมภีร์อัล-กุรอาน โดยนัยนี้ คัมภีร์อัล-กุรอานเป็นพระคัมภีร์ที่สมบูรณ์ที่สุด เป็นฉบับสุดท้ายและเป็นที่รวมแก่นสัจธรรมทั้งหมดที่เคยมีมา "แท้จริงเรา-เรา-เราได้ประทานข้อตักเตือน (อัล-กุรอาน) นี้ลงมาและแท้จริงเราเป็นผู้รักษามันแน่นอน"(อัล-กุรอาน. ๑๕:๙)

๔) ศรัทธาในบรรดาศาสนทูตของอัลลอฮฺ คือ เชื่อว่าพระเป็นเจ้าได้ทรงให้มีเราะซูลหรือ ศาสนทูตมาประกาศศาสนาของพระองค์แก่ทุกประชาชาติตลอดทั้งประวัติศาสตร์สิ้น สุดที่ศาสดามุฮัมมัด ดังตัวอย่างโองการที่ว่า "ขอยืนยัน! แท้จริงเราได้ส่งศาสนทูตมาก่อนหน้าเจ้าในหลาย ๆ คณะของบรรพชนเมื่ออดีต" (อัล-กุรอาน. ๑๕:๑๐) และ "มุฮัมมัดไม่ได้เป็นบิดาของผู้ใดในหมู่บุรุษของสูเจ้าแต่ว่าเขาเป็นรสูลของ อัลลอฮฺ และเป็นตราของนบีทั้งหลาย และอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงรอบรู้ทุกสิ่ง" (อัล-กุรอาน ๓๓:๔๐)

๕) ศรัทธาในวันสิ้นโลก จะมีสมัยที่อัลลอฮฺทรงกำหนดให้จักรวาลพินาศ แล้วเกิดโลกใหม่ขึ้นมา ซึ่งอัลลอฮฺจะทรงให้ทุกคนฟื้นคืนชีพมารับการตัดสินการกระทำที่มนุษย์ประกอบ ไว้ในโลกนี้ โดยพระองค์อย่างยุติธรรม ผู้กระทำความดีก็จะได้รับรางวัลตอบสนองอยู่ในสวรรค์ชั่วนิรันดร ผู้กระทำความชั่วจะถูกลงโทษทรมานในนรก

๖) ศรัทธาในการกำหนดภาวะทั่งปวงโดยอัลลอฮฺ คือ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นโดยการกำหนดของพระองค์ และดำเนินไปตามกฎหรือสภาวะที่พระองค์ทรงวางไว้ตามพระประสงค์ของพระองค์ ดังเช่น "พระองค์คือผู้สร้างสูเจ้าจากดินแล้วทรงกำหนดวาระ (แห่งชีวิตของสูเจ้า) และมีวาระที่ระบุไว้ (รู้เฉพาะ) พระองค์แล้วสูเจ้ายังสงสัย" (อัล-กุรอาน. ๖:๒)

หลักปฏิบัติ ๕ ประการ

คุณค่าของชีวิตตามความเชื่อของมุสลิม คือ การที่ได้ปฏิบัติตามบัญญัติของพระเป็นเจ้า ซึ่งครอบคลุมชีวิตในทุกด้าน และเป็นมาตรฐานเดียวกันสำหรับชายและหญิง ข้อปฏิบัติทั้งหมดมีข้อปฏิบัติอันเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติ มีอยู่ ๕ ประการหรือเรียกว่า หลักอิสลาม (อัรกานุลอิสลาม) ซึ่งได้แก่

๑. การกล่าวปฏิญาณตน หมายถึง การประกาศยืนยันการนับถืออิสลาม โดยกล่าวถึง ความเชื่อในหลักสำคัญสูงสุดว่า "ข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่า แน่แท้ ไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากอัลลอฮฺ และข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่า แน่แท้ มุฮัมมัดเป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ"

๒. การนมาซ ๕ เวลา คือ การทำนมัสการต่อพระเป็นเจ้า เช้า บ่าย เย็น ค่ำ และกลางคืน ในนมาซมีท่าทางการสำรวมจิตใจระลึกถึงและขอพรต่อพระผู้เป็นเจ้าด้วยอิริยาบถ และคำกล่าวที่มีแบบแผน นับว่าเป็นการฝึกจิต ขัดเกลาจิตใจ เพิ่มพูนความเข้าใจในศีลธรรมและคุณธรรมอย่างแน่วแน่และสม่ำเสมอ นอกจากนั้นยังเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านร่างกายได้เป็นอย่างดี ผู้ที่จะทำกิจนี้ จะต้องทำความสะอาดในเครื่องแต่งกายและร่างกาย และทำความสะอาดทางใจ คือการสำรวม "สูเจ้าจงดำรงนมาซ แน่แท้ การนมาซช่วยยับยั้งผู้ปฏิบัติจากความชั่วและความเลวทรามต่าง ๆ" (อัล-กุรอาน. ๒๙:๔๕)

๓. การจ่ายซะกาต คือ การแบ่งปันทรัพย์ในครอบครองเมื่อครบพิกัดให้แก่ผู้มีสิทธิ์ เป็นการสร้างสวัสดิการและลดช่องว่างในสังคม เป็นการจัดระเบียบการสร้างสังคมสงเคราะห์ เพื่อช่วยให้ผู้อื่นมีการกินดีอยู่ดี ทรัพย์ที่ต้องจ่ายเป็นซะกาต ได้แก่ เงิน ทอง ปศุสัตว์สิ่งเพาะปลูก ฯลฯ ซะกาตกำหนดจ่ายใน ๘ ทาง คือ สำหรับคนอนาถา คนขัดสน เจ้าหน้าที่ผู้จัดเก็บและจ่ายซะกาต ผู้ที่เลื่อมใสจะนับถือหรือเพิ่งนับถืออิสลาม การไถ่ทาสหรือเชลย ผู้เป็นหนี้สินล้นตัว คนเดินทางที่ขาดค่าใช้จ่ายในการเดินทางในต่างถิ่น และในหนทางของอัลลอฮฺ อัล-กุรอานย้ำว่า "การให้ทานเป็นการขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์" (อัล-กุรอาน. ๙:๑๐๓)

๔. การถือศีลอด คือ การละเว้นจากการกิน การดื่ม การสัมพันธ์ทางเพศและสำรวมตนอยู่ในคุณธรรม นับตั้งแต่แสงอรุณขึ้น จนกระทั่งดวงอาทิตย์ตกตลอดเดือนเราะมะฎอน อันเป็นเดือนที่ ๙ ของศักราชทางจันทรคติอิสลามเป็นเวลา ๑ เดือน การถือศีลอดก็มิใช่งดบริโภคเท่านั้น แต่ยังมีการสำรวมตนในศีลธรรมและกระทำความดีต่าง ๆ เป็นพิเศษด้วยใจที่จดจ่อในอัลลอฮฺ อัล-กุรอาน ได้กล่าวถึงเจตนารมณ์ของการถือศีลอดไว้ว่า "บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย การถือศีลอดได้ถูกกำหนดแก่สูเจ้า ดังที่เคยบัญญัติแก่บรรดาผู้ล่วงไปก่อนสูเจ้า เพื่อสูเจ้าจะได้สำรวมตนจากความชั่ว" (อัล-กุรอาน. ๒:๑๘๓) การถือศีลอดนี้จะต้องปฏิบัติกันทุกคน ไม่มีข้อยกเว้นสำหรับคนรวย คนจน ผู้หญิง ผู้ชาย พระศาสดา หรือกษัตริย์ แต่ว่ามีข้อผ่อนผันสำหรับผู้ที่เดินทางไกล ผู้ป่วย หญิงที่มีประจำเดือน ผู้ชราภาพ ฯลฯ โดยการถือศีลอดชดใช้หรือจ่ายทรัพย์ตามเงื่อนไขของบัญญัติศาสนา

๕. การประกอบพิธีฮัจญ์ เป็น การไปเยี่ยมเยียน เพื่อประกอบศาสนพิธีตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ ณ เมืองมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย เป็นหน้าที่สำหรับผู้ที่มีความพร้อมด้านจิตใจ ร่างกาย และกำลังทรัพย์ การประกอบพิธีนี้ มีคุณประโยชน์นอกเหนือจากการยกระดับจิตใจและเสริมสร้างคุณธรรมหลายประการ ฮัจญ์ยังเสริมสร้างความสำนึกผู้บำเพ็ญอัจญ์ในความเป็นพี่น้องกัน ความเท่าเทียมกันของมวลมนุษย์ทุกคน ทุกฐานะ ทุกเพศ และทุกวัยต้องอยู่ในสถานที่เดียวกัน มีแบบแผนการแต่งกายเหมือนกัน และปฏิบัติอย่างเดียวกันในกรอบความเชื่อและศีลธรรม

หลักพื้นฐาน ที่สำคัญของศาสนาอิสลามที่เป็นทั้งภาคทฤษฎีและการปฏิบัติแสดงให้เห็นว่า อิสลามเน้นความสำคัญของจิตใจเป็นพื้นฐานที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมภายนอก อิสลามสร้างคุณธรรมภายในโดยปลูกฝังศรัทธาความเชื่อมั่นในจิตใจก่อน เพื่อมนุษย์จะได้ปฏิบัติตนตามรูปแบบของบัญญัติประการต่าง ๆ อันจะทำให้ชีวิตมีคุณค่าเกิดสันติสุขในตัวบุคคลและสังคม

ความสุข

ในคำสอนของศาสนาอิสลาม ความสุขเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่พระเป็นเจ้า(อัลลอฮฺ) ทรงกำหนดให้มี ความสุขเป็นสิ่งที่มนุษย์แสวงหาโดยการกระทำของมนุษย์ เป็นผลตอบ-แทนการกระทำความดีหรืออาจเป็นสิ่งที่พระเป็นเจ้าประทานให้ตามความ ประสงค์ของพระองค์ หากมนุษย์กระทำความดี เชื่อมั่นในอัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงโปรดปรานได้รับผลเป็น ความสุข แต่ถ้ามนุษย์ทำความชั่ว อัลลอฮฺก็จะทรงลงโทษ ผลคือ ความทุกข์นั่นเอง ดังนั้น ความสุขและความทุกข์เป็นสภาวะที่มีอยู่กับมนุษย์ เมื่อมนุษย์มีความสุข มนุษย์ก็ไม่ควรดีใจหรือหลงระเริง แต่ควรระวังความทุกข์ที่อาจจะเกิดตามมา ความสุขและความทุกข์ในศาสนาอิสลาม อาจแบ่งได้เป็น ๒ ความหมาย ดังนี้

๑. เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ

๑.๑) ความสุขและความทุกข์เป็นภาวะทางธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน เป็นประสบการณ์ที่มนุษย์มี เช่น ความเจ็บปวดทางกาย ในอัล-กุรอาน กล่าวว่า "เราสร้างมนุษย์ด้วยความยากลำบาก" (๙๐:๔) หรือที่ว่า

และเราได้สั่งมนุษย์ให้ทำการดี ต่อพ่อแม่ของเขา (๒๙:๘) แม่ของเขาได้อุ้มครรภ์เขาด้วยความเหนื่อยยาก และได้คลอดเขาด้วยความเจ็บปวด และการอุ้มครรภ์เขา และการหย่านมของเขาสามสิบเดือน (๒:๒๓๓) จนกระทั่งเมื่อเขาบรรลุการเป็นผู้ใหญ่และถึงสี่สิบปี เขากล่าวว่าข้าแต่พระผู้อภิบาลของฉัน! ขอได้ทรงโปรดประทานแก่ฉัน (คือทรงดลใจให้ฉันซึ่งพลังจิตและพลังอื่น ๆ ๒๗:๑๙).(อัล-กุรอาน. ๔๖:๑๕) และเมื่อเราได้ให้มนุษย์ลิ้มความเมตตา พวกเขาก็ระรื่นโดยสิ่งนั้น (๑๐:๒๑ )และถ้าทุกข์ร้ายอันใดประสบแก่พวกเขา เนื่องด้วยน้ำมือของพวกเขาได้ประกอบไว้ก่อน เมื่อนั้นจงดูเถิด พวกเขาท้อถอย (อัล-กุรอาน. ๓๐:๓๖)

๑.๒) ความสุขและความทุกข์เป็นผลมาจากพฤติกรรมของมนุษย์ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นผลมาจากเจตนาและการกระทำของมนุษย์

และทุกข์ภัยอันใดที่ ประสบแก่สูเจ้า ดังนั้น เนื่องมาจากที่สูเจ้าได้ขวนขวายไว้ด้วยน้ำมือของสูเจ้าเอง (๔:๗๙) และพระองค์ทรงได้ทรงอภัย (ความผิด) มากต่อมาก (อัล-กุรอาน. ๔๒:๓๐) และเราไม่ได้ส่งบรรดารสูล เว้นแต่เป็นผู้แจ้งข่าวดี และผู้ตักเตือน (๒:๒๑๓, ๔:๑๖๕, ๑๘:๕๖) เพราะฉะนั้น ผู้ใดศรัทธาและฟื้นฟูการดี ดังนั้น จะไม่มีความหวาดกลัวแก่เขาทั้งหลายและเขาทั้งหลายจะไม่ระทม (อัล-กุรอาน. ๖:๔๘) อันใดแห่งความดีประสบแก่เจ้า (มนุษย์เอ๋ย!) ดังนั้น (มันมา) จากอัลลอฮฺ และอันใดแห่งความชั่วประสบแก่เจ้า ดังนั้น (มนุษย์เอ๋ย!มันมา) จากตัวเจ้าเอง และเราได้ส่งเจ้าเป็นรสูลแก่มนุษยชาติและเพียงพอแล้วที่อัลลอฮ์ทรงเป็นพยาน (อัล-กุรอาน. ๔:๗๙)

๑.๓) ความทุกข์และความสุขทั้งสองอย่างนี้ดำเนินอยู่ในโลกนี้และโลกหน้า ความทุกข์และความสุขเหล่านี้เป็นสาระของมนุษย์ที่ดำรงชีวิตอยู่ที่เป็นความ จริงในโลกนี้ และเป็นความรู้สึกของจิตใจที่ครอบคลุมไปถึงชีวิตหลังความตาย

จงรู้ไว้เถิดว่า ชีวิตแห่งโลกนี้เป็นเพียงการละเล่น และการบันเทิงและเครื่องประดับและความโอ้อวดระหว่างสูเจ้า และในการแข่งขันกันสะสมทรัพย์สินและลูก ๆ ดังอุปมาของน้ำฝนซึ่งการงอกเงย (แห่งพืชผล) ของมันยังความพึงพอใจแก่ชาวนา แล้วมันแห้งเหี่ยว เจ้าก็เห็นมันเป็นสีเหลือง แล้วมันก็เป็นเศษเป็นชิ้น ส่วนปรโลกนั้น มีการลงโทษอันสาหัส พร้อมทั้งการให้อภัยโทษจากอัลลอฮฺและความปราโมทย์ (ของพระองค์) และชีวิตของโลกนี้มิใช่อื่นใด นอกจากเป็นปัจจัยแห่งมายาเท่านั้น (อัล-กุรอาน. ๕๗ : ๒๐)

๒. เป็นปรากฎการณ์ทางจริยธรรม

๒.๑) ความทุกข์และความสุขเป็นเครื่องพิสูจน์และเป็นปัจจัยการพัฒนาคุณธรรมและยัง เป็นกฏเกณฑ์ของอัลลอฮฺ ซึ่งมนุษย์จะต้องประสบ การปฏิบัติตามกฎศีลธรรมของอัลลอฮฺ ก็เพื่อที่จะบรรลุจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิต

ทุก ๆ ชีวิตมีความตาย (๓:๑๘๔) และเราได้ลองใจสูเจ้าด้วยการทดลองแห่งความชั่วและความดี และยังเราที่สูเจ้าจะถูกนำกลับ (๒๙:๓๗ (อัล-กุรอาน. ๒๑:๓๕) เพื่อสูเจ้าจะได้ไม่ต้อง ระทมต่อที่ได้สูญไปจากสูเจ้า (๓:๑๕๒) และไม่ระเริงต่อที่พพระองค์ได้ทรงประทานแก่สูเจ้าและอัลลอฮ์ไม่ทรงรักทุก ๆ ผู้โอหัง ผู้คุยโว (๓๑:๑๘) (อัล-กุรอาน. ๕๗:๒๓) ๒.๒) ความสุขเป็นสิ่งที่ถูกจัดสรรให้มนุษย์ทุกคน เป็นความโปรดปรานและความเมตตาของอัลลอฮฺ

"และเมื่อเราได้ให้ความสุขแก่ มนุษย์คนใด เขาก็มักจะหันหลังให้และนำตัวเขาห่างเหิน และเมื่อสิ่งเลวร้ายสัมผัสเขา เขาก็จะพร่ำวอนขออย่างยืดยาว" (อัล-กุรอาน. ๔๑:๕๑)

๒.๓) ความสุขเป็นรางวัลของอัลลอฮฺที่ประทานแก่มนุษย์ผู้ที่กระทำความดี

มิใช่เช่นนั้น ผู้ใดนอบน้อมตัวเขาต่ออัลลอฮฺ และเขาเป็นผู้กระทำการดี (๔:๑๒๕) ดังนั้น สำหรับเขา คือรางวัลของเขาอยู่ที่พระผู้อภิบาลของเขาและไม่มีความหวาดกลัวแก่เขาทั้ง หลาย และเขาทั้งหลายจะไม่ระทม (อัล-กุรอาน. ๒:๑๑๒)

มิใช่ (คุณลักษณะของ) อัลลอฮฺ ที่พระองค์จะทรงปล่อยบรรดาผู้ศรัทธา (๒๙:๒-๓) ในสภาพที่สูเจ้าเป็นอยู่ จนกระทั่งพระองค์ทรงจำแนกที่เลวออกจากที่ดี (๘:๓๗) และมิใช่ อัลลอฮฺ ที่พระองค์จะทรงแจ้งสิ่งพ้นญาณวิสัยแก่สูเจ้า ( ๖:๕๐; ๗๒:๒๖-๒๗) แต่อัลลอฮฺทรงเลือกรสูลทั้งหลายของพระองค์ผู้พระองค์ทรงประสงค์ (๖:๑๒๕) ดังนั้น จงศรัทธาในอัลลอฮฺและรสูลทั้งหลาย และถ้าสูเจ้าศรัทธาและสำรวมตนจากความชั่ว ดังนั้น สำหรับสูเจ้า คือ รางวัลอันใหญ่หลวง (อัล-กุรอาน. ๓:๑๗๘)

๒.๔) ความทุกข์เป็นผลมาจากทัศนะที่ผิดและการกระทำความชั่ว

"อันใดแห่งความดีประสบแก่เจ้า (มนุษย์เอ๋ย!) ดังนั้น (มันมา) จากอัลลอฮฺ และอันใดแห่งความชั่วประสบแก่เจ้า ดังนั้น (มนุษย์เอ๋ย!มันมา) จากตัวเจ้าเอง และเราได้ส่งเจ้าเป็นรสูลแก่มนุษยชาติ และเพียงพอแล้วที่อัลลอฮฺ ทรงเป็นพยาน" (ในหน้าที่เผยแผ่นี้) (อัล-กุรอาน. ๔:๗๙) ๒.๕) ความทุกข์เป็นการลงโทษของอัลลอฮฺสำหรับผู้กระทำความชั่ว

ถ้าบาดแผลหนึ่งประสบแก่ สูเจ้า (ในสงครามอุหุด) แน่นอน บาดแผลเยี่ยงนั้น (ในสงครามบัดรฺ) ได้ประสบพวก (ไม่เชื่อถือ) นั้น และวันทั้งหลายเหล่านี้ (คือชัยชนะหรือการปราชัย, ความสุขหรือความทุกข์) เราได้หมุนเวียนมันระหว่างมนุษย์ (๑๔:๕) และเพื่ออัลลอฮฺจะได้ทรงจำแนกให้รู้บรรดาผู้ศรัทธา และจะได้ทรงเอาเป็นพยาน (หรือผู้ตายในสงคราม) จากในหมู่สูเจ้า และอัลลอฮฺไม่ทรงรักผู้อธรรม (ที่ใส่ร้ายว่าการแพ้ที่อุหุด) เพราะหลักการของศาสนาอิสลาม และเพื่อที่อัลลอฮฺจะได้ทรงฟอกเกลาบรรดาผู้ศรัทธา และทรงบั่นทอนพวกปฏิเสธ หรือสูเจ้าคิดว่า สูเจ้าจะได้เข้าสวนสวรรค์และอัลลอฮฺยังไม่ได้ทรงจำแนกให้รู้ซึ่งบรรดาในหมู่ สูเจ้า ผู้ดิ้นรนต่อสู้ และทรงจำแนกให้รู้ซึ่งผู้อดทน (๒:๒๑๔;๙:๑๖) (อัล-กุรอาน. ๓:๑๓๙-๑๔๑) ๒.๖) ความทุกข์เป็นมาตรการที่อัลลอฮฺทรงให้มีขึ้นเพื่อขัดเกลาผู้ศรัทธา

หรือสูเจ้าคิดว่า สูเจ้าจะได้เข้าสวนสวรรค์และอัลลอฮฺยังไม่ได้ทรงจำแนกให้รู้ซึ่งบรรดาในหมู่ สูเจ้า ผู้ดิ้นรนต่อสู้ (ในทางของอัลลอฮฺ) และ(ยังไม่ได้) ทรงจำแนกให้รู้ซึ่งผู้อดทน (๒:๒๑๔; ๙:๑๖) (อัล-กุรอาน. ๓:๑๔๑)

หรือสูเจ้าคิดว่าสูเจ้า จะได้เข้าสวนสวรรค์ในเมื่อยังไม่ได้มา (ประสบ) แก่สูเจ้า เยี่ยงบรรดา (มุสลิม) เหล่านั้นที่ได้ล่วงลับไปก่อนสูเจ้า (๓:๑๔๑; ๙:๑๖) ความทุกข์ยากและความลำเค็ญ (เจ็บป่วย) ได้ประสบแก่พวกเขา (๖:๔๒) และพวกเขาถูกสะเทือนอย่างหวั่นไหว จนกระทั่งรสูลและบรรดาผู้ศรัทธาร่วมกับเขา กล่าวว่า เมื่อใดการช่วยเหลือของอัลลอฮฺ จงรู้ไว้เถิดการช่วยเหลือของอัลลอฮฺนั้นใกล้ (๑๒:๑๑๐) (อัล-กุรอาน. ๒:๒๑๔)

๒.๗) ความทุกข์เป็นเครื่องขจัดบาปให้กับมนุษย์ "ถ้ามุสลิมคนใดประสบกับความทุกข์ร้อน ความยากลำบาก ความวิตก ความเศร้าหมอง ภัยอันตราย ภัยพิบัติ แม้แต่ถูกหนามตำ อัลลอฮฺทรงปลดเปลื้องบาปเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเขาด้วยเหตุนั้น" (อัล-หะดีษ )

มุสลิมที่ประสบภัยพิบัติจากความ เจ็บป่วยหรือจากเหตุอื่น ๆ การปลดเปลื้องจากบาปเป็นการตอบแทนแก่เขา เสมือนหนึ่งใบไม้ร่วงจากต้น (อัล-หะดีษ) ๒.๘) ความทุกข์และความสุขในโลกนี้เป็นสัญลักษณ์ของความทุกข์และความสุขในชีวิต หลังความตายและโลกหน้า "และทุกๆ ชีวิตจะมาพร้อมกับ (มลัก) ผู้ขับไส และ (มลัก) ผู้เป็นพยาน(เพราะเขาทำการดี ๒๔:๒๔) (แล้วพระองค์จะตรัสว่า) โดยแน่นอนยิ่งเจ้าได้เฉยเมยในข้อนี้ เราจึงได้เลิกม่านออกจากเจ้า ดังนั้น วันนี้สายตาของเจ้าจึงคม" (อัล-กุรอาน. ๕๐:๒๑-๒๒)

"แท้จริง ในการกลับมาของเขา (คือฟื้นขึ้น) อีกนั้น พระองค์ทรงอานุภาพแน่นอน วันซึ่งลี้ลับทั้งหลายก็จะถูกเปิดเผย (๑๐:๓๐)" (อัล-กุรอาน. ๘๖:๘-๙) จากโองการเหล่านี้ ตามคำสอนของศาสนาอิสลาม จะเห็นว่าความสุขและความทุกข์เป็นเรื่องของจิตใจภายใน ที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมภายนอก และมนุษย์เป็นเหตุสำคัญแห่งความสุขและความทุกข์ของตนเอง ศาสนาอิสลามให้ความสำคัญแก่จิตใจเป็นพื้นฐาน โดยมีทัศนะและเจตนาเป็นที่ตั้งของการกระทำหรือการแสดงออกพฤติกรรมของมนุษย์ และผลจากการกระทำจะเป็นทุกข์หรือสุขอยู่ที่ตัวมนุษย์เป็นหลัก อันเป็นไปตามธรรมชาติและกฏศีลธรรมที่อัลลอฮฺทรงวางไว้ คำสอนเหล่านี้พิจารณาได้ว่า ได้แสดงคุณค่า (Value) ๒ ประการ คือ ๑.) คุณค่าที่เป็นเป้าหมายของชีวิต ได้แก่ ความสุขในโลกนี้และความสุขชั่วนิรันดรในโลกหน้า และ ๒.) คุณค่าที่เป็นเครื่องมือหรือวิธีการไปสู่เป้าหมาย ได้แก่ ศีลธรรมหรือบรรทัดฐานของการดำเนินชีวิต ถือว่าเป็นสิ่งดีงาม เพราะนำทางให้มนุษย์ไปสู่เป้าหมายที่เป็นคุณค่าประการแรก ส่วนคุณค่าหลังเป็นการแสดงความเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า เนื่องจากเป็นการเชื่อฟังต่อพระองค์ คุณค่าหลังเป็นการตอบแทนความดีที่พระเป็นเจ้าทรงให้มีแก่การกระทำ คุณค่าสองประการนี้ เป็นความหมายของอิสลามในฐานะที่บ่งบอกถึงความหมายในเรื่องเป้าหมาย (สันติ) และวิธีการ (การจำนน หรือการมอบตนต่อพระเป็นเจ้า) 

สรุป : การแสวงหาความสุขและคุณค่าของชีวิตตามคำสอนศาสนา สามารถสรุปได้ความหมายของ "ความสุข" ที่ต่างกัน ดังนี้
     ศาสนาพุทธ "ความสุข" คือ การดำเนินชีวิตอย่างมีสติรู้เท่าทันความคิดของตนที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น
     ศาสนาคริสต์ "ความสุข" คือ การดำเนินชีวิตที่มีความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ที่ก่อให้เกิดสันติภาพ
     ศาสนาอิสลาม "ความสุข" คือ การดำเนินชีวิตด้วยการทำความดีที่มีหลักศรัทธาและ หลักการปฏิบัติต่อพระเป็นเจ้าที่ก่อให้เกิดสันติสุข
--
ที่มา : สุริยัญ ชูช่วย. (๒๕๔๕). การแสวงหาความสุขและคุณค่าของชีวิต กรณีศึกษาทัศนะกลุ่มคนต่างวัยในกรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต, สาขาวิชาจริยศาสตร์ศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo