เทววิทยาแห่งการปลดปล่อย

เป็นการตีความหลักความเชื่อในศาสนาคริสต์จากประสบการณ์ของความทุกข์ยาก การต่อสู้และความหวังของคนจน เป็นความพยายามที่จะอ่านคัมภีร์ไบเบิล และหลักธรรมในศาสนาคริสต์จากทรรศนะของคนยากคนจนเรียนรู้ที่จะอ่านพระคัมภีร์ในลักษณะที่ย้ำถึงศักดิ์ศรีและสิทธิของตนเองในการต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่า "เทววิทยาแห่งการปลดปล่อย
   

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
อาจารย์ประจำภาควิชามนุษยศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ศาสนาที่สำคัญทุกศาสนาในโลกได้กล่าวถึงปัญหาเรื่อง มนุษย์"กับ "อิสรภาพที่พ้นไปจากความทุกข์"นั้น ความทุกข์ของมนุษย์มีอยู่ด้วยกันสองชนิดคือ "ความทุกข์ทางจิตใจ"และ"ความทุกข์ทางสังคมการเมือง"แม้ว่าศาสนาคริสต์จะมีคำสอนที่เกี่ยวกับ "อิสรภาพทางจิตใจ"อยู่ด้วย แต่ประวัติศาสตร์ของศาสนาคริสต์ก็เริ่มต้นด้วยเรื่อง "อิสรภาพทางสังคมการเมือง"และมีความเกี่ยวพันกับสังคมการเมืองมาโดยตลอด

"เทววิทยาแห่งการปลดปล่อย" (Liberation Theology)เกิดขึ้นในละตินอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 1970 ในฐานะที่เป็นปฏิกิริยาตอบโต้ต่อโครงสร้างแห่งการเอารัดเอาเปรียบของโลกที่หนึ่งที่มีต่อโลกที่สาม"เทววิทยาแห่งการปลดปล่อย"ได้นำความหวังมาสู่คนยากจนและผู้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ท่ามกลางบรรยากาศของการปฏิวัติในทวีปอเมริกาใต้ นับเป็นปฏิกิริยาของชาวคริสต์ในโลกที่สามที่มีต่อความไม่เป็นธรรมในสังคม ภายใต้โครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองของระบบทุนนิยมโลก

ภายใต้ความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างโลกที่หนึ่งกับโลกที่สาม ชาวละตินอเมริกัน (Latin American) ได้พยายามเสาะหาความเข้าใจ และอธิบายสภาพการณ์ของความด้อยพัฒนาและความยากจนของตนเอง นักสังคมศาสตร์ชาวละตินอเมริกันได้แสดงบทบาทผู้นำ ในการอธิบายโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองในประเทศของตนและบัญญัติความจริงด้วยตนเอง นับเป็น"การประกาศอิสรภาพทางวัฒนธรรมและสติปัญญา" อย่างหนึ่งของโลกที่สามต่อโลกที่หนึ่ง

ภายหลังจากการต่อสู้ที่ยาวนาน โบสถ์หรือผู้คนบางส่วนของโบสถ์ก็ได้เริ่มออกมามีส่วนร่วม บาทหลวงจำนวนมากขึ้นได้นำวิธีการวิเคราะห์ทางสังคมมาใช้ ในการตีความศาสนาคริสต์และสถานการณ์ในละตินอเมริกา แทนการตีความศาสนาคริสต์ตามแบบประเพณีนิยม บาทหลวงเหล่านี้ในที่สุดแล้วได้กลายเป็น "นักเทววิทยาแห่งการปลดปล่อย" ด้วยการทำงานร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนยากจนในชุมชนชาวคริสต์

พัฒนาการที่สำคัญที่สุดของโบสถ์ในระยะนี้ก็คือ การเติบโตอย่างเงียบๆ และต่อเนื่องของ "ชุมชนพื้นฐาน" (Base Community)ชุมชนพื้นฐานเป็นรากฐานที่สำคัญของ "เทววิทยาแห่งการปลดปล่อย"ในบราซิลเพียงประเทศเดียวมีชุมชนดังกล่าวอยู่ถึง 70,000 กว่าแห่ง และมีสมาชิกทั้งหมดประมาณ 2.5 ล้านคน ฟิลลิป เบอรี่แมน (Phillip Berry man)ได้ให้คำจำกัดความ"ชุมชนพื้นฐาน"ของ โบสถ์ว่า"เป็นชุมชนเล็กๆ ที่มีคนธรรมดาเป็นผู้นำ ด้วยแรงบันดาลใจจากความเชื่อในศาสนาคริสต์ โดยถือว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของโบสถ์ และประสงค์จะทำงานร่วมกันเพื่อปรับปรุงชุมชนและสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม"

"เทววิทยาแห่งการปลดปล่อย"เป็นการตีความหลักความเชื่อในศาสนาคริสต์จากประสบการณ์ของความทุกข์ยาก การต่อสู้และความหวังของคนจน เป็นความพยายามที่จะอ่านคัมภีร์ไบเบิล และหลักธรรมในศาสนาคริสต์จากทรรศนะของคนยากคนจนเรียนรู้ที่จะอ่านพระคัมภีร์ในลักษณะที่ย้ำถึงศักดิ์ศรีและสิทธิของตนเองในการต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่า "เทววิทยาแห่งการปลดปล่อย"จึงนับเป็นบทวิพากษ์การกระทำของโบสถ์และชนชั้นผู้นำในศาสนาคริสต์จากแง่มุมของคนยากจน

ในละตินอเมริกา เหตุการณ์ทั้งในโบสถ์คาทอลิกและสังคมโดยส่วนรวมเกิดขึ้นอย่างแยกกันไม่ได้ วิกฤตการณ์ในละตินอเมริกานับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา ได้ก่อให้เกิดคำถามใหม่ๆ เกี่ยวกับระเบียบโครงสร้างของสังคม และต้องการคำตอบใหม่อย่างรีบด่วน นักเทววิทยาละตินอเมริกันรู้สึกถึงเสรีภาพอย่างใหม่ในการตอบคำถามเหล่านี้ เช่น คนเรามิได้ยากจนเพราะความบังเอิญแต่ความยากจนเกิดจากโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น

การประกาศอิสรภาพทางวัฒนธรรมและสติปัญญาของชาวละตินอเมริกันนี้ มิได้เป็นไปโดยปราศจากความทุกข์ยากและการต่อสู้ฟิลลิป เบอร์รี่แมน นักบวชชาวอเมริกันผู้ซึ่งอยู่ในประเทศเอล ซัลวาดอร์ ในระหว่างการลอบสังหารอาร์คบิชอพ ออสการ์ โรเมโร(Archbishop Oscar Romero) นักเทววิทยาแห่งการปลดปล่อยผู้มีชื่อเสียงในปี ค.ศ.1980 ได้บันทึกเหตุการณ์ตอนหนึ่งไว้ดังนี้

"วันจันทร์ตอนเย็น ขณะที่เรากำลังสัมภาษณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาวซัลวาดอร์ (Salvadoran Human Rights Commission) ข่าวได้มาถึงเราว่า โรเมโรถูกลอบยิงขณะประกอบพิธีมิสซา เราใช้เวลาสองวันหลังจากนั้น ในการเป็นเพื่อนกับผู้ร่วมงานของเขาซึ่งกำลังอยู่ในอาการตกตะลึงและเศร้าโศกเสียใจ งานศพถูกรบกวนด้วยการโจมตีด้วยระเบิดและอาวุธอัตโนมัติ ห้วงเวลาเหล่านั้น การเทศนา การลอบสังหารโรเมโรและงานศพของเขา เป็นประสบการณ์ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิตของข้าพเจ้าเหตุการณ์เหล่านี้ยังได้สะท้อนให้เห็นถึงหัวใจของเทววิทยาแห่งการปลดปล่อย สิ่งที่อาร์คบิชอพกล่าวมีผลกระทบทางการเมืองอย่างปฏิเสธมิได้ เขาบอกให้ทหารไม่ต้องเชื่อฟังคำสั่ง ด้วยการเตือนถึงคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้าว่า สูเจ้าจงอย่าฆ่า

ภายใต้ระบบทุนนิยมผูกขาด ประเทศโลกที่สามส่วนใหญ่ถูกครอบงำ และถูกเอารัดเอาเปรียบในทางเศรษฐกิจจากประเทศโลกที่หนึ่งโดยผ่านระบบทุนนิยมข้ามชาติ"เทววิทยาแห่งการปลดปล่อย"ได้หยิบยืมทฤษฎีทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง"ทฤษฎีพึ่งพา"(Dependency Theory)จากสำนักทางสังคมศาสตร์ในละตินอเมริกา เพื่อที่จะกล่าวเรียกความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและการเมืองในทวีปอเมริกาใต้

"เทววิทยาแห่งการปลดปล่อย"ยังได้ใช้การวิเคราะห์ทางสังคมของลัทธิมาร์กซ์(Marxism) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้น ในการเปิดเผยโครงสร้างทางสังคมที่กดขี่ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลกแม้ว่าลัทธิมาร์กซ์จะไม่ประสบผลสำเร็จใน

การเสนอทางเลือกของระบบเศรษฐกิจแก่โลก ดังเช่นประจักษ์พยานแห่งความล้มเหลวทั้งในจีนยุคเหมาเจ๋อตุง อดีตสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออกก็ตาม แต่ลัทธิมาร์กซ์ก็ยังคงเป็นเครื่องมืออันสำคัญยิ่ง ในการวิเคราะห์ทำความเข้าใจกลไกของระบบทุนนิยมข้ามชาติในปัจจุบัน

อาจกล่าวได้ว่า "เทววิทยาแห่งการปลดปล่อย"เป็นตัวแทนของการฟื้นฟูศาสนาอย่างเป็นระบบที่สุดในบรรดาศาสนาใหญ่ของโลก อันเป็นปฏิกิริยาตอบโต้ต่อการกดขี่ทางสังคมเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน และดังที่มาร์ค เอลลีส์ (Marc Ellis) และออตโต มาดูโร (Otto Maduro) ได้กล่าวไว้ "เทววิทยาแห่งการปลดปล่อย"ได้กลายเป็นพัฒนาการทางเทววิทยาที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์ของศาสนาคริสต์

"เทววิทยาแห่งการปลดปล่อย" เป็นที่รู้จักกันดีไม่เพียงแต่ในละตินอเมริกาเท่านั้น ยังเป็นที่รู้จักในเอเชียและแอฟริกาอีกด้วย มีนักเทววิทยาแห่งการปลดปล่อยเกิดขึ้นใหม่ๆทั้งในเอเชียและแอฟริกา รวมทั้งการเกิดขึ้นของ "เทววิทยาแห่งการปลดปล่อยเพื่อสิทธิสตรี" (Feminist Liberation Theology) และ "เทววิทยาแห่งการปลดปล่อยเพื่อคนผิวดำ" (Black Liberation Theology)

คนยากจน คนผิวสี และสตรีได้ค้นพบวิธีการตีความใหม่ๆ แห่งหลักศรัทธาในศาสนาคริสต์ และวิพากษ์วิจารณ์การครอบงำและการตีความแบบเก่าที่รวมศูนย์อำนาจอยู่ที่คนผิวขาวเพศชาย
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ปีที่ ๓๓ ฉบับที่ 11936 คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6.

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo