เมื่อร่างกายตายลง "จิต" จะไปแสวงหาร่างกายใหม่ อันเป็นที่มาของทฤษฎี "การกลับชาติมาเกิดใหม่"(Rebirth Theory) และถ้าบำเพ็ญเพียรจน "จิต"(อาตมัน) บริสุทธิ์แล้ว ก็จะไปรวมกับ "ปรมาตมัน" หรือ "พรหมัน"(Brahman) อันเป็น "จิตใหญ่" ของจักรวาล
ศาสนาที่ยังมีผู้คนเคารพนับถืออยู่ในโลกเวลานี้ (the world"s living religions) มีแหล่งกำเนิดใหญ่ 3 แหล่งคือ จีน อินเดีย และคาบสมุทรอารเบีย จะเห็นได้ว่าแหล่งกำเนิดศาสนาที่สำคัญของโลกล้วนแต่อยู่ในทวีปเอเชียทั้งสิ้น เอเชียจึงเป็นดินแดนแห่งศาสนาและปรัชญามาตั้งแต่โบราณ
สำหรับศาสนาที่ถือกำเนิดในทวีปอเมริกา ทวีปแอฟริกา และทวีปออสเตรเลียนั้น จัดอยู่ในประเภทศาสนาปฐมบรรพ์(Primitive Religion) แม้จะยังมีผู้เคารพนับถืออยู่ แต่ก็เป็นเพียงศาสนาท้องถิ่นที่อยู่ในวงจำกัด และไม่สู้จะมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบันมากนัก ส่วนศาสนาที่ถือกำเนิดในทวีปยุโรป เช่น ศาสนาของกรีซและโรมัน เป็นต้น เวลานี้ไม่มีผู้คนนับถืออีกต่อไป ถือเป็นศาสนาที่ตายแล้ว และอยู่ในรูปของประวัติศาสตร์และวรรณคดีเท่านั้น
ศาสนาในโลกนี้อาจจำแนกตามสาเหตุของการเกิดได้เป็น 2 ประเภท ประเภทแรก ศาสนาที่เกิดขึ้นจากความเกรงกลัวภัยธรรมชาติของมนุษย์ เช่น ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ความแห้งแล้ง และโรคระบาด เป็นต้น ศาสนากลุ่มนี้ถือกำเนิดขึ้นในจีนและอินเดีย ประเภทที่สอง ศาสนาที่เกิดขึ้นจากความเกรงกลัวภัยที่มนุษย์นำมาสู่มนุษย์ด้วยกันเอง เช่น การกดขี่เบียดเบียน การเข่นฆ่า และสงคราม เป็นต้น อันได้แก่ศาสนาที่ถือกำเนิดในคาบสมุทรอารเบีย
ในสมัยโบราณเมื่อเกิดภัยธรรมชาติขึ้นมา มนุษย์มีความเกรงกลัวและนึกคิดเอาเองว่า ภัยธรรมชาติเหล่านั้นเกิดจากอำนาจดลบันดาลของเทพเจ้าประจำธรรมชาติต่างๆ มนุษย์จึงกราบไหว้อ้อนวอนประจบเอาใจเทพเจ้าเหล่านั้น ในทางหนึ่งก็เพื่อให้ตนเองพ้นภัย และในอีกทางหนึ่งก็เพื่อตนเองมีความมั่งคั่งรุ่งเรือง ความเกรงกลัวภัยธรรมชาตินี้เป็นที่มาของศาสนาที่เรียกว่า "พหุเทวนิยม"(Polytheism) คือการนับถือเทพเจ้าหลายองค์ในเวลาเดียวกัน
ชาวจีนโบราณนับถือเทพเจ้าประจำธรรมชาติต่างๆ มากมาย แต่เมื่อมนุษย์อยู่รวมกันเป็นสังคม มีการจัดระเบียบของสังคม และเกิดผู้นำทางการเมืองขึ้น ความคิดของมนุษย์จึงสะท้อนขึ้นสู่ท้องฟ้า โดยมนุษย์เริ่มจัดระเบียบเทพเจ้าต่างๆ พร้อมกันไปด้วย มนุษย์เริ่มคิดว่าในบรรดาเทพเจ้าทั้งหลายน่าจะมีพระเจ้าที่ยิ่งใหญ่สูงสุดอยู่องค์หนึ่ง ทำหน้าที่ปกครองเทพเจ้าทั้งปวง ในที่สุดชาวจีนก็ยกให้ "ฉ่างตี่"(Shang Ti) เป็นพระเจ้าที่สูงสุดพระองค์นั้น ปัญหาต่อมาก็คือว่ามนุษย์จะติดต่อสื่อสารกับพระเจ้าที่สูงสุดได้อย่างไร ชาวจีนจึงเริ่มมองไปที่กษัตริย์ผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดินว่า เป็นสื่อกลางในการติดต่อระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า โดยผ่านการประกอบพิธีบวงสรวงบูชา และพัฒนาแนวคิดต่อมาว่ากษัตริย์คือ "โอรสแห่งสวรรค์"
พระเจ้าได้ส่งกษัตริย์ลงมาปกครองมนุษย์โดย "บัญญัติแห่งสวรรค์"("หมิง", Decree of Heaven) และกษัตริย์ก็มีหน้าที่ที่จะต้องปกครองด้วย "คุณธรรม" ("เต๋อ", Virtue) อันจะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล พืชผลอุดมสมบูรณ์ และประชาชนมีความสงบสุข แต่ถ้ากษัตริย์พระองค์ใดปกครองแบบ "ทรราช" แล้ว ก็จะเกิดทุกข์ภัยและภาวะข้าวยากหมากแพงขึ้น ประชาชนจะอดอยากและล้มตาย ในที่สุดพระเจ้าจะให้ราชวงศ์นั้นล่มสลาย และจะเลือกกษัตริย์พระองค์ใหม่ที่มีคุณธรรมและความสามารถมากกว่าขึ้นมาปกครองแทน ดังนั้นแนวคิดทางศาสนาและการเมืองจึงสัมพันธ์กันมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์จีน ถ้าผู้ปกครองเป็นทรราชประชาชนมีสิทธิลุกฮือขึ้นมาปฏิวัติได้
แนวคิดทั้งหมดนี้นับเป็นศาสนาโบราณของจีนที่ไม่ปรากฏศาสดา ต่อมาเมื่อขงจื้อได้รับการยกย่องและเคารพนับถือในหมู่ชาวจีนอย่างกว้างขวางแล้ว ในที่สุดชาวจีนก็ได้ยกขงจื้อขึ้นเป็นศาสดาของศาสนาที่สืบทอดมาแต่โบราณนี้ โดยเรียกว่า "ศาสนาขงจื้อ"(Confucianism) หลังจากที่ขงจื้อถึงแก่กรรมไปแล้วหลายร้อยปี นอกจากนี้ประเพณีความเชื่อโบราณอื่นๆ เช่น การบูชาบรรพบุรุษทั้งในวันตรุษจีน สาร์ทจีน และวันเช็งเม้ง การไหว้พระจันทร์ การไหว้วีรบุรุษในประวัติศาสตร์ในฐานะเทพเจ้า(รวมทั้งเทพเจ้ากวนอู และเทพเจ้าเจิ้งเหอหรือซำปอกง) เป็นต้น ก็สงเคราะห์เข้าอยู่ในศาสนาขงจื้อด้วย
สำหรับชาวอินเดียสมัยโบราณก็นับถือเทพเจ้าประจำธรรมชาติต่างๆ เช่นเดียวกับจีน แต่อินเดียกลับมองว่า พระเจ้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ทำหน้าที่ปกครองเทพเจ้าทั้งปวงนั้นมีถึง 3 พระองค์คือ พระพรหม(ผู้สร้าง) พระวิษณุ หรือพระนารายณ์(ผู้ธำรงรักษา) และพระอิศวร หรือพระศิวะ(ผู้ทำลาย) เมื่อรวมคำว่า "ผู้สร้าง"(Generator) "ผู้ธำรงรักษา"(Observer) และ "ผู้ทำลาย "(Destroyer) แล้ว ก็จะได้คำว่า "God"(พระเจ้า)
ลักษณะของพระเจ้าในศาสนาพราหมณ์ฮินดู(Brahmanistic Hinduism) ของอินเดียนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความลึกซึ้งของชาวอินเดียที่เฝ้าสังเกตความเป็นไปในธรรมชาติ ว่าทุกสิ่งมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป โดยแสดงออกเป็นการเคารพนับถือเทพเจ้าทั้งสามพระองค์ดังกล่าว ต่อมาอินเดียได้พัฒนาแนวคิดและวัฒนธรรม "อาศรม 4" ขึ้นมา เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ซึ่งก็มี "พรหมจรรย์" วัยศึกษาเล่าเรียน "คฤหัสถ์" วัยครองเรือน "วนปรัสถ์" วัยแสวงหาโมกขธรรม และ "สันยาสี" วัยสั่งสอนธรรมะแก่ผู้อื่น
ส่วนเรื่อง "วรรณะ 4" ในอินเดียนั้นเกิดขึ้นจากเหตุผลทางประวัติศาสตร์ และศาสนาเข้ามา "ตีตรา" รับรองภายหลัง แต่เดิมนั้นดินแดนชมพูทวีปเป็นที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมือง "ดราวิเดี่ยน"(Dravidian) ต่อมาพวก "อารยัน"(Aryan) ซึ่งเป็นชนเผ่าเร่ร่อนได้เข้ามาทำสงครามยึดครองและบังคับพวกดราวิเดี่ยนลงเป็นข้าทาส พวกอารยันได้ออกกฎเหล็กห้ามแต่งงานข้ามเชื้อชาติ โดยจัดให้พวกดราวิเดี่ยนเป็น "วรรณะศูทร"(บ่าวไพร่และกสิกร) ส่วนพวกอารยันเองก็แบ่งชั้นวรรณะในหมู่พวกเดียวกันเองว่าเป็น "วรรณะพราหมณ์"(ประกอบพิธีกรรม) "วรรณะกษัตริย์"(ทำหน้าที่ปกครอง) และ "วรรณะแพศย์"(ค้าขายและช่างฝีมือ) ถ้าคนในวรรณะของอารยันไปแต่งงานกับคนในวรรณะของดราวิเดี่ยน ลูกที่เกิดมาจะถูกรังเกียจเดียดฉันท์ว่าเป็น "จัณฑาล"(คนนอกวรรณะ) ไม่มีใครคบหาสมาคมด้วย
ต่อมาพวกพราหมณ์ซึ่งเป็นอภิสิทธิชนและมีชีวิตที่สุขสบายกว่าคนในวรรณะอื่น(เพราะไม่ต้องทำการผลิต) ต้องการแสวงหา "ความเป็นอมตะ" (Immortality) ของชีวิต จึงได้สร้างทฤษฎี "จิตอมตะ"(อาตมัน) ขึ้น โดยอธิบายว่า เมื่อร่างกายตายลง "จิต" จะไปแสวงหาร่างกายใหม่ อันเป็นที่มาของทฤษฎี "การกลับชาติมาเกิดใหม่"(Rebirth Theory) และถ้าบำเพ็ญเพียรจน "จิต"(อาตมัน) บริสุทธิ์แล้ว ก็จะไปรวมกับ "ปรมาตมัน" หรือ "พรหมัน"(Brahman) อันเป็น "จิตใหญ่" ของจักรวาล
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 10130. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6.