ศาสนากับสังคมการเมืองในอินโดนีเซีย

ปัจจุบันอินโดนีเซียซึ่งมีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลกนั้นกำลังพบกับทางสามแพร่ง ระหว่างวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 2,000 ปี ศาสนาอิสลามซึ่งกลายเป็นพลังทางการเมืองที่สำคัญ และโลกตะวันตกซึ่งเป็นต้นแบบเทคโนโลยีและความทันสมัย ในการแสวงหาทิศทางและเอกลักษณ์ของประเทศ
 

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
อาจารย์ประจำภาควิชามนุษยศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อาณาจักรหมู่เกาะอินโดนีเซียระยะแรกเป็นรัฐฮินดูกับพุทธศาสนา โดยศาสนาทั้งสองเดินทางจากอินเดียมาตามเส้นทางการค้าถึงดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้รับการต้อนรับจากผู้ปกครองท้องถิ่นอย่างดียิ่ง เนื่องจากพิธีกรรมของศาสนาฮินดูที่เหมาะกับราชสำนัก และแนวคิดทางปรัชญาที่ลึกซึ้งของพุทธศาสนา พุทธศาสนามีอิทธิพลเหนือหมู่เกาะอินโดนีเซียไม่น้อยกว่า 600 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งมีการสร้างพุทธสถานที่ใหญ่โตวิจิตรงดงามและพระพุทธรูปเป็นอันมาก

พุทธศาสนา

อาณาจักรศรีวิชัย (ประมาณ พ.ศ.1200-1800) ครอบคลุมตั้งแต่ตอนบนของแหลมมลายูรวมทั้งตอนใต้ของไทยจนถึงหมู่เกาะอินโดนีเซีย เป็นอาณาจักรที่นับถือพุทธศาสนามหายาน โดยได้รับวัฒนธรรมอินเดีย 2 ทางคือ จากราชวงศ์โจฬะ (อินเดียใต้) และราชวงศ์ปาละ (เบงกอล) ซึ่งนำพุทธศาสนาวัชรยาน (Vajrayana) หรือตันตระ (Tantra) เผยแผ่มาถึงอาณาจักรศรีวิชัย

ภายในอาณาบริเวณ 30 กิโลเมตรจากยอคจาการ์ตา (Yogyakarta) ในใจกลางของเกาะชวา เป็นที่ตั้งของโบราณสถานทางศาสนาที่สำคัญ 2 แห่งคือ โบโรบูโดร์ (Borobudor) สถูปในพุทธศาสนา และปรัมบานาน (Prambanan) วัดในศาสนาฮินดู โบราณสถานทั้งสองแห่งนี้สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 12 และที่ 14 เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ถึงความเจริญรุ่งเรืองของศาสนาฮินดูกับพุทธศาสนา ความรู้ทางด้านวิศวกรรมและศิลปกรรมของผู้คนในยุคนั้น นอกจากนี้ยังมีวัดอันวิจิตรงดงามอีกหลายร้อยแห่งทั่วทั้งเกาะชวา สำหรับชาวบาหลีนั้นนับถือศาสนาฮินดูเป็นส่วนใหญ่ โดยมีวัดฮินดูทั้งเก่าและใหม่นับพันแห่งทั่วทั้งเกาะบาหลี

อาณาจักรในใจกลางหมู่เกาะเป็นรัฐที่รุ่งเรืองด้วยการเพาะปลูก มีระบบการจัดเก็บภาษีด้วยพืชผลและแรงงานจากชาวนา มีระบบกฎหมายและระบบการบริหารของตนเอง มีช่างฝีมือในการก่อสร้างวัดหินขนาดใหญ่ ราชสำนักได้ส่งเสริมวัฒนธรรมชั้นสูงทางด้านดนตรี การฟ้อนรำ ปรัชญา และวรรณคดี มหากาพย์ของอินเดียคือ มหาภารตะ (Mahabharata) และรามายนะ (Ramayana) ได้ถูกนำเสนอโดยนักดนตรี นักฟ้อนรำ และนักเชิดหุ่นกระบอก เพื่อสื่อคุณค่าทางจริยธรรมและวัฒนธรรมของชาวชวาและชาวบาหลี ระบบการเขียนนั้นมาจากภาษาสันสกฤต และคำสันสกฤตจำนวนมากได้กลายเป็นคำในภาษาท้องถิ่น

ศาสนาอิสลาม

ในพุทธศตวรรษที่ 14 อาณาจักรมัชปาหิตซึ่งนับถือศาสนาฮินดูได้รุ่งเรืองขึ้น มีการสร้างเทวสถานเป็นอันมาก และภาษาสันสกฤตกลายเป็นภาษาราชสำนัก ต่อมาสมัยพระเจ้าองควิชัย (พุทธศตวรรษที่ 19) อำนาจของมัชปาหิตแผ่ขึ้นไปถึงแหลมมลายู ทำให้อาณาจักรศรีวิชัยเสื่อมลง

ในปี พ.ศ.1930 ลามุนะ อิบราฮิม พ่อค้าอาหรับได้นำศาสนาอิสลามไปเผยแพร่ที่ชวาเป็นครั้งแรก อิบราฮิมพยายามเกลี้ยกล่อมพระเจ้าองควิชัยแต่ไม่สำเร็จ จึงหันไปเกลี้ยกล่อมระเด่นปาตาซึ่งเป็นโอรสให้หันมานับถืออิสลามได้สำเร็จ ระเด่นปาตาได้กระทำปิตุฆาต สถาปนาตนเองขึ้นเป็นสุลต่าน และประกาศอิสลามเป็นศาสนาประจำอาณาจักร ศาสนาอิสลามจึงแพร่เข้าสู่เกาะต่างๆ อย่างรวดเร็ว เจ้าเมืองต่างๆ ที่เกรงกลัวภัยต่างพากันเข้ารีตนับถืออิสลาม ส่วนผู้ที่มั่นคงในศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนาได้พากันหนีภัยลงไปอยู่ที่เกาะบาหลี จนกระทั่งปัจจุบัน

เมื่อชาวดัตช์เดินทางมาถึงในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 อาณาจักรส่วนใหญ่ได้กลายเป็นอิสลาม โดยมีศาสนาฮินดูตั้งมั่นที่เกาะบาหลี แต่ศาสนาอิสลามในอินโดนีเซียมีความหลากหลายทั้งระบบความเชื่อและการปฏิบัติ นับจากชาวอาเจะห์ที่เคร่งครัดในคัมภีร์อัลกุรอ่านและแสดงตนเป็นมุสลิมอย่างเปิดเผย จนถึงประชาชนในชวาภาคกลางและภาคตะวันออกที่นับถือศาสนาอิสลามโดยผสมผสานกับศาสนาที่มีมาแต่เดิม

ศาสนากับสังคมการเมืองในยุคสมัยใหม่

ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ภายหลังจากการสู้รบกับอาณาจักรอิสลามแห่งอาเจะห์ (Aceh) ยาวนานกว่า 40 ปี รัฐบาลอาณานิคม (Nethelands East Indies) ของเนเธอร์แลนด์ซึ่งตั้งเมืองหลวงที่ปัตตาเวีย (Batavia) ได้เฝ้าติดตามผู้นำอิสลามอย่างระมัดระวัง โดยมีการแยกแยะระหว่างอิสลามที่เป็นศาสนากับอิสลามที่เป็นพลังทางการเมือง มีการเข้มงวดกับเจ้าหน้าที่สุเหร่า โรงเรียนอิสลาม และครูสอนศาสนา เพื่อมิให้บุคคลเหล่านี้ไปปลุกระดมประชาชนเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐอาณานิคม ส่วนการนับถืออิสลามที่เป็นศาสนาไม่ถูกแทรกแซงแต่อย่างใด

นักชาตินิยมกระแสหลักในทศวรรษที่ 1920 และ 1930 มีความเห็นร่วมกันว่า อินโดนีเซียหลังการประกาศอิสรภาพควรเป็นรัฐทางโลก (secular state) เนื่องจากมีความหลากหลายทางศาสนาสูง แม้ว่ามุสลิมจะเป็นคนส่วนใหญ่ แต่ผู้ที่เคร่งอิสลามก็เป็นเพียงคนกลุ่มน้อยเท่านั้น และแม้แต่มุสลิมที่เคร่งก็ยังมีความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่างกัน รัฐทางโลกจะเป็นทางออกเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเหล่านี้ ซูการ์โน (Sukarno) ผู้นำกลุ่มชาตินิยมได้เสนออุดมการณ์ว่า ประชาชนอินโดนีเซียจะต้องอยู่เหนือความแตกต่างทางด้านศาสนาและเชื้อชาติ เพื่อรวมตัวกันต่อต้านลัทธิอาณานิคม แต่พรรคการเมืองอิสลามบางพรรคไม่เห็นด้วยและเรียกร้องให้ใช้กฎหมายอิสลามหลังจากได้รับเอกราชแล้ว

เมื่อญี่ปุ่นเข้ายึดครองอินโดนีเซียในเดือนมีนาคม ค.ศ.1942 ครั้งแรกชาวอินโดนีเซียรู้สึกยินดีที่ได้เป็นอิสระจากการปกครองของเนเธอแลนด์ และประทับใจต่อคำโฆษณาของญี่ปุ่นที่ว่า "ญี่ปุ่นคือแสงสว่างแห่งเอเชีย" และ "อาณาเขตความมั่งคั่งร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออก" แต่ไม่นานนักญี่ปุ่นก็แยกตัวเองออกจากสังคมอินโดนีเซียในทุกระดับ เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม อินโดนีเซียก็ตกเป็นของเนเธอร์แลนด์อีกครั้งหนึ่ง แต่หลังจากนั้นไม่นานอินโดนีเซียก็ได้รับเอกราชในวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ.1945 โดยมีเมืองหลวงอยู่ที่กรุงจาการ์ตา

ในฐานะประธานาธิบดีคนแรก ซูการ์โนได้ประกาศหลัก "ปัญจศีล" (pancasila) เป็นอุดมการณ์ทางสังคมการเมือง ประกอบด้วย "ความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียว เอกภาพของประเทศ มนุษยธรรม ประชาธิปไตย และสังคมที่เป็นธรรม" หลักปัญจศีลเป็นปรัชญาผสมผสานที่คลุมเครือ แต่ก็ทำให้สามารถตีความไปได้หลากหลาย

ภายหลังสิ้นสุดระบอบเผด็จการซูฮาร์โต (Suharto) แล้ว การเมืองอินโดนีเซียก็เข้าสู่ความสับสนวุ่นวาย ในวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ.2001 เมกาวตี ซูการ์โนบุตรี (Megawati Sukarnoputri) บุตรสาวของซูการ์โน ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อยุคคอมมิวนิสต์สิ้นสุดลงแล้ว รัฐบาลและผู้นำที่ได้รับการศึกษาจากตะวันตกเริ่มมองเห็นว่า อิสลามที่ฟื้นตัวขึ้นมาใหม่กำลังกลายเป็นภัยที่คุกคามอำนาจรัฐ

ภายใต้รัฐบาลเมกาวตี กลุ่มเจมาห์ อิสลามิยาห์ (Jemaah Islamiah) ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากกลุ่มอัลเคด้า (al Qae-da) ได้ลอบวางระเบิดสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองคูตา (Kuta) บนเกาะบาหลี เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ.2002 ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 200 คน (เป็นชาวออสเตรเลีย 88 คน และชาวอังกฤษ 26 คน) นับเป็นการท้าทายนโยบายของรัฐบาลในการปฏิรูปประเทศ และความร่วมมือกับตะวันตกในการต่อต้านการก่อการร้าย การโจมตีทำให้เกิดผลเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวงทั้งต่อบาหลี (เพียง 2 เดือนหลังการโจมตีบาหลีสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) และต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

ปัจจุบันอินโดนีเซียซึ่งมีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลกนั้นกำลังพบกับทางสามแพร่ง ระหว่างวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 2,000 ปี ศาสนาอิสลามซึ่งกลายเป็นพลังทางการเมืองที่สำคัญ และโลกตะวันตกซึ่งเป็นต้นแบบเทคโนโลยีและความทันสมัย ในการแสวงหาทิศทางและเอกลักษณ์ของประเทศ
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10711 หน้า 6. 

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo