ภายหลังเหตุการณ์ 11 กันยายนในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลมาเลเซียได้ประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงภายใน เพื่อควบคุมตัวมุสลิมหัวรุนแรงที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้รัฐบาลตะวันตก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลสหรัฐ) ลดการวิพากษ์วิจารณ์มาเลเซียลง
แม้จะเป็นสังคมพหุนิยม (pluralist society) ประกอบด้วยชาติพันธุ์ซึ่งมีวัฒนธรรมที่หลากหลายอยู่ถึงกว่า 60 ชาติพันธุ์ แต่มาเลเซียก็มีนโยบายแบ่งแยกประชากร 25 ล้านคนอย่างเปิดเผย ระหว่างพลเมืองที่เป็น "ภูมิบุตร" กับ "มิใช่ภูมิบุตร" ภูมิบุตรคือพลเมืองเชื้อสายมาเลย์ (ร้อยละ 64) ที่มีวัฒนธรรมพื้นเมืองของแหลมมาลายูและบอร์เนียว (ในเขตมาเลเซีย) ซึ่งได้รับสิทธิทุกอย่างในฐานะประชากรเต็มขั้น ส่วนผู้ที่มิใช่ภูมิบุตรคือพลเมืองเชื้อสายจีน (ร้อยละ 27) และเชื้อสายอินเดีย (ร้อยละ 8) เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมาจากวัฒนธรรมที่อยู่นอกแหลมมลายู ถูกจำกัดสิทธิในหลายประการและกลายเป็นประชากรชั้นสอง
แม้จะเป็นประเทศประชาธิปไตยและมีพลเมืองถึงร้อยละ 35 ที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม แต่มาเลเซียก็ประกาศให้อิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ มีการจำกัดการสร้างวัด (พุทธศาสนา) และโบสถ์ (คริสต์ศาสนาและศาสนาอื่น) อย่างเข้มงวด พลเมืองมุสลิมไม่สามารถเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่นได้ และการเผยแผ่ศาสนาอื่นแก่ประชากรมุสลิมเป็นสิ่งต้องห้าม
อาณาจักรศรีวิชัย
ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 7-14 ดินแดนปาเลมบังทางใต้ของสุมาตราเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรสำคัญทางทะเลที่ชื่อว่า "ศรีวิชัย" ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีเมืองหลวงชื่อ มลายู (Melayu) เมืองนี้อาจเป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรมมาเลย์ อาณาจักรศรีวิชัยครอบคลุมแหลมมลายู หมู่เกาะสุมาตรา หมู่เกาะชวา และบอร์เนียวตะวันตก ศรีวิชัยได้รับการสนับสนุนทั้งจากจีนและอินเดีย โดยได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมและพุทธศาสนามหายานจากอินเดียเป็นกระแสหลัก
ในคริสต์ศตวรรษที่ 14 อาณาจักรศรีวิชัยพ่ายแพ้แก่อาณาจักรมัชปาหิตแห่งชวาซึ่งนับถือศาสนาพราหมณ์ ผู้ลี้ภัยจากศรีวิชัยได้อพยพขึ้นไปทางเหนือจนถึงหมู่เกาะเรียวลิงคะ เกาะสิงคโปร์ และในที่สุดได้จัดตั้งเมืองมาลักกาขึ้น (ประมาณปี ค.ศ.1400) มาลักกาเจริญรุ่งเรืองอยู่นานถึงหนึ่งศตวรรษในฐานะศูนย์กลางการค้าและวัฒนธรรม แต่มาลักกาก็ต้องส่งเครื่องบรรณาการให้แก่ทั้งจีน มัชปาหิต และอยุธยา ในทางปฏิบัติแล้วมาลักกามีอิสระในการปกครองตนเอง การส่งเครื่องบรรณาการเป็นเพียงสัญลักษณ์ของความสวามิภักดิ์เท่านั้น และทำให้อาณาจักรเหล่านี้ส่งพ่อค้ามาติดต่อค้าขายด้วย ชุมชนจีนได้ก่อตั้งขึ้นและกลายเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของสังคมมาลักกา ชาวจีนจึงเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์มาเลเซียมาตั้งแต่เริ่มต้น
การแผ่ขยายของอิสลาม
ประมาณปี ค.ศ.1407 พระเจ้าปาร์ไบสุรา กษัตริย์แห่งมาลักกาหันไปเข้ารีตศาสนาอิสลาม แล้วเปลี่ยนพระนามเป็นสุลต่านมูฮัมมัดชาห์ แต่ราษฎรส่วนใหญ่ยังคงนับถือพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ ต่อมาถึงแผ่นดินสุลต่านมัลโมชาห์ มาลักกาขยายอำนาจตีได้เมืองกำปา ปะหัง อินทคีรี แล้วโปรดให้ทำลายพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์เสียสิ้น บังคับราษฎรให้เข้ารีตอิสลาม แหลมมลายูและหมู่เกาะบริเวณนั้นจึงกลายเป็นดินแดนอิสลามนับแต่นั้น ยุคทองของมาลักกาสิ้นสุดลงอย่างกะทันหันในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1511 เมื่อโปรตุเกสได้ใช้อาวุธปืนที่เหนือกว่าเข้ายึดครองเพื่อครอบครองเส้นทางการค้าของมาลักกา
ในปี ค.ศ.1514 ผู้ปกครองบรูไนเข้ารีตนับถือศาสนาอิสลาม สร้างความสัมพันธ์กับราชวงศ์มาลักกาเก่า และเริ่มต้นพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า "วัฒนธรรมบรูไน - มาเลย์" ขึ้น โดยมีสุลต่าน (sultan) เป็นศูนย์รวมแห่งอำนาจ สุลต่านเป็นผลรวมของวัฒนธรรมฮินดูในเอเชียอาคเนย์ กับแนวคิดอิสลามจากตะวันออกกลาง ทำให้สุลต่านเป็นเสมือน "สมมุติเทพ" ผู้มีอำนาจทั้งทางฝ่ายอาณาจักรและฝ่ายศาสนจักร
ความสัมพันธ์กับรัฐไทย
ราชอาณาจักรไทยซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่อยุธยา ได้ครอบคลุมดินแดนในแหลมมาลายูตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 ในปลายศตวรรษที่ 18 และต้นศตวรรษที่ 19 ราชวงศ์จักรีของไทยได้แผ่อำนาจลงมาทางใต้ ครอบคลุมดินแดนปัตตานี กลันตัน เคดาห์ เปรัก และตรังกานู ปัตตานีจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทย ทำให้เกิดชนกลุ่มน้อยมาเลย์มุสลิมขึ้นอย่างถาวรในดินแดนประเทศไทย
ในปี ค.ศ.1909 ภายใต้แรงกดดันของลัทธิอาณานิคม ไทยได้ยกดินแดนทางเหนือของแหลมมลายูอันรวมถึงเคดาห์ เปอร์ลิส กลันตัน และตรังกานู ให้อยู่ในความดูแลของอังกฤษ ในปี ค.ศ.1943 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นได้คืนรัฐทั้งสี่ให้แก่ประเทศไทย แต่เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามรัฐทั้งสี่ก็ตกเป็นของอังกฤษอีกครั้งหนึ่งในปี ค.ศ.1945
การกำเนิดของมาเลเซีย
ในปี ค.ศ.1957 สหพันธรัฐมาลายาได้ประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ และปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบอังกฤษ โดยมีพระราชาธิบดีจาก 9 รัฐผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมาเป็นกษัตริย์ครั้งละ 5 ปี และภาษามาเลย์เป็นภาษาราชการ ตวนกูอับดุลราห์มาน ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก ต่อมามาลายา สิงคโปร์ ซาราวัค และซาบาห์ ได้รวมเข้าด้วยกันเป็นมาเลเซีย แต่ความไม่ลงตัวของปัญหาเชื้อชาติกลายเป็นประเด็นที่อ่อนไหว ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1965 ลีกวนยู ได้บรรลุข้อตกลงแยกประเทศสิงคโปร์ออกจากมาเลเซีย
ปี ค.ศ.1969 ชาวมาเลย์ได้ก่อเหตุจลาจลบุกทำร้ายชีวิตและทรัพย์สินของชาวจีนในกัวลาลัมเปอร์ การจลาจลดำเนินอยู่ 4 วัน มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน และทรัพย์สินถูกทำลายเป็นจำนวนมาก รัฐบาลได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน วิกฤตการณ์ทางเชื้อชาติและศาสนาครั้งนี้ ทำให้อำนาจต่อรองของชาวจีนและชาวอินเดียในมาเลเซียลดลงเป็นอย่างมาก รัฐบาลมาเลเซียดำเนินนโยบายสร้างรัฐมาเลย์อย่างเปิดเผย ผลประโยชน์ของชาวมาเลย์กลายเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล และพรรคอุมโน (UMNO-United Malays National Organisation) กลายเป็นพรรคการเมืองที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จในมาเลเซีย
ทางสองแพร่ง : รัฐมาเลย์ที่ทันสมัยหรือรัฐอิสลามที่เคร่งจารีต
วัฒนธรรมศาสนาของชาวมาเลย์ที่เคยสงบมาช้านาน ได้ถูกขบวนการ ดักวาห์ (dakwah) ปลุกระดมเพื่อให้มาเลเซียเป็นรัฐอิสลาม รัฐบาลมาเลเซียต้องออกกฎหมายควบคุมองค์กรทางศาสนาและคำสอนขององค์กรเหล่านี้ รัฐบาลต้องใช้อำนาจเป็นครั้งคราวเพื่อปราบปรามบุคคลที่ต้องการสร้างความแตกแยกทางศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มพาส (Pas) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านที่เน้นนโยบายสร้างรัฐอิสลาม
ภายใต้การนำของมหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีคนที่สี่ โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามถูกเพิกถอนเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เพื่อให้นักเรียนจำนวนกว่า 126,000 คน กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาตามปกติของรัฐ โรงเรียนเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นแหล่ง "ล้างสมอง" (ตามคำพูดของมหาธีร์เอง) ที่บิดเบือนคำสอนทางศาสนาเพื่อผลทางการเมือง ทำให้เด็กมุสลิมกลายเป็นคนนิยมความรุนแรง นอกจากนี้มหาธีร์ยังพยายามแยกศาสนาออกจากหลักสูตรของโรงเรียน โดยให้ไปเรียนศาสนาในวันหยุดและจะต้องไม่มีเนื้อหาทางการเมืองปะปนอยู่ด้วย นับเป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะควบคุมการสอนอิสลามในมาเลเซีย
ภายหลังเหตุการณ์ 11 กันยายนในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลมาเลเซียได้ประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงภายใน เพื่อควบคุมตัวมุสลิมหัวรุนแรงที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้รัฐบาลตะวันตก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลสหรัฐ) ลดการวิพากษ์วิจารณ์มาเลเซียลง
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม 2550 ปีที่ - ฉบับที่ - หน้า 6.