นักพุทธปรัชญาอาจอ้างว่า พุทธปรัชญา (Buddhist Philosophy) คงมีสาระเดียวกันหมดไม่ว่าจะอยู่ในประเทศใด และคำสอนของพุทธศาสนาก็มีลักษณะเป็นสากล อย่างไรก็ตามคำสอนในพุทธศาสนา (ซึ่งก็เช่นเดียวกับแนวคิดและคำสอนในปรัชญาหรือศาสนาอื่นๆ) จำเป็นที่จะต้องประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์ที่เป็นจริง และจากการประยุกต์นี้เองที่เงื่อนไขทั้งระดับสังคมและระดับประเทศได้ส่งผลกระทบอย่างสำคัญ ดังนั้นพุทธศาสนาในความเป็นจริงแล้วจึงมีลักษณะเป็น "พหุลักษณ์" (pluralistic) มาตั้งแต่สมัยแรกเริ่มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ประวัติศาสตร์ศาสนากับสังคมการเมืองใน "อุษาคเนย์" หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันมาโดยตลอด ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับสังคมการเมืองดำเนินไปอย่างน้อยในสองแนวทาง ในทางหนึ่งศาสนามีอิทธิพลต่อรัฐและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ภาษา และวัฒนธรรม ในอีกทางหนึ่งรัฐมีส่วนอย่างสำคัญในการกำหนดความรุ่งเรืองหรือความเสื่อมของศาสนาภายใต้อำนาจรัฐ นอกจากนี้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนก็มีส่วนกำหนดลักษณะและโครงสร้างทางความเชื่อของศาสนาอีกด้วย
การผสานความเชื่อทางศาสนา (Syncretism)
ความเชื่อทางศาสนาของประชาชนในแถบเอเชียอาคเนย์แต่ดั้งเดิมนั้น เป็นความเชื่อใน "ศาสนาปฐมบรรพ์" (Primitive Religion) ที่มีลักษณะแบบ "วิญญาณนิยม" (Animism) ผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งดินแดนที่เป็นที่ตั้งของประเทศไทยปัจจุบัน แต่เดิมนั้นเชื่อเรื่องผีสางเทวดา เช่น ผีบ้านผีเรือน รุกขเทวดา นางไม้ ซึ่งสืบทอดมาถึงปัจจุบันในรูปของความเชื่อเรื่อง "แม่นาคพระโขนง" และ "ปู่เจ้าสมิงพราย" เป็นต้น
ต่อมาศาสนาพราหมณ์ซึ่งเป็นศาสนาเก่าแก่ของอินเดีย (ประมาณว่าเป็นศาสนาที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 5,000 ปี) ได้แพร่หลายมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และค่อยๆ มีบทบาทและอิทธิพลทั้งต่อความเชื่อและความรู้สึกนึกคิดของประชาชนในแถบนี้ เช่น ความเชื่อในทฤษฎี "การกลับชาติมาเกิดใหม่" (Reincarnation Theory) ทั้งต่อการเมืองการปกครองของรัฐ เช่นที่ปรากฏในความเชื่อและพิธีกรรมของ "อาณาจักรขอม" (Khmer Kingdom) และต่อศิลปวัฒนธรรมของเอเชียอาคเนย์ ดังเช่นที่ปรากฏที่ "นครวัด" และ "นครธม" เป็นต้น
เมื่อพุทธศาสนาเกิดขึ้นในอินเดียกว่า 2,500 ปีมาแล้วนั้น พุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาแบบ "อเทวนิยม" (Atheism) ที่ไม่เชื่อเรื่องอำนาจดลบันดาลและการมีอยู่ของพระเจ้า ต้องต่อสู้ทางความคิดกับศาสนาพราหมณ์ซึ่งเป็นศาสนาแบบ "พหุเทวนิยม" (Polytheism) ที่เชื่อการมีอยู่ของพระเจ้าหลายองค์ ในยุคพุทธกาลพระพุทธเจ้าทรงประสบความสำเร็จในการประกาศแนวความคิดใหม่ทางศาสนา โดยทรงจัดตั้งคณะสงฆ์ขึ้นเพื่อให้สืบทอดคำสอนของพระองค์ ต่อมาพระจักรพรรดิอโศกมหาราชได้ทรงเผยแผ่พุทธศาสนาไปอย่างกว้างไกลทั่วทั้งชมพูทวีป และยังได้ส่งพระธรรมทูตเผยแผ่พุทธศาสนาลงมาที่เกาะลังกา และดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย ทำให้ประชาชนในเอเชียอาคเนย์รับนับถือพุทธศาสนาเข้าไว้อีกศาสนาหนี่ง
ศาสนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงมีลักษณะเป็นการผสมผสานลัทธิความเชื่อทางศาสนา (Syncretism) ซึ่งประกอบด้วยศาสนาปฐมบรรพ์ ศาสนาพราหมณ์ และพุทธศาสนา โดยภาพรวมแล้วศาสนาพราหมณ์มีชัยชนะเหนือศาสนาปฐมบรรพ์ของคนท้องถิ่น และพุทธศาสนาก็มีชัยชนะเหนือทั้งศาสนาพราหมณ์และศาสนาปฐมบรรพ์ แต่ทั้งสามศาสนาก็ยังคงมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดและความเชื่อของผู้คนในเอเชียอาคเนย์เป็นอย่างมาก
ต่อมาศาสนาอิสลามจากตะวันออกกลางได้รุกคืบสู่อินเดีย และสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งดินแดนที่เป็นหมู่เกาะ อันได้แก่ อินโดนีเซีย บอร์เนียว และแหลมมลายู การเข้ามาของอิสลามส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อวิถีชีวิตของผู้คนในแถบนี้ ทั้งนี้เพราะศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแบบ "เอกเทวนิยม" (Monotheism) ซึ่งเชื่อพระเจ้าองค์เดียว และไม่ประนีประนอมความเชื่อกับศาสนาอื่น ทำให้ผสมกลมกลืนกับศาสนาทั้งสามที่มีอยู่เดิมได้ยาก อย่างไรก็ตามอิสลามในเอเชียอาคเนย์ก็มีลักษณะยืดหยุ่นกว่าในตะวันออกกลาง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะอิทธิพลวัฒนธรรมท้องถิ่นของเอเชียอาคเนย์เอง ที่เป็นแบบ "วัฒนธรรมอ่อน" (soft culture) ทำให้มุสลิมอยู่ร่วมกับศาสนิกในศาสนาอื่นได้อย่างค่อนข้างสันติ
เมื่อชาวตะวันตกนำศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเข้ามาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมู่เกาะฟิลิปปินส์นั้น ศาสนาคริสต์แม้จะเป็นศาสนาแบบ "เอกเทวนิยม" ซี่งเข้ากับศาสนาอื่นได้ยากก็ตาม แต่ด้วยลักษณะของวัฒนธรรมเอเชียอาคเนย์ ทำให้ศาสนาคริสต์ผสมผสานเข้ากับศาสนาปฐมบรรพ์ในฟิลิปปินส์ ทำให้ศาสนาคริสต์ในฟิลิปปินส์มีลักษณะเฉพาะของตนเอง และเมื่อสำนักวาติกันมีนโยบายให้ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นได้ รูปแบบภายนอกของศาสนาคริสต์ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป เช่น โบสถ์คริสต์ในประเทศไทยเริ่มมีลักษณะเหมือนกับวัดพุทธศาสนา และบาดหลวงสามารถ "ทอดกฐิน" "ทอดผ้าป่า" รวมทั้งออก "บิณฑบาต" รับอาหารจากชาวบ้านได้ เป็นต้น
ลักษณะเฉพาะของพุทธศาสนาในแต่ละประเทศ
พุทธศาสนาถือกำเนิดขึ้นที่ชมพูทวีป โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นศาสดา และได้แผ่กระจายไปทั่วภูมิภาคเอเชียในสมัยของพระจักรพรรดิอโศกมหาราช พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ชาวพุทธตัวอย่าง ที่ทรงอุทิศตนในการปฏิบัติและเผยแผ่ธรรมะ เมื่อทรงนับถือพุทธศาสนาก็มิได้รังเกียจศาสนาอื่น แต่ยังคงให้ความสนับสนุนเป็นอย่างดี ในสมัยนั้นพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก พระเจ้าอโศกทรงอุปถัมภ์คณะสงฆ์อย่างดียิ่ง โปรดให้คณะสงฆ์ประชุมทำสังคายนาขึ้นเป็นครั้งที่ 3
หลังการสังคายนา พระเจ้าอโศกมหาราชทรงโปรดให้ส่งพระเถระที่มีความรู้ความสามารถออกเผยแผ่พุทธศาสนาไปในต่างแดน เช่น ทรงส่ง "พระมหินทรเถระ" และ "พระสังฆมิตตาภิกษุณี" (พระโอรสและพระธิดาของพระเจ้าอโศกเอง) ไปยังเกาะลังกา และทรงส่ง "พระโสนะ" และ "พระอุตตระ" มายังเอเชียอาคเนย์ โดยทรงเล็งเห็นว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าจะเป็นหนทางนำมนุษยชาติไปสู่สันติภาพ ต่อไปภายหน้าหากพุทธศาสนาในอินเดียไม่มั่นคง พุทธศาสนาก็จะยังคงอยู่ในดินแดนอื่นๆ ต่อไป
พุทธศาสนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีลักษณะเฉพาะของแต่ละประเทศ นัก "พุทธวิทยา" (Buddhologist) ได้ใช้สมมติฐานในเชิงความคิด (a priori) กล่าวถึงธรรมชาติและคุณลักษณะของพุทธศาสนาและชาวพุทธในเชิงอุดมคติว่า พุทธศาสนาและชาวพุทธที่เป็นแก่นสารสาระนั้นมีรูปแบบเดียวที่ชัดเจนในประเทศพุทธศาสนาทุกประเทศ แต่นักสังคมวิทยา (Sociologist) ซึ่งวิจัยเกี่ยวกับลักษณะเชิงประจักษ์ของพุทธศาสนาที่ปฏิบัติกันอยู่ในหมู่ชาวพุทธของแต่ละประเทศ กลับค้นพบความจริงซึ่งไม่ตรงกับพุทธศาสนาแบบอุดมคติ โดยพุทธศาสนาในแต่ละประเทศมีคุณลักษณะที่แตกต่างกันค่อนข้างมากทีเดียว
พุทธศาสนาในแต่ละประเทศมีลักษณะเฉพาะตนที่ไม่เหมือนกัน เนื่องจากปฏิสัมพันธ์ที่แตกต่างกันระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาในแต่ละประเทศนั่นเอง ครั้งพุทธกาลความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธเจ้ากับผู้ปกครองรัฐต่างๆในอินเดียตอนเหนือก็แตกต่างกัน ดังนั้นจากประวัติศาสตร์ยุคต้นของพุทธศาสนาเป็นต้นมา ท่าทีและนโยบายที่แตกต่างกันของรัฐบาลแต่ละรัฐ ต่อผู้ที่นับถือพุทธศาสนาในดินแดนของตน จึงเป็นตัวกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของพุทธศาสนาในแต่ละประเทศ เช่น ชาวพุทธในมาเลเซียนับถือและปฏิบัติพุทธศาสนาในบริบทที่แตกต่างไปจากชาวพุทธในประเทศไทย ชาวพุทธในพม่าก็มีประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากชาวพุทธทั้งไทยและมาเลเซีย และชาวพุทธในสิงคโปร์ก็เผชิญปัญหาที่แตกต่างไปจากชาวพุทธที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นต้น
นอกเหนือจากปัจจัยทางการเมืองแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลกระทบต่อแบบแผนของพุทธศาสนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประวัติศาสตร์ ภาษา ภูมิศาสตร์ สภาพแวดล้อม ความยากง่ายของการเดินทาง เศรษฐกิจ ระดับการพัฒนา รวมทั้งระดับการศึกษาของประชาชน ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบไม่เพียงแต่ต่อลักษณะของแต่ละประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบทั้งต่อรูปแบบและคุณลักษณะของพุทธศาสนา ในประเทศแถบเอเชียอาคเนย์อีกด้วย
ดังนั้นจึงไม่เป็นการเพียงพอที่จะกล่าวว่า "พุทธศาสนา" ในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็น "เถรวาท" หรือ "มหายาน" ใช้ภาษา "บาลี" หรือ "สันสกฤต" เราจำเป็นต้องรู้มากกว่านั้นเพื่อที่จะเริ่มต้นเข้าใจว่า ทำไม "ชาวพุทธ" ในประเทศนั้นจึงมีปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์สาธารณะ ความสัมพันธ์ทางสังคม ภัยธรรมชาติ และการกดขี่ทางการเมือง แตกต่างจากชาวพุทธประเทศอื่น ทั้งๆ ที่อยู่ในเอเชียอาคเนย์ด้วยกัน
นักพุทธปรัชญาอาจอ้างว่า พุทธปรัชญา (Buddhist Philosophy) คงมีสาระเดียวกันหมดไม่ว่าจะอยู่ในประเทศใด และคำสอนของพุทธศาสนาก็มีลักษณะเป็นสากล อย่างไรก็ตามคำสอนในพุทธศาสนา (ซึ่งก็เช่นเดียวกับแนวคิดและคำสอนในปรัชญาหรือศาสนาอื่นๆ) จำเป็นที่จะต้องประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์ที่เป็นจริง และจากการประยุกต์นี้เองที่เงื่อนไขทั้งระดับสังคมและระดับประเทศได้ส่งผลกระทบอย่างสำคัญ ดังนั้นพุทธศาสนาในความเป็นจริงแล้วจึงมีลักษณะเป็น "พหุลักษณ์" (pluralistic) มาตั้งแต่สมัยแรกเริ่มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11446. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6.