การประชุมประวัติศาสตร์ศาสนาที่โตเกียว

ชาวพุทธในที่ประชุมได้เรียกร้องวิถีแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สันติสามประการในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในโลกปัจจุบัน ประการแรก ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดโลกภายใต้ระบบทุนนิยมข้ามชาติ ควรจะได้รับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจทางเลือก (เช่น พุทธเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น) เพื่อให้เกิดโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ยุติธรรม เพื่อว่าประชาชนในโลกที่สามรวมทั้งชาวมุสลิมจะมีมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้น ประการที่สอง ประชาชนทุกเชื้อชาติ เพศ วัย สัญชาติ และศาสนาควรจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติในโลกแห่งความหลากหลายนี้ ด้วยความเข้าใจและเคารพซึ่งกันและกัน โดยปราศจากการคุกคามทำร้ายกัน ควรถือว่ามนุษย์ทุกคนเป็นพี่น้องกัน ประการที่สาม การตีความคัมภีร์ทางศาสนาในโลกปัจจุบัน ไม่ควรถูกกระทำไปในลักษณะที่สร้างอุดมการณ์ทางศาสนาอันนำไปสู่ความรุนแรงหรือสงคราม แต่ควรนำไปสู่การสร้างอุดมการณ์ทางศาสนาที่มุ่งเน้นสันติสุขแก่มนุษย์และสันติภาพแก่โลก
 

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
อาจารย์ประจำภาควิชามนุษยศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ในระหว่างวันที่ 24-30 มีนาคม พ.ศ.2548 ที่ผ่านมา มีการประชุมสภาโลกครั้งที่ 19 ของสมาคมนานาชาติเพื่อประวัติศาสตร์ศาสนา (The 19th World Congress of the International Association for the History of Religions หรือ IAHR) ในหัวข้อเรื่อง "ศาสนา : ความขัดแย้งและสันติภาพ" (Religion : Conflict and Peace) ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยมีเจ้าชายมิคาสะ (Prince Mikasa) พระอนุชาในสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต (Hirohito) พระจักรพรรดิพระองค์ก่อนของญี่ปุ่น พร้อมด้วยพระชายาทรงเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม และมีนักวิชาการจาก 63 ประเทศทั่วโลกกว่า 1,500 คนเข้าร่วมประชุม

ที่ประชุมได้พิจารณาถึงประเด็นต่างๆ อย่างกว้างขวาง เช่น "มิติทางศาสนาเกี่ยวกับสงครามและสันติภาพ" "เทคโนโลยี ชีวิต และความตาย" "ศาสนายุคโลกาภิวัตน์และวัฒนธรรมท้องถิ่น" "ขอบเขตและการแบ่งแยก" และ "วิธีกับทฤษฎีในการศึกษาศาสนา" เป็นต้น แต่ประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างยิ่งได้แก่ การปะทะทางอารยธรรมที่มีมิติทางศาสนารวมอยู่ด้วย ในยุคสงครามเย็นศาสนาถูกมองว่าเป็นปัจจัยสร้างสรรค์ในการนำสันติภาพและเสถียรภาพมาสู่โลก แต่หลังยุคสงครามเย็นมีความวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับศาสนาในอีกด้านหนึ่งว่า อุดมการณ์ทางศาสนาจะเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งและการปะทะระหว่างอารยธรรม

ข้อสรุปจากที่ประชุมเกี่ยวกับประเด็นนี้บ่งชี้ว่า วิกฤตการณ์ของโลกในปัจจุบันอาจมองได้อย่างน้อยจากสองทรรศนะด้วยกันคือ วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจการเมืองของโลก และสิ่งที่เรียกว่า "การปะทะทางอารยธรรม" จากทรรศนะทางเศรษฐกิจการเมือง โลกได้ถูกรวมตัวกันชั่วคราวในกรอบของระบบเศรษฐกิจแบบตลาดโลก ภายใต้ระบบทุนนิยมข้ามชาติ อุดมการณ์ทุนนิยมในเรื่อง "การแข่งขันอย่างเสรี" (free competition) ค่อนข้างจะเป็นอุดมคติ ในโลกแห่งความเป็นจริงทุนข้ามชาติกลืนกินทุนท้องถิ่นในโลกที่สาม และกลืนกินทุนชาติในระดับหนึ่ง อันนำไปสู่ระบบ "ทุนนิยมผูกขาด" ซึ่งเป็นจักรวรรดินิยมโดยธรรมชาติของมัน ผลที่ตามมาก็คือ โครงสร้างทางเศรษฐกิจของโลกได้ทำให้ประเทศที่มั่งคั่งมั่งคั่งขึ้น ประเทศที่ยากจนยากจนลง และภายในขอบเขตของประเทศหนึ่งๆ คนรวยรวยขึ้น คนจนจนลง

ในยุคสงครามเย็นนั้นคนจนและประเทศที่ยากจนถูกหล่อเลี้ยงด้วยความหวังของ "อุดมการณ์สังคมนิยม" แต่เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลงอุดมการณ์สังคมนิยมก็ได้สิ้นสุดลงด้วย แต่ "อุดมการณ์ทางศาสนา" ได้ค่อยๆ เข้ามาแทนที่ ความไม่ยุติธรรมในทางเศรษฐกิจดังกล่าวข้างต้น ผนวกกับลักษณะเฉพาะบางประการของศาสนาอิสลาม และไฟปะทุของความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ทำให้มุสลิม (บางกลุ่ม) ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นตัวแทนของประชาชนในโลกที่สาม เข้าโจมตีสหรัฐอเมริกาอันเป็นศูนย์กลางของระบบทุนนิยมโลก สงครามรอบใหม่ระหว่างประชาชนในโลกที่สามและประเทศโลกที่หนึ่งที่มั่งคั่งจึงได้เกิดขึ้น

เมื่อมองจากทรรศนะที่สอง การปะทะของอารยธรรมอิสลามกับอารยธรรมตะวันตกอาจมองได้ว่า มีรากฐานมาจากความแตกต่างทางด้านการให้คุณค่ากับอุดมการณ์ อิสลามในฐานะศาสนาได้ให้โลกทรรศน์และคุณค่าชุดหนึ่งแก่ผู้ที่นับถือ ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ถือว่าศาสนาของตนเป็นเพียงศาสนาเดียวเท่านั้นที่ครอบครองสัจธรรมสูงสุดไว้ ดังนั้นโลกทรรศน์และคุณค่าของศาสนาอิสลามจึงสมบูรณ์และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ทรรศนะเช่นนี้นำไปสู่แนวคิดแบบ "ลัทธิหวนคืนสู่สังคมเก่า" (Fundamentalism) ในทางตรงข้ามตะวันตกเป็นผู้นำของ "ความทันสมัย" (Modernity) อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่รวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโลกทรรศน์และคุณค่าในระดับโลก ดังนั้นส่วนหนึ่งของการปะทะก็คือ การปะทะระหว่าง "ลัทธิหวนคืนสู่สังคมเก่า" กับ "ความทันสมัย"

อุดมการณ์ทางศาสนาบางครั้งกลายเป็นปัจจัยที่สำคัญ ที่อาจนำไปสู่สันติภาพก็ได้หรือนำไปสู่ความรุนแรงก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตีความ ยกตัวอย่างเช่น ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นได้ใช้ประโยชน์จากอุดมการณ์ของศาสนาชินโต ในการขับเคลื่อนกองทัพญี่ปุ่นให้เข้ารุกรานเอเชีย และในการป้องกันประเทศในเวลาต่อมา จากการตีความคัมภีร์ของศาสนาชินโต พระจักรพรรดิญี่ปุ่นทรงเป็นผู้สืบเชื้อสายโดยตรงมาจากเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ ดังนั้นพระจักรพรรดิจึงทรงเป็นเทพเจ้า และชาวญี่ปุ่นก็เป็นเชื้อชาติที่ถูกเลือกสรรแล้วโดยพระเจ้าให้ทำหน้าที่ปกครองโลก ถ้าบัญญัติแห่งสวรรค์นี้ไม่สามารถสำเร็จลุล่วงโดยสันติวิธีแล้ว ก็ไม่เป็นการปราศจากเหตุผลที่จะกระทำให้สำเร็จลุล่วงด้วยสงคราม เมื่อต้องเผชิญหน้ากับระเบิดนิวเคลียร์สองลูกในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง พระจักรพรรดิฮิโรฮิโต (Hirohito) ทรงประกาศทางวิทยุทั่วประเทศที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นตกตะลึงทั้งชาติว่า สายใยแห่งความผูกพันระหว่างพระจักรพรรดิกับประชาชนญี่ปุ่น ไม่อาจตั้งอยู่บนคัมภีร์อันเป็นตำนานเทพนิยายได้อีกต่อไป พระจักรพรรดิมิได้ทรงเป็นเทพเจ้า แต่ทรงเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ศาสนาชินโตถูกแบ่งแยกออกเป็นสองส่วน กล่าวคือ "ชินโตแห่งรัฐ" (State Shintoism) ซึ่งได้ให้อุดมการณ์อันนำไปสู่ลัทธิทหาร ถูกยุบเลิกไปโดยฝ่ายสัมพันธมิตร และ "ชินโตแห่งนิกาย" (Sectarian Shintoism) ซึ่งเป็นความเชื่ออันสันติส่วนบุคคล ได้รับอนุญาตให้ดำรงอยู่ต่อไปในฐานะศาสนา รัฐธรรมนูญใหม่ของญี่ปุ่นซึ่งเขียนโดยฝ่ายสัมพันธมิตร ได้แบ่งแยกรัฐกับศาสนาออกจากกันอย่างชัดเจน ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าศาสนาจะไม่สามารถให้อุดมการณ์อันนำไปสู่สงครามรอบใหม่ได้อีก

การโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพในยุคปัจจุบัน โดยผู้ก่อการร้ายชาวมุสลิมต่อชาวยิวและชาวตะวันตก ได้เตือนให้ชาวโลกหวนระลึกถึงฝูงบิน กามิกาเซ่ ของญี่ปุ่นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง มีคำถามบางประการที่กำลังรอคอยคำตอบ เช่น การตีความศาสนาอิสลามในบางลักษณะ จะสามารถให้อุดมการณ์อันนำไปสู่ลัทธิทหาร (ไม่ว่าจะเต็มรูปแบบหรือลงใต้ดินก็ตาม) ในลักษณะที่คล้ายคลึงกับที่ศาสนาชินโตได้ให้แก่ญี่ปุ่นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองหรือไม่ ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช คิดอะไรอยู่ในใจ เมื่อท่านประกาศว่าท่านจะนำ "ประชาธิปไตย" และ "เสรีภาพ" ไปสู่โลกอิสลาม ความขัดแย้งในปัจจุบันระหว่างมุสลิมกับตะวันตกเป็นความขัดแย้งทางเศรษฐกิจการเมืองล้วนๆ หรือว่าเป็นสงครามศักดิ์สิทธิ์รอบใหม่ เป็นต้น

ชาวพุทธในที่ประชุมได้เรียกร้องวิถีแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สันติสามประการในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในโลกปัจจุบัน ประการแรก ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดโลกภายใต้ระบบทุนนิยมข้ามชาติ ควรจะได้รับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจทางเลือก (เช่น พุทธเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น) เพื่อให้เกิดโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ยุติธรรม เพื่อว่าประชาชนในโลกที่สามรวมทั้งชาวมุสลิมจะมีมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้น ประการที่สอง ประชาชนทุกเชื้อชาติ เพศ วัย สัญชาติ และศาสนาควรจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติในโลกแห่งความหลากหลายนี้ ด้วยความเข้าใจและเคารพซึ่งกันและกัน โดยปราศจากการคุกคามทำร้ายกัน ควรถือว่ามนุษย์ทุกคนเป็นพี่น้องกัน ประการที่สาม การตีความคัมภีร์ทางศาสนาในโลกปัจจุบัน ไม่ควรถูกกระทำไปในลักษณะที่สร้างอุดมการณ์ทางศาสนาอันนำไปสู่ความรุนแรงหรือสงคราม แต่ควรนำไปสู่การสร้างอุดมการณ์ทางศาสนาที่มุ่งเน้นสันติสุขแก่มนุษย์และสันติภาพแก่โลก
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 9892. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6.

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo