ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับศาสนา

จากลักษณะทั่ว ไปที่ศาสนาต่าง ๆ มีอยู่ร่วมกัน ทำให้สรุปความหมายของคำว่า “ศาสนา” ได้ว่า “ศาสนา หมายถึง หลักคำสอนที่เป็นแบบแผนของความเชื่อ ความมั่นคงทางจิตใจ และเป็นแบบแผนพฤติกรรมของมนุษย์ เพื่อนำมนุษย์ไปสู่เป้าหมายที่ดีงามในชีวิต”
 

เรียบเรียงโดย ดวงเด่น นุเรมรัมย์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาจริยศาสตร์ศึกษา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ความหมายของศาสนา

คำว่า "ศาสนา" ในภาษาอังกฤษคือ "Religion" โดยเป็นคำที่มาจากคำละติน "Religio" ซึ่งแปลว่า "สัมพันธ์" หรือ "ผูกพัน" เนื่องจากภาษาละตินเป็นภาษาของชนชาติโรมัน ดังนั้น คำว่า "Religio" จึงหมายถึง "ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า"

ในภาษาบาลีจะ เขียนว่า "สาสน" ซึ่งแปลว่า "คำสั่งสอน" ซึ่ง "คำสั่ง" หมายถึง ข้อห้ามทำความชั่ว และสำหรับ "คำสอน" หมายถึง คำแนะนำให้ทำความดี

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (๒๕๒๗ : ๒๘-๓๖) ทรงให้ความหมายว่า ศาสนา มีความหมายสรุปได้เป็น ๒ นัย คือ (๑) คำสั่งสอน (๒) การปกครอง

พระราชวรมุนี (ประยุทธ ปยุตฺโต) (๒๕๒๗: ๒๙๑) ทรงให้นิยามว่า “ศาสนา” คือ คำสอน คำสั่งสอน ปัจจุบันใช้หมายถึงลัทธิความเชื่อถืออย่างหนึ่งๆ พร้อมด้วยหลักคำสอน ลัทธิพิธี องค์การ และกิจการทั่วไปของหมู่ชนผู้นับถือลัทธิความเชื่อถืออย่างนั้น ๆ ทั้งหมด

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์) (๒๕๓๑: ๙๑) ทรงอธิบายว่า “ศาสนาคือ คำสั่งสอน ท่านผู้ใดเป็นต้นเดิม เป็นผู้บัญญัติสั่งสอน ก็เรียกว่าศาสนาของท่านผู้นั้น หรือท่านผู้บัญญัติสั่งสอนนั่นได้นามพิเศษอย่างไร ก็เรียกชื่อนั้นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ศาสนาจึงมีมาก คำสอนก็ต่างกัน...”

สุชีพ ปุญญานุภาพ (๒๕๓๒: ๙) อธิบายความหมายคำว่า “ศาสนา” ไว้ว่า

๑. ศาสนา คือ ที่รวมแห่งความเคารพนับถืออันสูงส่งของมนุษย์
๒. ศาสนา คือ ที่พึ่งทางจิตใจ ซึ่งมนุษย์ส่วนมากย่อมเลือกยึดเหนี่ยวตามความพอใจ และความเหมาะสมแก่เหตุแวดล้อมของตน
๓. ศาสนา คือ คำสั่งสอน อันว่าด้วยศีลธรรม และอุดมคติสูงสุดในชีวิตของบุคคล รวมทั้งแนวความเชื่อถือและแนวการปกิบัติต่า ๆ กันตามคติของแต่ละศาสนา

ราชบัณฑิตยสถาน (๒๕๓๙: ๗๘๓) ให้ความหมายของ “ศาสนา” ว่า “ลัทธิความเชื่อของมนุษย์อันมีหลัก คือ แสดงกำเนิดและความสิ้นสุดของโลก เป็นต้น อันเป็นไปในฝ่ายปรมัถต์ประการหนึ่ง แสดงหลักธรรมเกี่ยวกับบุญบาปอันเป็นไปในฝ่ายศีลธรรมประการหนึ่ง พร้อมทั้งลัทธิพิธีที่กระทำตามความเห็น หรือตามคำสั่งสอนในความเชื่อนั้น ๆ”

จากนิยามดัง กล่าวในข้างต้น จะเห็นว่านักคิดท่านต่าง ๆ ต่างให้นิยามของศาสนาไปตามโลกทัศน์ของแต่ละบุคคล ซึ่งเมื่อเราพิจารณาคำนิยามเหล่านี้แล้วอาจจะเกิดปัญหาว่านิยามใดดีที่สุด หรือเหมาะสมที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากนิยามของคำว่า “ศาสนา” ย่อมถูกต้องและเหมาะสมแตกต่างกันออกไปตามหลักความเชื่อของศาสนานั้น ๆ

เมื่อเกิด ปัญหาในเรื่องของการนิยามแล้ว จึงนำไปสู่การพิจารณาว่า นิยามที่ดีของศาสนานั้น ควรเป็นอย่างไร ซึ่งในเรื่องดังกล่าวนี้ได้มีผู้เสนอว่า “วิธีการนิยามศาสนาที่ดีนั้น ควรพิจารณาหาสิ่งที่มีคุณลักษณะร่วมกันที่มีอยู่ในทุกศาสนา มาใช้เป็นคำนิยามของคำว่า ศาสนา” และหากพิจารณาบรรดาศาสนาทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้ เราจะพบว่า มีลักษณะร่วมกันที่สำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้

• ทุกศาสนาจะต้องมีหลักคำสอน : หลักคำสอนทาง ศาสนามีหน้าที่สั่งสอนให้มนุษย์ประพฤติดี เพื่อนำมนุษย์ไปสู่เป้าหมายที่สำคัญของศาสนา อีกทั้งทำให้มนุษย์ได้พบกับสัจธรรมในชีวิต ซึ่งเมื่อพิจารณาตามนัยยะนี้แล้วจะเห็นว่า คำสอนทางศาสนานั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติตาม เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดของศาสนาที่แต่ละปัจเจกบุคลนับถืออยู่

• หลักคำสอนของทุกศาสนาจะมีลักษณะเป็นเรื่องราวของความเชื่อมากกว่าเหตุผล : เนื่องจากหลัก คำสอนของแต่ละศาสนามุ่งสร้างความเชื่อ ความศรัทธาในคำสอนของศาสนานั้น ๆ ให้เกิดขึ้นแก่มนุษย์ อีกทั้งการยอมรับศาสนาของมนุษย์เกิดจากความเชื่อทางศาสนา ที่ (บางศาสนา) สามารถยอมรับศาสนานั้น ๆ ได้โดยไม่สนใจความถูกต้องในเชิงเหตุผล หรือบทพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์

• ศาสนาทุกศาสนาเน้นเรื่องของระดับจิตใจมากกว่าเรื่องทางวัตถุ : โดยเรื่องที่ ให้ความรู้สึกทางอารมณ์ หรือจิตใจนั้นจะถูกแสดงออกโดยผ่านพิธีกรรมทางศาสนา ความเชื่อทางศาสนา และการแสดงออกผ่านทางการกระทำ เป็นต้นว่า ผู้ที่เคร่งศาสนามักจะมีความมั่นคงทางจิตใจสูง เพราะเขามีความเชื่อและศรัทธาในสิ่งที่เขาเชื่อมั่นอย่างแน่นแฟ้น ทำให้จิตใจสงบ เป็นตัน

จากลักษณะทั่ว ไปที่ศาสนาต่าง ๆ มีอยู่ร่วมกัน ทำให้สรุปความหมายของคำว่า “ศาสนา” ได้ว่า “ศาสนาหมายถึง หลักคำสอนที่เป็นแบบแผนของความเชื่อ ความมั่นคงทางจิตใจ และเป็นแบบแผนพฤติกรรมของมนุษย์ เพื่อนำมนุษย์ไปสู่เป้าหมายที่ดีงามในชีวิต” 

มูลเหตุที่ทำให้เกิดศาสนา

การถือกำเนิด ของศาสนาในระยะเริ่มแรกนั้น เกิดจากความไม่รู้ของมนุษย์ที่มีต่อปรากฏการณ์ ธรรมชาติ กล่าวคือ มนุษย์ได้ประสบกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ และปรากฎการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น กับชีวิต เช่น ความมืด ความสว่าง น้ำท่วม พายุ ฝนตก ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว ไฟป่า น้ำท่วม กลางวัน กลางคืน การเกิด การตาย เป็นต้น อีกทั้งขอบเขตของความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่มีจำกัด ทำให้มนุษย์ในสมัยดึกดำบรรพ์ไม่อธิบายสาเหตุที่แท้จริงอันอยู่เบื้องหลังของ ภัยธรรมชาติเหล่านั้นได้ ดังนั้น มนุษย์จึงมองว่าปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็น สิ่งน่าหวาดกลัว ทรงอานุภาพ ลึกลับ และมหัศจรรย์

จากความไม่ เข้าใจในธรรมชาติ และความกลัว ทำให้มนุษย์เชื่อว่ามีบางสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ (เช่น เทพเจ้า ภูตผี วิญญาณ) เป็นผู้ดลบันดาลให้ปรากฏการณ์ธรรมชาติเกิดขึ้น ดังนั้น มนุษย์จึงแสวงหา วิธีการที่จะคุ้มครองให้ตน อยู่อย่างเป็นสุข โดยสร้างวัฒนธรรม หรือจัดพิธีบูชาและเซ่นสรวงเทพเจ้าขึ้น โดยพิธีกรรมเหล่านั้นได้แก่ การบูชายัญ การสวดวิงวอน สวดสรรเสริญ เป็นต้น เพื่อเป็นการแสดง ความเคารพนับถือ และเอาใจเทพเจ้า

จะเห็นได้ว่า การที่มนุษย์ยอมรับสิ่งเหนือธรรมชาติ หรือเทพเจ้า ก็เพราะมนุษย์ต้องการความอบอุ่นใจ หรือต้องการหาที่พึ่ง ซึ่งการมีที่พึ่งทำให้มนุษย์ไม่รู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยว หรือเมื่อต้องการพ้นภัยก็จะ อ้อนวอนร้องขอจากเทพเจ้า หรือหากเทพเจ้าพึงพอใจกับพิธีบูชาแล้วก็ย่อมจะอำนวยสภาพแวดล้อม ที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ แต่ในทางตรงกันข้าม หากเทพเจ้าไม่พอใจก็อาจดลบันดาลให้เกิดภัยพิบัติ ให้แก่มนุษย์ได้เช่นกัน

จากความเชื่อ ของกลุ่มคน ขนบธรรมเนียมประเพณีและพิธีกรรม ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อต่อ สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ จึงค่อย ๆ วิวัฒนาการเรื่อยมา จนกระทั่งกลายเป็นลัทธิ และศาสนาต่าง ๆ

มีผู้เสนอว่า ศรัทธา หรือความเชื่อนับเป็นจุดเริ่มต้นทางศาสนาทั้งปวง ซึ่งศรัทธาในทางศาสนานั้นมีอยู่ ๒ ประเภท ได้แก่ ศรัทธาอันเป็นญาณสัมปยุต คือ ความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญา รู้เหตุ รู้ผล และศรัทธาอันเป็นญาณวิปปยุต คือ ความเชื่ออันเกิดจากความไม่รู้เหตุรู้ผล

หากจะแยกให้ เห็นมูลเหตุของศาสนาตามวิวัฒนาการทางความคิดของมนุษย์ ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบันสามารถแยกได้ดังนี้ (เสฐียร พันธรังสี, ๒๕๑๓:๑๘)

๑. เกิดจากอวิชชา : อวิชชา คือ ความไม่รู้ ในที่นี้ได้แก่ความไม่รู้เหตุรู้ผล เริ่มแต่ความไม่รู้เหตุผลทางภูมิศาสตร์ ทางดาราศาสตร์ ไม่รู้ชีววิทยา และไม่รู้จักธรรมชาติอื่น ๆ ที่อยู่รอบตัวเรา เมื่อมีความไม่รู้เหตุผลก็เกิดความกลัวในพลังทางธรรมชาติ ต้องการความช่วยเหลือจากธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งมีอำนาจเหนือตน จึงมีการส้รางขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่อบูชาเอาใจสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น เพื่อที่จะสามารถช่วยให้มนุษย์มีความอยู่รอดไม่มีภัยต่อ ๆ ไป

๒. เกิดจากความกลัว : มนุษย์จะอยู่ในโลกได้ต้องมีหน้าที่ คือ การต่อสู้กับธรรมชาติ และสู้สัตว์ร้ายนานาชนิด และโดยเฉพาะกับมนุษย์ด้วยกันเอง ยามใดที่เราสามารถเอาชนะธรรมชาติหรือคนได้ ความเกรงกลัวธรรมชาติ สัตว์ร้าย หรือมนุษย์ย่อมไม่มี แต่ถ้าไม่สามารถต่อสู้ได้ มนุษย์จะเกิดความกลวต่อสิ่งเหล่านั้น และในยามนั้นเอง ที่มนุษย์ต้องพากันกราบไหว้บูชา และแสดงความจงรักภักดี ทำพิธีสังเวยเซ่นไหว้ต่อธรรมชาติดังกล่าว ด้วยความหวังหรืออ้อนวอนขอให้สำเร็จตามความปรารถนาอันเป็นผลตอบแทนขึ้นมา เป็นความสุข ความปลอดภัย และอยู่ได้ในโลก

๓. เกิดจากความจงรักภักดี : ความ จงรักภักดีเป็นศรัทธาครั้งแรกที่มนุษย์ทุกยุคทุกสมัยยอมเชื่อว่า เป็นกำลังก่อให้เกิดความสำเร็จได้ทุกเมื่อ ในกลุ่มศาสนาที่นับถือพระเจ้า (ศาสนายิว ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม) มุ่งเอาความภักดีต่อพระเจ้าเป็นหลักใหญ่ในศาสนา ในกลุ่มชาวอารยันมีสาสนาพราหมณ์ (ฮินดู) มีคำสอนถึงภักติมรรค คือ ทางแห่งความภักดี อันจะยังบุคคลให้ถึงโมกษะ คือหลุดพ้นได้ แม้ในทางพระพุทธศาสนาก็ยอมรับว่าศรัทธา หรือความเชื่อ ความเลื่อมใสเท่านั้นที่จะพาข้ามโอฆสงสารได้ เมื่อเป็นดังนี้แสดงว่ามนุษย์ยอมตนให้อยู่ใต้อำนาจของธรรมชาติเหนือตน อันเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเองซึ่งเรียกว่าเทพเจ้า หรือพระเจ้า อย่างไรก็ตาม ผลที่เกิดตามมาคือมนุษย์ยอมให้เครื่องเซ่สังเวยแก่ธรรมชาตินั้น ๆ ด้วย ลักษณะนี้จึงเท่ากับมนุษย์เสียความเป็นใหญ่ในตน ยอมอยู่ใต้อำนาจของสิ่งที่ตนคิดว่ามีอำนาจเหนือตน

๔. เกิดจากปัญญา : ศรัทธาอันเกิดจากปัญยาคือมูลเหตุให้เกิดศาสนาอีกทางหนึ่ง แต่ศาสนาประเภทนี้มักเป็นฝ่ายอเทวนิยม คือไม่สอนเรื่องเทพเจ้าสร้างโลก ไม่ถือเทพเจ้าเป็นศูนย์กลางแห่งศาสนา หากแต่ถือความรู้ประจักษ์จริงเป็สำคัญ เช่น พระพุทธศาสนา ความเน้นหนักของพระพุทธศาสนา คือ ญาณ หรือปัญยาชั้นสูงสุดที่ทำให้รู้แจ้งประจักษ์ความจริง และหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง

๕. เกิดจากอิทธิพลของบุคคลสำคัญ : ศาสนาหรือลัทธิที่เกิดจากความสำคัญของบุคคลเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทุก แห่งหน ที่มีเรื่องราว หรือความสำคัญของบุคคลที่อยู่ ณ ที่นั้น ความสำคัญของบุคคลที่เป็นเหตุเริ่มต้นของศาสนา หรือลัทธิ โดยมากมักมีเหตุเริ่มต้นโดยความบริสุทธิ์จากจิตใจของมนุษย์ ไม่มีใครบังคับ ไม่มีใครวางหลัก อีกทั้งเมื่อใครนับถือความสำคัญของบุคคลผู้ใดก็จะพากันกราบไหว้ และเคารพบูชา

๖. เกิดจากลัทธิการเมือง : ลัทธิ การเมืองอันเป็นมูลเหตุของศาสนาเป็นเรื่องสมัยใหม่ อันสืบเนื่องจากการที่ลัทธิการเมืองเฟื่องฟูขึ้นมา และลัทธิการเมืองนั้นได้เข้าไปมีอิทธิพลต่อคนลางกลุ่ม เป็นต้นว่า กลุ่มคนยากจน ซึ่งคนเหล่านั้นก็ได้ละทิ้งศาสนาเดิมที่ตนเองนับถืออยู่ แลวหันมานับถือลัทธิการเมืองดังกล่าวเป็นศาสนาประจำสังคม หรือชาตินิยมลัทธิการเมือง เป็นต้นว่า ลัทธินาซี ลัทธิฟาสซิสม์ และลัทธิคอมมิวนิสต์

องค์ประกอบของศาสนา

การพิจารณาว่า สิ่งใดจัดเป็นศาสนาหรือไม่นั้น โดยปกติจะพิจารณาจากองค์ประกอบของศาสนา กล่าวคือ ระบบความเชื่อถือ หรือหลักคำสอนใดก็ตามที่มีองค์ประกอบดังต่อไปนี้ ก็นับได้ว่าเป็นศาสนา ๑. ศาสดา คือ ผู้ก่อตั้งศาสนา ผู้คิดค้น หรือริเริ่ม แล้วนำสัจธรรมที่ได้ค้นพบคำสอนไปเผยแผ่ แก่บุคคลอื่น ซึ่งศาสดาของแต่ละศาสนาจะมีคุณลักษระที่แตกต่างกันออกไปตามประเภทของศาสนา โดยทั่วไปแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ

ประเภทที่ ๑ ศาสดาของศาสนาเทวนิยม หมายถึง องค์อวตาร หรือศาสนฑูตของพระเจ้า ทั้งนี้เพราะพระเจ้ามีพระประสงค์ที่จะช่วยให้มนุษย์พ้นรอดจากบาป หรือความทรมาน จึงได้ แสดงพระองค์ ให้ปรากฏแก่มนุษย์ในลักษณะต่าง ๆ ดังนี้

๑.๑ ในฐานะเทพอวตาร (Divine Incarnation) โดยแปลงกายจากพระเจ้าในสวรรค์ ลงมาในร่างของมนุษย์ เมื่อทำหน้าที่ของตนเสร็จแล้วจึงกลับสู่สวรรค์ดังเดิม เช่น เทพอวตาร ในศาสนาฮินดูที่เรียกว่านารายณ์อวตาร หรือพระเยซูในศาสนาคริสต์ ซึ่งชาวคริสต์เชื่อว่าพระเยซูเป็นทั้งพระศาสดา และพระเจ้าที่เป็นมนุษย์

๑.๒ ในฐานะนักพรตหรือฤาษี (Seers) ซึ่งบำเพ็ญตบะอย่างแรงกล้า จนสามารถได้เห็น ได้ยินเสียงทิพย์ สามารถติดต่อสื่อสาร และจดจำคำของเทพเจ้าได้ แล้วจึงนำมาจารึกเป็น ลายลักษณ์อักษร จนกลายเป็นคัมภีร์ทางศาสนาขึ้น เช่น คัมภีร์พระเวท ในศาสนาพราหมณ์

๑.๓ ในฐานะผู้พยากรณ์ (Prophets) คือศาสดาพยากรณ์ หรือศาสนทูต ซึ่งเป็น ผู้ประกาศข่าวดี หรือวจนะของพระเจ้า และสามารถทำนายเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดกับมนุษย์ เช่น ศาสนายิวเชื่อเรื่องพระผู้มาโปรด (Messiah) เช่นโมเสส ซึ่งต่อมาทำให้เกิดศาสนาคริสต์และอิสลามขึ้น อย่างไรก็ตาม ศาสดาพยากรณ์ไม่ใช่ผู้ตั้งศาสนาขึ้นใหม่ แต่เป็นผู้นำเทวโองการ มาประกาศให้คนทั่วไปปฏิบัติตาม สำหรับศาสนาคริสต์ถือว่าศาสดาพยากรณ์ทุกองค์ในศาสนายิวคือผู้มาเตรียมทางไว้ สำหรับพระเยซูคริสต์ หรือในศาสนาอิสลามยอมรับว่ามีศาสดาพยากรณ์ มาแล้วหลายท่าน เช่น โมเสสในศาสนายิว พระเยซูในศาสนาคริสต์ แต่ถือว่าท่านนะบีมุฮัมมัด เป็นศาสดาพยากรณ์องค์สุดท้าย

ประเภทที่ ๒ ศาสดาของศาสนาอเทวนิยม ซึ่งศาสดาคือมนุษย์ผู้ค้นพบหลักสัจธรรมด้วยตนเอง หรือรวบรวมหลักธรรมคำสอน แล้วนำมาประกาศเผยแผ่แก่ผู้อื่น และตั้งศาสนาของตนขึ้น ศาสดาของศาสนาอเทวนิยมแบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ

๒.๑ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ท่านผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ

๒.๒ ศาสดามหาพรต คือ ศาสดาในศาสนาเชน เรียกอีกอย่างว่า ตีรถังกร มีอยู่ ๒๔ องค์ ซึ่งองค์สุดท้ายนามว่า มหาวีระ ซึ่งเน้นการบำเพ็ญพรตแบบทรมานตนด้วยหลักอหิงสาอย่างยิ่งยวด ปฏิเสธเทวนิยม แบบพราหมณ์ ยืนยันชะตากรรมลิขิต

๒.๓ ศาสดานักปราชญ์ คือ ศาสดาที่ไม่ได้ออกบวช แต่ดำเนินชีวิตอยู่อย่างคนทั่วไปเรือน มีความสนใจในศาสนา และเข้าใจการปฏิบัติทางศาสนาอย่างแตกฉาน ตลอดจนรวบรวมระบบ จริยธรรมแล้วก่อตั้งศาสนาขึ้น เช่น ท่านขงจื้อ เป็นศาสดาของศาสนาขงจื๊อ หรือท่านเหล่าจื๊อ เป็นศาสดาของศาสนาเต๋า

๒. ศาสนธรรม คือ หลักคำสอนอันเป็นผลงานของศาสดา และของพระสาวก โดยศาสนธรรม จะถูกท่องจำ หรือจดจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร เรียกว่า "คัมภีร์ทางศาสนา" สำหรับพระคัมภีร์ของศาสนาแบบเทวนิยม นอกจาก จะเป็นที่รองรับพระวจนะของพระเจ้าแล้ว ยังเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ของมนุษย์ และตำนานของพระเจ้า เช่น พระคัมภีร์ไบเบิลภาคแรก ว่าด้วยประวัติศาสตร์ของมนุษย์ เริ่มตั้งแต่พระเจ้าสร้างโลก สร้างมนุษย์ และสร้างสรรพสิ่งต่าง ๆ หรือคัมภีร์พระเวทของศาสนาพราหมณ์ ก็ถือว่า เป็นวรรณกรรมที่สืบต่อกันมา เป็นเวลาหลายพันปี ส่วนคัมภีร์ของพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า "พระไตรปิฎก" นั้น การจารึกพระพุทธวจนะที่ว่าด้วยสัจธรรม เช่น คำสอนเรื่องอริยสัจ ไตรลักษณ์ ปฎิจจสมุปบาท เป็นต้น

คัมภีร์ใน ศาสนาต่าง ๆ มีชื่อเรียกดังนี้ คัมภีร์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เรียก พระเวท หรือไตรเพท, คัมภีร์ในศาสนาสิข เรียก คุรุครันถะซาฮิบ, คัมภีร์ในศาสนาคริสต์ เรียก ไบเบิล, คัมภีร์ในศาสนาอิสลาม เรียก อัลกุรอาน

๓. ศาสนบุคคล คือ สาวก นักบวช หรือศาสนิกชนผู้เคารพนับถือ เชื่อฟัง และปฏิบัติตาม คำสั่งสอนของพระศาสดา ซึ่งนักบวชในศาสนาต่าง ๆ ล้วนเป็นผู้สละเหย้าเรือนหรือการครองชีวิต อย่างปุถุชน แล้วอุทิศตนให้แก่ศาสนาที่ตนนับถือ ไม่ว่าจะเป็นการสืบทอดศาสนา และเป็นผู้ประกอบ พิธีกรรมทางศาสนา สำหรับศาสนบุคคลในพระพุทธศาสนา ได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในศาสนาเทวนิยม นักบวชนอกจากจะเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของคนตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งนักบวชนั้นจะเป็นผู้กำหนดรูปแบบ พิธีกรรม วันเวลา รวมทั้งบุคคล และการกระทำต่อเทพเจ้า

๔. ศาสนพิธี คือ พิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับศาสนาที่เป็นปฏิบัติสืบทอดกันมา หรือเป็นการแสดงออกถึงความเชื่อทางศาสนา กระนั้นก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมประเภทใด ๆ ก็ตาม ล้วนแต่มีสารัตถะอยู่ที่การเสริมสร้างความดีงาม และความบริสุทธิ์ของผู้ร่วมพิธีกรรมเป็นพื้นฐาน สำหรับศาสนพิธีต่าง ๆ ที่กระทำกันในศาสนาพุทธนั้นเกิดขึ้นอย่างมีเหตุผลและมีจุดมุ่งหมาย มิใช่เกิดจากศรัทธาที่เลื่อนลอยหรือไร้เหตุผล ซึ่งการประกอบพิธีกรรมนั้นต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของคน เพื่อให้สังคมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ศาสนพิธีทางพระพุทธศาสนา เช่น การทำบุญตักบาตร การถวายสังฆทาน การกราบ การไหว้ การเวียนเทียน แห่เทียนพรรษา เป็นต้น

๕. ศาสนสถาน เป็นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของพระศาสดาและการเกิดขึ้นของศาสนา เช่น สังเวชนียสถาน ทั้ง ๔ แห่ง ของพระพุทธศาสนา ซึ่งเกี่ยวข้องกับประวัติของศาสดา ได้แก่ ลุมพินีสถานในประเทศเนปาล (สถานที่ประสูติ) พุทธคยาในแคว้นพิหาร (สถานที่ตรัสรู้) อิสิปตนมฤคทายวันสถาน เมืองพาราณาสี (สถานที่แสดงปฐมเทศนา) และ ปริพพานสถานในเมืองกุสินารา รัฐอุตรประเทศของอินเดีย

ปัจจุบัน ศาสนสถานเป็นสถานที่เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรม หรือเป็นที่อาศัยของผู้เผยแผ่ศาสนานั้น ๆ เช่น พระพุทธศาสนามีวัด อาราม โบสถ์ วิหาร, ศาสนาอิสลามมีมัสยิด ศาสนาสิขมีคุรุดวารา เป็นต้น 

ประเภทของศาสนา การจัดประเภทศาสนานั้น มีวิธีการจัดแบ่งที่หลากหลาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่ง เป็นต้นว่า

• แบ่งประเภทของศาสนาตามระบบความเชื่อ
๑. ศาสนาแบบโลกิยะ (Secular Religion) คือการรวมเอาความเชื่อ หรือหลักการที่เกี่ยวกับความเชื่อในโลกนี้อย่างเดียวเท่านั้น โดยปฏิเสธความมีอยู่ของชีวิตในโลกหน้า ศาสนาประเภทนี้รวมเอาหลักการของคอมมิวนิสต์ ลัทธิฟาสซิสม์ ลัทธิวัตินิยม สังคมนิยม รวมทั้งความประพฤติและระเบียบ กฎหมาย ประเพณีที่ยึดปฏิบัติกันอยู่ในสังคม
๒. ศาสนาแบบศักดิ์สิทธิ์ (Sacred Religion) คือศาสนาตามประเพณีที่เกี่ยวข้องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือความลึกลับในชีวิตทั้งในโลกหน้า ศาสนาแบบนี้รวมคำสอนของศาสนาใหญ่ ๆ ซึ่งเสริมให้บุคคลปฏิบัติตามกรอบที่ดีของศีลธรรม ทั้งบูชาและยกย่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีอยู่ในศาสนาคริสต์ ศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม และศาสนาฮินดู เป็นต้น

• แบ่งตามชื่อศาสนา
๑. ชื่อตามผู้ตั้งศาสนา ได้แก่ ศาสนาขงจื๊อ ตั้งชื่อตามท่านขงจื๊อ หรือศาสนาโซโรอัสเตอร์ ตั้งชื่อตามท่านศาสดาโซโรอัสเตอร์
๒. ชื่อตามนามเกียรติยศของผู้ตั้งศาสนา ได้แก่ ศาสนาพุทธ คำว่าพุทธะ แปลว่า ท่านผู้รู้ ทั้ง ๆ ที่นามแท้จริงของพระพุทธเจ้าคือ สิทธัตถะ โคตมะ หรือศาสนาเชน คำว่า เชน มาจากคำว่า ชินะ แปลว่าผู้ชนะ ทั้งที่ชื่อจริงของผู้ตั้งศาสนาคือ วรรธมานะ เป็นต้น
๓. ชื่อตามหลักคำสอนในศาสนา ได้แก่ ศาสนาเต๋า คำว่า "เต๋า" แปลว่า ทาง (The Way) หรือทิพยมรรคา (The Divine Way) ศาสนาชินโต คำว่า "ชินโต" แปลว่า ทางแห่งเทพทั้งหลาย (The Way of the Gods) เป็นต้น

• แบ่งประเภทตามการที่มีผู้นับถืออยู่หรือไม่
๑. ศาสนาที่ตายไปแล้ว (Dead Religions) หมายถึง ศาสนาที่เคยมีผู้รับถือในอดีต แต่ปัจจุบันไม่มีใครนับถือ หรือดำรงไว้ คงไว้เพียงชื่อที่มีอยู่ในประวัติศาสตร์ เช่น ศาสนาของอียิปต์โบราณ ศาสนาของเผ่าบาบิโลเนียน ศาสนาของกรีกโบราณา เป็นต้น
๒. ศาสนาที่ยังมีชีวิตอยู่ (Living Religion) หมายถึง ศาสนาที่ยังมีผู้นับถืออยู่จนถึงปัจจุบันนี้
ก. ศาสนาที่มีแหล่งกำเนิดในเอเชียตะวันออก คือ จีน และญี่ปุ้น ได้แก่ศาสนาขงจื๊อ ศาสนาเต๋า และศาสนาชินโต
ข. ศาสนาที่มีแหล่งกำเนิดในเอเชียใ้ต้ เช่น อินเดีย ปากีสถาน ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดู ศาสนาเชน และศาสนาสิข
ค. ศาสนาที่มีแหล่งกำเนิดในเอเชียตะวันตก คือ ดินแดนปาเลสไตน์ เปอร์เชีย และอารเบีย ได้แก่ ศาสนายูดาย หรือยิว ศาสนาสโซโรอัสเตอร์ ศาสนาคริส์ และศาสนาอิสลาม

• แบ่งประเภทตามความเชื่อเกี่ยวกับพระเจ้า
๑. ศาสนาที่นับถือพระเจ้า หรือ "เทวนิยม" (Theism) คือ เชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ ที่สร้างโลก และสรรพสิ่งต่าง ๆ ซึ่งศาสนาที่นับถือพระเจ้าองค์แยกเป็น
ก. เอกเทวนิยม (Monotheism) จะนับถือพระเจ้าเพียงองค์เดียว ได้แก่ ศาสนายิว ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ศาสนาโซโรอัสเตอร์ ศาสนาสิข และศาสนาเต๋า
ข. พหุเทวนิยม (Polytheism) นับถือพระเจ้าหลายองค์ บางครั้งยังผสมผสานกับการบูชาธรรมชาติ ได้แก่ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ศาสนาชินโต และศาสนาขงจื๊อ
๒. ศาสนาที่ไม่มีการนับถือพระเจ้า เรียกว่า "อเทวนิยม" (Atheism) ได้แก่ ศาสนาพุทธ และศาสนาเชน 

ความสำคัญของศาสนา ศาสนามีความสำคัญต่อสังคมมนุษย์ ได้แก่

๑. ศาสนาเป็นบ่อเกิดแห่งธรรมจรรยา และขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม หากบุคคลในสังคมประพฤติปฏิบัติตามหลักทางศีลธรรมที่ศาสนานั้น ๆ วางไว้ย่อมจะเป็นคนดี

๒. ศาสนาทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข เพราะทุกศาสนาล้วนมุ่งหวังให้ศาสนิกชนของตนเป็นคนดี และเมื่อศาสนิกชนเป็นคนดีแล้ว คนในสังคมก็ย่อมจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และปราศจาก ความเดือดร้อน

๓. ศาสนาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต เพราะศาสนิกชนสามารถดำเนินวิถีชีวิตตามแบบอย่างของพระศาสดา หรือปฏิบัติตามหลักคำสอนทางศาสนา

๔. ศาสนาจะช่วยให้มนุษย์ทราบว่าสิ่งใดดีชั่ว ถูกผิด ตามมาตรฐานของศาสนานั้น ๆ และทราบถึงผล แห่งการกระทำนั้น ๆ เช่น คำสอนเรื่องหลักกรรมในพระพุทธศาสนาที่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เมื่อทราบแล้วคนก็จะประพฤติดี ไม่ทำความชั่ว

๕. ศาสนาเป็นแหล่งรวมศิลปวิทยาการ และถ่ายทอดวิทยาการ เนื่องจากจะเป็นแหล่งความรู้ ของศาสตร์ แขนงต่าง ๆ และถ่ายทอดศาสตร์เหล่านั้นไปสู่มนุษย์ในสังคม ความรู้ทางการแพทย์ ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม การช่าง การดนตรี และหัตถกรรม เป็นต้น

๖. ศาสนาเป็นเครื่องส่งเสริมความมั่นคงในการปกครองประเทศ เช่น พระมหากษัตริย์ไทย ทรงยึดมั่นและดำเนินนโยบายในการปกครองประเทศด้วยหลักทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ

๗. ศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจเมื่อปุถุชนเกิดความทุกข์ร้อนใจ กล่าวคือ เมื่อคนเราเกิดความทุกข์กายและใจก็ย่อมจะหาทางออกให้กับปัญหาที่เกิดขึ้น และรูปแบบหนึ่งของการแก้ไขปัญหาคือการนำหลักธรรมทางศาสนาที่คนเคารพนับถือ มาเป็นที่พึ่งทางใจ และนำหลักธรรมมาใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา 

หน้าที่พลเมืองต่อศาสนา

๑. ศึกษาหลักธรรม และปฏิบัติตามคำสอนของพระศาสดา ตลอดจนนำหลักธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตน เองและผู้คนในสังคม

๒. ศึกษาความสำคัญของศาสนาที่มีต่อสังคมไทยและประชาชนชาวไทย โดยให้เห็นคุณค่า ของศาสนาที่ตน นับถือ ตลอดจนคุณค่าของศาสนาที่คนอื่น ๆ นับถือ เพื่อนำหลักจริยธรรมในศาสนา มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศ และทำให้สังคมมีความสงบสุข

๓. ศึกษา และเข้าร่วมประกอบศาสนพิธีตามโอกาส ซึ่งการประกอบพิธีกรรมทางศาสนานั้น ไม่ควรขัดต่อ ความสงบเรียบร้อยของกฎหมายบ้านเมือง ตลอดจนไม่ขัดกับจารีตประเพณีอันดีงาม ของสังคมไทยที่สืบทอดกันมา

๔. เผยแผ่ศาสนาที่ตนนับถืออยู่ไปยังศาสนิกชนผู้นับถือศาสนาเดียวกัน และศาสนิกชนต่างศาสนา เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับศาสนา และเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านศาสนาระหว่างกัน

๕. ปกป้องและรักษาศาสนาที่ตนเองนับถือ ตลอดจนสถาบันและองค์กรทางศาสนาต่าง ๆ มิให้ผู้ใดสร้างความ เสื่อมเสียให้ได้ และหากมีผู้ใดเกิดความเข้าใจผิดในศาสนาที่เรานับถือ ก็ควรให้ความกระจ่างและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง

๖. ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอื่น ๆ กล่าวคือ ไม่ดูหมิ่นหลักคำสอน ศาสดา คัมภีร์ ศาสนิกชน และ พิธีกรรม ทางศาสนา ตลอดจนไม่ทำลายรูปเคารพ หรือโบราณสถานและโบราณวัตถุของศาสนาอื่น ๆ

๗. ส่งเสริมให้มีกิจกรรมระหว่างศาสนา และศาสนิกชนที่นับถือศาสนาอื่น ๆ ทั้งนี้เพื่อให้เกิด ความเข้าใจอันดีระหว่างกัน และเพื่อประสานความช่วยเหลือกันในอนาคต

๘. ช่วยพัฒนาศาสนสถาน เนื่องจากศาสนสถานเป็นที่ประกอบพิธีกรรม และเป็นที่พำนักของ นักบวช ตลอดจนเป็นศูนย์รวมของศิลปวัฒนธรรมของศาสนาต่าง ๆ ดังนั้น ศาสนิกชนที่ดีควรช่วยกันพัฒนา ศาสนสถานของตนให้สะอาดเรียบร้อย และทำนุบำรุงส่วนที่เสียหายให้มีความมั่นคงแข็งแรงต่อไป 

หนังสืออ้างอิง

กรมหลวงวชิรญาณวงศ์, สมเด็จพระสังฆราชเจ้า. (๒๕๓๑). สรรนิพนธ์ ว่าด้วยเรื่องคน ศาสนา และคติธรรม. กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย.

เดือน คำดี. (๒๕๔๑). ศาสนศาสตร์. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์: กรุงเทพฯ.

ประยงค์ สุวรรณบุบผา. (๒๕๓๗.). สังคมปรัชญา แนวคิดตะวันออก-ตะวันตก. (พิมพ์ครั้งที่ ๑). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ โอเดียนสโตร์.

พระราชวรมุนี (ประยุทธ ปยุตฺโต). (๒๕๒๙). พจนานุกรมพุทธศาสตร์. กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.

________. (๒๕๓๙). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (พิมพ์ครั้งที่ ๖). กรุงเทพฯ: บริษัท อักษรเจริญทัศน์ จำกัด.

สุชีพ ปุญญานุภาพ. (๒๕๔๐). ศาสนาเปรียบเทียบ. (พิมพ์ครั้งที่ ๔). โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย: กรุงเทพฯ

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo