http://www.duangden.com
พระราชจริยาวัตรเกี่ยวกับความประหยัดและพอเพียง
 


***

บังเอิญว่าได้มีโอกาสได้อ่านบทสัมภาษณ์ของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เรื่อง “พระราชจริยาวัตรของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับความประหยัดและความพอเพียง” ซึ่ง ดร.สุเมธฯ กล่าวไว้ว่า

ในทุกคราวที่บ้านเมืองของเราประสบเหตุการณ์คับขัน ระส่ำระสาย “ขวัญ กำลังใจ และสติ” ของคนไทยทั้งชาติจะได้รับ การปลุกและปลอบ ด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุ้มเกล้าชาวไทยเสมอมา

อันที่จริง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราโชวาทในโอกาสต่างๆ เพื่อให้ข้อคิด ชี้แนะ เตือนสติคนไทยต่อเนื่องมาตลอด ตั้งแต่ทรงขึ้นครองราชย์ และยามเมื่อประเทศชาติกำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจอย่างเช่นทุกวันนี้ เป็นที่เชื่ออย่างยิ่งว่า หากคนไทยทั้งมวลต่างสามัคคีกันน้อมนำ แนวพระราชดำริของพระองค์ไปประพฤติปฏิบัติแล้ว ประเทศชาติ ก็จะสามารถผ่านพ้นวิกฤตินี้ได้อีกครั้ง

 

ทรงเป็นครู : ชีวิตแบบเรียบง่าย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชจริยาวัตรอันงดงาม เป็นแบบอย่างของความเรียบง่ายมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ภาพเหล่านั้น ล้วนประทับอยู่ในใจของพสกนิกรชาวไทยมาเนิ่นนาน

ฉลองพระองค์ : จากคำกล่าวเล่าของข้าราชบริพารท่านหนึ่ง เคยให้สัมภาษณ์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ฉลองพระองค์ ชุดเดิม และฉลองพระบาทองค์เดิมเป็นเวลาหลายปี และเราจะสังเกต เห็นได้ว่า จะโปรดฉลองพระองค์ด้วยผ้าไทยอีกด้วย

หลอดยาสีพระทนต์ : ศาสตราจารย์พิเศษ ทันตแพทย์หญิง ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ทันตแพทย์ประจำพระองค์ อดีตคณบดี คณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนเล่าให้ฟังว่า ได้กราบพระบาททูลขอพระราชทานหลอดยาสีพระทนต์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ทรงใช้อย่างประหยัดอย่างยิ่ง หลอดยาสีพระทนต์เปล่าของพระองค์นั้น พระองค์ใช้จนแบนราบเรียบ โดยตลอด คล้ายแผ่นกระดาษ โดยเฉพาะบริเวณคอหลอด ยังปรากฏรอยบุ๋มลึกลงไปจนถึงเกลียวคอหลอด ได้รับคำอธิบาย จากพระองค์ว่า หลอดยาสีพระทนต์ที่เห็นแบบเรียบนั้น เป็นผลจาก การใช้ด้ามแปรงสีพระทนต์ช่วยรีดและกดเป็นรอยบุ๋มที่เห็นนั่นเอง

เครื่องประดับ : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมิทรงโปรด การสวมใส่เครื่องประดับ เช่น แหวน สร้อยคอ ของมีค่าต่างๆ นับเป็นแบบอย่าง แห่งความพอดีไม่ฟุ้งเฟื้อโดยแท้

ดินสอไม้ในพระหัตถ์ : ในทุกครั้งที่พระองค์เสด็จ พระราชดำเนินไปทรงงานในพื้นที่ต่างๆ แทบทุกภูมิภาคของประเทศ ของสิ่งหนึ่งที่จะทรงใช้จดเขียนบันทึกข้อมูลอยู่ตลอด คือ ดินสอไม้ เหตุใดพระองค์จึงใช้ดินสอไม้ราคาเยาว์ ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงอยู่ในฐานะ ที่สามารถใช้ดินสอหรือปากการาคาแพงได้อย่างมิต้องกังวล

โต๊ะทรงงาน : จากพระดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตน- ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตอนหนึ่งที่ว่า “…สำนักงานของท่าน คือ ห้องกว้างๆ ไม่มีเก้าอี้ มีพื้น แล้วท่านก้มอยู่กับพื้น…”
โต๊ะทำงานและเก้าอี้โยกรูปทรงหรูหรา หายไปไหน ในห้องทรงงานของพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์นี้
พนักงานขับรถยนต์ : บ่อยครั้งที่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวทรงขับรถยนต์พระที่นั่งด้วยพระองค์เอง และจะทรงหยุดรถ เพื่อลงไปเยี่ยมเยียน ถามถึงความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่มารอรับเสด็จฯ

 

ทรงเป็นครู : สรรค์สร้างงาน

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ในปัจจุบันมีกว่า ๒,๕๐๐ โครงการ เกิดขึ้นด้วยพระอัจฉริยภาพอันกว้างไกล และลึกซึ้ง ในการทำงานต่างๆ ของพระองค์ ถือว่า เป็นแบบอย่างที่เยี่ยมยิ่ง ในทางปฏิบัติ

ลงมือทำ : จากความตอนหนึ่งของพระบรมราโชวาทในพิธี พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยเทคโนโลยีและ อาชีวศึกษา ณ สวนอัมพร วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๒๔ ที่ว่า “…ประโยชน์ หรือการสร้างสรรค์ในทางที่ดีนั้น จะเกิดขึ้นได้แก่ด้วยการลงมือทำ… เมื่อยิ่งไม่ลงมือทำประโยชน์ก็ยังไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าหากจะมีความรู้ ความสามารถมากมายสักเพียงใด ถ้าไม่นำมาลงมือทำก็ปราศจาก ประโยชน์ บ้านเมืองของเราในเวลาที่อยู่ในสภาวะที่ต้องพัฒนา หรือปรับปรุงตัวเองอย่างรวดเร็วในทุกๆ ทาง เพื่อให้สามารถก้าว ไปทันผู้อื่น… ได้อย่างมั่นคง และปลอดภัยทุกคน โดยเฉพาะผู้มีความรู้ จึงต้องขวนขวายทำงานให้เต็มกำลัง…”

พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างของนักปฏิบัติมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ มักจะโปรดการทดลองประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ จากสิ่งของที่เหลือใช้หรือราคาเยาว์ เช่น ทรงนำเศษ ตะกั่วมาหลอมเป็นที่ทับ กระดาษ ทรงประกอบ วิทยุแร่ เพื่อไว้ใช้เอง ทรงสร้างแบบจำลองเรือรบหลวงศรีอยุธยา และทรงเป็นช่างไม้สร้างเรือใบไมโครมดด้วยพระองค์เอง และทุกวันปีใหม่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพรปีใหม่แก่ปวงชนชาวไทย ด้วย ส.ค.ส. ที่ทรงประดิษฐ์ขึ้นด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง

และจากการที่พระองค์เป็นนักปฏิบัตินี้เอง ได้ส่งผลมาสู่ การปฏิบัติในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ โดยก่อนที่ พระองค์จะลงมือทำนั้น ทรงได้ศึกษาค้นคว้าทรงวิเคราะห์และทดลอง เครื่องแล้วเครื่องเล่า เมื่อได้ผลจึงจะโปรดเกล้าฯ พระราชทานไปปฏิบัติ จนก่อเกิดประโยชน์แก่บ้านเมืองมากมายคณานับ

ทำให้ง่ายและธรรมชาติ : พระองค์โปรดการทำให้ง่ายและ ใช้ ธรรมชาติเข้าแก้ไขกันเอง โครงการหลวงหลายโครงการที่ทรงได้ พระราชทานแนวคิดอย่างง่ายๆ แต่ชัดเจนในแนวทางแก้ไขปัญหา ความเดือดร้อน เช่น น้ำดีไล่น้ำเสีย ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก ป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง แกล้งดิน และแก้มลิง เป็นต้น

ระเบิดจากข้างใน : แผนการพัฒนาของพระองค์มุ่งเน้นเรื่อง การพัฒนาคนอยู่ตลอด โดยทรงตรัสว่า “ต้องระเบิดจากข้างใน” นั้นหมายความว่า ต้องสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนที่เราเข้าไป พัฒนา ให้มีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน

ไมตรีจิต : ในการทรงงานของพระองค์ จะทรงเริ่มต้นด้วย “ใจ” และเป็นตัวอย่างของผู้ที่ให้ไมตรีจิตอย่างแท้จริง ทรงรับสั่ง อยู่เสมอว่า บ้านเมืองของเราอยู่รอดมาได้ทุกวันนี้ก็เพราะเรายังให้กันอยู่ และการให้ไมตรีจิตต่อกัน ที่จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างชาติต่อไป “…เมื่อต่างประเทศ เขาเห็นแสดงว่า คนไทยใจไม่แห้งแล้ง… เขานับถือ… เขาเข้าใจแล้วว่า ทำไมเราเฮฮากัน เพราะมีไมตรีจิตต่อกัน และเราก็มีไมตรีจิตต่อคนอื่น มีความเมตตากรุณาตลอดเวลา อันนี้เป็นรากฐานของความดี และเป็นรากฐานของความมั่นคง ของประเทศชาติ…” (จากพระราชดำรัสตอนหนึ่งที่พระราชทาน แก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลเนื่องในโอกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย ๔ ธันวาคม ๒๕๒๔)

 

ทรงเป็นครู : รู้ รัก สามัคคี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งเรื่อง “รู้ รัก สามัคคี” ซึ่งเป็นคำสามคำที่มีค่าและมีความหมายลึกซึ้ง พร้อมทั้งสามารถ ปรับใช้ได้กับทุกอย่างทุกสมัย

รู้ : การที่เราจะลงมือทำสิ่งใดนั้น จะต้องรู้เสียก่อน รู้ถึงปัจจัยทั้งหมด รู้ถึงปัญหาและรู้ถึงวิธีการแก้ปัญหา

รัก : คือความรัก ที่เมื่อเรารู้ครบด้วยกระบวนความแล้ว จะ ต้องมีความรักความพิจารณาที่จะเข้าไปลงมือปฏิบัติแก้ไขปัญหานั้นๆ

สามัคคี : แต่การที่จะลงมือปฏิบัตินั้น ควรคำนึงเสมอว่า เราจะทำงาน คนเดียวไม่ได้ ต้องทำงานร่วมมือร่วมใจเป็นองค์กร เป็นหมู่คณะ จึงจะมีพลัง เข้าไปแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปด้วยดี

 

ทรงเป็นครู : พระมหาชนก

จากพระราชนิพนธ์พระมหาชนก เป็นพระราชนิพนธ์ ที่พระองค์ทรงใช้เวลาค่อนข้างนาน ซึ่งใช้เวลาในการคิดประดิษฐ์ ถ้อยคำให้เข้าใจง่าย และปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพสังคมปัจจุบัน อีกทั้งภาพประกอบ และคติธรรมต่างๆ ได้ส่งเสริมให้หนังสือเล่มนี้ มีความศักดิ์สิทธิ์ที่หากคนไทยน้อมรับมาศึกษา วิเคราะห์ และปฏิบัติ ตามรอยพระมหาชนก กษัตริย์ผู้เพียรพยายาม แม้จะไม่เห็นฝั่ง ก็ยังว่ายน้ำต่อไป เพราะถ้าไม่เพียรว่ายก็จะตกเป็นอาหาร ปู ปลา และไม่ได้พบกับเทวดาที่มาช่วยเหลือมิให้จมน้ำไป

เช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงริเริ่มทำโครงการต่างๆ ในระยะแรกที่ไม่มีความพร้อมในการทำงานมากนัก และทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทั้งสิ้น แต่พระองค์ก็มิได้ท้อถอย พระราชหฤทัยที่มุ่งมั่นพัฒนาบ้านเมือง

 

ทรงเป็นครู : พึ่งตนเอง

พระองค์ทรงยึดปรัชญาในการดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อให้ พสกนิกรสามารถพึ่งตนเองได้ในที่สุด นั่นคือ พระองค์ทรงมุ่งเน้น ความสำคัญของคน ที่พระองค์ทรงยึดเป็นหลักมาตลอดเวลา ๕๐ กว่าปี ซึ่งในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ นี้ เพิ่งจะพูดถึงเรื่องการพัฒนาคน

“…การช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนในการประกอบอาชีพ และตั้งตัวให้มีความพอกินพอใช้ ก่อนอื่นเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวด เพราะผู้มีอาชีพและฐานะเพียงพอที่จะพึ่งพาตนเองได้ ย่อมสามารถ สร้างความเจริญในระดับสูงขึ้นต่อไป…”

สิ่งดังกล่าวเหล่านี้ คือ พระราชจริยาวัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงแสดงออกให้เราเห็นด้วยการปฏิบัติ และคือหนทางที่พระองค์ได้ทรงบุกเบิกไว้ให้คนไทย ใช้เป็นหนทางสำคัญ ในขณะที่บ้านเมืองต้องเผชิญกับปัญหา เศรษฐกิจอยู่ในทุกวันนี้ จึงสมควรที่เราคนไทยทั้งหลาย จะต้องดำเนินตาม รอยพระองค์ เพื่อเป็น การแสดงความจงรักภักดี ช่วยแบ่งเบา พระราชภาระในการแก้ปัญหา และช่วยสร้างชาติบ้านเมือง ของเราให้พัฒนาไป ในทางที่ถูกต้อง เข้มแข็งสืบไป

***

Google
 

 

 
 
 
© Webpage Designed by thaicadet.org // Last Updated. Tuesday 26 July, 2011 11:16 PM