Card image cap

 

สรุปย่อ "สนามสอบโครงการช้างเผือก โรงเรียนนายเรืออากาศฯ"

การสอบโครงการช้างเผือก โรงเรียนนายเรืออากาศฯ สนามสอบแรกที่ THAI CADET บอกกล่าวไว้เสมอว่า เราต้องพยายามเรียนรู้ "เนื้อหาพื้นฐาน" ให้ได้แน่นมากที่สุด และพยายามทำแบบฝึกหัดให้มาก สำหรับการเตรียมสอบช้างเผือกในช่วงปลายปี

โดยปกติแล้ว เมื่อผลสอบช้างเผือกออกปลายเดือนธันวาคม น้องทุกคนที่รู้ผลสอบจะสามารถพิจารณาตนเองได้ว่า ตนเองสอบผ่านหรือไม่ ถ้าไม่ผ่านมันแย่ขนาดไหน ถ้าผ่านจะได้ลำดับที่เท่าไหร่ และต้องทำอย่างไรกับตนเองต่อไป ในช่วงเวลาที่เหลืออีกประมาณ 2 เดือนกว่า

สำหรับสิ่งที่น้องต้องนำไปใช้สอบ คือ สิ่งที่น้องได้เตรียมตัวมาตลอดทั้งปี ซึ่งถ้าน้องเตรียมตัวมาดีตลอดทั้งปี กล่าวคือ อ่านหนังสือเนื้อหาวิชา 5 วิชาที่ใช้สอบอย่างหนักมากๆๆๆ เอาให้รู้ว่า "แก่น" หรือใจความหลักๆ ของเรื่องที่ใช้สอบทั้งหมดคืออะไร?

และต้องตะลุยทำแบบฝึกหัดใน 5 วิชานั้นๆ ให้มากอย่างสุดๆ พยายามแก้ไขจุดบกพร่องของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือเพิ่มเติม ถามเพื่อน ถามครูอาจารย์ ถาม รร.สอนพิเศษ เป็นต้น

หากทำได้อย่างนี้อย่างสม่ำเสมอแล้ว การสอบช้างเผือกก็จะไม่ใช่สิ่งยากจนเกินไป ถึงผลสอบจะไม่ดีมากก็น่าจะสามารถสอบผ่านได้คะแนนเกินครึ่งได้ ถามว่าการจะทำให้ได้ขนาดนี้ต้องขยันขนาดไหน

พี่เคยบอกหลายคนแล้วว่า พื้นฐานสมองของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเกิดมาเก่งแล้ว อ่านเรื่องใดใหม่ๆ รอบเดียวก็จำได้ แต่อย่างพี่เกิดมาโง่ ต้องอ่าน 3 - 4 รอบจึงจะจำได้

แต่พี่รู้ว่าตัวเองโง่ ไม่ได้เก่งอะไร พี่จึงอ่านเรื่องนั้นๆ 3-4-5-6-7-8 รอบ อ่านจนจำได้ อย่างนี้เรียก "คนขยัน" ซึ่ง "คนขยันน่ากลัวก็คนเก่งมากมายนัก" ดูอย่างเต่าสิน้อง เดินช้าแต่เดินเรื่อยๆ เข้าเส้นชัยก่อนกระต่ายที่เก่งแต่ประมาท

การสะสมความรู้ เขาต้องเตรียมกันทั้งปีนะครับ น้องคนไหนถามพี่ว่า พี่ครับเหลืออีก 2 เดือนกว่าๆ ผมจะทันไหม? อันนี้น้องต้องถามตัวน้องเองแล้วครับ ว่าพื้นฐานน้องปัจจุบันเป็นอย่างไร เรียนรู้ได้เร็วขนาดไหน และเก่งพอที่จะเอาชนะคนอื่นๆ หรือยัง

*** การสอบช้างเผือกบอกความจริงกับน้องทุกคนแล้วว่า "อยากได้กับทำได้ มันสะกดต่างกันนิดเดียว แต่เวลาที่ต้องทำจริงๆ แล้ว การกระทำช่างแตกต่างกันอย่างมหาศาล" และมันก็ต้องการพลังขับดันอย่างมหาศาลด้วยเช่นกัน เพื่อที่จะเอาชนะคู่แข่งทุกคนให้ได้ในสนามสอบจริง น้องไม่ต้องสนใจหรอกว่ามีคนสมัครสอบกี่คน คิดแค่ว่าเราจะเอาชนะคนอื่นทุกคนได้อย่างไร คิดแค่นั้นพอแล้วครับ คิดแล้วทำเลยอย่าช้า

*** ถ้าน้องเป็นเด็ก ม.4 พี่ไม่ห่วงหรอกครับ ถ้าปีนี้น้องจะสอบไม่ติดแม้กระทั่งรอบแรก เพราะน้องก็เห็นแล้วว่าสอบจริง 5 วิชาภายในเวลาที่จำกัด มันยากขนาดไหน

*** แต่ถ้าน้องอยู่ ม.5 แล้วไม่ต่างกับตอนที่น้องอยู่ ม.3 เลยนี่สิ "น่าห่วงครับ" แสดงว่าตลอด 1 ปีกว่าที่ผ่านมาหลังจากน้องสอบ นตท. ไม่ติด น้องไม่ได้มีการพัฒนาตนเองเพิ่มมากขึ้นเลย

ทำให้ผลสอบช้างเผือกปีที่แล้วที่ว่าแย่ ปีนี้ก็แย่เหมือนเดิม ขนาดเรียนพิเศษก็แล้ว แม่หาอาจารย์คณิตศาสตร์มาติวให้ถึงบ้านก็แล้ว อาจารย์แต่ละคนก็เทพทั้งนั้น แต่เคยถามตัวเองบ้างหรือเปล่าครับว่า เราได้ทบทวนสิ่งที่อาจารย์สอน ในห้องและสอนพิเศษอย่างจริงจังมากน้อยแค่ไหน พี่เคยบอกแล้วว่า การสอบจริงพี่ให้เครดิตตัวน้องๆ เอง 99% และให้เครดิตการสอนพิเศษเพียง 1% เท่านั้น

เพราะอะไร??? เพราะต่อให้น้องไปเรียนพิเศษกับอาจารย์ที่เก่งอย่างเทพ ไปเรียนพิเศษที่ "เทวดา Cadet" แต่น้องไม่ได้เข้าถึงสิ่งที่อาจารย์สอน ไม่ทบทวน ไม่ทำการบ้าน & แบบฝึกหัดอย่างจริงจังแล้ว ต่อให้ "เทวดา Cadet" มีเทพมาสอนทุกวิชา ต่อให้มีเด็กมาเรียน 500 คน ก็สอบจริงไม่ติดสักคนครับ

เคยมีคนบอกว่า "สิ่งที่ยากกว่าการทำความดี คือ การรักษาความดีนั้นให้อยู่กับเรา" จริงครับ พี่ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ หลายปีที่ผ่านมา มีน้องคนหนึ่งสอบช้างเผือกได้อันดับ 1 ของประเทศ สอบติดรอบแรกทุกเหล่าแต่สอบไม่ผ่านรอบสอง เนื่องจากปัญหาสุขภาพ ปีต่อมา น้องคนนี้ก็กลับมาสอบช้างเผือกอีก และยังสอบได้เป็นอันดับ 1 ของประเทศ ด้วยคะแนนสอบที่มากกว่าเดิมอีก นี่แหละครับ สิ่งที่เยี่ยมกว่าความเก่งที่สุด คือ การรักษาความเก่งที่สุดให้อยู่กับเรา พี่จึงชื่นชมน้องคนนี้มาก

น้องไม่ต้องสอบได้ที่ 1 ของเหล่าที่น้องอยากได้ แต่ขอให้น้องสอบติดตัวจริงเป็นใช้ได้ครับ คนที่เคยเจ็บมารอบนึงแล้วเพราะสอบเตรียมทหารจริงไม่ติด ถ้ายังไม่แผ่ว อย่างนี้เรียกว่า "ล้มเป็น" เมื่อล้มเป็น ในการสอบจริงก็ไม่ต้องล้มแล้ว GO ON ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วน้องก็ผ่านพ้นการสอบทั้งหมดไปได้ทุกรอบ และสอบได้เป็น นตท. จริงๆ ครับ

น้องที่เคยสอบช้างเผือกแล้วได้คะแนนไม่ดี และสอบจริงครั้งแรกไม่ติด นั่นคือ น้องได้ล้มจากการหัดขี่จักรยานแล้ว เจ็บแล้ว ช้ำแล้ว มีแผลแล้ว

ใครเป็นอย่างนี้เมื่อปีเดือนเมษายนที่ผ่านมา แล้วพยายามขยันทั้งปี และทำข้อสอบช้างเผือกปีนี้ได้ดีกว่าเดิม แสดงว่าน้องล้มเป็น เจ็บแล้วจำ

แต่ถ้าน้องที่ปีที่แล้วผลสอบก็แย่ สอบจริงไม่ติด แล้วปีนี้ผลสอบช้างเผือกก็ยังแย่เหมือนเดิม แล้วก็โทษสิ่งแวดล้อมรอบตัวเองหมดแต่ไม่โทษตัวเองเลย อย่างนี้เขาเรียก "ล้มไม่เป็น" ครับ

น้องเจ็บซ้ำซาก แล้วมาโทษว่า เพราะเรามันโชคชะตาไม่ดี เรามันไม่มีโอกาส คนอื่นมันเส้นใหญ่ มันเป็นลูกผู้ใหญ่นายโต มีเงินมีบารมี เรามันไม่มีอย่างเขา ฯล แสดงว่าน้อง "ล้มไม่เป็น" จริงๆ นะครับ?

พี่ถามง่ายๆ ถ้าน้องขายถั่วงอกทุกวัน ได้กำไร 30 - 40 บาทต่อวัน เพียงพอสำหรับซื้อข้าวกินไปวันๆ แล้ววันนึง น้องเห็น Benz งามระยับมาจอดเพื่อซื้อถั่วงอก น้องก็บ่นให้เพื่อนข้างร้านฟังว่าอย่างนู้นอย่างนี้ เราไม่รวยเหมือนเขา 1 2 3 4 5 6 ... ไปเรื่อยๆ

ทำไมไม่ลองหยุดคิดซักนิดล่ะครับว่า แทนที่จะโทษตัวเอง คิดสักนิดนึงสิ ขายถั่วงอกทุกวันจะมี Benz ขับไหม ถ้าตอบว่าไม่ ก็ถามตัวเองต่อว่า "จะเปลี่ยนแปลงตัวเองไหม"

ถ้าตอบว่า "ใช่" ก็เปลี่ยนแปลงตัวเองซะ อย่างน้อยคำตอบสุดท้ายอาจจะไม่รวยขนาดมี Benz ขับได้ แต่นี่คือตัวอย่างของ "ความกล้า ที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเอง ไปในทางที่ดีขึ้น"

ที่พี่เขียนมานี่ ไม่ใช่จะบอกว่าขายถั่วงอกมันไม่ดี แต่อยากบอกว่า ถ้าสิ่งที่น้องเป็นอยู่ ความรู้ที่น้องมีอยู่มันยังไม่ Work แล้วน้องไม่ "ลงมือทำ" เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว น้องก็ยังขายถั่วงอก พร้อมทั้งตำหนิโชคชะตาตัวเองเหมือนเดิม เอาแต่โทษปัจจัยรอบข้าง "แต่ไม่ให้โอกาสที่ดีกว่าเดิมกับตัวน้องเอง ไม่ลงมือทำด้วยตนเอง" งั้นก็ขายถั่วงอกต่อไปครับ

Note: มีน้อง นตท.48 เหล่าตำรวจคนหนึ่ง พี่รู้จักน้องคนนี้ตั้งแต่เป็นนักเรียน ม.4 ปีแรกน้องเขาสอบติดรอบแรก 4 เหล่า แต่ตกสายตารอบสองเหล่าตำรวจ

*** ปีต่อมา เขาอ่านหนังสือตั้งแต่เวลา 18:00 - 24:00 รวมวันละ 6 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลา 1 ปี*** ยอดมนุษย์มาก คิดเป็นปีละกี่ชั่วโมงก็คำนวณเอาเองนะครับ

แล้วน้องคนนี้ก็ไปรักษาสายตาประมาณ 4-5 เดือนก่อนการสอบจริง และสามารถสอบได้เป็น นตท. ตัวจริงของเหล่าตำรวจ ปี 2548 อย่างที่ตั้งใจ

*** รู้ไหมว่า ขณะที่น้องแต่ละคนโดนมือถือดูดเวลาอันมีค่าไปวันละประมาณ 4-5 ชั่วโมง ยังมีเด็กจากจังหวัดอันไกลโพ้นของประเทศ ที่ทุ่มเทเวลา 6 ชั่วโมงต่อวันติดต่อกัน 1 ปีอย่างนี้ ไม่ต่ำกว่า 2,000 - 3,000 คนมาสอบแข่งกับน้อง

แล้วน้องคิดว่า ความขยันที่น้องทำอยู่ในปัจจุบัน จะสู้ยอดมนุษย์พวกนี้ได้ไหม???

อย่าลืมนะครับ เหลือเวลาอีกไม่กี่วัน ใครจะทำทัน/ไม่ทัน ขึ้นอยู่กับปัจจัตตังล้วนๆ เกิดมาชีวิตหนึ่งจะมีโอกาสสักกี่ครั้ง คือ ไม่เกิน 2 - 3 ครั้ง จริงไหมครับ?

ใช้เวลาที่เหลืออยู่ให้คุ้มค่าที่สุด น้องสอบไม่ได้น้องอาจเสียดาย แต่น้องจะไม่เสียใจเลยกับความตั้งใจในสิ่งที่น้องทำ

เขียนไว้เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555
ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 22 ตุลาคม 2566 
โดย พี่แฮท @ THAICADET 

THAI CADET

 

© 2547-2567. All Right Reserved by THAI CADET   TEL./LINE : 0959429193

Made with Pingendo Free  Pingendo logo