Card image cap

 

สนามสอบ “โครงการช้างเผือก โรงเรียนนายเรืออากาศฯ” พรีเทส ครั้งนี้ ใครไม่ลอง นับว่าเสียโอกาสเป็นอย่างยิ่ง

ผมเขียนบทความนี้ ในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ เพื่อบอกกล่าวไปยังน้องๆ นักเรียนชายที่มีสิทธิ์ และมีความประสงค์จะลงสนามสอบเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารในปีหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ต้องการสอบเหล่าทหารอากาศ (เป็นนักเรียนนายเรืออากาศ) ถึงการจัดสอบโครงการช้างเผือกของโรงเรียนนายเรืออากาศ ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้ง ในช่วงปลายปี

ว่ากันง่ายๆ แล้ว ความมุ่งหมายของโรงเรียนนายเรืออากาศ คือต้องการทดสอบความรู้ผู้สมัครสอบว่า “ท่านพร้อมสำหรับการสอบเตรียมทหารเหล่า ทอ. ในปีหน้า มากน้อยเพียงใด” แน่ นอนว่า คนออกข้อสอบช้างเผือกก็คือคนออกข้อสอบจริง ซึ่งเป็นอาจารย์กองการศึกษา โรงเรียนนายเรืออากาศ ข้อสอบมี 5 วิชาคือ เลข วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และสังคม ซึ่งไม่ง่ายแน่นอน ระดับความยากนั้นเรียกได้ว่าน้องๆ ข้อสอบจริงเลยทีเดียว “

เพราะช้างเผือกนั้น อยู่ในป่า และหายาก” กองทัพอากาศจึงจัดให้มีการทดสอบตามกองบินต่างๆ ทั่วประเทศ ดังนั้น ไม่ว่าน้องๆ จะอยู่ที่จังหวัดใดก็สามารถเดินทางไปสมัคร และสอบที่กองบินใกล้บ้านเหล่านั้นได้

“เพราะแต่ละกองบินเหล่านี้ต่างกระจายตัวไปทั่วทุกมุมของประเทศไทย” ดังนั้น ต้องมี สักกองบินนึงล่ะครับ ที่อยู่ใกล้บ้านของน้องๆ น้องไม่ต้องสนใจว่าน้องจะสมัครสอบได้แบบภาคปกติหรือ ภาคสมทบ สิทธิแต่ละแบบจะเป็นอย่างไร น้องคิดแค่ว่า “ทำยังไง จะทำข้อสอบให้ได้ดีที่สุด เท่าที่จะทำได้ และผ่านเกณฑ์ที่เขากำหนด” พอแล้ว “

ใครเคยสอบ จะรู้ว่ามันยากขนาดไหน” ไม่ต้องถามหาไกลตัว พี่นี่แหละเคยสอบมา 2 ครั้งครับ จะเล่าให้ฟังเลยครับ

เมื่อก่อนการสอบเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารนั้น ต้องจบ ม.4 สายวิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์ เคมี) พี่สมัครสอบครั้งแรกตอนเรียน ม.4 เทอมสอง สนามสอบโรงเรียนการบิน วันสอบคือวันเสาร์ ในห้องเรียนพี่มีผลการเรียนค่อนข้างดี (3.xx) พี่ไม่ได้เตรียมตัวไปสอบเลย เพราะไม่คิดว่ามันจะยาก หรือถ้ายาก ก็ไม่คาดว่าความยากมันจะขนาดไหน ข้อสอบมีวิชาละประมาณ 50 ข้อ ทั้งหมด 700 คะแนน “ทำไม่ได้เลย” ยากโครต ยากกว่าที่พี่และเพื่อนๆ คิดไว้ ตอนนั้นตั้งตัวไม่ติดเลยว่า ถ้าเป็นการสอบจริง จะเป็นอย่างไร แน่นอน คะแนนสอบออกมา 300 กว่าๆ ห่างไกลความจริงมากๆ พี่ไม่ได้ประมาทแค่ครั้ง เดียว

หลังสอบ Final ม.4 เสร็จ พี่ก็นอนอ่านหนังสืออยู่บ้าน Chill Chill วันที่ 2 เมษายน พี่เดินทางไปกรุงเทพฯ กับเพื่อนๆ นอนบ้านเพื่อนเลย เพื่อตื่นเช้าไปสอบที่โรงเรียนนายเรืออากาศ (สมัยนั้นเด็ก 1 คน สมัครสอบได้เพียงเหล่าเดียว เพราะทุกเหล่าสอบวันเดียวกัน คือวันที่ 3 เมษายน) พอเข้าสอบ โอโห เหมือนข้อสอบช้างเผือกเลย ไม่ ใช่ว่าโจทย์เหมือนกันนะครับ แต่ความยากและรูปแบบการวิเคราะห์นั้นมาจาก Format เดียวกัน (แน่นอนสิ เพราะคนออกข้อสอบคือคนกลุ่มเดียวกัน) พูดได้คำเดียว “ทำไม่ได้เลยยยย” ใครเคยเป็นแบบพี่มั่งครับ ? ยกมือ ?

น้องๆ จำไว้ “ไม่มีใครขี่จักรยานได้ โดยไม่เคยล้มแม้แต่ครั้งเดียว แต่เราต้องลุกขึ้นให้เร็ว และอย่าเจ็บเรื่องเดิมบ่อยๆ มันช้ำครับ” พี่เองก็เช่นกัน หลังจากสอบไม่ติดในปีแรก พี่กลับมาเรียน ม.5 และ เอาแบบฝึกหัดมานั่งทำทุกวันตอนพักเที่ยง พี่ให้เวลากับตัวเองมากขึ้น ช่วงปลายปีพี่สมัครสอบช้างเผือกอีกครั้ง ครั้งนี้พี่ใจเย็นมากกว่าเดิม และทำได้ดีกว่าปีที่แล้วมาก ผลสอบออกมาพี่ได้ที่ 1 สนามสอบโรงเรียนการบิน แต่นั่นไม่ได้ทำให้พี่ดีใจเท่ากับว่า “การสอบช้างเผือก ทำให้เรารู้ตัวเองว่า เราทำข้อสอบส่วนไหนได้ ส่วนไหนทำไม่ได้ และสำหรับส่วนที่ทำไม่ได้นั้นเราจะแก้ปัญหานั้นอย่างไร” และที่สำคัญที่สุด พี่เหลือเวลาอีกเพียง 4 เดือน

สำหรับการสอบจริงที่จะมาถึงเมื่อพี่เรียนจบ ม.5 ช่วงปลายเดือนมกราคม ฝนตกหนักมาก พี่ใจลอยคิดไป คิดอะไรไม่รู้เหมือนรู้สึกเองว่า “นี่เป็นเทอมสุดท้ายแล้วนะ ที่เราจะได้เรียนที่โรงเรียนนี้” คิดได้อย่างนี้ ก็กลับไปอ่านหนังสือเตรียมสอบต่อที่บ้าน

เดือนมีนาคม ก่อนสอบ พี่ให้เวลากับตัวเองมาก ๆ พี่ได้ติวกับเพื่อนดีๆ พี่ได้ทำแบบฝึกหัดทุกวิชา ทุกวัน อ่านหนังสือถึงเที่ยงคืนทุกวัน และ Start Up เช้าวันใหม่ตอน 7 โมงเช้า ในที่สุด 3 เมษายน ก็เวียนมาถึง เป็นเวลา 1 ปีที่พี่กลับมายืนที่เดิม แต่พร้อมกว่าเดิม อยากบอกว่า “ข้อสอบมี 5 วิชา ถ้าน้องทำได้เกิน 85% ของแต่ละวิชา น้องลุ้นติดรอบแรก ได้เลยครับ”

จำไว้ว่า 85% Up คือสิ่งที่น้องต้องทำให้ได้

วันนั้นพี่ทำได้ และเด็กบ้านนอกอย่างพี่ สอบว่ายน้ำคอตั้งตลอด 50 เมตร แม้จะว่ายน้ำไม่เก่ง แต่ก็พยายามจนถึงที่สุด จนสามารถสอบรอบสองผ่าน ได้เป็นนักเรียนเตรียมทหาร และสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (B.Eng in Aeronautical Engineering) ของโรงเรียนนายเรืออากาศ พร้อมเพื่อนๆ ร่วมรุ่น

พี่ไม่ใช่คนเก่ง ออกจะโง่ด้วยซ้ำ แต่น้องต้องถามตัวเองว่า “วันนี้ เราจะขยันได้หรือยัง” พี่เรียนไม่เก่งจึงต้องอาศัยความขยันเพื่อให้ตัวเองสอบได้ ต่อสู้เอาตัวรอดต่อไปได้

หวังว่าตัวอย่างการสอบของพี่ที่น้องๆ ได้อ่านจะเป็นแนวทาง และแนวคิดสำหรับการเตรียมตัวสอบของน้องๆ ทุกคนครับ

ด้วยความเคารพ

27 สิงหาคม 2552 , 21:45 LT.  
พิธีพระราชทานกระบี่แก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายเรือ และโรงเรียนนายเรืออากาศ ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร เมื่อวันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ 2544 
นักเรียนเตรียมทหารรุ่น 37 นักเรียนนายเรืออากาศรุ่น 44 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2543

THAI CADET

 

© 2547-2565. All Right Reserved by THAI CADET   TEL./LINE : 0959429193

Made with Pingendo Free  Pingendo logo