เว็บไซต์นายร้อยไทย
บันไดขั้นแรกสู่รั้วโรงเรียนเตรียมทหาร
 
© คำอธิบาย การแสดงวิธีทำ และข้อคิดเห็นทั้งหมด
ในเว็บเพจนี้ สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย
หากจะนำไปเผยแพร่ซ้ำ ไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมด
ต้องได้รับการยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจาก webmaster@thaicadet.org
 
บทที่ ๗ รูปลักษณ์ของคำไทย
 

 

           คำ หมายถึง พยางค์ที่มีความหมาย โดยคำ ๆ หนึ่งอาจประกอบด้วยพยางค์เดียว หรือหลายพยางค์ก็ได้ เช่น

คำพยางค์เดียว ได้แก่ กิน นอน ข้าว ดิน รถ

คำหลายพยางค์ ได้แก่ ทหาร (๒ พยางค์) ตำรวจ (๒ พยางค์) ประวัติศาสตร์ (๔ พยางค์)

 

           แล้วน้อง ๆ ทราบหรือไม่คะว่า “ คำ” หนึ่งนั้น มีส่วนประกอบอะไรบ้าง? คำตอบก็คือ... องค์ประกอบของ “ คำ” คือ “ เสียงพยางค์ และความหมาย” โดย

           ๑. เสียง

- เพราะคำในภาษาไทยสามารถเปล่งเสียงออกมาได้ เรียกว่า “ หน่วยเสียง” หรือ “ พยางค์”

- ซึ่งเสียงที่เปล่งออกมาจะมีความหมายหรือไม่ก็ได้

 

           ๒. ความหมาย

- พยางค์ที่เปล่งออกมา ไม่ว่าจะมีพยางค์เดียว หรือหลายพยางค์ หาก ไม่มีความหมายไม่ถือว่าเป็น “ คำ”

- แต่พยางค์ที่เปล่งออกมา ไม่ว่าจะมีพยางค์เดียว หรือหลายพยางค์ หาก มีความหมายถือว่าเป็น “ คำ”

 

           รูปลักษณ์คำไทย คือ รูปแบบของคำที่ใช้ในภาษาไทย แบ่งเป็น


               
พย างค์
           
               
l
           
               
l
           
               
คำ
           
               
l
           
l
l
l
l
l
l
l
l

คำมูล

คำประสม

คำซ้อน

คำซ้ำ

คำสมาส

คำสนธิ

กลุ่มคำ / วลี

ประโยค

 

 

 
เว็บไซต์นายร้อยไทย : บันไดขั้นแรกสู่รั้วโรงเรียนเตรียมทหาร.

๑. คำมูล

           คือ คำที่มีความหมายชัดเจนในตัวเอง โดนคำมูลอาจเป็นคำไทยแท้ดั้งเดิม หรือเป็นคำที่มาจากภาษาอื่น ๆ ก็ได้ คำมูลแบ่งเป็น

(๑) คำมูลพยางค์เดียว คือ คำพยางค์เดียวที่มีความหมายชัดเจนในตัวเอง ส่วนมากจะเป็นคำไทย เพราะคำไทยมีลักษณะเป็นคำโดด

 

คำมูลพยางค์เดียวที่เป็นภาษาไทย ได้แก่ นอน ไก่ ไข่ เงิน ทอง ฉัน เธอ เด็ก

คำมูลพยางค์เดียวที่มาจากภาษาอื่น ได้แก่

ภาษาจีน เจ๊ เตี่ย เต็ง เขียม กั๊ก ก๊ก อั๊ว เกี๊ยว

ภาษาอังกฤษ ไมล์ เมตร เค้ก เทป การ์ด แฟร์ โค้ก แก๊ป ฟรี เชิ้ต

ภาษาเขมร แข ขาล โตก เฌอ จาร ตรู โดม

(๒) คำมูลหลายพยางค์ จะมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้

๑. ประกอบด้วยพยางค์ที่ไม่มีความหมาย แต่เมื่อพยางค์เหล่านั้นมารวมกันแล้วจึงเกิดความหมาย เช่น ขนม กิ้งกือ ทะเล

๒. ประกอบด้วยพยางค์ที่มีความหมายบางพยางค์ เช่น จิปาถะ นาฬิกา

๓. ประกอบด้วยพยางค์ที่มีความหมาย แต่เมื่อพยางค์เหล่านั้นมารวมกันแล้วจะไม่มีเค้าความหมายเดิมของแต่ละพยางค์ เช่น

นา + ที = นาที (นา, ที มีความหมาย แต่ความหมายไม่เกี่ยวเนื่องกัน และไม่เกี่ยวเนื่องกับคำว่า นาที)

กระ + สวย = กระสวย (กระ, สวย มีความหมาย แต่ความหมายไม่เกี่ยวเนื่องกัน และไม่เกี่ยวเนื่องกับคำว่า กระสวย)

คำมูลหลายพยางค์ที่มาจากภาษาอื่น ได้แก่

ภาษาบาลี-สันสกฤต อนันตนาคราช ประชาธิปไตย ปฐมบรมราชานุสรณ์

ภาษาจีน กุยเฮง แซยิด ตงฉิน ซินแส โสหุ้ย

ภาษาอังกฤษ โปรแกรม เอเย่นต์ ออฟฟิศ เทนนิส แชร์บอล

ภาษาชวา-มลายู บุหรง บุหลัน สะตาหมัน สำปั้น วิรังรอง

ภาษาเขมร ตังวาย เขนย ฉนำ เสด็จ อิงอร

 

๒. คำประสม

           คือ คำที่ประกอบขึ้นจากคำมูลตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไป ซึ่งเป็นพยางค์ที่มีความหมายต่างกัน มาประสมกันขึ้นเป็นคำใหม่ และมีความหมายใหม่ ซึ่งคำที่เกิดขึ้นใหม่นี้อาจจะมีเค้าความหมายเดิม หรือมีความหมายที่เปลี่ยนไปก็ได้

           ลักษณะของคำประสม

(๑) เกิดจากคำมูล ๒ คำขึ้นไปมาประสมกัน เช่น

สะพาน + ลอย = สะพานลอย

สวน + สนุก = สวนสนุก

ดิน + ปืน = ดินปืน

(๒) เกิดจากคำมูลที่มีความหมายต่างกัน เมื่อนำมาประสมกันจนเกิดเป็นคำมูล ซึ่งคำประสมนี้จะเป็นคำที่มีความหมายใหม่ หรืออาจเป็นคำที่มีเค้าความหมายจากคำมูลเดิม เช่น

ดาวเทียม เครื่องมือสื่อสารชนิดหนึ่งที่โคจรในอวกาศ แต่ไม่ใช่ดาวจริง ๆ

ลูกน้ำ ลูกของยุง ซึ่งอาศัยอยู่ในน้ำนิ่ง

(๓) เกิดจากคำมูลที่มาจากภาษาใดก็ได้

๑. เกิดจากคำไทย ประสมกับคำไทย
ไฟ + ฟ้า = ไฟฟ้า

ตาย + ใจ = ตายใจ

หัว + หน้า = หัวหน้า

ทาง + ด่วน = ทางด่วน

ม้า + เร็ว = ม้าเร็ว

หาง + เสือ = หางเสือ

พ่อ + ครัว = พ่อครัว

เตา + รีด = เตารีด

แม่ + ทัพ = แม่ทัพ

๒. เกิดจากคำไทย ประสมกับคำต่างประเทศ

ไทย + บาลี เช่น หลักฐาน ราชวัง

ไทย + สันสกฤต เช่น ทุนทรัพย์ ตักบาตร

ไทย + เขมร เช่น นาดำ นาปรัง

จีน + ไทย เช่น หวยใต้ดิน ผ้าผวย

ไทย + อังกฤษ เช่น เหยือกน้ำ พวงหรีด

๓. เกิดจากคำต่างประเทศ ประสมกับคำต่างประเทศ

บาลี + จีน เช่น รถเก๋ง

บาลี + สันสกฤต เช่น กิตติศัพท์

บาลี + บาลี เช่น ราชการ

เขมร + สันสกฤต เช่น นักปราชญ์

(๔) คำประสมเกิดจากคำมูลตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไปมาประสมกัน โดย คำมูลที่มีความหมายหลัก หรือคำตั้งจะอยู่ข้างหน้า และ คำมูลที่เป็นคำขยายจะอยู่ข้างหลัง

คำประสม

คำตั้ง

คำขยาย

การทหาร

การ

ทหาร

ผลิตผล

ผลิต

ผล

ประธานสภา

ประธาน

สภา

 

- คำประสมบางคำมีคำขยายอยู่ข้างหน้าคำตั้ง ซึ่งคำประสมชนิดนี้ส่วนมากคำขยายจะมาจากภาษาบาลี/สันสกฤต ส่วนคำตั้งจะเป็นภาษาไทย หรือภาษาต่างประเทศ (แต่ต้องไม่ใช่ภาษาบาลี/สันสกฤต)

คำประสม

คำขยาย

คำตั้ง

พระแสง

พระ

แสง (คำไทย)

ราชดำรัส

ราช

ดำรัส (คำเขมร)

ราชวัง

ราช

วัง (คำไทย)

 

๓. คำซ้อน หรือคำคู่

           คือ คำที่นำมาซ้อน หรือเข้าคู่กันจนมีความหมายในลักษณะเดียวกัน หรือคำที่นำมาซ้อนกันแล้วเกิดความหมายหนักแน่นและชัดเจนยิ่งขึ้น

           คำซ้อนแบ่งเป็น ๒ ลักษณะ คือ

(๑) คำซ้อนเพื่อความหมาย

(๒) คำซ้อนเพื่อเสียง

(๑) คำซ้อนเพื่อความหมาย

๑. คำซ้อนที่ประกอบขึ้นจากคำ ๒ คำ ขึ้นไป ที่มี ความหมายทำนองเดียวกัน เช่น ทุบตี คัดเลือก ซักฟอก ป่าดงพงไพร วัดวาอาราม ผลหมากรากไม้ ดูแล กักขัง ข่มขู่ มากหลาย กล้าหาญ

๒. คำซ้อนที่ประกอบขึ้นจากคำ ๒ คำ ขึ้นไป ที่มี ความหมายตรงข้ามกัน เช่น ขาวดำ หนักเบา ดีชั่วถูกผิด เปรียวหวาน บาปบุญคุณโทษ เท็จจริง ที่ต่ำที่สูง ตื้นลึกหนาบาง มากน้อย

           (๒) คำซ้อนเพื่อเสียง คือ คำซ้อนที่ประกอบขึ้นจากคำ ๒ คำ ขึ้นไป ที่ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะเสียงเดียวกัน หรือมีเสียงสระเข้าคู่กัน เช่น สูสี จู๋จี๋ ไล่เลี่ย งอแง งี่เง่า เรี่ยราด เปะปะ

 

           ลักษณะของคำซ้อน คำซ้อนเป็นคำที่สร้างจากคำมูล ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับคำประสม แต่มี ข้อแตกต่างกัน คือ

(๑) คำซ้อนเกิดจากคำมูลที่มีความหมายในลักษณะเดียวกัน แต่คำประสมเกิดจากคำมูลที่มีความหมาย ไม่เกี่ยวข้องกันเลย

คำซ้อน

คำประสม

เรือแพ

เรือดำน้ำ

ลูกหลาน

ลูกค้า

บ้านเรือน

บ้านนา

(๒) ความหมายของคำซ้อนส่วนมากจะอยู่ที่คำมูลคำใดคำหนึ่ง แต่ความหมายของคำประสมจะเกิดขึ้นใหม่ โดยความหมายใหม่นี้จะต่างไปจากคำมูลเดิม

คำซ้อน

คำประสม

กีดกัน

กันสาด

เขตแดน

ดินแดน

เนื้อตัว

เล่นตัว

ปาก คอ

ปากกา

 

(๓) คำซ้อนบางคำ เมื่อนำมาซ้อนกันแล้วจะเกิดคำที่ความหมายต่างไปจากเดิม เช่น

พี่น้อง รวมถึงญาติ

ลูกหลาน รวมถึงเหลน โหลน

ข้าวปลา รวมถึงอาหารทุกประเภท

ถากถาง หมายความว่า พูดจาเสียดแทง

ดูแล หมายความว่า เอาใจใส่

 

๔. คำซ้ำ

           คือ คำที่เกิดจากคำมูลที่ซ้ำกัน โดยความหมายของคำหน้าและคำหลังต้องเหมือนกัน เช่น ค่อยค่อย เบาเบา หนักหนัก ครืนครืน โครมโครม ดำดำ ดีดี เล่นเล่น ฯลฯ ถ้าแต่ละคำมีความหมายต่างกันจะไม่ถือว่าเป็นคำซ้ำ เช่น

แม่ชอบ ดุดุว่าเราขี้เกียจ ดุดุ ไม่ใช่คำซ้ำ แต่เป็นการบอกว่าแม่ดุ และดุว่าขี้เกียจ

แม่ชอบ ดุดุด่าว่าเราขี้เกียจ ดุดุ เป็นคำซ้ำ

คำซ้ำนี้ แต่เดิมจะเขียนทั้ง ๒ คำต่อกัน แต่ในปัจจุบันจะใช้ไม้ยมกแทนด้านหลังเสียงที่ซ้ำกัน เช่น ค่อย ๆ เบา ๆ หนัก ๆ ครืน ๆ โครม ๆ ดำ ๆ ดี ๆ เล่น ๆ

 

           คำซ้ำแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ

           (๑) คำซ้ำธรรมดา สามารถใช้ไม้ยมกแทนเสียงที่ซ้ำได้ ทำให้คำนั้นมีความหมายคงเดิม มีน้ำหนักมากขึ้นหรือเบาลง และแสดงความเป็นพจน์ ได้แก่

บอกความหมายคงเดิม นักเรียนเหล่านี้เป็นเหมือนพี่ ๆ น้อง ๆ ของฉัน

บอกพจน์ น้อง เป็นเอกพจน์ แต่น้อง ๆ เป็นพหูพจน์

ทำให้มีน้ำหนักมากขึ้น ลูกใครหนอเก่งจริง ๆ

ทำให้น้ำหนักเบาลง คุยกันค่อย ๆ หน่อย

           (๒) คำซ้ำในคำซ้อน เช่น

ผัวเมีย เป็น ผัว ๆ เมีย ๆ

ดึกดื่น เป็น ดึก ๆ ดื่น ๆ

หนุ่มสาว เป็น หนุ่ม ๆ สาว ๆ

 

๕. คำสมาส

           คือ การประสมคำระหว่างคำมูลที่มาจากภาษาบาลี และ/หรือภาษาสันสกฤตเข้าด้วยกัน แล้วเกิดเป็นคำใหม่ แต่ยังมีเค้าความหมายของคำเดิม

การอ่านออกเสียง เสียงสระจะต่อเป็นคำเดียวกัน โดยไม่มีส่วนใดของคำหายไป

การแปล ส่วนมากจะแปลจากข้างหลังมาข้างหน้า (คำหลังเป็นคำหลัก, คำหน้าเป็นคำขยาย) เช่น

คุรุ + ศาสตร์ = วิชาครู

ปิย + มิตร = มิตรที่รัก

 

ลักษณะของคำสมาส

           (๑) เกิดจากคำมูลภาษาบาลี และ/หรือภาษาสันสกฤต ๒ คำขึ้นไปมาประสมกัน

           (๒) คำที่นำมาสมาสกันต้องเป็นคำภาษาบาลี และภาษาสันสกฤตเท่านั้น ถ้านำคำภาษาอื่นมาประสมกับคำภาษาบาลี/ภาษาสันสกฤตไม่เรียกว่าคำสมาส แต่มันคือคำประสม เช่น ราชวัง พลเรือน ทุนทรัพย์ ระบาดวิทยา

คำบาลี สมาสกับคำบาลี เช่น

ปัจฉิม + วัย

สังฆ + ราช

วัฏ + สงสาร

คำสันสกฤต สมาสกับคำสันสกฤต เช่น

วิทยา + ศาสตร์

อารย + ธรรม

อักษร + ศาสตร์

คำบาลี สมาสกับคำสันสกฤต เช่น

วัฒน + ธรรม

ทันต + แพทย์

ประวัติ + ศาสตร์

คำสันสกฤต สมาสกับคำบาลี เช่น

วิทย + ฐานะ

เกษตร + กร

           (๓) การแปลคำสมาส

           ๑. คำสมาสส่วนมากจะแปลจากคำหลังไปหาคำหน้า เพราะคำที่มีความหมายหลักหรือคำตั้งจะอยู่ข้างหลัง ส่วนคำขยายจะอยู่ข้างหน้า

คำสมาส

คำขยาย

คำตั้ง

คำแปล

ราชการ

ราช

การ

งานของพระเจ้าแผ่นดิน

พุทธศาสนา

พุทธ

ศาสนา

ศาสนาของพระพุทธเจ้า

เทวบัญชา

เทว

บัญชา

คำสั่งของเทวดา

ภูมิศาสตร์

ภูมิ

ศาสตร์

วิชาที่ว่าด้วยโลก

ยุทธวิธี

ยุทธ

วิธี

วิธีรบ

ทศพร

ทศ

พร

พรสิบประการ

           ๒. คำสมาสบางคำมีคำหลักทั้ง ๒ คำ หรือไม่มีคำใดเป็นคำขยายเลย ดังนั้นให้แปลจากข้างหน้าไปข้างหลัง หรือจะแปลจากข้างหลังไปข้างหน้าก็ได้ เพราะความหมายของคำจะไม่เปลี่ยนไป เช่น

บุตร + ภรรยา = บุตรภรรยา (หมายถึง บุตรและภรรยา หรือภรรยาและบุตร)

ทาส + กรรมกร = ทาสกรรมกร (หมายถึง ทาสและกรรมกร หรือกรรมกรและทาส)

สมณ + พราหมณ์ = สมณพราหมณ์ (หมายถึง สมณะและพราหมณ์ หรือพราหมณ์และสมณะ)

ภิกษุ + สามเณร = ภิกษุสามเณร (หมายถึง ภิกษุและสามเณร หรือ สามเณรและภิกษุ)

           (๔) พยางค์สุดท้ายของคำหน้าจะไม่ประวิสรรชนีย์ แม้ว่าก่อนสมาสคำนั้นจะประวิสรรชนีย์ก็ตาม (พยางค์ท้ายของคำหน้าซึ่งประวิสรรชนีย์ เมื่อสมาสเข้ากับพยางค์อื่นแล้ว ต้องตัดวิสรรชนีย์ออก) เช่น

วาตะ + ภัย = วาตภัย

ศิลปะ + ศาสตร์ = ศิลปศาสตร์

ชีวะ + วิทยา = ชีววิทยา

สมณะ + พราหมณ์ = สมณพราหมณ์

พละ + ศึกษา = พลศึกษา

ธุระ + การ = ธุรการ

ลักษณะ + นาม = ลักษณนาม

           (๕) การอ่านออกเสียงพยางค์ท้ายของคำหน้า ถึงแม้จะไม่มีรูปสระกำกับ แต่ต้องออกเสียงสระต่อเนื่องกัน เช่น

ประวัติศาสตร์ อ่านว่า ประ – หวัด – ติ – สาด

จริยศาสตร์ อ่านว่า จะ – ริ – ยะ – สาด

ชลประทาน อ่านว่า ชน – ละ – ประ – ทาน

โพธิบัลลังก์ อ่านว่า โพ – ทิ – บัน – ลัง

อุดมคติ อ่านว่า อุ – ดม – มะ – คะ – ติ

ถาวรวัตถุ อ่านว่า ถา – วะ – ระ – วัด – ถุ

           แต่คำสมาสบางคำไม่นิยมออกเสียงสระที่อยู่ตรงท้ายพยางค์ของคำหน้า เช่น

ปรากฏการณ์ อ่านว่า ปรา – กด – กาน ไม่นิยมอ่านว่า ปรา- กด- ตะ- กา

สาธกโวหาร อ่านว่า สา – ทก – โว – หาน ไม่นิยมอ่านว่า สา– ทก- กะ– โว– หาน

รสนิยม อ่านว่า รด – นิ – ยม ไม่นิยมอ่านว่า รด- สะ- นิ- ยม

ราชบุรี อ่านว่า ราด – บุ – รี ไม่นิยมอ่านว่า ราด- ชะ- บุ- รี

มงคลกาล อ่านว่า มง – คน – กาน ไม่นิยมอ่านว่า มง- คน- นะ- กาน

แพทยศาสตร์ อ่านว่า แพด – สาด ไม่นิยมอ่านว่า แพด- ทะ- ยะ- สาด

           (๖) คำสมาสจะไม่มีเครื่องหมายทัณฑฆาต ( ? ) กำกับอยู่ที่พยางค์สุดท้ายของคำหน้า (พยางค์ท้ายของคำหน้าซึ่งมีเครื่องหมายทัณฑฆาต เมื่อสมาสเข้ากับพยางค์อื่นแล้ว ต้องตัดทัณฑฆาตออก) เช่น

สัตว์ + แพทย์ = สัตวแพทย์

แพทย์ + ศาสตร์ = แพทยศาสตร์

           (๗) คำว่า “ พระ” นำหน้าคำบาลีและคำสันสกฤตก็จัดเป็นคำสมาส แม้คำว่า “ พระ” จะประวิสรรชนีย์ก็ตาม ทั้งนี้เพราะ “ พระ” แผลงมาจากภาษาบาลี-สันสกฤต ว่า “ วร” โดยมาก จะเป็นคำราชาศัพท์ เช่น พระเกศา พระมาลา พระกรรณ พระฉวี พระคทา พระขรรค์

 

คำประสมและวลี มีลักษณะคล้ายกับคำสมาส แต่มีข้อแตกต่างกัน คือ

           (๑) คำที่มาประกอบกันไม่ได้มาจากคำบาลี-สันสกฤตทั้งหมด เช่น

เทพเจ้า คำว่า เจ้า เป็นคำไทย

ผลไม้ คำว่า ไม้ เป็นคำไทย

พระธำมรงค์ คำว่า ธำมรงค์ เป็นคำเขมร

พระสลา คำว่า สลา เป็นคำเขมร

           (๒) คำบาลี-สันสกฤตที่มีคำตั้งอยู่หน้าคำขยาย เช่น

การแพทย์ การยุทธ์ คดีโลก คดีธรรม นายกสภา สมัยโบราณ ภูมิศาสตร์ คิลานเภสัช อริยประเพณี ประวัติศาสตร์ วีรกรรม วิทยาศาสตร์ อันธพาล อารยประเทศ ธรรมศาสตร์ ทัณฑสถาน ปิยมิตร คุรุศาสตร์ ศิลปหัตถกรรม มหาธีรราช ปาฐกถา สุนทรพจน์ ภาพยนตร์ โทรภาพ วิทยฐานะ

 

ตัวอย่างคำสมาสที่ใช้ในภาษาไทย ได้แก่

อริยสงฆ์ วีรกรรม ชีวภาพ อันธพาล อารยประเทศ สุนทรพจน์ ทัณฑสถาน ภูมิศาสตร์ ปิยวาจา ศิลปหัตถกรรม ประวัติศาสตร์ วิทยฐานะ ปาฐกถา ปิยมหาราช มหาธีรราช โทรภาพ ภาพยนตร์ คณิตศาสตร์

 

๖. คำสนธิ

           คือ คำที่สร้างขึ้นใหม่จากภาษาบาลี ภาษาสันสกฤตตั้งแต่ 2 คำขึ้นไปมาเชื่อมให้เกิดเสียงที่กลมกลืน และเป็นคำเดียวกัน เช่น

วร สนธิกับ โอกาส = วโรกาส

สุนทร สนธิกับ โอภาส = สุนทรโรวาส

ลักษณะของคำสนธิ

           (๑) เกิดจากคำมูลภาษาบาลี และ/หรือภาษาสันสกฤต ๒ คำขึ้นไปมาเชื่อมจนเป็นเสียงเดียวกัน

           (๒) คำที่นำมาสนธิกันต้องเป็นคำภาษาบาลี และภาษาสันสกฤตเท่านั้น

           (๓) มีการเชื่อมโดยเปลี่ยนสระ พยัญชนะ หรือนฤตหิตของคำเดิม

           (๔) โดยมากคำที่มีความหมายหลัก (คำตั้ง) จะอยู่ข้างหน้า และคำขยายอยู่ขางหน้า และแปลความหมายจากข้างหลังไปหาข้างหน้าเหมือนคำสมาส

 

ชนิดของคำสนธิในภาษาไทย มี ๓ ชนิด คือ สระสนธิ พยัญชนะสนธิ และนิคหิตสนธิ

           ๑. สระสนธิ หรือสนธิสระ คือ การเชื่อมเสียงสระของคำหน้า กับสระของคำหลังให้กลมกลืนกัน มีหลักเกณฑ์ดังนี้

( ๑.) อะ / อา สนธิกับ อะ / อา (ไม่มีตัวสะกด) ได้เสียง อา เช่น

รา ช + อธิราช = ราชาธิราช (เติมสระอา หลัง ช. แล้วตัด อ. ทิ้ง)

รา ช + อภิเษก = ราชาภิเษก (เติมสระอา หลัง ช. แล้วตัด อ. ทิ้ง)

วชิ ร + อาวุ ธ = วชิราวุธ (เติมสระอา หลัง ร. แล้วตัด อ. ทิ้ง)

อิสร ะ + อธิบดี = อิสราธิบดี (เปลี่ยนสระอะ เป็นสระอา แล้วตัด อ. ทิ้ง)

วิท ย + อาลัย = วิทยาลัย (เติมสระอา หลัง ย. แล้วตัด อ. ทิ้ง)

พัต ร + อาภรณ์ = พัตราภรณ์ (เติมสระอา หลัง ร. แล้วตัด อ. ทิ้ง)

ภัต ต + อาคาร = ภัตตาคาร (เติมสระอา หลัง ต. แล้วตัด อ. ทิ้ง)

ธ น + อาคาร = ธนาคาร (เติมสระอา หลัง น. แล้วตัด อ. ทิ้ง)

จุฬ า + อลงกรณ์ = จุฬาลงกรณ์ (สระอาคงที่อยู่หลัง ฬ. แล้วตัด อ. ทิ้ง)

กัล ป + อวสาน = กัลปาวสาร (เติมสระอา หลัง ป. แล้วตัด อ. ทิ้ง)

รา ช + อภิเษก = ราชาภิเษก (เติมสระอา หลัง ช. แล้วตัด อ. ทิ้ง)

สุ ข + อภิบาล = สุขาภิบาล (เติมสระอา หลัง ข. แล้วตัด อ. ทิ้ง)

พล ะ + อนามัย = พลานามัย (เปลี่ยนสระอะ เป็นสระอา แล้วตัด อ. ทิ้ง)

ศิลป ะ + อาชีพ = ศิลปาชีพ (เปลี่ยนสระอะ เป็นสระอา แล้วตัด อ. ทิ้ง)

อภินันทน ะ + อาการ = อภินันทนาการ (เปลี่ยนสระอะ เป็นสระอา แล้วตัด อ. ทิ้ง)

(๒.) อะ / อา สนธิกับ อะ / อา (มีตัวสะกด) ได้เสียง อะ / อา เช่น

มห า + อรรณพ = มหรรณพ (ตัดสระอาและ อ. ทิ้ง)

มห า + อัศจรรย์ = มหัศจรรย์ (ตัดสระอาและ อ. ทิ้ง)

พุทธ ะ + อังกูร = พุทธางกูร (ตัดสระอะและ อ. ทิ้ง)

เวสส ะ + อันตร = เวสสันดร (ตัดสระอะและ อ. ทิ้ง)

จุฬ า + อลงกรณ์ = จุฬาลงกรณ์ (ตัดสระอาและ อ. ทิ้ง)

จะเห็นว่า ถ้ามีสระใด ๆ ก็ตามอยู่ท้ายคำแรก (มห า, พุทธ ะ, เวสส ะ)สระพวกนี้จะถูกตัดทิ้งทั้งหมด

นิร + อันดร = นิรันดร (ตัด อ. ทิ้ง)

ทาน + อัธยาศัย = ทานัธยาศัย (ตัด อ. ทิ้ง)

สิทธ + อัตถ = สิทธัตถ (ตัด อ. ทิ้ง)

ในขณะที่ ท้ายคำแรกที่เป็นพยัญชนะ (ร. น. ธ) จะถูกคงรูปไว้ตามเดิม แต่พยัญชนะแรกที่เป็น อ. จะถูกตัดทิ้ง

(๓.) อะ / อา สนธิกับ อิ ได้เสียง อิ / เอ เช่น

มหา + อิสี = มเหสี, มหิสิ (ตัดสระอาและ อ. ทิ้ง)

ราม + อิศวร = รามิศวร ราเมศวร (ตัด อ. ทิ้ง)

มหา + อิทธิ = มหิทธิ (ตัดสระอาและ อ. ทิ้ง)

นร + อิศร = นริศร นเรศร์ (ตัด อ. ทิ้ง)

ราชะ + อินทร์ = ราเชนทร์

คช + อินทร์ = คชินทร์ คเชนทร์

นระ + อินทร์ = นรินทร์ นเรนทร์

สุริยะ + อินทร์ = สุริเยนทร์

ปรมะ + อินทร์ = ปรมินทร์ ปรเมนทร์

มหา + อิสิ = มหิสิ มเหสี

ประชา + อธิปไตย = ประชาธิปไตย

(๔.) อะ / อา สนธิกับ อี ได้เสียง อี เช่น

อุตร + อีสาน = อุตรีสาน

(๕.) อะ / อา สนธิกับ อุ ได้เสียง อุ อู โอ เอา เช่น

มัคค + อุเทศก์ = มัคคุเทศก์

ราช + อุปโภค = ราชูปโภค

ปุริส + อุดม = ปุริโสดม

นย + อุบาย = นโยบาย

จิระ + อุตตม = จิโรตม์

ชล + อุทร = ชลทร

สุริยะ + อุทัย = สุริโยทัย

ดรุณะ + อุทยาน = ดรุโณทยาน

นิละ + อุบล = นิโลบล

ยุทธะ + อุปกรณ์ = ยุทโธปกรณ์

ราชินี + อุปถัมภ์ = ราชินูปถัมภ์

(๖.) อะ / อา สนธิกับ เอ ไอ โอ เอ ได้เสียง เอ ไอ โอ เอา เช่น

อน + เอก = อเนก

มหา + ไอศวรรย์ = มไหศวรรค์

วร + โอกาส = วโรกาส

อภิษิต + เอกราช = อภิษิเตกราช

ราช + โอวาท = ราโชวาท

ปิยะ + โอรส = ปิโยรส

มหา + เอาฬาร = มโหฬาร

(๗.) อิ / อี สนธิกับ อิ ได้เสียง อิ เช่น

มุนิ + อินทร์ = มุนินทร์

บดี + อินทร์ = บดินทร์

กรี + อินทร์ = กรินทร์

อริ + อินทร์ = อรินทร์

ไพรี + อินทร์ = ไพรินทร์

เภรี + อินทร์ = เภรินทร์

(๘.) อิ / อี สนธิกับ อะ / อุ / โอ ให้เปลี่ยน อิ / อี เป็น ย เสียก่อน แล้วจึงสนธิกับสระหลัง ถ้าคำหน้ามีพยัญชนะซ้อนกัน ๒ ตัว ก็ให้ตัดทิ้งตัวหนึ่ง เช่น

มติ + อธิบาย = มัตถาธิบาย

รังสี + โอภาส = รังสิโยภาส

อัคคี + โอภาส = อัคโยภาส

สามัคคี + อาจารย์ = สามัคยาจารย์

(๙.) อิ / อี สนธิกับ อา ให้ลบ อิ / อี ทิ้ง แล้วสนธิกับสระหลัง หรือเปลี่ยน อิ / อี เป็น ย แล้วสนธิกับสระหลัง เช่น

อัคคี + โอภาส = อัคโยภาส

สามัคคี + อาจารย์ = สามัคยาจารย์

(๑๐.) อุ / อู สนธิกับ อุ / อู ได้เสียง อุ / อู

คุรุ + อุปกรณ์ = คุรูปกรณ์ คุรุปกรณ์

ดนุ + อุปถัมภ์ = ดนูปถัมภ์

คุรุ + อุปการ = คุรุปการ

(๑๑.) อุ / อู สนธิกับ อะ / อา ให้เปลี่ยน อุ / อู เป็น ว แล้วสนธิกับสระหลัง เช่น

เหตุ + อเนกัตถ = เหตวาเนกัตถ

จักขุ + อาพาธ = จักขวาพาธ

ธนุ + อาคม = ธันวาคม

สาธุ + อาจารย์ = สาธวาจารย์

 

           ๒. พยัญชนะสนธิ หรือสนธิพยัญชนะ คือ การเชื่อมเสียงพยัญชนะสุดท้ายของคำหน้ากับพยัญชนะหรือสระหน้าของคำหลัง สำหรับซึ่งพยัญชนะสนธิเป็นวิธีรวมศัพท์ในภาษาสันสกฤต ซึ่งภาษาไทยนำมาใช้เพียงไม่กี่คำ ได้แก่

มนสฺส + รมย์ = มโนรมย์

นิรสฺ + มัย = นิรภัย

เตชส + ธาตุ = เตโชธาตุ

รหสฺส + ฐาน = รโหฐาน

นิรสฺ + ทุกข์ = นิรภัย

ศิรสฺ + พฐน์ = ศิโรเพฐน์

พรหมน + ชาติ = พรหมชาติ

มนส + ภาว = มโนภาพ

 

           ๓. นฤคหิตสนธิ ( ° ) คือ การเชื่อมเสียงสุดท้ายของคำหน้าที่เป็นนฤคหิต กับเสียงหน้าของคำหลังที่เป็นสระหรือพยัญชนะให้กลมกลืนกัน ซึ่งมีหลักเกณฑ์ดังนี้

(๑.) นฤคหิตสนธิกับพยัญชนะวรรค ให้เปลี่ยนนฤคหิตเป็นพยัญชนะตัวสุดท้ายของวรรคนั้น พยัญชนะวรรค มีดังนี้

วรรค ก ก ข ค ฆ ง

วรรค จ จ ฉ ช ฌ ญ

วรรค ฏ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ

วรรค ต ต ถ ท ธ น

วรรค ป ป ผ พ ภ ม

เศษวรรค ย ร ล ว ส ศ ษ ฬ °

ก. นฤคหิตสนธิกับพยัญชนะวรรค ก ให้เปลี่ยนนฤคหิตเป็น ง เช่น

สํ + คีต เป็น สังคีต

สํ + คม เป็น สังคม

สํ + กร เป็น สังกร

สํ + เกต เป็น สังเกต

สํ + ขาร เป็น สังขาร

สํ + ขยา เป็น สังขยา

ข. นฤคหิตสนธิกับพยัญชนะวรรค จ ให้เปลี่ยนนฤคหิตเป็น ญ เช่น

สํ + จร เป็น สัญจร

สํ + จย เป็น

สํ + ญา เป็น สัญญา

สํ + ชาติ เป็น สัญชาติ

สํ + ชย เป็น

ค. นฤคหิตสนธิกับพยัญชนะวรรค ฏ ให้เปลี่ยนนฤคหิตเป็น ณ เช่น

สํ + ฐาน เป็น สัณฐาน

สํ + ฐิติ เป็น สัณฐิติ

ง. นฤคหิตสนธิกับพยัญชนะวรรค ต ให้เปลี่ยนนฤคหิตเป็น น เช่น

สํ + ตาน เป็น สันตาน/สันดาน

สํ + ตาป เป็น สันตาป/สันดาป

สํ + โตษ เป็น สันโตษ/สันโดษ

สํ + ธาน เป็น สันธาน

สํ + นิวาส เป็น สันนิวาส

สํ + นิบาต เป็น สันนิบาต

จ. นฤคหิตสนธิกับพยัญชนะวรรค ป ให้เปลี่ยนนฤคหิตเป็น ม เช่น

สํ + ปุรณ เป็น สมบูรณ์

สํ + พนฺธ เป็น สมพันธ์

สํ + ภาร เป็น สมภาร

สํ + ผสฺส เป็น สัมผัส

สํ + ปทาน เป็น สัมปทาน

สํ + มุติ เป็น สมมุติ

(๒.) นฤคหิตสนธิกับพยัญชนะเศษวรรค ให้เปลี่ยนนฤคหิตเป็น ง แล้วจึงสนธิกัน

สํ + โยค เป็น สังโยค

สํ + วาส เป็น สังวาส

สํ + วร เป็น สังวร

สํ + สนทนา เป็น สังสนทนา

สํ + หรณ์ เป็น สังหรณ์

สํ + สาร เป็น สังสาร สงสาร

(๓.) นฤคหิตสนธิกับสระ ให้เปลี่ยนนฤคหิตเป็น ม แล้วจึงสนธิกัน

สํ + อสฺ เป็น สมาส

สํ + อาคม เป็น สมาคม

สํ + อาทาน เป็น สมาทาน

สํ + อิทธิ เป็น สมิทธิ

สํ + อาจารย์ เป็น สมาจารย์

สํ + โอสร เป็น สโมสร

สํ + ภู เป็น สยมภู

ศุภํ + อสฺตุ เป็น สํ + อี (อี= อย) เป็น สํ + อุฏฐาน เป็น

 

๗. กลุ่มคำ / วลี

           เรื่องกลุ่มคำ/วลี พี่จะพูดถึงอย่างละเอียดในบทที่ ๘ หัวข้อ “ กลุ่ม คำ และหน้าที่ของกลุ่มคำ"

 

๘. ประโยค

           เรื่อง “ ประโยค” พี่ได้พูดถึงแล้วในบทที่ ๕ หัวข้อ “ ประโยคเพื่อการสื่อสาร” และบทที่ ๖ หัวข้อ “ ชนิดของประโยคในภาษาไทย”

***

ตัวอย่างข้อสอบเก่าเตรียมทหาร

ข้อใดเป็นคำประสมทั้ง ๒ คำ (ทบ.๓๘)

ก. ราชวัง เทพเจ้า

ข. ผลิตภัณฑ์ ผลไม้

ค. พลศึกษา พลเรือน

ง. ภูมิใจ ภูมิศาสตร์

ข้อใดมีคำประสมซึ่งประกอบด้วยคำนามทั้งสองคำ (ทบ.๓๘)

ก. ตู้เหล็ก ตู้เย็น

ข. ไม้กวาด ไม้เท้า

ค. น้ำหวาน น้ำเชี่ยว

ง. รถขยะ รถถัง

ข้อใดเป็นคำสันสกฤตทุกคำ (ทบ.๔๕)

ก. ขันติ วิญญาณ ฌาน บัณฑิต

ข. สัปดาห์ ศรัทธา กัลยา สามานย์

ค. ปัจจุบัน อุปัชฌาย์ สกุณา วัลลภ

ง. สังเขป วินิจฉัย สัญญา จราจร

จ. ปัญญา วิชา คัมภีร์ ปัจฉิม

คำบาลีสันสกฤตข้อใดมีรูปและความหมายต่างกัน (ทบ.๔๕)

ก. มัชฌิม มัธยม

ข. รุกขะ พฤกษ์

ค. รัฐ ราษฎร

ง. อักขระ อักษร

จ. อัคคี อัคน

ภาษาไทยมีคำราชาศัพท์ที่มาจากภาษาบาลี-สันสกฤต และภาษาเขมาหลายคำ เช่น คำราชาศัพท์ที่ใช้กับการตาย ของหม่อมเจ้า มาจากคำบาลี-สันสกฤต คือ คำว่า “ ชีวิต+กฺษย” แปลว่า ความสิ้นไปแห่งชีวิต เมื่อสนธิกันแล้วตรงกับ คำใดที่ใช้ในปัจจุบัน (ทบ.๔๐)

ก. ชีวิตกฺษัย

ข. ชีวิตักษัย

ค. ชีพิตกฺษัย

ง. ชีพิตักษัย

จ. ไม่มีข้อใดถูกต้อง

คำซ้อนคำหนึ่งประกอบด้วยคำเคียงกันอยู่ ๒ คำ แต่ละคำมีความหมายใกล้เคียงกันก็มี ตรงกันข้ามกันก็มี คำซ้อนบางคำเปลี่ยนตำแหน่งคำ ความหมายคงเดิมบ้าง ความหมายเปลี่ยนไปบ้าง คำซ้อนในข้อใดไม่อาจสลับตำแหน่งได้เพราะความนิยมของเจ้าของภาษา (ทบ.๔๐)

ก. ติดตาม ขับไล่ เกี่ยวข้อง

ข. ขาดหาย ขอร้อง เหยียดยาว

ค. ยกย่อง ครั้งคราว โต้แย้ง

ง. แหลกเหลว แน่นหนา แจกจ่าย

จ. ขมขื่น กล้าหาญ ใจร้อน

คนไทยในปัจจุบันมักนิยมตั้งชื่อและนามสกุลด้วยคำภาษาบาลี-สันสกฤต โดยไม่ทราบความหมายที่แม้จริงว่าบางชื่อมีความหมายไปในทางไม่ดี ไม่เป็นมงคล ดังนั้นหากท่านเป็นเจ้าของคอลัมน์ “คุยกันเรื่องชื่อ” ได้รับการ์ดเชิญไปร่วมงานมงคลสมรส ท่านคิดว่าจะไม่ไปงานของคู่สมรสข้อใด (ทบ.๔๐)

ก. นัฏฐิกา – ทิคัมพร

ข. วารุณี – อมรวิชช์

ค. คุรุจิต – สุณิต

ง. คณิกา – สารถี

จ. ไม่ไปงานใดเลย

คำไทยบางคำมาจากการสมาส หรือสนธิของคำบาลี-สันสกฤต แต่บางคำเกิดจากการประสมคำบาลี-สันสกฤตกับคำไทยหรือคำเขมร อยากทราบว่าข้อใดเกิดจากการประสมระหว่างคำบาลี-สันสกฤตและคำเขมร (ทบ.๔๐)

ก. ขออภัย เชื้อชาติ ญาติมิตร

ข. ดำเนินการ ประชุมพิเศษ ลักษณะสำคัญ

ค. ขอบเขต วิถีชีวิต กรณีพิเศษ

ง. สัญญาเช่า หลักการ บทบาท

จ. เสพสุข ข้อมูล โกรธแค้น

“ประวัติศาสตร์ในการรณยุทธ เราจะสังเกตได้ว่า แม่ทัพที่อยู่ในวัยฉกรรจ์ซึ่งมีกำลังเข้มแข็ง มักปราชัยแก่แม่ทัพที่มีอายุมาก (วัยกลางคนหรือหลังจากนั้น) อยู่เสมอ ที่เป็นเช่นนี้เพราะชายฉกรรจ์ที่เคยประสบความสำเร็จ มักจะมีท่าทีเย่อหยิ่งลืมตน มองผู้อื่นไม่อยู่ในสายตา เพราะเห็นความสำคัญของตนเหนือผู้อื่น มีทีท่าไม่เคารพและไม่เกรงใจผู้อื่น ความคิดเช่นนี้ก่อให้เกิดความประมาท และขาดความเชื่อถือศรัทธาจากผู้อื่น”

ท่านคิดว่า ย่อหน้าบทนี้มีคำบาลีและคำสันสกฤตกี่คำ (ทบ.๔๑)

ก. คำบาลี ๒ คำ คำสันสกฤต ๔ คำ

ข. คำบาลี ๒ คำ คำสันสกฤต ๕ คำ

ค. คำบาลี ๓ คำ คำสันสกฤต ๔ คำ

ง. คำบาลี ๓ คำ คำสันสกฤต ๕ คำ

จ. คำบาลี ๔ คำ คำสันสกฤต ๕ คำ

คำในข้อใด ไม่ใช่คำมูล (ทบ.๔๕)

ก. กระถาง กระทง

ข. ขมีขมัน ขมุกขมัว

ค. น้อยหน่า มลายู

ง. รำพึง ระแวง

5) สมสู่ คู่ครอง

คำว่า "เรา" ในประโยคใดมีความหมายเป็นพหูพจน์อย่างเดียว (ทบ.๔๕)

ก. เราอยากทำการบ้านให้เสร็จก่อน

ข. เลือกเอา จะอยู่กับเขาหรือจะไปกับเรา

ค. เราต้องขออนุญาตอาจารย์ก่อน

ง. เราเล่นฟุตบอลอยู่กลางสนาม

ง. ใครจะพูดว่าใครก็ช่าง เราอย่าไปเออออด้วยก็ไม่มีเรื่อง

***

บรรณานุกรม

กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (๒๕๔๖). หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สารัตถสัมพันธ์ เล่มที่ ๑ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ช่วงชั้นที่ ๓ (ม.๑-ม.๓). (พิมพ์ครั้งที่ ๑). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.

กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (๒๕๔๔). หนังสือเรียนภาษาไทย ท ๒๐๓ ท ๒๐๔ หลักภาษาไทย เล่ม ๒. (พิมพ์ครั้งที่ ๑๖). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.

กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (๒๕๔๔). หนังสือเรียนภาษาไทย ท ๓๐๕ ท ๓๐๖ หลักภาษาไทย เล่ม ๓. (พิมพ์ครั้งที่ ๑๔). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.

ประวีณา มีชอบธรรม. (๒๕๔๔). ภาษาไทย (บังคับ). (พิมพ์ครั้งที่ ๑). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ศูนย์หนังสือเมืองไทย.

พรทิพย์ แฟงสุต. (๒๕๔๔). รวมหลักภาษาไทย ม.ต้น. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ฟิสิกส์เซ็นเตอร์

ยศ พนัสสรณ์. (๒๕๓๖). ภาษาไทย ม.ต้น (ฉบับเตรียมสอบ). กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์แม็ค จำกัด.

วสุณี รักษาจันทร์. หลักภาษาไทย ม.๑. กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์เดอะบุคส์ จำกัด.

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp ศูนย์สารสนเทศ ราชบัณฑิตยสถาน

 

Google
 
 
 
 

เว็บไซต์นายร้อยไทย : บันไดขั้นแรกสู่รั้วโรงเรียนเตรียมทหาร.
© 2012. All Right Reserved by THAI CADET.ORG / Last Updated : Mon, 10 September, 2012 22:53   Bookmark and Share